เยี่ยม Deep South Watch

โดย สาวตา เมื่อ 18 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:05 ในหมวดหมู่ การจัดการ, ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1191

ก่อนนักเรียน สสสส.๒ จะลงไปภาคใต้ ลุงเอกก็ทวงเรื่องกรรมการรุ่น สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนเมื่ออาจารย์ให้เวลาจัดการทำคลอด กรรมการรุ่นของ สสสส. ๒ ก็ถือกำเนิดขึ้น

ที่สุดของที่สุดที่ชัดเจนแน่ๆว่าถือกำเนิดแล้วคือประธานรุ่น  องค์คณะในส่วนอื่นๆสมาชิกรุ่นมอบความยินยอมให้ประธานรุ่นไปทำคลอดเอง

บรรยากาศถกแถลงเมื่อกรรมการกลางชวนกำหนดกติกาเพื่อเลือกกรรมการรุ่นเป็นอย่างไรดูกันเองเน้อ

เมื่อเชิญคนเป็นประธานรุ่นขึ้นเวที พี่ท่านนั่งสะกดความตื่นเต้นอยู่นานที่หน้าเวที ได้ยินเสียงสารภาพออกมาว่า ไม่เคยตื่นเต้นเท่านี้มาก่อนในชีวิต แม้จะเคยผ่านเวทีระดับชาติมาแล้วก็ไม่เคยรู้สึกอย่างวันนี้มาก่อนเลย ขอบคุณทุกท่านครับ

เสร็จเรื่องกรรมการรุ่นแล้ว  ก็เป็นการรับฟังโจทย์การลงไปเรียนรู้ในพื้นที่จริงภาคใต้จากป้าแจ๋  หลังจากนั้นก็รับรู้การนัดหมาย ตรวจสอบยืนยันการเดินทาง  ใครเดินทางเอง ใครไปพร้อมคณะ ใครกลับก่อน รับรู้วิธีสื่อสารถึงกันและกัน แล้วต่างคนต่างก็แยกจากกันไป

บรรยากาศลงคะแนน นับคะแนนเข้มยังไง ชวนลุ้นอย่างไร บอกได้จากความรู้สึกของผู้ได้รับเลือกเป็นประธาน

ที่จริงหลักสูตรกำหนดการศึกษาดูงานครั้งแรกเป็นภาคตะวันออก แต่บังเอิ้ญ บังเอิญที่ไปติดเวลาเคอร์ฟิวส์จากเหตุการณ์เผากรุงครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม สถาบันก็เลยเลื่อนการศึกษาดูงานของภาคตะวันออกออกไป การลงไปศึกษาดูงานในภาคใต้นี้จึงเป็นครั้งแรกของการศึกษาดูงานในหลักสูตรนักเรียนโข่งรุ่น ๒

ดูระยะเวลาศึกษาดูงานที่ถูกกำหนดไว้ระหว่าง ๓๐ มิถุนายน - ๓ กรกฎาคม แล้ว ฉันเหลือเวลาทำงานประจำที่โรงพยาบาลในช่วงสุดท้ายของเดือนมิถุนายนเพียงแค่ ๒ วันทำการเท่านั้น  ฉันตัดสินใจเิดินทางกลับกระบี่เพื่อกลับไปทำงาน การเดินทางไปศึกษาดูงานก็เลือกเดินทางเองจากกระบี่ไปสมทบกับเพื่อนๆที่หาดใหญ่แทนการเดินทางย้อนขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเดินทางไปพร้อมกัน

เช้าวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ขณะที่เพื่อนๆเดินทางออกจากกรุงเทพฯเวลาเช้า ฉันก็เดินทางจากกระบี่แต่เช้าเช่นกัน ระหว่างเดินทางฉันรู้สึกกังวลกับการไปสมทบกับเพื่อนๆเพราะไม่รู้ชัดว่าสถานที่ซึ่งจะให้เข้าไปศึกษาดูงานแห่งแรก คือ deep south wash นั้นตั้งตัวอยู่ที่ไหนในภาคใต้

บรรยากาศในร้านอาหาร ก่อนเริ่มเรียนในพื้นที่

เมื่อสามารถติดต่อกับน้องณัฐ ทีมงานของลุงเอกได้ ได้ข้อมูลของกำหนดการที่ร่างไว้ว่านัดหมายที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็โล่งใจ เข้าใจว่าจะเป็นสถานที่ที่สามารถไปเจอสาวน้อยแห่งมอ.ที่หมายใจจะนำหนังสือมาให้ได้ง่ายๆโน่นเลย

เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่เลย สถานที่ที่จัดไว้ให้พบทีมงาน deep south wash กลับอยู่ห่างไกลกันซะสุดกู่กับที่หมายใจซะนี่ แต่ก็ยังดีอยู่หน่อยที่หัวใจที่พะวงถึงกันทำให้ได้ยินเสียงกันและกันให้ชื่นใจ อดเจอกันแต่ตัว ต้องเก็บหนังสือไว้กับตัวก่อนเท่านั้นเอง

รอกว่าจะได้เจอกับเพื่อนร่วมรุ่นก็ได้บททดสอบอารมณ์อยู่เหมือนกัน ได้เรียนรู้ว่าเมื่อคนรออะไรที่คาดหวัง ความรู้สึกคาดหวังนั้นเองที่สร้างความกดดันให้อึดอัด  รู้ทั้งรู้ว่าเดี๋ยวก็เจอกัน ไม่คลาดกันไปไหนหรอกแต่ก็ยังพะวงได้ ความพะวงเกิดจากความรู้สึกที่ตัดสินว่า ช้าซะจริง ความห่วงใยที่เป็นรากให้คิดด้านลบนั่นแหละเป็นเหตุหละ

สถานที่ที่ได้เจอกันเป็นร้านอาหารที่อยู่ฟากตรงข้ามกับหอประชุมนานาชาติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เจอกันก็ได้เวลาหม่ำพอดี  ฝนตกพรำๆอย่างหนาทำให้ตัวเปียกได้หากว่าเดินเอ้อระเหยอย่างคุณนาย พรรคพวกเดินทางกันมาในขบวนรถตู้ยาวเหยียดกว่าสิบคัน

เตรียมพร้อมเรียนรู้ในพื้นที่หลังอิ่มท้องกันแล้ว ห้องประชุมใหญ่โตมากกกกกกกกกก

อิ่มท้องกันแล้วก็เคลื่อนขบวนกันไปยังที่จัดให้ดูงานซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน หอประชุมนานาชาตินั่นแหละไม่ใช่ที่ไหนหรอก ฉันเลือกขึ้นรถหมายเลข ๙ ที่คนชวนไปนั่งด้วยบอกว่ามีที่นั่งเหลือพอให้นั่งไปด้วยได้  เกิดเหตุไม่คาดฝัน ประธานรุ่นทดสอบความแข็งของศีรษะตัวเองกับประตูรถ ได้ยินเสียงร้อง โอ๊ย! เห็นดาวหลายดวงเลย ก่อนรถจะวิ่งออกมา

ถึงหน้าห้องประชุมก็เห็นเจ้าหน้าที่ของมอ.มากันแล้ว  ห้องประชุมใหญ่มากทีเดียว  วิทยากรที่มาแบ่งปันในวันนี้มี ๓ ท่าน คนหนึ่งนั้นเคยพาตัวไปแบ่งปันที่กรุงเทพฯมาแล้ว คือ รศ. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ส่วนอีก ๒ ท่านเป็นคนรุ่นหนุ่ม คนหนึ่งคือ คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ คุณหมอรุ่นน้องที่ทำงานอยู่กับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติมาเนิ่นนานแล้ว อีกคนหนึ่งคือ อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ได้ยินแว่วๆว่าเป็นเชื้อสายของจุฬาราชมนตรีคนใหม่

ที่เห็นคือตัวแทนของ DSW ซึ่งเป็นบรรดาคนหนุ่มไฟแรงที่มีใจอาสา ผลผลิตที่จับต้องได้มีตัวอย่างดังในภาพ

คุณหมอสุภัทรเป็นผู้เล่าเรื่องราวให้รู้จักว่า deep south wash (DSW)  เป็นไผ กำลังทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไร  แล้วอาจารย์ศรีสมภพนำข้อมูลของสถานการณ์ภาคใต้มาเล่าสู่กันฟัง

CSCD หน่วยวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มีองค์กรวิชาการอยู่ด้วยหลากหลายทีเดียว

สิ่งที่บอกเล่ามานั้นใช้กรอบของความเป็นอาชีพนักวิชาการมานำเสนอ ชุดข้อมูลเสนอเป็นแบบสถิติที่บอกว่าอะไรสูง อะไรต่ำ ต่ำเมื่อไร สูงเมื่อไร ซึ่งเป็นข้อมูลระดับ “data” เท่านั้นเอง

เห็นข้อมูลแล้ว ฉันว่ากว่าพันธกิจของ DSW จะให้ผลสัมฤทธิ์ยังอีกยาวไกล งานของที่นี่ในแง่ของการเฝ้าระวังซึ่งเป็นพันธกิจแรกเท่าที่เห็นยังอยู่ในขอบเขตงานวิชาการตามปกติที่รวบรวมตัวเลขเข้าสู่ระบบเท่านั้นเอง  ยังไม่ใช่ระบบเฝ้าระวังที่ไวพอสำหรับใช้ทำงานเชิงป้องกันปัญหาได้

ข้อมูลทั่วไปอย่างที่เห็นไม่ช่วยให้เห็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด จึงสามารถทำงานเชิงรับได้เท่านั้น ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ได้เลย

เมื่อการนำเสนอจบลง ฉันจึงไม่แปลกใจที่เพื่อนๆในรุ่นซักไซ้และเสนอแนะวิทยากรแบบไม่เกรงใจ ก็ข้อมูลที่พวกเราอยากได้ในฐานะนักศึกษาเป็นข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพของเหตุการณ์ที่แท้จริงคม ชัด และลึกกว่านี้นี่นา

แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลทั่วไปที่เห็นช่วยฉายภาพเหล่านี้ให้ฉันเห็นเหตุผลว่าทำไมใครๆจึงไปนอนที่ปัตตานีเมื่อลงไปที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ก็ภาพมันฉายว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ปัตตานีรุนแรงน้อยกว่าอีก ๒ จังหวัด แล้วยังส่งคำเตือนว่าไปไหนมาไหนกับทหาร ตำรวจ ไม่ปลอดภัยด้วยนา

ถ้านำข้อมูลเหล่านี้มาสัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่ คน ความรุนแรง และปัญหาดูบ้าง จะช่วยฉายภาพความสัมพันธ์เชิงสังคมให้เห็นชัดขึ้นมั๊ยนะ อยากรู้จัง

นอกจากข้อมูลที่นำเสนอบนเวทีแล้ว พวกเรายังได้รับเอกสารข้อมูลข่าวที่ผลิตโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศราด้วย เพิ่งรู้เมื่อเห็นเอกสารนี่แหละว่า เพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นนักข่าว ๒ คน คือ น้องปกรณ์ (ปกรณ์ พึ่งเนตร) และน้องโจ๊ย (วัสยศ งามขำ) เป็นส่วนหนึ่งของทีมโต๊ะข่าวแห่งนี้

ข้อมูลชุดนี้บอกฉันว่ามีอะไรบางอย่างที่ลดความรุนแรงได้ซ่อนอยู่ในปฏิทินชุมชน  ชนิดของอาวุธสะกิดว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในพื้นที่ด้วย ถ้าศึกษาย้อนไปน่าจะช่วยให้เห็นหนทางป้องกัน พบแล้วนำมาใช้น่าจะช่วยให้ได้ทางออกใหม่ๆได้

มอบของที่ระลึกแสดงความขอบคุณแล้วก็บ๊ายบายกัน

ถามวิทยากรกันพอหอมปากหอมคอ ได้โต้กันในรุ่นพอหอมปากหอมคอแล้ว ลุงเอกเกรงเวลาเยิ่นเย้อจึงลุกมาห้ามทัพ “ถ้าจะเถียงกัน ไว้พวกเรากลับไปกรุงเทพฯแล้วค่อยเถียงกัน ตอนนี้ให้ถามวิทยากรก่อน”

เมื่อหมดคำถามก็ถึงเวลาแสดงน้ำใจกับวิทยากร ประธานห้องทำหน้าที่เป็นครั้งแรกกับงานนี้  เสร็จพิธีกรรมแล้วก็พากันเดินทางต่อไปจังหวัดปัตตานี

ถ้าให้สรุปการเรียนรู้จากบทเรียนนี้ โดยยึดหลักการเติมความสุขให้กับผู้คนก่อน ฉันว่าพอมีทางให้ลงมือได้เลยกับเรื่องง่ายๆ

สิ่งที่ฉันเห็นว่ามีทางทำได้แล้วยังเป็นหัวใจแห่งการสร้างสันติ คือ ลงมือเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นตรงกันข้ามเท่านั้นเอง ลงมือทำทันทีที่มันเกิดขึ้น ความรุนแรงก็ลดไปได้มากกว่ามากแล้ว

ใช้หลัก “ใส่หัวใจของความเป็นมนุษย์ลงไปในตัวของผู้รักษากฏ เติมเต็มส่วนที่อ่อนแอลงไปให้” เท่านั้นแหละ สิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถเปลี่ยนไปได้ : ความรุนแรงต่อประชาชน ความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อคนมุสลิม  ความไม่เป็นธรรมกับคนมลายู การศึกษาของคนในพื้นที่  และ ความยากจน

๓๐ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : อะไรจะขนาดนั้น?

Next : พักผ่อนที่ซีเอสปัตตานี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เยี่ยม Deep South Watch"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.047654151916504 sec
Sidebar: 0.21795606613159 sec