เนินเขา พายุ และสันติภาพ

โดย สาวตา เมื่อ 6 มิถุนายน 2010 เวลา 23:27 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1206

หลายๆตัวอย่างถูกยกมาเติมให้เพื่อเสริมพื้นฐานความรู้ให้เกิดความเข้าใจที่แข็งแรงขึ้นอย่างพอสมควรแล้ว อาจารย์ศุภณัฐก็นำเสนอให้รู้จักวงจรแห่งความขัดแย้ง ประกอบไปกับบอกเล่าถึงจังหวะของการลงมือทำงานของนักสันติวิธีต่อค่ะ

เจ้าวงจรแห่งความขัดแย้งนั้น เมื่อนำมาสัมพันธ์กับเวลาก็จะเห็นจังหวะของการดำเนินของมันเป็นเนินรูประฆังคว่ำแบบสมดุล มีแกนตั้งเป็นระดับความรุนแรง แกนนอนเป็นเวลาที่ผ่านไป

ยอดสูงสุดของเนินคือสนามรบที่มีสงครามหรือการปะทะกันแล้วค่ะ ตีนเนินทางซ้ายสุดเป็นเวลาที่มีสันติภาพอย่างแท้จริง

การก่อตัวเพิ่มความเข้มข้นของความรุนแรงที่เห็นในภาพ ทำให้นึกถึงการก่อตัวของพายุแห่งความขัดแย้งที่เคยเห็นภาพมาแล้วเลยแฮะ  งั้นขอลองนำมาเปรียบเทียบเพื่อทำความเข้าใจมันไปพร้อมกันน่าจะดีเนอะ เปรียบเทียบแล้วก็ดูเหมือนจะเข้าใจมากขึ้นกับที่อาจารย์นพพรเคยยกตัวอย่างเอาไว้เรื่องไม่สนใจขั้น ๑ ขั้น ๔ เกิดเร็วแฮะ  เพียงแต่ในภาพของพายุแห่งความขัดแย้ง ไม่เห็นสภาพการสลายตัวของพายุแค่นั้นเอง

เนินที่ลาดขึ้นไปตอนขาขึ้น เป็นลำดับการก่อตัวของความรุนแรง ที่สะสมความเข้มข้นตั้งกะซ่อนอยู่ จนมองเห็น แล้วเมื่อความตึงเครียดเข้มข้นขึ้นจนขึ้นถึงระดับยอดเนิน ก็ระเบิดกลายเป็นสงครามหรือการปะทะกัน (พายุแห่งความขัดแย้ง ขั้น ๑-ขั้น ๔ ก็คือช่วงขาขึ้นเนินจนถึงยอดนี้แหละน่า)

หลังจากนั้นความเข้มข้นก็ร่วงผลอยลงมาตามแนวลาดของเนินแบบสูงสุดคืนสู่สามัญ ในแบบที่มีการค้นหาข้อตกลงเกิดขึ้นในช่วงของขาลงตอนต้นๆ มีช่วงการลดระดับของความตึงเครียดในช่วงขาลงตอนกลางๆ แล้วเข้าสู่ช่วงหลังของความขัดแย้งเมื่อแนวลาดของเนินเกือบราบถึงแนวเดิมของฐานเนิน

อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นจังหวะของการทำงานตามแนวทางสันติวิธีในแต่ละช่วงของแนวลาดของเนิน ซึ่งฉันใช้ภาษาของฉันเองสรุปว่ามี ๓ จังหวะจากภาพที่เห็นข้างล่างค่ะ

จังหวะแรกคือพื้นที่สีขาวในภาพ  เป็นจังหวะของการมองหาทางป้องกัน พร้อมทั้งวิเคราะห์ความขัดแย้ง

ลงมือดำเนินการในช่วงของเนินขาขึ้น ตั้งแต่รับรู้ว่ามีความขัดแย้งซ่อนตัวอยู่จนปรากฏขึ้นให้เห็น และเพิ่มความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ถึงยอดสุดของเนิน  ใช้การสานเสวนา (ฟังแบบไม่มีข้อสรุป) ดำเนินการเจรจา

จังหวะที่ ๒ คือพื้นที่สีเขียว เป็นจังหวะของการจัดการกับความขัดแย้ง การจัดการข้อพิพาท

ลงมือดำเนินการเมื่อความตึงเครียดเข้มข้นมากขึ้นๆจนเกือบเกิดสงครามหรือการปะทะ หรือมีสงครามหรือการปะทะเกิดขึ้นแล้ว  ใช้การสานเสวนาหาทางออก (ฟังแบบมีข้อสรุป ลดอคติ) ในการเจรจา

จังหวะที่ ๓ คือ พื้นที่สีชมพู  เป็นจังหวะของการสร้างสันติภาพ

ลงมือดำเนินการในช่วงขาลงของเนินเมื่อมีการค้นหาข้อตกลง มีความตึงเครียดลดลง ใช้การเยียวยา การฟื้นคืนดี การขอโทษ ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สร้างให้เกิดสันติภาพ

ในช่วงขาขึ้นของเนิน นอกจากสานเสวนาแล้ว ยังใช้อีกหลายอย่างตามจังหวะของเหตุการณ์ เช่น การสื่อสารที่ดี การมีส่วนร่วมของประชาชน การเป็นหุ้นส่วน แผนที่แห่งความขัดแย้ง (ทำไงหว่า????????)

ในช่วงใกล้ยอดเนินทั้งขาขึ้นและขาลง รวมทั้งบนยอดเนิน นอกจากสานเสวนาหาทางออกก็ใช้หลายอย่างเลือกทำให้เหมาะกับจังหวะในเหตุการณ์ เช่น การอำนวยการประชุม การเจรจาต่อรอง การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง การอนุญาโตตุลาการ  การมีส่วนร่วมของประชาชน ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

อาจารย์เพิ่มเติมมุมมองให้ด้วยว่า ปัญหาเรื่องเทคนิคไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับปัญหาสังคม การไกล่เกลี่ยที่ลงมือให้ดูทั้ง ๒ มุมไว้เสมอว่ามีปัญหาหรือไม่ ซึ่งฉันถือว่าเป็นคำเตือนสติที่ดีและเป็นเคล็ดลับที่ควรยึดให้มั่นเมื่อลงมือทำงานด้านไกล่เกลี่ยจะดีมากๆเลยค่ะ

อาจารย์ย้ำเรื่อง “ฟัง” ว่าเป็นหลักการสำหรับการเจรจาที่ดี ฟังเพื่อรับรู้ทุกองค์ประกอบ ๓ องค์เหล่านี้  การยอมรับในศักดิ์ศรี(สำนึก) เยียวยา และ ความมั่นคง (หลักประกัน)

แล้วอาจารย์ก็ตบท้ายก่อนจบชั่วโมงด้วยคำพูดของกูรูที่ยกมาแบ่งปันกัน ลองอ่านดูค่ะว่ากูรูเขาว่ายังไงบ้าง

อ่านแล้วคงเข้าใจบทบาทของนักสันติวิธีมากขึ้นนะคะ

บรรยากาศของห้องเรียนก่อนพักกินข้าวกลางวันของวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ กลายเป็นอย่างนี้ไปค่ะ เมื่ออาจารย์แบ่งปันลึกขึ้นๆ

« « Prev : ไม่ใช่นักฟันธง

Next : ความเป็นคน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เนินเขา พายุ และสันติภาพ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.035318851470947 sec
Sidebar: 0.11449813842773 sec