เสียงแท้จริงคือ………….

โดย สาวตา เมื่อ 6 มิถุนายน 2010 เวลา 11:50 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1638

น้องฑูรเคยเล่าว่าตอนที่เรียนกับอาจารย์หมอวันชัย ท่านจะรีบสอนเพราะว่าเนื้อหาที่ท่านต้องสอนมีมาก  เวลาท่านสอนจึงเป็นการให้หลักซะมากกว่า  เมื่อมาพบอาจารย์หมอในรุ่นของ สสสส. ๒ สิ่งที่อาจารย์สอนฉันก็รู้สึกว่าเป็นเืรื่องหลักๆนะคะ  ก็หลายเรื่องราวที่อาจารย์แบ่งปัน อาจารย์ที่เป็นผู้รู้ด้านสันติวิธีก็มักย้ำถึงมัน

ฉันว่าเรื่องหลักๆเหล่านี้คือพื้นฐานความรู้ที่นักสันติวิธีจำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อมันเพื่อใช้งานมันต่อไปให้เหมาะเจาะนะคะ

ตอนต้นชั่วโมงก่อนเริ่มเรียนกันในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๓  อาจารย์หมอออกตัวว่าอาจารย์สามารถสอนพวกเราได้เพียงแค่ก่อนเวลาเบรคเช้า  หลังจากนั้นอาจารย์ขอผ่องถ่ายให้อาจารย์อีกคนมาแบ่งปันแทน

เมื่ออาจารย์หมอแบ่งปันเรื่องราวไปได้บางส่วนแล้ว ก่อนจะถึงเวลาเบรคเช้า อาจารย์ได้นำเสนอผังการทำงานแบบมีส่วนร่วมให้ดูผังหนึ่ง สิ่งที่อาจารย์แบ่งปันเป็นเรื่องชี้มุมมองว่า การมีส่วนร่วมที่ทำๆกันแล้วล้มเหลวเกิดจากการไม่มีกระบวนการต่อเนื่องของการมีส่วนร่วม

ฟังอาจารย์แล้ว ฉันไม่ใคร่เข้าใจคำว่า “ต่อเนื่อง” หรอกค่ะ แต่พอได้ดูผังที่อาจารย์นำมาแบ่งปันก็พอเข้าใจว่า ความต่อเนื่องที่อาจารย์หมายถึงเป็นเรื่องแง่มุมอย่างไร

ในผังที่อาจารย์นำมาให้เห็น มีขั้นตอนที่ต่อเนื่องของการมีส่วนร่วมอยู่ค่ะ แบ่งส่วนของกระบวนการได้เป็น ๔ ช่วง ค่ะ

ช่วงแรก   เป็นเรื่องของ “ข้อมูล”

ช่วงที่ ๒   เป็นเรื่องของ “การปรึกษาหารือ”

ช่วงที่ ๓   เป็นเรื่องของ “การเจรจา”

ช่วงที่ ๔  เป็นเรื่องของ “การลงประชามติ”

เมื่อคลี่แต่ละช่วงออกมาดูรายละเอียดของกระบวนการ

การมีข้อมูลที่ตัดสินใจแล้ว (decide and inform)  การให้การศึกษา (Education)  การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการปรึกษาหารือ(Gather Information) ประชาพิจารณ์ (Public Hearing)  การสำรวจ สัมมนา การกำหนดจุดยืน การมีคณะศึกษา การมีคณะกรรมาธิการที่ปรึกษา การมีกระบวนการร่วมกัน (Joint Processes)  ล้วนอยู่ในช่วงแรก ” เรื่องของข้อมูล”

การปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้น (Consultation on Reaction) การพิจารณาประเด็น (Define Issues) การตรวจสอบความคิดเห็น คำแนะนำ (Tests Ideas Seeks Advice)  การแสวงฉันทามติ  การร่วมตัดสินใจ (Seek Concensus)  อยู่ในช่วง ๒ และ ๓

การกระจายอำนาจสู่ประชาชน (Deligate)  อยู่ในช่วง ๔

แต่กระบวนการที่แสดงในผังก็ไม่ได้แยกส่วนว่าให้ทำทีละขั้นไป กลับเป็นว่าช่วงของการดำเนินการที่คู่ขนานในบางประเด็นไปพร้อมกันก็มีอยู่ด้วย

ฉันว่ามีหนึ่งมุมที่เห็นในผังแล้วทำให้แปลกใจคือ เมื่อมีกระบวนการคู่ขนานดำเนินการไปด้วย การเพิ่มความคาดหวัง และการเพิ่มความยึดมั่นผูกพันก็เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการด้วย  เสียดายที่อาจารย์ไม่ได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่าประสบการณ์จริงที่อาจารย์ได้พบเจอเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นอย่างไรบ้าง เสียดายจริงๆ

แล้วอาจารย์ก็ขยายความเรื่องของฉันทามติให้ฟังด้วยอย่างนี้ค่ะ

“ฉันทามติ  คือ กระบวนการตัดสินใจที่ใช้วิธีการสร้างสรรเพื่อให้คนทั้งหลายได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย”

อาจารย์ขยายความหลักของฉันทามติด้วยว่า เป็นการให้อำนาจเท่าเทียมกัน เป็นการช่วยกันในการแก้ปัญหาและร่วมกันหาทางออก เป็นการใช้การฟังและการถามคำถามแทนใช้อำนาจและโต้แย้ง  เป็นการทำความเข้าใจด้วยการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน

เมื่อขยายเป็นผังเืพื่อเรียนรู้ความเกี่ยวพัน ก็จะเห็นว่าวิถีทางสู่ฉันทามติ มีเส้นทางที่มีเอี่ยวอยู่ ๔ เส้น

เส้นทางแรกเลยไม่พ้น “การริเริ่มสร้างฉันทามติ” (Consensus Buliding Initiation)

เส้นทางที่ ๒  เป็นเรื่องของ”การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มีส่วนร่วม” (Motivation to Participation)  บนเส้นทางนี้มีเอี่ยวของ ๓ เรื่องมาเกี่ยวข้อง เรื่องราวของ ๓ เรื่องนี้ คือ ผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นไปได้ (Posibility of Mutual Benefits)  ความปรารถนาที่จะร่วมมือ (Desire to Collaborate) และ คุณภาพของความสัมพันธ์ (Quality of Relationships)

เส้นทางที่ ๓ เป็นเรื่องของ “นิยามคำถาม” (Definition of The Problem)  บนเส้นทางนี้มีเอี่ยวของ ๓ เรื่องเกี่ยวพันอยู่ คือ ขอบเขตของปัญหา (Appropriate Scope of the Problem)  ความกดดันที่มีอยู่ (Presence of Pressure)  ความชัดเจนและวัดได้ (Clear and Tangible Problem)

เส้นทางที่ ๔ เป็นเรื่องของ “โครงสร้างของการเจรจา” (Structure of Negotiation) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกัน คือ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย (Inclusive Participation)  การสนับสนุนที่เหมาะสม (Appropriate Support Structure)  การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม (Participatory Decision Making)

ทั้งหมดใน ๔ เส้นทางนี้ อาจารย์พูดให้ฟังง่ายๆว่า ฉันทามติ เป็นกระบวนการฟังอย่างตั้งใจ แล้วมีคำตัดสินร่วมกัน ตัดสินใจจากการมานั่งฟังกัน ถ้ายังมีความต่างอยู่ก็กลับมาใช้โต๊ะเสวนา แล้วหมุนกระบวนการฟังใหม่ จนมีคำตัดสินใจร่วมกันจากการมานั่งเสวนา

ก่อนอาจารย์ส่งไมค์ต่อให้วิทยากรที่มาช่วยสอนต่อไป อาจารย์จบลงที่เรื่องของบทบาทของผู้อำนวยการประชุมหรือผู้ดำเนินการกลุ่ม  บทบาทนี้สำคัญอย่างไร ลองอ่านกันเองดูค่ะ

สิ่งที่อาจารย์หมอวันชัยได้แบ่งปัน ชวนให้อยากรู้ถึงความคิดของใครบางคน ฉันจึงย้อนไปอ่านบทความสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งระหว่างพิมพ์บันทึกนี้

อ่านแล้วเห็นว่า นี้คือส่วนหนึ่งของเรื่อง “ข้อมูล” ที่เป็นช่วงแรกของความต่อเนื่องของการมีส่วนร่วมที่กล่าวถึงข้างต้น เลยตัดสินใจยกมันมาไว้ที่นี่เพื่อเรียนรู้ร่วมกันค่ะ

ได้ข้อมูลอะไรจากบทความนี้บ้าง  เป็นส่วนรายละเอียดอะไรที่อาจารย์หมอให้หลักไว้ อ่านและเก็บเกี่ยวกันเองนะคะ

“ชีวิตของเราในสังคม ก็เหมือนกัน มีการปะทะ การทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นไม่ตรงกัน เราต้องมองว่าคนเราอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งทุกอย่างมีองค์ประกอบของมัน มีจุดสมดุล ทุกประเทศมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีปัญหาเช่นเดียวกัน เป็นปัญหาที่ไม่มีสังคมใดที่จะแก้ปัญหาได้หมดไป

การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แก้ปัญหาชั่วครู่ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เรามองประเทศไทยอย่างไร เรามองเพื่อนคนไทยกันอย่างไร ผมมองว่าเป็นปัญหาของความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน เป็นความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประเด็นที่ผมอยากพูดคือ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่มีความสมบูรณ์ในตัว มีประสิทธิผลอย่างที่ผมคิด

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าขาดมาก คือการไม่มองว่าเพื่อนคนไทยด้วยกันมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องลืมว่าเขาสีอะไร ต้องฟังด้วยความสนใจ ฟังแล้วคิด คิดแล้วถึงพูด พูดแล้วถึงทำ ต้องเริ่มสร้างจากการความเข้าใจซึ่งกันและกัน ฟังซึ่งกันและกัน สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน ความไว้ใจซึ่งกันและกัน ในความเชื่อมั่น ในความดีของมนุษย์

หากเราติดตามประวัติศาสตร์ ที่เกิดวิปริตในทางจิตใจ วิปริตทางความคิด วิปริตในการกระทำ ไม่ใช่เป็นของแปลก เมืองไทยกำลังผ่านวิกฤตอันนั้น ทุกประเทศสามารถดำเนินผ่านมาได้ โดยจำความหลัง จำความยากลำบาก และจำวิกฤตนั้นได้ดี

แต่คงไม่มีสังคมไหนที่เจริญแล้ว ที่จะทำให้สถานการณ์วิกฤตในอดีต หรือแม้แต่ปัจจุบัน เป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจประชาชน โดยทั่วไป เขาจะแก้ไขปัญหา ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสงบ ความสันติ ที่ยั่งยืนและยืนนาน”

อานันท์ ปันยารชุน

« « Prev : เพิ่มความเข้าใจ

Next : ไม่ใช่นักฟันธง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เสียงแท้จริงคือ…………."

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.022914886474609 sec
Sidebar: 0.11050701141357 sec