เริ่มเป็นไปได้

โดย สาวตา เมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:23 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, วงแม่พิมพ์, วงโรตี, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1354

ประสบการณ์ในวันนี้จะว่าไปก็เป็นเรื่องแปลก เรื่องราวที่เกี่ยวข้องถูกทิ้งไว้เป็นโจทย์เล็กๆตั้งแต่ตอนที่ครูณามาช่วยทำให้ครูกศน.ได้สัมผัสกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๒

โจทย์เป็นเรื่องราวของเด็กที่แม่ใช้บ้านเป็นโรงเรียน (home school) แล้วอยากจะมีใบอะไรสักอย่างทางการศึกษาประกันไว้ให้เด็ก เผื่อใช้ต่อยอดการเรียนชั้นสูงขึ้นไปของเด็กในระบบปกติได้  แม่ก็ดิ้นรนหาว่าระบบโรงเรียนที่ไหนรองรับหลักคิดที่ตรงกับความคิดของเธอบ้าง

แต่ทุกๆที่ที่เธอไปติดต่อก็มีแต่ความเป็นไปไม่ได้เป็นคำตอบให้เธอทั้งนั้นเลย จนเมื่อครูณามาทำงานที่กระบี่ เธอก็เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าเริ่มเป็นไปได้

แสงสว่างที่ว่ามาจากการที่ครูณาได้ข้อมูลจากกศน.ว่า สามารถจัดหลักสูตรการเรียนตามอัธยาศัยให้กํบเด็กเล็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนได้

วันนี้กระบวนการสร้างความเป็นไปได้จึงเกิดขึ้น เมื่อเรา ๓ คนร่วมทางกันไปเสาะหาโรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนแห่งแรกที่ได้ข้อมูลมาจาก กศน.กระบี่ แล้วไปต่อที่โรงเรียนที่ ๒ ที่ได้ข้อมูลมาจากกศน.เช่นกัน

ที่โรงเรียนแห่งแรกที่เข้าไปหาความเป็นไปได้ กระบวนการเริ่มขึ้นตรงที่เด็กได้รับการประเมินผลลัพธ์ทางการเรียนจากครูด้านวิชาการ แล้วการแลกเปลี่ยนกับครูที่เกิดขึ้นก็ให้ความรู้ใหม่กับฉันอย่างมากมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในอีกระบบค่ะ

ที่ใช้คำว่า “อีกระบบ” มีที่มาค่ะ เดิมฉันเข้าใจว่าระบบการศึกษามีคำเรียกระบบอยู่แค่ ๒ คำที่แตกต่าง หนึ่งคือในโรงเรียน อีกหนึ่งคือนอกโรงเรียน แต่ความรู้ของวันนี้กลับบอกฉันว่าที่จริงมีอีกระบบนะ เป็นระบบที่มองมุมเดิมๆจะมองไม่เห็น และไม่รู้จักมัน

ระบบที่ฉันมองเห็นว่ามีอีกระบบ คือ ระบบโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษค่ะ  ระบบนี้มีความพิเศษของมันสมกับเป็นระบบรองรับเด็กที่ถูกเรียกว่าพิเศษเลยค่ะ

สิ่งที่ฉันได้ความรู้ในวันนี้ ทำให้ฉันเห็นภาพรวมของการศึกษาอยู่อย่างนี้ค่ะ ถ้าใช้สิทธิของตัวเด็กเป็นเกณฑ์แล้วละก็ ระบบการศึกษาไทยรองรับเด็กอยู่ ๓ กลุ่มค่ะ

กลุ่มแรก เป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่เราเห็นอยู่ดาษดื่น และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เต็มร้อย

กลุ่มที่ ๒ เป็นเด็กพิเศษที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในบางแง่มุมและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ใกล้เคียงกับเด็กกลุ่มแรก

กลุ่มที่ ๓  เป็นเด็กพิเศษที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหลายแง่มุมและสามารถช่วยตัวเองได้เพียงบางเรื่อง

เมื่อนำระบบเดิม ๒ ระบบมาเชื่อมโยงกับระบบที่แบ่งตามเกณฑ์ของตัวเด็ก ฉันก็พบความแปลกใจที่พบว่า ระบบการศึกษาเลือกออกแบบกระบวนการพื้นฐานโดยใช้ระบบ “ในโรงเรียน” และ “นอกโรงเรียน” มาเป็นเส้นแบ่งคัดเด็กเข้าสู่การเรียน

ความหมายของการคัดแบ่งอยู่ตรงนี้ค่ะ เด็กคนไหนไม่อยู่ในระบบ “ในโรงเรียน” หรือขาดตอนไปจาก “ในโรงเรียน” หรือ ไม่สามารถเชื่อมกลับเข้ามาสู่ระบบ “ในโรงเรียน”  ระบบการศึกษาก็จะใช้ระบบ “นอกโรงเรียน” รองรับไว้

ใช่แล้วค่ะ ฉันกำลังบอกว่าความหมายของระบบ “นอกโรงเรียน” ก็คือ “นอกรั้วโรงเรียนที่มีชื่อให้เรียก” เท่านั้นเองค่ะ

ถ้าไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับ “บ้านคือโรงเรียน” แล้ว จะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปมากมายเลยนะคะ

ที่ฉันเห็นในวันนี้ ฉันว่าการจัดระบบนอกโรงเรียน ณ วันนี้เป็นเพียงรูปแบบโรงเรียนที่อาศัยบ้านเป็นห้องสมุดให้นักเรียนใช้อ่านหนังสือและทำการบ้าน ยังไม่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของการศึกษาที่คาดหวังจากบ้านและโรงเรียนตามวิธีคิดของพี่เปี๊ยกเลยค่ะ

ก็หลังจากเด็กพวกนี้ผ่านการค้นคว้า การอ่าน การทำการบ้านที่ครูให้ในห้องสมุดหรือบ้านของตนแล้ว เด็กก็มาที่ห้องเรียนตามนัดของครู บางครั้งก็เป็นการนัดมาเรียนแบบกลุ่ม บางครั้งก็เป็นการนัดมาส่งการบ้าน บางครั้งก็เป็นการนัดมาเพื่อเข้าห้องสอบ

ถ้าถามว่าวันนี้ได้เรียนอะไรเพิ่มอีก ก็คงตอบว่าได้เรียนเรื่องของการนำระบบ “ในโรงเรียน” ไปใช้กับเด็กกลุ่ม ๒ และ ๓

ใช่ค่ะ ฉันกำลังบอกกล่าวว่า ระบบโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ ที่จัดขึ้นให้เด็กพิเศษ สามารถเลือกได้เฉพาะระบบ “ในโรงเรียน”

ซึ่งฉันขอถอดบทเรียนว่าฉันรู้สึกว่าการ”ต้อง” ใช้ระบบในโรงเรียน ไม่เอื้อความสะดวกให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาเท่าไรเลยค่ะ เด็กที่เข้ามาใช้ระบบไม่ได้มีความสุขเลยค่ะ พ่อแม่ของเด็กก็ขาดความสุขด้วย เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นอย่างนี้มายาวนานแล้วที่พ่อแม่ “จำยอม”

รู้แล้วทำอะไร ฉันก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าชวนผู้บริหารให้เล่าเรื่องข้อจำกัดในระบบที่เขากำลังรับผิดชอบให้ฟังเพื่อเรียนรู้

บังเอิญมั๊งเรื่องที่คุยไปไปทำให้เกิดความคิดปิ๊งๆขึ้น จะปิ๊งเพราะโดนใจกับเรื่องโลกภายในของผู้บริหารหรือเปล่าัฉันไม่รู้ รู้แต่ว่าเรื่องที่เขาเล่าออกมาฟังไม่ทัน มีความเร็วปานฝายแตกเลยค่ะ

เมื่อได้คุยและได้เห็นชีวิตของ ๒ ผู้บริหารโรงเรียน ฉันว่าชีวิตของเขาหมุนเร็วจี๋เลยแหละ  คนหนึ่งมีภาระกับโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่มแรกคู่ขนานไปกับกลุ่มที่ ๒  อีกคนรับภาระกับโรงเรียนที่มีเด็กกลุ่ม ๓

คนแรกคอยก่นแต่พูดความเชื่อของตัวเองให้ตัวเองฟังตลอดเวลาโดยเข้าใจไปว่าที่พูดอยู่นั้นเป็นการพูดเพื่อให้คนอื่นเชื่อ การเงียบฟังเธอทำให้ฉันเห็นว่าเวลาที่มีให้ตัวเธอได้ฟังคนอื่นมีน้อยกว่าน้อย ฉันสัมผัสว่าเรื่องราวที่เธอกำลังค้นหาทางแก้ไขนั้นเธอต้องใช้พลังมากมายในการลงมือทำมัน ไหนจะหน้าที่ “ดูแลโรงเรียน” ไหนจะหน้าที่ดูแลและเหนื่อยอยู่กับทุกข์บางอย่าง ทุกข์นั้นคือพลังที่ขับและเผาให้เธอเร่าร้อนและเร็วตลอดเวลา

อีกคนหนึ่งพูดตามความเชื่อของตนคล้ายๆกัน เธอต่างจากคนแรกตรงที่ยังมีเวลาของการ “ฟังคนอื่น” ไม่น้อยกว่าที่ให้ “คนอื่นฟังเธอ” มีความเหนื่อยที่บอกผ่านคำพูดให้รู้ว่า เธอก็มีห่วง แต่เป็นความห่วงใยกับความเหนื่อยของทีมงาน พลังที่ขับเคลื่อนตัวเธอไม่ร้อนและไม่เร็วเท่าไร

วันนี้ฉันใช้เวลาเชื่อมสัมพันธ์แม่ที่กำลังหาโรงเรียนให้กับลูกกับผู้บริหารคนแรกซะนาน แต่ก็คุ้มค่าค่ะที่ได้กระตุกต่อมเอ๊ะของผู้บริหารการศึกษาคนหนึ่ง จนสร้างโอกาสให้สามารถต่อยอดจิตตปัญญาศึกษาให้เกิดขึ้นในอีกพื้นที่หนึ่งของการศึกษาที่นี่

เอ๊ะของเธอก็ได้ช่วยต่อยอดโอกาสให้ฉันอีก เมื่อเธอขอให้ฉันอยู่พบและคุยกับผู้ปกครองเด็กกลุ่มที่ ๒ จำนวนหนึ่งซึ่งวันนี้เธอนัดมาประชุมที่โรงเรียน

ยังไม่ใคร่เชื่อกับผลที่เกิดขึ้นในวันนี้เลยค่ะ ก็เอ๊ะแรกที่เกิดจากการคุยกันแบบง่ายๆของวันนี้แล้วทำให้เธอปิ๊ง สามารถเอื้อโอกาสให้เด็กคนหนึ่งในกลุ่ม ๒ เดินเข้าสู่ระบบโรงเรียนอย่างที่แม่หวังได้อย่างสบายๆ โดยแม่และผู้บริหารสามารถเปิดใจคุยกันอย่างหมดเปลือก สิ่งที่เป็นมุมมองต่างถูกคลี่ออกมาทำความตกลงกันจนลงตัว ลงตัวทั้งเงื่อนไขทางครอบครัวเด็กเกือบทุกเรื่องและลงตัวกับการรับผิดชอบต่อระบบการศึกษาของผู้บริหารโรงเรียนด้วย

ฉันเชื่อว่าผลของการลงตัวนี้ เป็นธงแรกที่ฉันได้ช่วยปักให้ระบบการศึกษาแบบ “บ้านคือโรงเรียน” เกิดขึ้นที่กระบี่ได้แล้วค่ะ ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่ก็เกิด เกินความคาดหวังจริงๆ

อีกเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากเอ๊ะที่ ๒ การได้พบและคุยกันกับพ่อแม่ร่วมกันกับครูในวันนี้ ช่วยพ่อแม่ให้เปิดใจกับปัญหาของเด็กแบบยิ้มได้ หัวเราะได้ระหว่างนั่งคุยกัน ดีใจกับฉันมั๊ยค่ะที่พวกเขามีของแถมให้ฉันก่อนจากกัน ของแถมนี้มีค่ายิ่งในสายตาของฉันค่ะ พ่อแม่เด็กจะร่วมเปิดโรงเรียนพ่อแม่ด้วยกันกับฉัน  ผู้บริหารโรงเรียนรับเป็นแกนหลักให้ฉันในการเดินหน้าจัดห้องเรียนและประสานงานให้ตลอดหลักสูตรค่ะ

โรงเรียนพ่อแม่ที่ตกลงกันไว้นี้ จะเปิดเรียนในช่วงกลางคืน โดยที่พ่อแม่เป็นผู้กำหนดวันเรียนเอง  ดีใจกับฉันมั๊ยค่ะ เป็นเรื่องเกินความคาดหวังจริงๆ

ขอบคุณกลุ่มครอบครัวเด็กพิเศษที่ได้มอบให้กับฉันในวันนี้  ขอบคุณผู้ที่เป็นครูของฉันทุกๆคนค่ะ

« « Prev : แกะรอยกันหน่อย

Next : ห้ามใส่ใจตำหนิ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เริ่มเป็นไปได้"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.036216020584106 sec
Sidebar: 0.10878396034241 sec