ครูชวนให้ทำต่อ

โดย สาวตา เมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:01 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1141

ครบรอบอีกสัปดาห์แล้วกับการเรียนร่วมในหลักสูตร สสสส.๒ ไม่รู้มาก่อนว่าวันนี้ใครจะมาสอน จนกระทั่งผู้สอนปรากฏกายขึ้น เช่นเคยที่ต้องมีนักเรียนเป็นตัวแทนกล่าวแนะนำวิทยากรและเชื้อเชิญท่านขึ้นสู่เวทีเพื่อแบ่งปันความรู้ คราวนี้เป็นคิวของผู้อยู่ในช่วงหมายเลขถัดไปจากกลุ่มของฉัน

ก่อนเริ่มแนะนำผู้แทนของกลุ่มได้นำประวัติวิทยากรที่ทีมงานลุงเอกเตรียมไว้ให้ ไปปรึกษากับผู้มาเป็นวิทยากรเพื่อประเมินความเหมาะควรของการเอ่ยแนะนำและสานสัมพันธ์บอกลำดับของการบริหารเวลาให้วิทยากรได้รับรู้ร่วม

เมื่อลุงเอกรู้ว่าวิทยากรท่านนี้มาถึงแล้ว ลุงเอกก็ปลีกตัวจากภารกิจมานั่งคุยด้วย วิทยากรท่านเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ๒ สมัย ที่มีชื่อต้นด้วย “ช.ช้าง”ขอเรียกท่านว่า “ครูชวน” นะคะ เรื่องราวที่ท่านมาแบ่งปันเป็นการเปิดมุมมองอีกมุมด้านประวัติศาสตร์นะฉันว่า

หลักหนึ่งที่ครูชวนแลกเปลี่ยนเหมือนกันกับอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ที่มาเป็นครูแล้วย้ำบอก หลักนั้นคือ “จะวิจารณ์อดีตต้องคิดถึงข้อเท็จจริงในสมัยนั้น” 

มีตัวอย่างหลายเรื่องที่ครูชวนเล่าให้ฟังเพื่อชวนให้มองย้อนอดีตอย่างเข้าใจสถานการณ์ในสมัยนั้นแล้วไม่ก่นด่าหรือขึ้งโกรธผู้ตัดสินใจ อย่างเช่น

การรักษาอธิปไตยของศาลซึ่งเป็นเรื่องยากของสมัยนั้นที่เกิดขึ้นในรูปการเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ ๕

เรื่องของความมั่นคงทางทหารที่ถูกให้ความสำคัญมากกว่าความมั่นคงทางสังคม และเมื่อปลี่ยนผ่านมาถึงวันนี้ก็ไม่ค่อยย้ำเน้นและให้ความสำคัญเหมือนสมัยก่อน

ครูชวนเล่าว่าในมุมของสันติวิธีที่สร้างความมั่นคงก็มีอยู่ตั้งแต่อดีต อย่างเช่นการยอมรับความหลากหลายของชนชาติที่อยู่ร่วม เรื่องจีนและมลายูที่อยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างสงบ คนจากชนชาติที่อยู่ร่วมเติบโตแบบได้รับโอกาสจากสังคมไทย เช่น เติบโตในราชการจนกระทั่งเป็นประธานศาลฎีกาได้ ทำให้ไทยอยู่แถวหน้าให้ชาติอื่นมาเรียนรู้

ครูมีความเห็นว่าความหลากหลายของศาสนาเป็นความเข้มแข็ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ ศรัทธา แนวคิด ข้อปฏิบัติ ยุทธวิธีมีความสำคัญ หากไม่เชื่อผลก็เกิดไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะนำมาใช้อย่างไรไม่ให้เป็นปัญหา 

ครูแบ่งปันให้รู้ว่า ในอดีตนั้นมีการใช้สันติวิธีมาแล้ว ๒ ครั้ง เหตุการณ์นั้น คือเรื่องราวระหว่างอยุธยากับรัฐปัตตานี ในส่วนของความขัดแย้งที่เคยเกิดมีระดับความรุนแรงที่ต่างกันไป ระดับความรุนแรงระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ และปัตตานีกับกรุงเทพฯ ไม่เท่ากัน 

การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีเป็นกุศโลบายที่พระมหากษัตริย์ทรงมีความรู้และเล็งเห็นว่าควรใช้เครื่องมือใด  มีบันทึกที่ร.๖ กำหนดแนวทางปฏิบัติสันติวิธีไว้ชัดเจน ๖  ข้อให้ใช้เรียน

๖ ข้อนี้ในสมัยพระองค์ปฏิบัติจริง แต่ในวันปฏิบัติไม่จริงจึงเกิดความเสียหาย

จุดเริ่มที่ไม่ปฏิบัติและถือว่าเลิกใช้สันติวิธีคือ ปีพ.ศ.๒๕๔๔

ครูสะกิดให้คิดว่าแนวทางปฏิบัติในปี ๒๕๔๔ ใช้ยุทธวิธีอะไรอยู่ที่เชื่อไหม ครูบอกว่านโยบายไม่ผิด

แล้วก็เล่าต่อว่าสำหรับปัญหาภาคใต้ แนวคิดสันติวิธีเริ่มขึ้นในปี ๒๕๔๔ โดยมีองค์กรเป็นตัวตน ทำงานมาเรื่อยๆ ๓ ปี ต่อเนื่องอยู่ในด้านสภาความมั่นคง จน ๘ เมษายน ๒๕๔๔ เมื่อมีประกาศว่าให้แก้ไขให้ปัญหาจบใน ๓ เดือน ก็เกิดเรื่องราวความรุนแรงขึ้นครั้งแรกในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ 

เรื่องนี้ครูนำมาเล่าแบ่งปันเพื่อให้ข้อคิดว่า “คนเคารพกฏเกณฑ์เสียเปรียบ เชื่อสันติวิธีแล้วอย่าทำให้สันติวิธีทำลายความถูกต้อง” 

สันติวิธีในความเชื่อของครูมีความหมายคือ “การทำให้ข้อขัดแย้งยุติลงได้ด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง”

ครูได้แบ่งปันว่า คนไม่มีทำอะไรได้ดีกว่าคนที่มีได้  การยึดข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งไปใช้เป็นหลักไปได้แต่มีความรู้ใช่ว่าจะทำได้เสมอไป

มีเรื่องอีกยืดยาวที่บรรดาเพื่อนร่วมรุ่นได้ถามครู บางเรื่องที่มีเพื่อนถามเพื่อขอแบ่งปันความรู้พร้อมเล่าเรื่องสิ่งที่ทำไป ครูก็บอกคนถามว่า “ขอให้ท่านทำต่อไป” คนถามได้ฟังคำตอบ ก็แอบมาบอกเล่าว่า “เซ็งเลย ขอให้ออกความเห็นในมุมมองของครูก็ไม่ตอบซะนี่”

คำถามที่น่าสนใจจากเพื่อนๆฉันมีเวลาได้รับรู้ร่วมน้อยเพราะมีนัดเดินทางต่อไปสวนป่าเพื่อร่วมกิจกรรมพัฒนานักเรียนแพทย์จากจุฬาที่นั่น เรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันถือเป็นน้ำจิ้มฟังสำนวนตอบคำถามของครูละกัน

คำถาม : การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตำรวจ ใช้แก้ปัญหาภาคใต้ได้หรือเปล่า

คำตอบ : เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ใช่โครงสร้างมีปัญหา ศรัทธาและความหลากหลายต่างหากที่เป็นประเด็น การอุ้มฆ่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพลป. ที่ไม่มีการเยียวยา ทำให้การรับโทษกลายเป็นการไม่ต้องรับโทษ  การมีท่าทีในปี ๒๕๔๔ จากคำถามมีโจรกี่คน แล้วมีความเห็น มีโจรไม่เกิน ๕๐ คน และผู้ทำหน้าที่ขอเวลา ๖ เดือนในการแก้ปัญหา ซึ่งมีคำต่อรองทำให้สำเร็จภายใน ๓ เดือน เกิดขึ้น แล้วขณะนี้ปัญหาก็ยังมีอยู่

แล้วครูก็ตบท้ายก่อนเบรคว่า “นโยบายความมั่นคงลองไม่ได้ ถ้าไม่มั่นใจในแนวทาง ไม่ลงมือ สาระสำคัญอยู่ที่ไม่ชี้นำและการนำไปปฏิบัติ แนวทางสันติวิธีไม่ใช่แนวทางของนักกฎหมาย” แล้วก็ทิ้งท้ายว่า “นโยบายกับผู้ปฏิบัติจะสอดคล้องกันได้อย่างไร”

๒๓ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : เกือบได้กลับไปนอนสวนป่าอีกคืน

Next : ฤาเกิดจากอาถรรพ์เลข ๖ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.027506828308105 sec
Sidebar: 0.10505509376526 sec