ฤาเกิดจากอาถรรพ์เลข ๖

โดย สาวตา เมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:50 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1860

ไม่น่าเชื่อว่าเรียนผ่านไปเดือนกว่าแล้ว  เมื่อมีเวลาเหลือไว้ทำอะไรที่ชอบไม่มากท่านรู้สึกอย่างฉันมั๊ยค่ะว่าเวลาผ่านไปเร็วจริงๆ วันนี้ขอมาเล่าเรื่องราวที่ได้เรียนในหลักสูตร สสสส.๒ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๓ ต่อค่ะ

คราวนี้เป็นเรื่องราวที่เปิดโลกให้อีกแล้ว ผู้ที่มาแบ่งปันคือ อาจารย์นพพร โพธิรังสิยากรค่ะ อาจารย์เป็นนักกฏหมายที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องการไกล่เกลี่ย การอบรมการไกล่เกลี่ย และเป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ร่วมทำหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า

บรรยากาศของผู้เรียน

เบื้องต้นของการทำความเข้าใจ เป็นเรื่องความหมายคำ คำแรกนี้ดูเหมือนแต่เดิมจะเป็นเรื่องของการต่อรอง ถูกแล้วคำที่กำลังจะกล่าวถึงคือคำว่า “เจรจา” ค่ะ ที่ต้องทำความเข้าใจคำนี้ก็ด้วยความหมายของมันในมุมที่อาจารย์ใช้ คือ การเจรจาไกล่เกลี่ยที่ลงมือทำโดยมีบุคคลที่ ๓ ค่ะ

คู่กรณีไกล่เกลี่ยได้อะไร ในธรรมชาติที่ความเป็นคนจำเป็นต้องมีกระบวนการคิดบางเรื่อง ความคุ้นกับแนวคิดของการเจรจา เหล่านี้คือประเด็นที่อาจารย์มาแบ่งปันเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจ

บรรยากาศของผู้สอน

แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สรุปว่าแม้จะมีปัญหาในมุมกฏหมายอยู่ การเจรจาก็มีได้ เหตุการณ์ที่รุนแรงสงบลงได้ด้วยการเจรจา เช่น เรื่องอาเจะห์ มินดาเนา ไอร์แลนเหนือที่ล้วนเป็นกรณีอาญาก่อนเจรจาต่างจบลงได้ด้วยการเจรจา อาฟริกาใต้ซึ่งมีระดับความรุนแรงกว่าเป็นล้านเท่าก็ยังเจรจาได้  ในประวัติศาสตร์เมื่ออิสราเอลกับอียิปต์ทะเลาะกันมาเป็นเวลากว่า ๓,๐๐๐ ปี (๑,๕๐๐ ปีก่อนค.ศ.) ก็ยังตกลงกันได้

อาจารย์ชวนคุยเรื่องกรณีคนทำผิดขึ้นศาลดีไหม แล้วแบ่งปันว่าถ้าจะทำให้ดูกระแสหลัก และ ADR ( Alternative Dispute Resolution) ก็คือว่าการไปศาลมีกระบวนการที่นำอดีตมาคุยเป็นการทำให้เกิดความโกรธตามมาด้วยการแก้แค้นแล้วเกิดศัตรู ส่วน ADR เป็นการคุยเรื่องอนาคตเพื่อหาทางแก้ไขจะนำมาซึ่งความเป็นมิตร จะเลือกอะไร

แล้วอาจาร์ก็ตั้งคำถามให้ช่วยกันตอบ “กฏหมายเป็นธรรมแค่ไหน” ปรากฎว่ามีคนตอบว่า ๕% บ้าง ๑๐% บ้าง ๓๐% บ้าง และเมื่ออาจารย์เฉลยคำตอบก็ทำให้น่าแปลกใจมากๆ

อาจารย์เล่าให้ฟังว่าข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษาในสหรัฐพบว่ากฎหมายเป็นธรรมราวๆ ๖ %  ทั้งกฎหมายทันสมัยและกฎหมายล้าสมัย ที่เป็น common law ที่ใช้มานาน (อาจารย์เล่าว่ากฎหมายที่ใช้เกิน ๑๐ ปีถือว่าล้าสมัยเพราะว่ากฎหมายมีขึ้นเพื่อตอบสนองสังคม)

อาจารย์บอกว่ากฎหมายเป็นการเอาชนะทางการเมือง ฉันรู้สึกแปลกใจ มีเรื่องอย่างนี้ด้วยอ่ะ (เรื่องนี้อาจารย์ใช้คำว่า “filibuster” ค่ะ)

แล้วอาจารย์ก็เล่าต่อว่าการศึกษาในสิงคโปร์ก็พบว่ากฎหมายเป็นธรรม ๖%  ทั้งๆที่สิงคโปร์ถือว่ากฎหมายต้องใช้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ( non-discriminate)

มีประเด็นของการเลือกปฏิบัติ (affirmative action) ที่อาจารย์ยกมาชวนเรียนเพื่อทำความเข้าใจมุมต่างของคนใช้กฏหมายกับคนที่อยากให้ใช้กฏหมาย

คำถามที่ยกมาเรียนคือ “ถ้าคนไม่เท่ากัน ใช้แนวปฏิบัติต่างกันได้ไหม” โดยยกกรณี ปอ.ม.๓๓๕ ลักทรัพย์กลางคืน ลักทรัพย์ราชการ มาให้เรียน ระหว่างการตัดสินโทษจำคุก ๓ ปี รับสารภาพลงโทษ ๑ ปีทั่วๆไปกับกรณีหญิงแม่ลูกอ่อนอุ้มลูกลักขนุนในสถานที่ราชการแล้วต้องโทษจำคุก ๖ เดือน ซึ่งสังคมวิจารณ์ในเรื่องความเป็นธรรม

มีเรื่องประวัติศาสตร์ของกฏหมายไทยที่อาจารย์เล่าให้ฟัง ฟังแล้วไม่น่าเชื่อแต่อาจารย์ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง หาอ้างอิงได้เพราะมีบันทึกไว้จริง เป็นเรื่องของการชำระกฎหมายไว้ผิดพลาด ก่อนจะเล่าเรื่องนี้ขอเล่าเรื่องของการชำระกฎหมายก่อน

อาจารย์เล่าว่าสมัยก่อนเมื่อกฎหมายตราขึ้นแล้วนอกจากที่ศาลแล้ว จะมีการเก็บไว้ที่หอหลวงและข้างพระที่นั่ง เวลาชำระกฎหมาย จะใช้อาลักษณ์ ๖ คน นักกฎหมาย ๖ คน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เรื่องการเก็บต้นฉบับกฏหมายไว้ ๓ แห่งมีปรากฏประจักษ์ตาอยู่อย่างที่เห็นในภาพค่ะ

ในการชำระกฏหมายพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมด้วยโดยมีกำหนดพระราชอำนาจในการร่วมวินิจฉัยกรณีที่ผู้พิพากษาเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมาในสมัย ร.๖ กระบวนการนี้ได้ยกเลิกพระราชอำนาจนี้ไปลดเหลือไว้แค่ขอเมตตาธรรม

ชวนกลับมาที่เรื่องเล่าค่ะ ตอนเสียกรุงกฎหมายที่เก็บไว้ถูกเผาเรียบ เมื่อมีการรวบรวมกฎหมายขึ้นมา ก็มีกฎหมายฉบับหนึ่งชำระแล้วบันทึกไว้ผิด แทนที่จะเขียนว่า “หญิงมีชู้ ชายฟ้องหย่าได้” กลับเขียนไว้ว่า “หญิงมีชู้ หญิงฟ้องหย่าได้”  ซึ่งมีความหมายว่า หญิงมีชู้ หญิงไม่ผิด หญิงฟ้องหย่าได้ แล้วก็มีผู้รู้กฎหมายนำไปใช้สร้างฐานะตัวเองให้ร่ำรวยด้วยการเป็นชู้กับเมียเศรษฐีเพื่อฮุบสมบัติ

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัย ร.๖  ฉันไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องเล่าในหมู่นักกฏหมายเพื่อทำความเข้าใจที่มาของ “กฏหมายตราสามดวง” หรือเปล่า จำชื่อตัวผู้คนในเรื่องราวได้ว่ามี ๓ คน หนึ่งหญิงสองชาย หญิงชื่อ อำแดงป้อม ชายชื่อ นายบุญศรี และหลวงราชาอรรถ แต่ไม่ได้จำว่าทั้ง ๓ คนเขานัวเนียพัวพันกันอย่างไรแล้วค่ะ ขอโทษคนที่เข้ามาอ่านที่ทำให้อยากรู้แล้วดึงเรื่องจากไปเฉยเลยด้วยค่ะใครอยากรู้ก็ให้ชวนเพื่อนที่เรียนกฏหมายเล่าให้ฟังละกันหรืออ่านเอาเองจากเรื่องที่ลิงค์ไว้ให้ค่ะ

เรื่องต่อมาที่อาจารย์แบ่งปันก็เป็นเรื่องของคดีสันติค่ะ ปี ๒๔๕๗ คือปีแรกที่เกิดการไกล่เกลี่ยคดีสันติขึ้น มีกฏหมายให้ใช้คือม.๑๐๘  เป็นตัวอย่างที่บอกว่าคดีความมีการเจรจาโดยมีบุคคลที่ ๓ ก่อนขึ้นศาลมีได้ และเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ร.๖ โดยมีศาลเป็นแค่ที่พึ่งสุดท้าย

อาจารย์เล่าว่า เดี๋ยวนี้(สมัยใหม่) ถ้าไม่มีการไกล่เกลี่ยเหมือนขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง ก่อนทะเลาะกันแล้วส่งศาลจะมีการไกล่เกลี่ยก่อน

รับรู้กันไว้นะคะ เผื่อว่าใครเกิดปัญหาจะได้เข้าใจการทำงานของศาล สนใจใช้บริการให้เข้าไปศึกษาดูได้ที่นี่ค่ะ

« « Prev : ครูชวนให้ทำต่อ

Next : อย่าคิดว่าเป็นกระบวนการหาร ๒ เลย…ไม่ใช่หรอก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ฤาเกิดจากอาถรรพ์เลข ๖"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.016587972640991 sec
Sidebar: 0.1041259765625 sec