เรียนเรื่องอารยะนินทาด้วยหละ…เชื่อมั๊ยๆ

โดย สาวตา เมื่อ 5 เมษายน 2010 เวลา 23:28 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1567

หลังกินข้าวแล้วก็มีผู้คนรีบทำการบ้านตามประสานักเรียนที่ดี หลายคนส่งตั้งแต่หลังช่วงเบรคเช้า ท่านที่เข้ามาอ่านอย่าเพิ่งแปลกใจไปเลยที่มีคนส่งเร็วทั้งๆที่ยังเรียนไม่จบวัน  ก็กติกาที่น้องๆทีมลุงเอกมาประกาศบอก เธอบอกว่าเขียนอะไรก็ได้ที่ได้เรียนรู้ส่งให้ จะสั้นจะยาวอย่างไรก็ไม่ว่ากันได้ทั้งนั้น จะส่งกันแบบทะยอยส่งเป็นวันๆ หรือรวบมาส่งรวม ๒ วันที่เรียนก็ไม่ว่ากัน ลุงๆป้าๆน้าๆก็ตัดสินใจกันซิค่ะ

ช่วงเวลาภาคบ่ายของวันนี้มีหลายคนนำพาตัวกลับสำนักงานของตัว สาเหตุที่กลับเพราะมีภารกิจของงานประจำที่คั่งค้างอยู่ให้เคลียร์

ภาคบ่ายเป็นคิวของ อ.ศรีศักร์ วัลลิโภดม เริ่มบรรเลงกันที่แลกเปลี่ยนเรื่องม็อบ อาจารย์เห็นว่าการคุยที่เห็นยังเป็นแบบต่อรอง (debate)  ไม่ใช่สานเสวนา(dialogue) แต่มีการเริ่มต้นที่ดีตรงที่ มีสถานที่ดี มีความเป็นกลางให้ใช้คุยกัน ซึ่งก็ช่วยเอื้อให้ผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่ายเริ่มแง้มประตู

ในมุมมองของอาจารย์ มองเห็นว่า สถานการณ์ของเวลานี้ ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นตัวประกันของทั้ง ๒ ฝ่าย

อาจารย์มองในแง่ดีตรงที่ยังมีความหวัง ด้วยเหตุเคยได้รับรู้ว่าที่อื่นที่เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาแล้ว เมื่อมีหลายภาคีเข้ามาเกี่ยวข้อง กระบวนการมันช่วยสลายอัตตา คนหลายกลุ่มที่มาคุยกันช่วยสลายอัตตากลุ่มแล้วนำไปสู่การมองส่วนรวมได้

สงครามอเมริกากับอินเดียแดงที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชวนให้มีการคุยกันอย่างสันติแล้วสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมตัดหัวเปลี่ยนจากการล่าหัวไปสู่ไกปืนแล้วยิงกันได้ เปลี่ยนการล่าหัวไปสู่การล่าอย่างอื่นได้ เป็นตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาเล่าว่าเมื่อคนอยู่ประเทศเดียวกันคุยกันเองจะดีกว่าให้คนอื่นมาคุย

อาจารย์ให้ข้อคิดว่า จะเห็นสังคมเมื่อมองผ่านโครงสร้าง การโต้ทางสื่อไม่มีมิติทางสังคมมีแต่การเมือง เศรษฐกิจที่ไม่มีสังคมเป็นเศรษฐกิจการเมืองที่วงเล็บสังคมเอาไว้ ไม่เห็นสังคม การใช้สื่อไม่สามารถเข้าถึงสังคมพหุลักษณ์  จะเข้าถึงสังคมพหุลักษณ์ให้เข้าถึงผ่านโครงสร้างสังคม

ทำความรู้จักโครงสร้างของสังคมเพื่อให้เข้าใจสังคม สังคมไทยเปลี่ยนผ่านมาเป็นยุคๆ ๓ ยุคแล้ว มีสังคมชาวบ้าน สังคมราชการ และสังคมเดรัจฉาน อาจารย์อธิบายว่า สังคมเดรัจฉาน หมายถึง สังคมที่โลกาภิวัฒน์ผ่านเข้ามาสร้างปัจเจกนิยมให้เกิดขึ้น สังคมอย่างนี้ขัดกับประชาธิปไตย ทุนเสรีที่เข้ามาพร้อมผลประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่ม ทำให้ไม่มีสังคม ตัวอย่างเห็นได้จากบ้านจัดสรร คอนโดที่เดี๋ยวนี้คนไทยต่างคนต่างอยู่ ไม่มีสังคมตรงนี้ เพราะนำเข้ามาแบบไม่เข้าใจ คนไทยต่างกับคนตะวันตกตรงที่คนตะวันตกมีความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ต่างคนต่างอยู่

สังคมถูกรุกล้ำผ่านการพัฒนามาตลอด การพัฒนานี้ทำให้ชุมชนถูกสลายหมด ผู้พัฒนาให้เกิดขึ้นก็คือรัฐบาลทุกรัฐบาล เริ่มมาแต่ยุคที่รัฐมีคำขวัญ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” นั่นเลย

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่่อยู่รวมกลุ่มไม่ได้ ภายในกลุ่มมีโครงสร้างเพื่อให้อยู่ร่วมเช่น ครอบครัว มีพ่อแม่ลูก การอยู่รวมกลุ่มก็มีกติกา พ่อทำหน้าที่พ่อ แม่ทำหน้าที่แม่  การไม่มีกติกาทำให้เป็นปัจเจก แล้วสังคมเดรัจฉานก็เกิดมา  แต่มนุษย์ต้องอยู่ด้วยกัน สังคมอย่างนี้จึงท้าทายความเป็นมนุษย์ เมื่อพ่อไม่ทำหน้าที่พ่อ แม่ไม่ทำหน้าที่แม่ก็สูญสลาย

อาจารย์เล่าเพิ่มเติมเรื่องของจักรพรรดิราชและสังคมสมัยก่อนว่า ความเป็นราชาธิราชให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์ เป็นอำนาจที่มาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ  สังคมสมัยร.๕ มี ๒ ระดับอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมข้างล่าง (ไม่เน้นรูปแบบ) และวัฒนธรรมหลวง (เน้นรูปแบบ) สังสรรค์กันแบบอุปถัมภ์ บนอุปถัมภ์ล่าง ล่างช่วยตัวเองไม่ได้  วัฒนธรรมข้างล่างเป็นสังคมที่เรียกว่า “สังคมชาวนา” เป็นสังคมไพร่ ผู้คนในสังคมมีชีวิตร่วม ทำงานร่วม วิถีชีวิตพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีสิทธิปกครอง เป็นผู้ปฏิบัติมาตลอด ต่ำสุดของสังคมไพร่คือทาส ไม่เป็นเสรีชน

ในสังคมมีการรวมกลุ่ม ๓ แบบ บ้าน เมือง นคร วัด สังคมแบบนี้เป็นสังคมชาติพันธุ์ที่สามารถสืบได้ว่าใครเป็นใคร ดองกันอย่างไร บ้านจะไม่อยู่โดดๆ กันพื้นที่สาธารณะ หลายบ้านรวมกลุ่มกันเป็นเมือง  เมืองเป็นศูนย์กลาง มีตลาด มีการเชื่อมโยงกัน

ในฐานของสังคมชาวนา ชุมชนที่เป็นจริงคือชุมชนชาติพันธุ์  เมืองเป็นชุมชนตามจินตนาการ สำนึกร่วมเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่อยู่

เมื่อเมืองรวมกลุ่มเป็นศูนย์กลางก็เกิดนคร มีกษัตริย์ปกครอง กษัตริย์ไม่ใช่ญาติใคร เพราะถูกยกระดับเป็นคนพิเศษ มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีสิ่งคุมอยู่เบื้องบน คือ ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

สมัยก่อนรัฐทำหน้าที่แค่ ๒ อย่าง กันการรุกราน และรักษาความสงบภายใน ไม่มีสวัสดิการ ให้อิสระคนข้างล่างดูแลกันเอง เรียกข้างล่างมาช่วยกันแบบคาเฟ่ การปกครองบ้านเมืองตามปกติไม่ไปรุกล้ำการเป็นชุมชน บ้าน ท้องถิ่น  คนในวัฒนธรรมท้องถิ่นมีความคิดหลากหลาย คนในวัฒนธรรมหลวงไม่ไปเกี่ยวข้อง  การจัดการความขัดแย้งเป็นสมานฉันท์ เป็นสีเทา ไม่ขาวดำ  ปรากฏการณ์ที่ทำทั่วโลก คือ เปิดพื้นที่ให้ทุกคน เมื่อไรเกิดขาวดำจะมีการขอให้ตัดสิน

ในเรื่องของสังคมพหุลักษณ์ อาจารย์เล่าว่ามีมาแต่เก่าก่อน ตัวอย่างเช่น ชาวนาอยากให้ลูกเป็นขุนนาง

ในส่วนของความขัดแย้งในเมืองไทย อาจารย์มองว่าไม่ได้มาจากหิว แต่มาจากเกลียด แย่งใหญ่แล้วกลายเป็นโกรธเมื่อตะวันตกเข้ามา

ข้อวิเคราะห์ของอาจารย์มีว่า สมบูรณาญาสิทธิราช เป็นการรวมศูนย์อำนาจ รวบอำนาจ ไม่กระจายอำนาจ เมื่อเข้าสมัย ร.๕ มีการกระจายอำนาจ มีชนชั้นกลางเกิดขึ้น การปกครองเริ่มพัง มาตั้งแต่บัดนั้น การปรับตัวไม่ทันของสังคมชาวนาทำให้เกิดความขัดแย้ง

อาจารย์เล่าว่าสมัยก่อนอำนาจต่อรองมาจากคนระดับล่าง การนินทาเป็นกระบวนการควบคุมความประพฤติของคนในระดับสูงกว่า เป็นแซงชั่นที่สังคมระดับบนต้องสนใจ การจัดการทรัพยากรก็คุยกันด้วยกติกาต่างๆ  สถาบันการแต่งงานเป็นการจรรโลงความเป็นมนุษย์ สถาบันพระมหากษัตรย์เป็นความมั่นคงทางการเมือง สถาบันศาสนาทำให้เกิดจริยธรรม ศีลธรรม การสร้างวัดของผู้คนสมัยก่อนเป็นการระบายความมั่งคั่งออกไปจากตัว การไม่เก็บความมั่งคั่งไว้กับตัวทำให้เกิดจริยธรรม ศีลธรรม

การจัดการทรัพยากรที่คุมกันด้วยกติกาต่างๆถูกทำลายหมดไป ชาวบ้านเริ่มแบมือ ไม่ทำอะไรเอง มาแต่สมัยคึกฤทธิ์ ปราโมทย์เริ่มเรื่องเงินผัน และรัฐบาลต่อๆมาต่อเนื่องด้วยงบมิยาซาวา ขมิ้นทัวร์ จนมาถึงไทยเข้มแข็ง

สังคมชาวนามีอยู่มากในภาคอีสาน เหนือ รวมถึงปัตตานีด้วย สังคมชาวนา สังคมหลวงเปลี่ยนผ่านมาเป็นสังคมกสิกร สังคมมุสลิมภาคใต้ถูกมองว่าเป็นคนต่าง ไม่เป็นคนพวกเดียวกัน เหล่านี้เป็นผลมาจากโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามา มีการนำวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาแบบไม่เข้าใจ สถาบันแต่งงาน สถาบันศาสนาจึงถูกกระทบหมด โลกาภิวัฒน์ที่นำเข้ามาทำให้เกิดการแยกกลุ่ม ธนาคารที่เข้ามาทำให้เกิดการเก็บเงินไว้กับตัว ความเป็นมนุษย์ก็หายไปด้วย ระบบอุปถัมภ์ผ่านวัดที่เคยมีอยู่หายไป จริยธรรมและศีลธรรมก็หายไปด้วย หมดไปตามโลกาภิวัฒน์

ฟังอาจารย์ว่ามาทั้งหมดแล้วมันมั๊ยค่ะ อาจารย์เองก็สนุกกับการคุยเล่าให้ฟังค่ะ ยอมพักยกก็ตอนที่น้องๆทีมลุงเอกเข้ามาขัดจังหวะบอกเวลาพัก แล้วอาจารย์ลืมเรื่องที่กำลังจะคุยให้ฟังนั่นแหละ จึงไ้ด้พักกัน

๑ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : “ความขัดแย้ง” เป็นปกติของชีวิต..เชื่อหรือเปล่า

Next : ว่าด้วยสังคมไทยๆ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 0:39

    ละเอียดยิบเหมือนนั่งในห้องเลยจริงๆ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 8:48

    เยี่ยมมาก เจ๊หมอ ขอให้ขยันเขียนขยันเล่าต่อไป
    พวกเราจะตามอ่านๆๆๆ ได้เรียนไปด้วย
    แบบนี้แหละใช่เลย จริงๆจะเจ๊หมอ คิคิ

  • #3 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 16:03

    ไอ้เรื่องที่ให้แต่ละคนเขียนบันทึกก็มาจากพวกผมนี่แหละ สัมนากันแล้วก็พูดกันว่าส่วนใหญ่ไม่สนใจทำรายงาน เวลาทำงานกลุ่มก็ใครทำก็คนนั้นแหละทำอยู่นั่น ต้องแก้เผ็ดซะมั่งให้ทุกคนเขียนรายงานสิ่งที่ได้เรียนรู้ทุกชั่วโมง อ้อ..คนที่เสนอ รู้สึกจะไม่ได้ทำอะไรเหมือนกันเวลาเรียน อิอิ
    อิอิ บันทึกพี่หมอก็เหมือนไปนั่งฟังเองเลย สุดยอด….

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 23:27

    #2  ถือว่าสรุปเรียบเรียงเรื่องราวที่เรียนใหม่ให้เป็นเรื่องราวที่อ่านง่ายขึ้นค่ะ

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 23:27

    #1  เรียบเรียงใหม่ขึ้นมาตามความเข้าใจค่ะพี่ แล้วยิ่งได้พี่มาร่วมแลกเปลี่ยน ยิ่งทำให้สนุกขึ้นกับการเรียนค่ะพี่

  • #6 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 23:28

    #3  หลังจากคุ้นกับวิธีสอนของอาจารย์แล้วมาสรุปเป็นบันทึก กลับไปฟังอาจารย์อีกทีรู้เรื่องขึ้นมากเลยค่ะ

    ตอนฟังมันงงๆ เพราะอาจารย์มีสไตล์การพูดเหมือนคนพูดไม่จบ จากเรื่องนี้ก็ไปพูดเรื่องใหม่ นึกเรื่องเก่าขึ้นได้เมื่อไรก็กลับมาพูดต่อ แถมพูดคำต่างภาษาสลับภาษาไทยอีก เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาธรรม ยิ่งไม่ชินหู ทำเอางงค่ะ

    นึกภาพเห็นเลยว่า เวลาที่พี่พูดภาษาแบบหมอพูดกันกับคนไข้ แล้วคนไข้เขางงอย่างไงบ้าง…อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.057124853134155 sec
Sidebar: 0.17541122436523 sec