ว่าด้วยสังคมไทยๆ
ในระหว่างการพบปะวันแรกในรุ่น ก็มีการจัดการให้เกิดโครงสร้างเพื่อให้มีการจัดการกับเรื่องราวหลายอย่าง อย่างเช่นในเรื่องปฏิสัมพันธ์ที่พึงมีต่อกันของผู้คนในสังคมผ่านโครงสร้างศิษย์-อาจารย์ เพื่อนใหม่-เพื่อนเก่า พี่-น้อง ผู้เข้าศึกษา-ทีมงานผู้จัด ผู้เหย้า-ผู้เยือน หลากหลายโครงสร้างที่มีพลวัตรของมันดำเนินไปในเวลาที่ซ้อนกันอยู่
หลายเรื่องของการจัดการซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมกลุ่มมีการดำเนินไปเมื่อเวลาเริ่มต้นถูกกำหนดขึ้นชัดเจน อย่างเช่นปฏิสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์ ผู้เหย้า-ผู้เยือน ทีมงานลุงเอกก็ผ่องถ่ายการดำเนินการมาให้นักศึกษานับหนึ่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เริ่มต้นกันที่บอกกล่าวทิศทางให้รับทราบก่อนว่ามีใครบ้างที่มอบอำนาจให้ทำแทนได้แล้ว พร้อมชี้แนะต่อว่าให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร เรื่องราวของอย่างไรทำแค่ส่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับรุ่น ๑ มอบเป็นบทเรียนให้ถอดความรู้ เรียนรู้แบบปัจจัตตังเองค่ะ
ตอนเช้าของวันนี้จึงมีการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องพึงทำเพื่อสานความรักในชุมชนสสสส.๒ ให้บังเกิดงอกงามโดยกลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่ง เริ่มต้นเรื่องแรกที่การดูแลกัน ร่วมด้วยช่วยกันลงมือแลกเปลี่ยนความเห็นแบบใจอาสาจนได้ความลงตัวเรื่องอาหารประจำวันและการจัดการค่าใช้จ่ายที่เื้อื้อและเสริมให้เกิดความสบายใจของทุกผู้คนที่เข้ามาสู่ชุมชนเล็กๆแห่งนี้มาลงมือต่อ
ยกหลังของภาคบ่าย อ.ศรีศักร์ ได้ชวนสานเสวนาทางออกของเรื่องม็อบที่อยู่ตรงหน้าคนกรุง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครร่วมแลกเปลี่ยน ทุกคนนั่งฟังกันแบบเงียบๆกันหมด สงสัยว่าอาหารที่ลงตัว ทำให้อิ่มอร่อยถ้วนหน้าแล้ว หลังเบรคบ่ายเลยสบายๆมั๊ง เพิ่งสังเกตว่านอกจากมีหลายคนปลีกตัวกลับกันเพิ่มแล้ว ก็เพิ่งมีบางคนเข้ามาใหม่ด้วยนะ
มาฟังกันหน่อยว่า อาจารย์เสนอความเห็นไว้อย่างไรค่ะ ขอเริ่มตรงเรื่องของสานเสวนาก่อนนะคะ
อาจารย์ถือว่าการทำงานเพื่อทำให้เกิด fair change force change ความสำคัญของการฟัง อยู่ที่การให้คนข้างล่างมีโอกาสบอก ร่วมให้ความเห็น โดยขณะเดียวกันก็ให้มีการหยุดกระบวนการแสดงอัจฉริยะของคนข้างบนไว้ด้วย
ฟังแล้วตัวท่านรู้สึกยังไงบ้าง ตัวฉัันได้ฟังแล้ว ได้ยินเสียงร้อง อืม ดังขึ้นในหูค่ะ ได้ยินเสียงอาจารย์แล้ว มองเห็นความรู้สึกของของตัวเองเมื่อทำงานแบบคนข้างล่างเลยค่ะ มองเห็นต่อไปว่าเมื่อทำงานแบบคนระดับบนแล้วปล่อยให้คนข้างล่างทำได้อย่างอาจารย์ว่า หลายเรื่องที่ขัดแย้งลดน้อยถอยลงไปด้วย อืม นี้จึงมีความหมายที่รวบยอดความเห็นของตัวเองเมื่อดำรงสถานะทั้งแบบคนข้างล่างและข้างบนแล้วค่ะ
อาจารย์เล่าเรื่อง ๒ มาตรฐานว่า วิเคราะห์แล้วเกิดจาก “ค่านิยม” (เอารัดเอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำ) ความขัดแย้งอย่างนี้จะให้หมดไปต้อง “ฆ่าค่านิยมก่อน” พัฒนาตนเองก่อน ภาวนาก่อน และเจริญสติอย่างมีศีล จึงจัดการได้
ยังมีเรื่องโลกทัศน์ซึ่งมี ๓ มิติในเรื่องการสร้างคน (โครงสร้างทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ จักรวาล) ที่อาจารย์บอกเล่าให้รู้จักด้วยค่ะ
โครงสร้างทางสังคม คือ ความสัมพันธ์คนกับคน การนับญาติ
ระบบเศรษฐกิจ คือ การอยู่กับธรรมชาติ ความสัมพันธ์กับเรื่องเหนือธรรมชาติทำให้คนสัมพันธ์กับธรรมชาติเชิงสยบ (universal institution)
จักรวาล คือ ความเชื่อ จิตวิญญาณ ซึ่งมีความรู้อีกมากมายที่ยังเข้าไม่ถึง
อาจารย์แลกเปลี่ยนว่า ณ วันนี้ ความเชื่อมี ๒ อย่าง คือ ศาสนา (religion) และ ไสยศาสตร์ (magic)
คำว่า “วัฒนธรรม” อาจารย์ให้ความหมายว่า คือ สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนในกลุ่มนั้นอยู่รอดร่วมกัน
แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างว่าการนำเอาวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อควบคุมจักรวาลมาใช้อย่างไม่เข้าใจโลกทัศน์และวัฒนธรรม การพัฒนาที่ตัดมิติของจิตวิญญาณทิ้งว่าทำให้เกิดสภาวะที่ควบคุมไม่ได้อย่างไร ตัวอย่างที่ยกมาเล่าคือกรณีของการสร้างเขื่อนที่เคยเกิดม็อบค่ะ แห่งหนึ่งก็คือเขื่อนปากมูลที่ทำให้อำเภอวารินชำราบเกิดน้ำท่วมทุกปี อีกแห่งคือเขื่อนราษีไศลที่ทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำเค็ม
ฉันเพิ่งรู้ว่า “จน” มีความหมายต่างจากที่ฉันเคยเข้าใจเมื่ออาจารย์เล่าว่า สมัยก่อน “จน” เป็นเรื่องของการมองภาพรวมของสังคม ไม่ได้มองที่คนเป็นคนๆ ฉันว่ามองอย่างนี้ดีเพราะว่าทำให้ผู้คนมีเป้าร่วมในการช่วยกันยกระดับสังคมที่เอื้อต่อการมอบความรักให้กัน เมินความเกลียด โกรธกันได้
อาจารย์ให้ความเห็นว่าการจัดชุมชนแบบท้องถิ่นดูแลตัวเองมีดีตรงที่ทำให้เกิด local village local town ทำให้มีการรวมอยู่โดยชาติพันธุ์อยู่รวมกันได้และยอมรับกัน มีตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาประกอบเรื่องการยอมรับชาิติพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆด้วยค่ะ อย่างเช่นไทยดำในชุมชนเดียนเบียนฟู ม้งกับรองผู้นำชุมชนม้ง ชุมชนเวียดในเวียดนาม เป็นต้น
อาจารย์เน้นว่า “การมีพื้นที่ให้คนแสดงอัตลักษณ์ได้ ทำให้ความเข้มแข็งเกิดขึ้น”
ส่วนความเป็นไปปัจจุบันของสังคม อาจารย์มองว่า มีความล้าหลังกับความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมต่างกันอยู่ในชุมชนค่ะ
แล้วคำว่า “ชาติ” อีกคำหนึ่งก็หลุดออกมาจากปากอาจารย์ให้ได้งงอีก คำนั้นคือ “ชาติภูมิ” ค่ะ
อาจารย์เล่าว่าโลกมี ๓ ภูมิ ภูมิหนึ่งคือ มาตุภูมิ หมายถึงบ้านเกิดเมืองนอน ท้องถิ่น บ้านเมือง ความหลากหลายชาติพันธุ์ ภูมิหนึ่ง คือ ชาติภูมิ หมายถึงประเทศชาติ เป็นปิตุภูมิ เป็นแผ่นดินเกิด เป็นสิ่งที่อยู่ลึกๆของชาตินิยม และภูมิสุดท้าย คือ โลกภูมิ
สังเกตนะคะว่า มีคำที่อาจารย์ใช้ในความหมายต่างจากที่เราๆใช้พูดทั่วๆไป “บ้าน” “แผ่นดิน” “ท้องถิ่น” “บ้านเมือง”
อาจารย์เน้นว่า สำนึกของแผ่นดินเกิดทำให้อยู่รอด ขจัดความขัดแย้งได้ พัฒนาได้ เแล้วก็โยงมาสู่ความหมายของคำว่า “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา”
อาจารย์ใช้คำว่า “เข้าถึง = to know” “เข้าใจ = to understand” “พัฒนา = to control”
ก่อนจบชั่วโมงเรียน อาจารย์พูดถึงความขัดแย้งของ ๓ จังหวัดภาคใต้ด้วย อาจารย์แยกแยะให้ฟังว่า ความขัดแย้งของภาคใต้ ๓ จังหวัด มีหลายมาตุภูมิขัดแย้งกันอยู่ ใครมีข้อมูลด้านลึกของภาคใต้ ลองรวบรวมเรียนรู้มาตุภูมิในภาคใต้ดูนะคะ
ในเรื่องของสังคมไทยอาจารย์วิเคราะห์ว่า สังคมไทยเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันในเรื่องการประสานประโยชน์ การ share พื้นที่ ให้เกิดเรื่องร่วมกันเป็น common property ควรทำแผนที่ชุมชนให้ได้ก่อน
หากมีการต่อรองในการสานประโยชน์ อาจารย์เห็นว่าควรเป็นพหุภาคีและไม่หลีกเลี่ยงการมีทวิภาคี เรื่องราวการประสานประโยชน์ควรจะสานทั้งประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวมไปด้วยกันค่ะ
อาจารย์เล่าเรื่องให้ฟังเพลินๆอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเลยค่ะ เรื่องราวที่ไหลออกมาบอกถึงภูมิรู้ที่เต็มล้นที่อาจารย์อยากบอกให้รู้ อยากให้มีคนเข้าใจ นี่แหละครูดีหละ มีอะไรที่ลูกศิษย์ฟัง ยิ่งมีแรงที่จะผ่องถ่ายความรู้ให้ แม้วัยจะล่วงเลยแต่พลังแห่งใจที่รักลูกศิษย์ก็ยังแสดงออกมาสู้กับสังขารให้ได้เห็น
วันนี้ได้เรียนรู้ว่าความรู้ในตัวคนมีเรื่องอีกมากมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความรู้ในแง่มุมที่ผู้เชี่ยวชาญกว่ายินดีผ่องถ่ายมาให้ ดีจริงๆค่ะ
ขอบคุณอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดมค่ะที่ช่วยเคาะกระโหลกให้เปิดรับความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยที่มีมากมายเช่นนี้ ขอบคุณค่ะ
จบเรื่องการเรียนแล้ว พี่จุก (พี่บุญศรี สุธรรมานุวัฒน์) ผู้อำนวยการและเลขาธิการมูลนิธิบิ๊กซี ผู้ได้รับมอบจากลุงเอกให้ช่วยดูแลการเงินของชุมชนสสสส. ๒ ก็ชวนพี่น้องบางคนร่วมคุยกันเพื่อจัดระบบบัญชีของชุมชนให้เกิดความลงตัว คุยกันจนถึงเวลากว่า ๕ โมงครึ่งแล้ว จึงต่างคนต่างโบกมือแยกกันไป
สำหรับคำว่า “ชาติ” นับไปนับมา ๕ คำเข้าไปแล้วเนอะค่ะ ที่ให้ความหมายต่าง อย่างนี้เวลาพูดคุยกัน ไม่สับสนอลหม่านกับความหมายที่คนพูดต้องการสื่อ อมพระมาบอกก็ไม่เชื้อ ไม่เชื่อค่ะ
เรื่องราวที่อาจารย์แนะว่าให้ทำแผนที่ชุมชนขึ้นก่อนทำให้เอ๊ะนะคะ จนไปอ่านเรื่องราวนี้ของเด็กๆที่เขาเรียนรู้กันแล้ว จึงเข้าใจมากขึ้นเรื่องการใช้ประโยชน์ของมันเพื่อพัฒนาชุมชนค่ะ
ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ ที่ทำให้ฉันได้มุมมองของ “แผนที่ชุมชน” เครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้ชุมชนที่มีคนเคยสอนให้รู้จักมากขึ้นกว่าเดิมมากมายจากบทเรียนของวันนี้
๑ เมษายน ๒๕๕๓
« « Prev : เรียนเรื่องอารยะนินทาด้วยหละ…เชื่อมั๊ยๆ
2 ความคิดเห็น
แผนที่ชุมชนนั้น พัฒนากันไปมากมายเพื่อให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของแต่ละด้าน
Dr. Gordon Convey นำเอาเข้ามาที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมัยนั้น ดร.เทอด เจริญวัฒนา อดีตคณะบดีคณะเกษตรศาสตร์ และอดีตอธิการบดีม.สุรนารี เป็นหัวหน้าคณะทำงานสมัยนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2525 ในโครงการ Farming System Research and Extension และได้นำเครื่องมือต่างๆเข้ามาเพื่อ เข้าใจ เข้าถึง ชุมชนชนบทมากมาย เครื่องมือเหล่านี้รวบรวมอยู่ใน RRA คือ Rapid Rural Appraisal
ต่อมา RRA พัฒนามาเป็น PRA คือ Participatory Rapid Appraisal และมีการประชุมเรื่องนี้ระดับนานาชาติของโลกที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วเครื่องมือนี้ก็เป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วโลก ไม่ว่า World Bank, ADB, UN หรือแม้ International NGO ก็นำเครื่องมือนี้มาใช้กันทั่วไป แต่ได้พัฒนาไปให้สอดคล้องกับสาระงานของแต่ละด้าน
มีประโยชน์มากครับ ปัจจุบัน จะทำงานพัฒนาชนบทก็ต้องใช้ PRA ไปศึกษาก่อนแล้วทำรายงานออกมา แล้วเอารายงานนี้ไปใช้ประกอบการจัดทำแผนงาน ของบประมาณ และอื่นๆต่อไป
ในตัว PRA นั้นมีเครื่องมือเป็นมากมายที่ใช้กัน และอย่างที่กล่าว นับวันก็พัฒนาไปมากมาย
รายละเอียดเรื่องการทำแผยนที่ชุมชนนั้นมีอีกหลายส่วน เปลี่ยน เขาชวนพี่ไปทำเรื่องนี้ในประเทศลาวที่เมืองหงสาปีก่อน และทุกครั้งที่เราจะเปิดพื้นที่ใหม่ เราก็ต้องทำ PRA และหนึ่งเรื่องใน PRA ก็คือ การทำแผนที่ชุมชน ก็แล้วแต่ว่าจะเน้นในเรื่องใด เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นเรื่อง land Use แหล่งน้ำ ป่าไม้ ที่ดินทำกิน ที่นา ที่สวน ที่ไร่ ปัจจุบัน เอาไปผนวกกับระบบ GIS แล้วเราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์มากมาย
เอาไปวิเคราะห์ศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติ, ศักยภาพการพัฒนาการเกษตร, การจัดการแหล่งน้ำ,หากนำมาผนวกกับข้อมูลที่เราเรียกว่า Village profile หากละเอียดลงไปถึง family profile เราก็เอามาวิเคราะห์ได้มากมาย เช่น การเกิดโรคภัย โอกาศการกระจายตัวของโรค ฯลฯ
หากเราทำแผนที่เชิงพัฒนาการ เช่น เมื่อ 50 ปีที่แล้ว แผนที่ชุมชนเป็นแบบไหน เมื่อมีเครื่องจักรกลเข้ามา แผนที่เปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อไฟฟ้าเข้ามา เมืท่อการเกษตรสมัยใหม่เข้ามา แผนที่เปลี่ยนไปอย่างไร แผนที่เหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ การสร้างสำนึกของชุมชนได้ และแผนที่เหล่านี้ ชาวบ้านสามารถสร้างมันขึ้นมาได้เอง ที่เราเรียกว่า การมีส่วนร่วม
ปัจจุบันพี่ก็ทำแผนที่การพึ่งพาป่าของชาวบ้านดงหลวง เพื่อทำความเข้าใจว่า ที่เราบ่นว่าชาวบ้านเข้าป่าไปหาของป่านั้น แผนที่มันบอกอะไรเราบ้าง เอาไปผนวกกับการเก็บข้อมูลรายครัวเรือนที่เข้าป่า เราก็จะได้ความรู้ ความเข้าใจมากมาย และในที่สุดเราก็พบ Key word ของการพึ่งพิงป่าสองสามคำ คำหนึ่งคือ Food habit พฤติกรรมการกินของชาวโซ่นั้นชอบรสชาดอาหารป่า มากกกกกกก นี่เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เรายังไม่ประสบผลสำเร็จการทำงานกับชาวบ้านเพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินนั้น ง่ายซะเมื่อไหร่ ห้ามไม่ให้คนใต้กินแกงไตปลา ขนมจีน อย่าซะเลย ห้ามไม่ให้คนอีสานกินส้มตำ ลาบ อย่าซะเลย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราพบเลยหละ
แผนที่ชุมชนมีประโยชน์มากครับน้องหมอตา
ขอบคุณพี่บู๊ดค่ะ ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่จริงๆลึกนะคะ