งงๆแล้วดีหรือเปล่า

โดย สาวตา เมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 22:50 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 873

วันนี้เป็นวันที่ลุงเอกโดนโบ๊ยให้มาเป็นครูสอนโดยไม่ทันรู้ตัว ที่พูดว่าโดนโบ๊ยก็เพราะตารางเวลาเรียนจากลุงเอกถูกกำหนดไว้ในเดือนอื่นค่ะ  เรื่องราวที่ลุงเอกมาแลกเปลี่ยน สร้างความงุนงงให้ผู้เข้าเรียนไม่น้อย ตอนจบของการเรียน มีคนยกมือถาม เอ๊ะ นี่จะให้การบ้านกลุ่มจะให้ทำงานอย่างไรกันแน่หรือ ลุงเอกแลกเปลี่ยนอะไรขออุบไว้ก่อนให้อยากรู้

ในวันปฐมนิเทศวันแรกเมื่อกิจกรรมจบลงก็มีคำถามกับลุงเอกว่าการบ้านที่ให้ส่งเป็นรายวันนั้นเริ่มเลยละหรือ ทีมงานลุงเอกเป็นผู้เข้ามาตอบว่ายังไม่เริ่ม ให้เริ่มเมื่อกลับมาเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า ในวันนั้นหลายคนโล่งใจค่ะ

ที่โล่งใจก็เพราะว่าต้นๆวันปฐมนิเทศมีการเกริ่นเรื่องส่งการบ้านว่าให้แต่ละคนส่งงานบอกเล่าเรื่องการเรียนรู้ในแต่ละวันเมื่อกิจกรรมเรียนจบลง มีเงื่อนไขการส่งว่าไม่ถึง ๗๕% ถือว่าตก เวลาเรียนนับสะสมแล้วไม่ถึง ๗๕% ถือว่าตกด้วย และมีการปรับไม่ให้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศด้วย

มีหลายคนที่ได้ยินเรื่องสะสมเวลาเรียนแล้วถึงชะงักคิดเปลี่ยนตัวคนเข้ามาเรียนแทนว่าดีกว่ามั๊ย จนมาถึงวันปฐมนิเทศที่อยุธยา เมื่อได้สัมผัสกิจกรรมทั้งวัน หลายคนเริ่มคิดใหม่กับโจทย์ตัวว่าเรียนต่อหรือถอนตัวดีกว่ากัน แว่วเสียงให้ได้ยินว่าวิธีเรียนแบบที่จัดให้ไม่เครียดอย่างที่คิดไว้ค่ะ

พูดถึงการบ้านแล้วก็ฉุกคิดไปถึงประเด็นที่รุ่นพี่ ๔ส๑ และอาจารย์ไร้กรอบวางทิ้งไว้ให้  พ่อครูบาทิ้งโจทย์เรื่องการเรียนเอาไว้ให้ขบ เมื่อนำมาบรรจบกับเฉโกที่อาจารย์ไร้กรอบและข้อความที่กอล์ฟทิ้งไว้ให้เรียนก็มีเรื่องชวนคิดนะ

ลองนำสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษา สสสส.๒ มาเรียบเรียงภาพเพื่อทวนความกับตัวเองว่าได้เรียนอะไร ถอดบทเรียนดูบ้างว่าในพื้นที่นอกห้องเรียนที่ได้เรียนเก็บเกี่ยวความรู้มาใช้งานแบบใด อย่างไรบ้าง

บทเรียนที่เรียนมาแล้วมีทฤษฎีวิชาการเป็นฐานอยู่มากมาย เมื่อโยงมาสู่การเรียนรู้ให้ภาพรวมอะไรบ้างเป็นโจทย์ที่ชวนให้หาคำตอบ เบื้องต้นของคำตอบทั้งหมดที่หลักสูตรหวังผลไว้

เมื่อลองไปอ่านหนังสือ “รายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี”  ที่รุ่นพี่ ๔ส๑ ช่วยกันทำขึ้น ความเข้าใจของฉันแปลความว่า ช่วงเวลาของการเรียนรู้ในห้องเรียนที่กำลังดำเนินอยู่ที่สถาบันพระปกเกล้า ณ เวลานี้ เป็นเสมือนส่วนบทนำ บททั่วไป และทบทวนวรรณกรรม คล้ายการเล่าเรื่องแบบงานวิจัยยังไงยังงั้นเชียว

ข้อมูลที่ไหลเข้ามาเป็นเสมือนให้รู้ว่าพื้นฐานด้านวิชาการมีหลักมองอย่างไรกับเรื่องการเรียนรู้สังคม ในช่วง ๒ สัปดาห์แรก เรื่องราวที่ได้เรียนจึงเป็นเรื่องของศัพท์เฉพาะที่นักวิชาการด้านสังคมใช้ๆกันเพื่อให้เกิดความรอบรู้ และทันกันกับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เมื่อเกิดความรอบรู้ ความเข้าใจจะเกิดทัน แล้วการแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวคนที่เกิดจากความสามารถและประสบการณ์ก็จะเกิดขึ้น เป็นผลให้ความรู้ได้รับการต่อยอดที่เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมเมื่อมาคิดร่วมกันในการทำงานกลุ่ม

อย่างนี้ดูเหมือนว่า นักศึกษาทุกคนกำลังถูกฝึกฝนให้เป็นนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์เลยแฮะ

หลายเรื่องที่เรียนรู้เป็นเรื่องของเหตุผลที่ทำให้วัฒนธรรมยึดโยงสังคมให้อยู่ด้วยกันได้  หลายเรื่องเป็นเรื่องของคนพื้นถิ่นที่ได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมา หลายเรื่องที่ผ่องถ่ายความรู้มาให้ก็มีเป้าประสงค์ให้ใช้วิเคราะห์ความเป็นตัวตนที่ตัวเองถูกบ่มเพาะมา

มุมมองที่ปรากฏนี้ทำให้เข้าใจคำว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” มากขึ้นแล้วหละ  เรื่องราวหลายๆเรื่องที่ได้ข้อมูลในมุมต่างจากความเห็นที่ต่างของผู้คนพื้นถิ่นซึ่งอยู่วงใน อีกทั้งจากผู้คนที่อยู่วงนอก ล้วนเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญในด้านสังคม

การรับข้อมูลเหล่านี้ควรวางสติของตัวให้มั่นและคงไว้ตรงจุดรู้ว่า  “เป็นเรื่องจริง ที่มาจากมุมมองของความเห็นต่างระดับ” เอาไว้เสมอ

วันนี้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เป็นเรื่องเล่าที่มาจากคนวงในและมีความสำคัญ ตำนานซึ่งเล่าขานอ่านจากตำราแล้วเล่าต่อๆกันมาไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” โดยตรงอย่างที่เคยเข้าใจแฮะ

วันนี้ถึงแม้ยังงงกับเรื่องราวใหม่ๆที่ได้เรียนรู้ เมื่องงแล้วเขียนบันทึกก็เท่ากับได้ทวนการรับรู้ ได้ใคร่ครวญตอนเขียน ช่วยลดความงงของฉันเองได้ดีเลยค่ะ แถมยังได้มุมมองใหม่ของการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานประจำด้วยในบางช็อต

ถือเป็นวิธีเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ฉันใช้ฝึกตัวเองอยู่ค่ะ

ขอบคุณ ลุงเอกนะคะที่ส่งข่าวหลักสูตรให้รู้จึงมีโอกาสผ่านกระบวนการคัดเลือกจนได้มานั่งเรียนร่วม

ขอบคุณ สถาบันพระปกเกล้าที่ได้จัดหลักสูตรเรียนรู้สังคมในเชิงลึกไว้ให้ได้เรียน

ขอบคุณ สปอนเซอร์ที่เกื้อหนุนสถาบันพระปกเกล้าให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับดำเนินการหลักสูตร

ขอบคุณ เจ้านายและพี่ๆน้องๆในหน่วยงานของฉันที่เื้อื้อโอกาสและเวลาทำงานให้ฉันสามารถมาเรียนร่วมอย่างสะดวกกาย-ใจ

ขอบคุณ ครอบครัวที่รัก ที่เข้าใจและเปิดไฟเขียวให้เดินทางมาเรียนร่วมได้ด้วยความสบายใจ

ขอบคุณ หลวงพี่ติ๊กที่สะกิดให้หาคำตอบในวันปฐมนิเทศว่าทำไมฉันจึงได้เข้ามาเรียนด้วย เรื่องหนึ่งที่แน่ใจคือ การเป็นหมอที่ไม่รู้สึกลำบากกับการเดินทางบ่อยๆ (และเอาตัวรอดจากการหลงทางได้มั๊งค่ะ)

๒ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : ว่าด้วยสังคมไทยๆ

Next : รากหญ้าไทยกับสังคมโลก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 เมษายน 2010 เวลา 6:00

    น้ำหนักความขัดแย้งในภาคใต้มีคู่แข่งเสียแล้ว
    ความขัดแย้งในสังคม แพร่ไปทุกย่อมหญ้า ตามที่เคยเสนอไว้ใน สสสส1
    น่าจะเป็นโจทย์ที่แซงขึ้นมา
    ;วันที่ 22 นี้ เจอกันนะเจ๊หมอ จะไปบรรยาย แล้วรีบเผ่น
    ตรงกับวันที่นักศึกษาแพทย์มาเข้าค่ายพอดี 22-25 เมษายน
    24 อาจารย์จากพระจอมเกล้าธนบุรี คณะสถาปัตย์ฯ แวะมาดูลาดเลา
    ดูท่า เจ๊หมอ จะเรียนด้วยความสนุก ยินดีด้วย

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 เมษายน 2010 เวลา 7:35

    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญมากๆในกรณีคนที่ไปทำงานประจำในท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งจำเป็นที่ควรหาความรู้ ความเข้าใจนี้ไว้เป็นเบื้องแรกๆ แต่ก็ไม่พอต้องลงลึกไปถึง ลักษณะเฉพาะของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆด้วย

    ตอนไปทำงานดงหลวงกับอาว์เปลี่ยน เราไม่รู้จักกะโซ่ หรือชนชาวสบรู เลย จึงไปหาหนังสือมาอ่าน ไปคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ เราก็เข้าใจ รู้จักมากขึ้น ว่าเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากฝั่งว้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่สาม และอพยพมาหลายครั้ง กระจายไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น กุสุมาลย์ ของสกลนคร และชายโขงที่อุบลราชธานี เมื่อไปทำงานในลาวก็รู้ว่าชุมชนใดที่เป็นกะโซ่ ยังคุยกันว่าชวนผู้เฒ่าข้ามโขงไปคืนถิ่น

    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้เรารู้จักตระกูลต่างๆของชุมชนได้ดีว่าใครเป็นใคร ทางอีสานเราเรียกระบบเจ้าโคตร หากเข้าใจเจ้าโคตรก็จะเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มสายเครือญาติกัน เวลามีเรื่องราวในชุมชน ระบบเครือญาติมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ หากเราทำงานในท้องถิ่น ชุมชนต้องเป็นคนช่างสังเกต ปรากฏการณ์ต่างๆจะบ่งบอกระบบชุมชน เช่น เมื่อเราทำ “พิธีครอบ” ในชุมชน จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ชุมชนมาร่วมพิธี ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีบทบาทในพิธีกรรมนั้นแหละคือเจ้าโคตรของสายตระกูลต่างๆ มีกี่สายเห็นหมด และแต่ละสายใครเป็นอย่างไรเราก็เห็น เมื่อเราเข้าใจ ก้เข้าถึงถูกตัว และจะพัฒนาอะไรก็อ่านออกแล้วว่าเราควรจะทำอะไรกับใครบ้าง

    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นเราต้องเรียนรู้เอง ไม่มีตำราสอนก่อนเข้าทำงาน อาจมีการเรียนในมหาวิทยาลัยบ้าง ก็แค่เอาความรู้ไปสอบ เอาคะแนน รู้แต่ไม่เข้าใจ ข้าราชการที่นั่งที่อำเภอนั้นไม่เข้าใจเรื่องนี้ เขาวางตัวเหนือกว่าชาวบ้าน ไปสั่งไปบัญชาเขา หารู้ไม่ว่าคนทั้งชุมชนท้องถิ่นเขาเคารพผู้เฒ่ามากกว่าคนที่นั่งที่อำเภออีก..  สำคัญมากครับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

    อิอิ ตามมาเรียน ตามมาแชร์ข้อมูลครับ

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 เมษายน 2010 เวลา 0:39

    #1 พ่อครูค่ะ ตั้งใจว่าจะตามไปสวนป่าวันที่ ๒๓ บ่ายค่ะถ้าได้ไฟเขียวและสังขารไม่เดี้ยงซะก่อน ไม่รู้ว่าพี่ตึ๋งจะเข้าสวนป่าคืน ๒๓ ด้วยหรือเปล่า คลับคล้ายคลับคลาว่าบอกว่าอยู่แถวกรุงเทพฯ…หรือเปล่า

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 เมษายน 2010 เวลา 0:41

    อือหือ ไปหาหนังสือมาอ่านก่อนเพื่อเตรียมตัวลงไปชุมชนเหรอพี่  ใช้ถามๆเอาตอนที่ลงไปเลยไม่ดียังไงหรือค่ะพี่


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.022458076477051 sec
Sidebar: 0.13447594642639 sec