“ความขัดแย้ง” เป็นปกติของชีวิต..เชื่อหรือเปล่า

โดย สาวตา เมื่อ 4 เมษายน 2010 เวลา 21:19 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1129

ระหว่างนั่งเรียนในเช้านี้ รู้สึกเอ๊ะกับตัวเองเรื่องการเรียนอยู่เหมือนกันเมื่อเห็นความต่างของตัวเองกับคนที่นั่งรอบตัว บางคนปั่นมือจดไม่หยุด บางคนนั่งฟังโดยมืออยู่เฉยๆ  บางคนลงมือจดบ้างฟังบ้าง ในขณะที่ฉันฟังบ้างจดบ้างถ่ายรูปไปบ้างคิดตามไปบ้าง

ที่เอ๊ะมากก็คือการที่เห็นคนจดไม่หยุดมือนี่แหละ ทึ่งว่าเขาทำได้ยังไง จดอะไรได้ตั้งเยอะแยะเมื่อฟัง แต่ไหงตัวเราทำไม่ได้อย่างเขานะ  แล้วก็เกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่าหนทางที่เดินผ่านมาสอนทักษะมาให้ไม่เหมือนกันอย่างนั้นหรือ หรือว่าเพราะเรียนมาแบบสายวิทย์ เราจึงได้ทักษะแบบฟังๆจดๆแบบสรุปมา ส่วนคนที่เรียนมาแบบสายศิลป์ เขาก็ได้ทักษะแบบฟังแล้วจดให้ทันคำพูดมาอย่างนั้นหรือ

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. เป็นวิทยากรในชั่วโมงแรกของหลักสูตร สสสส. ๒

ไม่ได้เก็บความทึ่งไว้ในใจหรอกค่ะ บอกเจ้าตัวชมไปตรงๆเลย  เจ้าตัวเขาตอบมาว่าที่เห็นปั่นมือจดตลอดเวลานั้น เขาจดแก้ง่วง และจดเพื่อให้สติอยู่กับเรื่องตรงหน้าไม่ล่องลอยไปที่เรื่องอื่น อืม แค่มีสติอยู่กับเรื่องตรงหน้า แล้วเลือกใช้สติกับการฟังและการจดจาร เขาก็ได้แถมมาซึ่งทักษะจดไวๆเร็วๆมาแล้วเนอะ เรื่องนี้น่าสนใจสำหรับฉันในแง่การพัฒนาของฐานกายที่แถมเรื่องทักษะให้กับผู้คนค่ะ

วิธีเรียนแต่ละวิธีของผู้คน ให้ความเชี่ยวชาญของการใช้ฐานกายที่ต่างกันไปในแต่ละคน

ออกนอกเรื่องพอหอมปากหอมคอกันแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่ไม่ได้เล่าของเช้านี้อีก  ชวนกลับมาเรียนกันต่อดีมั๊ยค่ะ

หลังจากเรียนรู้ความหมายของคำว่า “อำนาจ” โดยสังเขปแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์ก็ชวนสานเสวนาต่อด้วยโจทย์ชวนคิดว่า ในความขัดแย้ง มี ๓ อย่างที่”ต้อง” คิด ที่ต้องคิดเพราะว่าเหตุการณ์มีการไหลไปตามเวลา

เมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ของ ๒ ใน ๓ อย่างกับเวลาก็ทำให้อำนาจเปลี่ยนไปได้ในแต่ละเวลา

การเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเพราะใน ๓ อย่างนี้มีอย่างน้อย ๑ อย่างที่เปลี่ยนตลอดเวลา

เมื่ออำนาจเปลี่ยนไปแล้ว การคาดหวังยังหวังให้เหมือนเดิมจึงยาก

การรับรู้ (perception) ความคาดหวัง (expectation) และ อำนาจ (power) ๓ อย่างนี้แหละค่ะที่อาจารย์ชวนให้คิด

เมื่อมีการไหลของเวลา สิ่งที่เปลี่ยนตลอดเวลาใน ๓ อย่างนี้ที่ไหลไปตามเวลาด้วย คือ การรับรู้ และ ความคาดหวัง ค่ะ

การอยู่เป็นสังคมนั้นทุกคนถูกร้อยรัดอยู่ด้วยกันเสมอ การร้อยรัดอยู่ด้วยกันหรือโยงกันอยู่นี้ทำให้ “โครงสร้างแห่งความคาดหวัง” ก่อเกิดขึ้น

มองให้เห็นดุลย์อำนาจ แล้วจะเข้าใจว่าแค่เพียงสิ่งนี้ก็มีเรื่องของอำนาจและโครงสร้างของความคาดหวังอยู่ด้วย

แต่ละครั้งที่อำนาจมีการเผชิญกัน โครงสร้างแห่งความคาดหวังก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน การเผชิญกันของอำนาจที่เกิดขึ้นในแต่ละเวลา จึงมีโครงสร้างแห่งความคาดหวังของเวลานั้นๆอยู่  เมื่อเวลาเปลี่ยน โครงสร้างแห่งความคาดหวังของเวลาก่อนหน้าก็ต่างจากโครงสร้างแห่งความคาดหวังของปัจจุบันไปแล้ว

ภายในโครงสร้างแห่งความคาดหวังมีหลายภาคส่วนโยงกันอยู่หรือร้อยรัดกันอยู่ เป็นเรื่องที่พึงรู้จักและมองให้เห็น แม้แต่ในสีเหลือง แดง รัฐบาลก็มีส่วนโยงกัน ทำความเข้าใจการโยงกัน ก็จะเข้าใจในหลายๆเรื่อง

อาจารย์ให้ข้อคิดว่า ความขัดแย้งเป็นผลมาจากโครงสร้างแห่งความคาดหวังถูกทำลาย เรื่องผิดคาดที่เกิดขึ้นนั่นแหละที่สื่อบอกว่าโครงสร้างแห่งความคาดหวังถูกทำลายไปแล้ว  ในเมื่อแต่ละเวลาก็มีโครงสร้างแห่งความคาดหวังเปลี่ยนไปตลอด ความขัดแย้งก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเป็นธรรมดา ถือเป็นธรรมดาในสังคมทุกประเภท ในชีวิตของคนทุกคน แต่มีเรื่องที่ไม่ธรรมดาคือ ความรุนแรง ซึ่งพึงระวังด้วยในแต่ละครั้งที่อำนาจเผชิญกันมีพลังสะสมหมุนวนอยู่

ความขัดแย้งเป็นปกติของชีวิต แต่ความรุนแรงเป็นเรื่องไม่ปกติ จำไว้ๆ

อาจารย์ชวนคุยเรื่องโครงสร้างแห่งความคาดหวังของสามีภรรยาที่ต่างกันในระยะต่างๆ ตั้งแต่ จีบกัน แต่งงานกัน อยู่ด้วยกัน และระยะห่างระหว่างกันของคู่เมื่อเวลาของการอยู่ด้วยกันเปลี่ยนผ่านมาอย่างยาวนาน  ทำให้เข้าใจคำว่า “เปลี่ยน” “ไหลตามเวลา” “การรับรู้เปลี่ยน” ที่อาจารย์พูดถึงค่ะ ลองนึกถึงภาพที่เคยผ่านตาของคู่สามีภรรยาดูนะคะเพื่อทำความเข้าใจความหมายของชุดคำที่เอ่ยเล่าไว้ด้วยตัวท่านเอง

ในแง่ของความรุนแรง อาจารย์บอกว่า การที่คู่สามีภรรยาสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากโครงสร้างแห่งความคาดหวังถูกทำลายได้โดยไม่เกิดความรุนแรงทั้งๆที่มีพลังหมุนวนสะสมอยู่เพราะมีการยืดหยุ่นระยะห่างระหว่างคู่เมื่ออำนาจเผชิญกัน

มีเรื่องของทฤษฎีขนนกหรือฟางเส้นสุดท้าย ที่อาจารย์นำมาบอกเล่าว่า ในการเผชิญกันของอำนาจในแต่ละเวลา สามารถเกิดความรุนแรงได้จากพลังที่หมุนวนภายในของการปะทะของพลังอำนาจที่รอการระเบิดออกมา การเติมขนนกหรือฟางใส่ลงไปในระยะที่เหมาะสมกับเวลาที่พลังรอการระเบิดอยู่นั้นก่อให้เกิดความรุนแรงได้

ขนนกที่วางลงไปจะเป็นเหมือนตัวสปาร์คทำให้พลังที่สะสมเกิดระเบิดเป็นความรุนแรงเมื่อไร ไม่มีใครรู้เลยนะ

เหตุการณ์ของปี ๒๕๑๖ ที่อำนาจก็เปลี่ยน ความสำคัญของอำนาจก็เปลี่ยน และมีพลังของความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่เกิดขึ้นรออยู่ มีการจัดรูปแบบใหม่และพลังนี้มีขนาดใหญ่ แล้วขณะนั้นโครงสร้างของความคาดหวังได้เปลี่ยนไป ความสำคัญของอำนาจก็เปลี่ยนไป เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้น มีการยิงกันเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ การรับรู้และความคาดหวังก็เปลี่ยนแปลง จนเกิดเหตุการณ์อย่างที่รับรู้กัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของทฤษฎีขนนกที่มีผลทำให้ความขัดแย้งให้ผลเป็นความรุนแรง เสียงปืนหรือการยิงที่เกิดขึ้นนั่นแหละคือขนนกที่ถูกวางลงไปแล้วสะกิดให้พลังระเบิดออกมา

พอมองออกหรือยังว่าถ้าเหตุการณ์ของความขัดแย้งเกิดขึ้นตรงหน้า ก่อนการตัดสินใจฟันธงว่าแก้อย่างนี้อย่างนั้น มีอะไรหลายอย่างต้องทำซะก่อนนะ แล้วในการลงมือทำในแต่ละขั้นตอน “สติ” และ “การรับรู้” เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งทีเดียว

การสานเสวนาที่ดำเนินต่อ เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนว่า หนังดัง ๒ เรื่องเป็นบทเรียนเรื่องปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในมุมใดได้บ้าง หนังดัง ๒ เรื่องนี้คือ อวตาร และ ไททานิค คำตอบไม่มีสูตรสำเร็จให้เช่นเดียวกันค่ะ

ตัวอย่างของหนัง ๒ เรื่องบอกว่าเรื่องราวรอบตัวให้ความรู้ได้ทั้งนั้น อยู่ที่คนเรียนต่างหากว่ารู้จักเรียนหรือเปล่า

อวตารได้นำเสนอให้เห็นภาพของการเผชิญกันระหว่างคนถูกรุกและคนรุก ที่มีโครงสร้างแห่งความคาดหวังที่ต่างกัน คนถูกรุกมองต้นไม้แบบมองคุณค่าที่มีความสัมพันธ์กับชีวิต มองเป็นบ้าน  แต่คนถูกรุกซึ่งเป็นคนสมัยใหม่มองต้นไม้แบบเป็นแค่ต้นไม้ ตัวเองเข้ามาในพื้นที่จะทำอะไรก็ได้ ตัดต้นไม้ก็แค่ตัดต้นไม้เท่านั้นเอง

ไททานิคได้นำเสนอภาพของภูเขาน้ำแข็ง เรือที่อับปางลงเกิดจากส่วนของภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำซึ่งมองไม่เห็น เพราะคนมองเห็นแต่ส่วนที่พ้นน้ำ แล้วเข้าใจว่านั่นคือของจริง

การที่หนัง ๒ เรื่องนี้สามารถใช้เป็นบทเรียน อยู่ที่ “ความสนใจโครงสร้างแห่งความคาดหวังที่ซ่อนอยู่” ไม่ใช่สนใจตัวคนค่ะ

สำหรับโจทย์ทางสังคมศาสตร์ อาจารย์ตั้งคำถามให้คิดไว้อยู่เหมือนกัน ซึ่งฉันสรุปมาเป็นความรู้ของฉันว่า ในแต่ละพื้นที่ที่มีการตัดสินใจใช้อำนาจ ให้ตั้งโจทย์และหาคำตอบว่า “ทำทำไม” ก่อนทำ แล้วหันกลับไปทวนดูหน่อยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่นั้น ใคร หรืออะไรที่เป็นคู่เผชิญของอำนาจ แล้วการเผชิญนั้นมีคู่เผชิญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังด้วยหรือเปล่าเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างแห่งความคาดหวังที่ซ่อนอยู่ เช่น ทุน ความสามารถ กลุ่มอิทธิพล ความสัมพันธ์ อคติ  เมื่อเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจความขัดแย้งนั้นๆอย่างเป็นปัจจุบัน

ระหว่างขับรถบนถนนก็มีบทเรียนรู้ที่ดีเรื่องโครงสร้างของความคาดหวังถูกทำลาย  ลองเรียนดูนะ

ในการทวนดูก็อย่าลืมว่า ดุลย์แห่งอำนาจเปลี่ยนตลอดเวลาด้วยนะ

อย่าลืมว่าดุลย์ประกอบด้วยหลายอย่าง มิใช่อย่างเดียวสำคัญ แต่มีอย่างอื่นด้วย

อย่าลืมว่าการทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีอำนาจก็เป็นอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ไม่ควรถือเป็นเรื่องน่าสบายใจ

การเข้าใจโครงสร้างแห่งความคาดหวัง เข้าใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะช่วยละลายอคติที่เคลือบใจของตัวเรา และทำให้เรา “ฟัง” และมองเห็นทางออกใหม่ ที่นำมาซึ่งการจัดความสัมพันธ์อำนาจใหม่ที่ลงตัวได้ ซึ่งอาจเป็นทางออกที่ทนกันได้มากขึ้นมากกว่าการมีความรัก

ก่อนจบในภาคเช้า อาจารย์ยังได้แลกเปลี่ยนอีกหลายมุม ข้อสรุปของอาจารย์คือ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการคลี่ตัวของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่จะนำสู่การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ซึ่งการดำเนินไปของการจัดความสัมพันธ์นี้มีเรื่องที่มาทำให้ยากขึ้นอยู่ ๔ อย่าง

อย่างแรก คือ ความเห็นต่างในเรื่องความอยากได้รัฐบาลและสังคมแบบไหนของคนในประเทศ

อย่างที่ ๒ คือ ความเชื่อต่างในเรื่องของวิธีการครองรัฐ

อย่างที่ ๓ คือ การผ่านสื่อที่ทำให้เรื่องราวเปลี่ยนไปเป็นอีกเรื่อง

อย่างที่ ๔ คือ ความเห็นต่างเรื่องความเป็นไทย

เมื่อความยากถูกเติมลงไปอีก เรื่องที่ยากอยู่แล้วก็ยิ่งยากขึ้น เมื่อเหตุการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ “ชาติพันธุ์ไทย” ได้ประโยชน์อะไรกันเล่า คิดกันหน่อยเหอะ

สำหรับความคาดหวังต่อความสมานฉันท์นั้น อาจารย์ให้ข้อคิดไว้ว่า หลายๆความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้จบลงด้วยการเจรจา โดยความขัดแย้งไม่หายไป และ ความขัดแย้งกลับมาใหม่ได้อีก  บางกรณีจบแบบมีข้อตกลงสันติ บางกรณีมีบุคคลที่ ๓ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยบุคคลที่ ๓ มาได้จากสารพัดที่เข้ามาทำงาน และบ่อยครั้งที่จบลงโดยประชาชนอยู่ตรงกลางระหว่างคู่อำนาจที่เผชิญหน้า แล้วก่อความสันติเกิดขึ้น

การสานเสวนาในภาคเช้ารื่นไหลผู้เรียนสนใจแลกเปลี่ยนกันมากมายจนเลยเวลาพักเบรค พักเบรคกันจวนเวลาสิบเอ็ดนาฬิกาแล้วก็เข้ามาเรียนกันต่อ

และแล้วการเรียนภาคเช้าก็จบลงที่ลุงเอกต้องยกมือบอกให้ยุติการเรียนก่อนที่ทุกคนจะอดข้าวกลางวัน วันนี้กินข้าวกลางวันกันเกือบบ่ายโมงแล้วค่ะ เป็นอาหารอร่อยๆแบบอาหารจานเดียวที่พออิ่มท้องกันพอดีๆ

๑ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : เอ๊ะกับการรู้จักความรัก…ความรู้สึก “รักชาติ” บ้างมั๊ยนะ

Next : เรียนเรื่องอารยะนินทาด้วยหละ…เชื่อมั๊ยๆ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "“ความขัดแย้ง” เป็นปกติของชีวิต..เชื่อหรือเปล่า"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.025827169418335 sec
Sidebar: 0.10615587234497 sec