เอ๊ะกับการรู้จักความรัก…ความรู้สึก “รักชาติ” บ้างมั๊ยนะ

โดย สาวตา เมื่อ 4 เมษายน 2010 เวลา 15:06 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1209

หลังพบกันและมีกิจกรรมร่วมกันที่จังหวัดอยุธยา นักศึกษาสสสส.๒ ก็มาพบกันอีกครั้งหนึ่งที่สถาบันพระปกเกล้า  วันพฤหัสแรกของเดือนเมษายนเป็นวันเบิกฤกษ์ที่กำหนดไว้ให้เริ่มเรียนทฤษฎีร่วมกัน

ฉันเดินทางเข้ากรุงเทพฯในวันพุธเย็น ตั้งใจดิ่งไปหาที่พักแถวกระทรวงสาธารณสุขนั่นแหละฝากกายไว้นอน เช้าก็เดินทางไปสถาบันพระปกเกล้าด้วยเส้นทางผ่านทางด่วน ใช้เวลาเดินทางราวๆครึ่งชั่วโมง

เช้าแรกที่ไปถึงสถาบันพระปกเกล้า หลงทางขึ้นไปที่ชั้น๕ ซึ่งเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รปภ.รี่เข้ามาถามแล้วแนะนำให้ลงมาชั้น๔ ลงมาที่ชั้น๔ เส้นทางเดินซับซ้อนต้องเดินผ่านห้องทำงานมากมายทำให้หลงทางอยู่เป็นครู่แต่ก็สามารถไปถึงห้องประชุมได้ก่อนเวลาเรียน

แสดงตัวกับทีมงานลุงเอก น้องๆให้ลงชื่อว่ามาแล้วในเอกสารที่เตรียมไว้หน้าห้อง บอกให้จำหมายเลขหน้าชื่อแล้วให้ไปรับเอกสารที่รังนกกระจอกหน้าห้องประชุม บอกกล่าวกันไว้ว่าเอกสารอะไรมีไม่ครบก็ให้มาทักท้วงขอเพิ่มได้

เดินเข้าห้องประชุมแล้วก็อึ้ง เมื่อเห็นที่นั่งเรียนวางป้ายชื่อไว้แน่นเชียว…5555 ห้องประชุมจัดไว้ให้นั่งอย่างเป็นนักเรียนสมจริงเชียว ก็ป้ายชื่อที่เห็นวางไว้นั้นเรียงตามหมายเลขประจำตัวกำกับที่นั่งไว้ให้เลยนะซิ ฉันได้ที่นั่งที่มีอัยการและผู้พิพากษานั่งขนาบซ้ายขวาหน้าหลัง สงสัยปีนี้จะดวงเฮงมีนักกฏหมายช่วยหนุนส่งแฮะ…อิอิ

เรื่องที่เรียนวันนี้มี ๓ เรื่อง อำนาจ ความขัดแย้ง และสังคมพหุลักษณ์ ๒ เรื่องแรกวิทยากรที่มาแลกเปลี่ยนเป็นเมธีวิจัยอาวุโสของสกว. นามว่า ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่องหลังเป็นการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมโดยอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดม

เมื่อเรียนรู้ครึ่งวันไปแล้วฉันจึงอ้อว่ามีความขยายมากมายที่พึงทำความเข้าใจก่อนตัดสินอะไร เมื่อได้ยินคำว่า “อำนาจ” และ “ความขัดแย้ง”

เรื่องที่อาจารย์นำมาแลกเปลี่ยนดำเนินผ่านรูปแบบสานเสวนา เรื่องแรกที่ชวนสานเสวนาชื่อว่า “อำนาจในแง่มุมความขัดแย้งในสังคมไทยและความรุนแรง”

เริ่มจากคำถามขึ้นว่า “อำนาจคืออะไร” ลองเรียนไปด้วยกันนะคะ ภายใต้โจทย์นี้ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปค่ะ

แลกเปลี่ยนกันแล้วก็ได้ความขยายมาว่า “อำนาจมีผู้ใช้และมีผู้ยินยอมให้ผู้ใช้มีความชอบธรรมก่อนใช้ ความชอบธรรมก่อนใช้อาจจะเป็นการมอบหมายหรือการมีบารมีส่วนตัวรองรับได้ทั้งนั้นเลย”

เมื่อทั้งห้องมองเห็นคู่เผชิญแล้ว อาจารย์ก็ให้ความรู้มาว่า อำนาจจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ ๓ คือ

“ทิศทาง (direction)” : เผชิญกับใคร อะไร อยู่ตรงไหน (คู่เผชิญ)

“ฐาน (base)”: ใช้อะไรในการเผชิญคู่ขัดแย้ง ยืนอยู่บนอะไร (จุดยืน)

“ความเข้มข้น (Magnitude)”: ใจเป็นอย่างไรในการเผชิญกับคู่ขัดแย้ง (เจตนาหรือความตั้งใจจะใช้)

เมื่อใช้องค์ประกอบ ๓ นี้ ทำความเข้าใจ “อำนาจ” จะเห็นว่าการไม่มีเจตนาทำให้ไร้อำนาจ จะเห็นว่า เงิน คน ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ของอำนาจ

เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นของเงินที่ทำให้มีอำนาจ พอมองออกแล้วยังว่าคนมีเงินมีอำนาจก็คือคนมีเงินมากที่กล้าใช้เงินในบางลักษณะ นั่นเอง

เห็นกันมั๊ยว่า อำนาจจะมากน้อยมีใจเป็นสำคัญ แต่แค่มีใจอย่างเดียว ไม่มีฐาน ไม่มีคู่เผชิญ อำนาจก็เป็นศูนย์ได้เช่นกัน

เห็นหรือยังว่าองค์ประกอบทั้ง ๓ จะก่อเกิดอำนาจไม่มีอะไรที่แยกส่วนจากกันเด็ดขาดเลยใช่ไหม

มุมมองของอาจารย์เห็นว่า เหตุการณ์ของสังคมไทยที่กำลังเป็นอยู่ เป็นการเผชิญหน้าของอำนาจ และบางฝ่ายมีมากกว่าบางฝ่ายในบางเรื่อง

แล้วอาจารย์ก็ชวนให้รู้จักหน้าตาของอำนาจด้วยกัน หน้าตาของอำนาจที่ยกมาส่วนใหญ่เป็นชุดคำที่คุ้นหูกันอยู่ ชุดคำเรียกสิ่งเหล่านี้มีคำว่า “บังคับ” “ควบคุมสถานการณ์” “ใช้อำนาจหน้าที่” “ต่อรอง”  “ใช้ปัญญาวิชาการ” “ความรัก”

ชวนให้ลองใช้หลักองค์ประกอบ ๓ ที่เล่าข้างบนเรียนไปด้วยกันค่ะ ลองค้นหาว่าอำนาจเหล่านี้จะพบได้ที่ไหน และมีเครื่องมืออะไรที่รองรับการใช้อำนาจนั้นๆบ้าง

เมื่อฟังคำอธิบายว่า “การบังคับ” พบที่คุกหรือพื้นที่เขตยึดครอง มี “กำลัง” รองรับ ฉันว่าฉันได้ยินเสียงอืมของตัวเองนะ

แต่เมื่อบอกว่า ครอบครัว คือ พื้นที่ “ควบคุมสถานการณ์” มี “การสร้างเงื่อนไขควบคุม” เป็นเครื่องมือรองรับ ฉันว่ามีเสียงเอ๊ะดังขึ้นข้างหูเบาๆแฮะ  ท่านละเอ๊ะหรือเปล่า

มาฟังตัวอย่างที่อาจารย์อธิบายกันค่ะ อาจารย์ใช้คำว่า ไม่เสรีจริง” กับเรื่องราวการเลี้ยงลูกของครอบครัวหมอ เมื่อพ่อแม่หมอพูดว่าให้เสรีลูกในการเลือกเรียนหมอ แท้จริงมีการควบคุมแฝงอยู่ เมื่อลูกยังเล็กก็ควบคุมผ่านการหาของเล่นเป็นหมอมาให้ลูก เวลาพาลูกไปเที่ยวก็ชวนไปเที่ยวร.พ. พาไปเล่นในห้องทำงานที่ร.พ. เวลาที่ลูกเลือกสอบเข้า ก็บอกลูกว่าเลือกเรียนหมอไว้หน่อยไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้แหละที่เรียกว่าให้เสรีไม่จริง และเป็นการสร้างเงื่อนไขการควบคุม

ไม่แปลกใจหรอกนะเื่มื่อวัดหรือสถานที่ราชการถูกระบุว่าเป็นสถานที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมีความชอบธรรมรองรับ  แต่เมื่ออาจารย์ยกตัวอย่างว่าการแสดงออกด้วยความน่ารัก ชวนเลื่อมใสนับถือของพระสงฆ์  การห้ามนักศึกษาแต่งกายในรูปแบบบางประการของมหาวิทยาลัยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ ก็มีเอ๊ะนะ

ไม่แปลกใจอีกนั่นแหละเมื่่อบอกว่า “ตลาด” เป็นพื้นที่ที่มี “ราคา” รองรับ “การต่อรอง” แต่มีอึ้งเมื่ออาจารย์ถามว่า เมื่อเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เกตในห้างมี “การต่อรอง” มั๊ย  คำตอบคือ “มี” นะคะ ให้มองหลายๆมุมค่ะ เงินในกระเป๋า การเลือกสินค้า ล้วนเป็นคู่เผชิญให้เกิดการต่อรองได้ทั้งนั้นแหละ

ก่อนเลยไปถึงเรื่อง “ความรัก” อาจารย์ก็คุยสั้นๆให้ฟังว่า “การใช้ปัญญาวิชาการ” ที่ใช้ “หลักฐานหรือเหตุผล” รองรับ คือ อำนาจรูปแบบหนึ่ง สถานที่อย่างสถาบันพระปกเกล้าก็พบอำนาจนี้ได้ มหาวิทยาลัยก็พบได้

เมื่อเลยมาถึง “ความรัก” มีอึ้งอีกครั้งเมื่อมีคำถามว่าพบได้ที่ไหน เครื่องมือรองรับอำนาจนี้คืออะไร คำเฉลยเป็นอย่างนี้ค่ะ

พื้นที่ซึ่งพบความรักได้ คือ “อ้อมกอด” “การโอบอุ้ม” มี “การเสียสละ” รองรับความรักไว้

เมื่ออาจารย์แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความรักว่า สังคมที่สามารถโอบอุ้ม โอบกอด ผู้คน คือ สังคมที่แข็งแรง มั่นคง  มันให้มุมมองของอำนาจแห่งรักที่ชัดเจนใจทีเดียว

หลังจากนั้น อาจารย์ชวนแลกเปลี่ยนเรื่อง “รักชาติ” ว่ามีความหมายอย่างไร จับต้องด้วยรูปธรรมได้อย่างไร  ฉันว่าฉันอึ้งกับการให้ความหมายของความรู้สึกนี้ของตัวเองออกมาเป็นคำพูดแฮะ  ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่ได้ช่วยทำให้ฉันได้ใคร่ครวญความรู้สึกนี้ของฉันให้ชัดขึ้น ขอบคุณที่ทำให้มองเห็นตัวเองและรับรู้ความคิดของตัวเองได้ชัดขึ้นอีกระดับในเรื่องของ “ชาติ”

อาจารย์ได้ให้ความรู้ว่า “ชาติ (Nation)” เป็นคำใหม่ที่นำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยศึกบางระจันคำๆนี้ยังไม่มีในภาษาไทย ฉะนั้นความเข้าใจว่าชาวบางระจันสู้ศึกเพื่อป้องกันชาติของผู้คนเดี๋ยวนี้จึงเป็นความเข้าใจที่นำมาเอ่ยเล่ากันอย่างคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

คำว่า “ชาติ” ที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์มีอายุแค่ ๑๐๐ กว่าปีมานี้เอง เกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยสุโขทัยยังไม่มี

ผลสรุปความหมายของคำว่า “ชาติ” ที่ได้จากการสานเสวนาของเช้านี้มีอย่างนี้ ขอนำมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

“ชาติ” คือ ประดิษฐกรรมที่ทำให้คนรู้สึกเป็นหนึ่งได้ ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันรักกันได้ เป็นความมหัศจรรย์ของพลังแห่งอ้อมกอดที่หล่อหลอมความรักเหล่านั้นไว้ได้

เหตุการณ์ที่คนไทยจากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันในทุกๆเรื่องเพื่อช่วยผู้คนที่ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ในเหตุการณ์สึนามิคือตัวอย่างที่ “ชาติ” ทำให้คนไม่รู้จักรักกันได้

หลังจากรู้จักคำ ๔ คำที่มีคำว่า “ชาติ” อยู่มาแล้ว และวันนี้มาได้รู้จักคำว่า “ชาติ” เพิ่มมาอีกคำเป็นคำที่ ๕ ฉันรู้สึกเหมือนดังว่าตัวเองกำลังถูกนำพาย้อนยุคไปเรียนการใช้ภาษายังไงยังงั้นเลยค่ะ

๑ เมษายน ๒๕๕๓

« « Prev : เก็บตกช่วงเวลาโปรโมชั่น

Next : “ความขัดแย้ง” เป็นปกติของชีวิต..เชื่อหรือเปล่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 เมษายน 2010 เวลา 17:26

    อ่านจุใจจริงๆๆๆๆ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 เมษายน 2010 เวลา 20:56

    มาเป็นนักเรียนโข่งนอกห้องครับสาวตา

    ยัง งง งง อยู่นะครับกับหลักการของคำว่าอำนาจ อาจเพราะมันมีคำอธิบายมากกว่านี้ในห้อง อย่างไรก็ตามพยายามเกาะติดว่าในมุมวิชาการเขาว่าอย่างไร และในตลาดคนเดินทั่วไปนั้นเข้าใจว่าอย่างไร มันเหลื่อมกันบ้างไหม เหลื่อมแค่ไหน และการเหลื่อมนี้มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร ก็เป็นการเก็บเอาไปคิดต่อน่ะครับ

    ข้อสรุป อำนาจดูเป็นนามธรรมพอสมควร หากผู้ที่ไม่เข้าใจที่มาที่ไปก็อาจจะกล่าวว่า โห อำนาจนี่นะ ทำไมมันยุ่งจัง อิอิ
    ยังสงสัยว่า อำนาจนี้ต้องยืนอยู่บนการรองรับของกฏหมาย ของการปกครอง
    อำนาจต้องอยู่บนบารมีของผู้มีบารมีด้วยหรือเปล่า
    อำนาจอยู่บนการยอมรับทางวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น

    ขอบคุณมากที่เอาสาระมาเผื่อแผ่ เหมือนท่านอัยการ นะครับ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 เมษายน 2010 เวลา 19:29

    ย่องตามมาเรียนทุกบันทึกและชอบความหมายของอันนี้ พื้นที่ซึ่งพบความรักได้ คือ “อ้อมกอด” “การโอบอุ้ม” มี “การเสียสละ” รองรับความรักไว้ สังคมที่สามารถโอบอุ้ม โอบกอด ผู้คน คือ สังคมที่แข็งแรง มั่นคง  …โอย แม่นอีหลี

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 10:21

    #1 พ่อครูค่ะ เรื่องราวที่ได้ฟังในห้องมานั้น ทำให้เอ๊ะมากมายค่ะ ไม่น่าเชื่อว่า แค่คำว่า “อำนาจ” ยังมีคำอธิบายทางวิชาการซะมากมาย ในขณะที่เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน ความรู้สึกคล้ายๆกับสัมผัสมันได้ เข้าใจความเป็นมันตามประสาเราเอง  แต่พอมาฟังเรื่องราวนี้ จึงรู้ว่าความรู้สึกของเราที่สัมผัสอำนาจอยู่นั้น สัมผัสผ่านเครื่องมือแสดงตัวของอำนาจนี่เอง ที่แท้เราก็ยังไม่รู้จักอำนาจที่เป็นของจริง  พอไมู่รู้จักเมื่อลงมือจัดการก็เกิดการผิดฝาผิดตัว สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นเนอะค่ะ

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 11:00

    #2 พี่บู๊ดค่ะ การใช้วิชาการมาอธิบายเรื่องราวก็ทำให้เบื้องหลังอันเป็นที่มาของวิธีคิดของนักวิชาการคลี่ออกมาเยอะเลยนะคะ เรื่องของความงง คนที่เรียนในห้องอย่างน้องก็งงค่ะ เพราะการเรียนที่อาจารย์ชวนแลกเปลี่ยน อาจารย์ใช้คำถามชวนให้ตอบกันค่ะ คำตอบที่ออกมาก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกความหมายของคำว่า “อำนาจ” แต่การได้แลกเปลี่ยนกันก็ทำให้พอเห็นภาพว่าจะจับต้อง “อำนาจ” ได้ยังไงค่ะ 

    สำหรับน้องเมื่อมองย้อนไปค้นหาเกี่ยวกับความเข้าใจของตัวเองเรื่องอำนาจจาก ๓ องค์ประกอบที่เล่าไว้ ก็พบว่าความเข้าใจมีเหลื่อมกันอยู่อย่างที่แลกเปลี่ยนกับพ่อครูไว้ข้างบนนั่นแหละค่ะ

    เมื่อฟังเรื่องราวมาแล้วจากห้องเรียนและมาอ่านเรื่องราวที่พี่แลกเปลี่ยนข้างบน น้องก็ได้เห็นมุมมองใหม่

    การรับรู้ของตัวเองในวันนี้น้องเห็นว่า “อำนาจ” เป็นผลของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ๓  

    ในเรื่องของ “ต้อง” ที่พี่แลกเปลี่ยนข้างบน น้องกลับมองว่า มันเป็นเรื่องของ “ใจ” ไม่ใช่ “จุดยืน”  ส่วนกฎหมาย การปกครอง วัฒนธรรม ประเพณี บารมี น้องกลับมองว่าเป็น “คู่เผชิญ” ก็ได้ “ฐาน” ก็ได้ค่ะพี่ 

    ในความเห็นของน้องนั้น น้องก็ได้มุมมองว่า การทำความรู้จักหน้าตาของอำนาจหลากรูปแบบที่อาจารย์ยกมาแลกเปลี่ยน ทำให้เข้าใจขึ้นว่า ผลความสัมพันธ์ปรากฎให้จับต้องได้อย่างไรบ้างค่ะ  เมื่อคลี่ตัวของแต่ละรูปแบบตามหน้าตาของอำนาจออกมาให้เห็นจะๆ 

    สิ่งที่ทำให้ขนลุกก็คือ มันมีอะไรที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนซ่อนอยู่มากมาย การเร็วไปในการตัดสินว่า “ใช่ เข้าใจแล้ว” ของตัวเราสามารถให้ผลลวงและหลอกตัวเองได้ง่ายๆเชียว

    การตัดสินใจเกี่ยวกับ “อำนาจ” ในฐานะ “ผู้ใช้” หรือ “ผู้ให้การยอมรับผู้ใช้ว่าชอบธรรม”  ณ จุดเล็กๆที่เรายืนอยู่นี่แหละ ถ้าตัวเรา “ขาดสติที่ตามรู้ ตามทันปัจจุบันขณะของตัวเอง”  สามารถส่งผลกระทบสังคมได้ตลอดเวลาเลยค่ะพี่

  • #6 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 11:10

    #3  น้องน้อยคนสวยเอย เราทุกๆคน มีส่วนช่วยให้สังคมมั่นคง แข็งแรงนะน้องนะ  
    ดีใจที่มาตามอ่าน ชอบแล้วอย่าลืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวันนะจ๊ะๆ  สร้างสังคมที่มั่นคงผ่านสังคมเล็กๆที่เราอยู่ด้วยทุกวันนี่แหละ ช่วยได้ดีนักแลน้องเอ๋ย
    สำหรับเรื่องราวในสังคมเล็กๆของเรานั้น เรื่องที่อยากกระซิบบอกให้เพิ่มความสำคัญสำหรับทีมงานเป็นเรื่องตรงนี้ค่ะ “Empowerment” กับการใช้อำนาจ “ความรัก”


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.16067004203796 sec
Sidebar: 0.3407289981842 sec