เริ่มชิมลางฝึกการลงพื้นที่

โดย สาวตา เมื่อ 27 มีนาคม 2010 เวลา 13:26 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1117

ตอนเช้าอ.วรภัทรมากระตุกให้รำลึกว่าวันนี้เป็นวันที่มีฤกษ์งามยามดี ด้วยตรงกับวันเสาร์ ๕ ปีขาลที่กว่าจะหมุนรอบผ่านก็กว่า ๑๐๐ ปีจะมีสักครั้ง นักเรียนจึงเสนอให้ลุงเอกพาไปคารวะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธเพื่อเติมมงคลให้ชีวิต ลุงเอกจึงปรับเวลาให้กิจกรรมในภาคบ่ายจบลงที่เวลา ๑๕ น.

ก่อนจบกิจกรรมภาคบ่าย แว่วๆว่ามีคนใจง่ายขอติดตามพ่อครูไปสวนป่าเรียบร้อยโรงเรียนชาวลาน กอล์ฟเองก็ขอลาหลังจบกิจกรรม body map พร้อมฝากข้อคิดสะกิดใจไว้ผ่านข้อความบนไฟล์นี้ค่ะ

ตีความหมายกันเองนะคะ ชื่อไฟล์ว่า “ธรรมชาติที่ทำให้คนแตกต่าง”

สถานที่ ๓ แห่งที่ไปเยือนเป็นวัดเก่าที่สามารถเรียนรู้ที่มาที่ไปของสังคมคนไทยได้ตามประสาของตน เมื่อไปถึงผู้คนคราคล่ำในบางแห่ง แต่บางแห่งผู้คนก็มีน้อยกว่าน้อย สื่อมุมอะไรบางอย่างให้เห็น…..หรือเปล่า

๓ แห่งที่ไปมีวัดใหญ่ชัยมงคล ที่ ณ วันนี้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นและเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอยุธยาแห่งที่ ๓ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ที่สมเด็จพระวันรัตน์ พระเถระที่องค์สมเด็จพระนเรศวรทรงให้ความเคารพพำนักกายอยู่ เจดียใหญ่ที่สูงที่สุดในจังหวัดอยุธยาอยู่ที่นี่ เจดีย์ใหญ่นี้ช่วยชีวิตแม่ทัพนายกองหลายคนในสมัยสมเด็จพระนเรศวรให้อยู่รอดจนสิ้นอายุขัยของตนเชียวนะ ที่นี่เคยเป็นชัยภูมิให้ไทยตั้งทัพเพื่อสู้กับพม่า  เมื่อใครไปเยือนจึงพบมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรตั้งอยู่ให้สักการะกัน

กว่าจะมาเป็นชาติไทย มีเบื้องหลังอยู่มากมายที่ควรรู้และเรียนเพื่อดำรงไว้ซึ่งชาติพันธุ์

อีกวัดที่ไปเยือนเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิรูปใหญ่ที่เชื่อมสัมพันธ์ชาวไทยเชื้อสายจีนสถิตย์อยู่ให้สักการะ องค์พระที่สถิตย์ ณ วัดนี้เป็นพระขัดสมาธิที่เรียกว่า ปางมารวิชัย เรียกขานกันด้วยชื่อว่า หลวงพ่อโต ค่ะ ใช่แล้ววัดที่กำลังกล่าวถึงเป็นวัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งเคยเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง วัดแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนอยุธยาจะเป็นเมืองหลวงสำคัญ

ที่นี่ชวนใ้ห้สัมผัสมุมมองอะไรอย่างไรของปัญญา ๓ ฐาน  น่าสนใจนะ

วัดสุดท้ายที่ไปเยือนนั้น อยู่ใกล้ๆที่พักของนักเรียนโข่งนี่เอง เป็นวัดที่มีบรรยากาศขรึมๆ เห็นผู้ไปเยือนบางตาอย่างยิ่ง หรือเป็นวัดที่ไม่อยู่ในแผนพัฒนา วัดจึงเงียบเป็นแบบสบายๆ  วัดนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟและตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชื่อว่า “วัดพิชัย” หรือ “พิชัยสงคราม” เกี่ยวข้องกับการกอบกู้แผ่นดินในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยค่ะ

ความสงบที่บังเกิดมีสะกิดๆๆอะไร อย่างไรให้เอ๊ะบ้าง

มีเรื่องราวเชิงลึกด้านศิลปะของวัดนี้ที่ขอชวนไปเรียนด้วยกันที่นี่ค่ะ อ่านแล้วก็ได้มุมมองว่าแต่ละที่มีเรื่องราวของการพัฒนาสังคมซ่อนอยู่ภายในตัวของมัน ตัวเราจะได้ความรู้และเข้าใจเรื่องราวของคนก็ต่อเมื่อได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้รู้ในพื้นที่  ขอบคุณเจ้าของเรื่องที่เขียนให้อ่านซึ่งมาช่วยสะกิดเอ๊ะให้ตื่นค่ะ

ช่วงเวลาของตอนพลบค่ำผู้คนทั้งหมดบริหารเวลาแบบกินไปเรียนไป ปล่อยพระ-แม่ชีให้เรียนเพียงอย่างเดียว อ้อ ไม่ใช่จัดน้ำปานะถวายให้ด้วยค่ะ

เรียนด้วยกันบนพื้นเรือที่ล่องไปตามลำน้ำป่าสักยามค่ำคืนด้วยความผ่อนคลายด้วยกัน  คราวนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อเชื่อมโยงจินตนาการของผู้เรียนให้เข้าใจความสัมพันธ์ของสถานที่จริงที่มีต่อกัน

ภูมิทัศน์์ริมแม่น้ำป่าสักยามค่ำคืน เงียบสงบ สบาย สวยงาม  ไม่เย็น ไม่ร้อน จะรู้สึกว่ามีลมแรงบ้างก็ตรงช่วงที่เรือแล่นไปถึงปากน้ำ เรื่องชีวิตที่ได้เรียนกันมีแทรกอยู่ให้กับแต่ละคนด้วยหละ

ช่วงเวลานาทีที่ชีวิตสัมผัสจะเกิดปํญญาฐานไหนอยู่ที่การฉวยโอกาสให้ตัวเองได้ฝึก….ไม่ว่าชายหรือหญิง..หรือเปล่า

ลงเรือเรียนเพื่อจะสัมผัสด้วยตัวเองว่า อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ ใช่หรือเปล่า

ก่อนลงเรือคุณติ๋วแวะมาบอกว่าคืนนี้จะนอนพักร่วมห้อง แต่แล้วเมื่อกิจกรรมบนเรือจบลง ก็มีเปลี่ยนมาบอกว่า พรุ่งนี้เช้ามีภารกิจเรื่องจัดรายการ อีกทั้งมีภารกิจเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่อุทัยธานีหลังกิจกรรมภาคค่ำจบลง จึงต้องกลับกรุงเทพฯในค่ำคืนนี้เพื่อความสะดวกในเรื่องการเดินทาง บอกลากันแล้วคุณติ๋วก็ออกเดินทาง ฉันเพิ่งสังเกตว่ามีหลายคนที่พาตัวกลับกรุงเทพฯหลังกิจกรรมยามค่ำคืนนี้จบลงเช่นกัน

คนที่เหลือได้รับนัดหมายจากทีมงานลุงเอกด้วยรหัส ๖-๗-๘  รับรู้แล้วก็แยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย

ก่อนจะหลับตาลงแล้วฝัน สาวใจถึงโทรมารายงานตัวว่าถึงสวนป่าแล้ว เฮ้อ โล่งใจ ค่ำคืนนี้ฉันจึงพาตัวเข้านอนด้วยอารมณ์ประมาณนี้ค่ะ

๒๐ มีนาคม ๒๕๕๓

หมายเหตุ เสาร์ ๕ สำคัญอย่างไร สอบถามมาจากความจำบางส่วนของอาจารย์กู(เกิ้ล)

เสาร์ ๕  มี ๓ ฤกษ์สำคัญๆ ราชาฤกษ์ โสภณ และลาภะ ซึ่งเป็นฤกษ์ที่เป็นมงคล และดีเลิศทุกอย่าง เป็นวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ และในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๓ และยังตรงกับปีขาล (เสือ) อีกด้วย ซึ่งในรอบ ๑๐๐ ปี (พ.ศ.๒๔๕๒-๒๕๕๓) ที่ผ่านมา มีวันเสาร์ห้า (วันเสาร์เดือนห้า) ๓๒ ครั้ง และวันห้าเสาร์ ๑๑ ครั้ง ถ้านับในปีนักษัตรไทยแล้ว ต้องนับอีกหลายรอบนักษัตร (๑๒ ปี) ถึงจะตรงกับปีขาลแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง

เสาร์ ๕ ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 มีค.2553 - 100 ปีมีครั้งเดียว…มีโอกาสเกิดได้ยากมาก  ถือว่าเป็นวันธงไชยกฐินวัน เป็นฤกษ์งามยามดี
ในปีนี้วัน เสาร์ห้ายังเป็นวันพระจันทร์เด่น พระศุกร์เด่น ส่งผลให้เป็นเสาร์ห้า มหาเศรษฐี คือ โดดเด่นในเรื่องของ โชคลาภ
วาสนา เมตตา มหานิยม ดังนั้นใครมีโอกาสไปรวมพิธีมงคลที่วัดใดก็ตาม(ทำบุญ) ในวันเสาร์ห้า วันที่ 20 มีนาคม 2553 นี้ จะได้รับบารมี คือ อยู่ยงคงกะพัน มีอำนาจ บารมี ให้มีโชคลาภอาบอิ่มใจ เป็นที่รักแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

ความสำคัญของวันเสาร์ห้าแต่โบราณกาลมา พระเกจิอาจารย์มักจะปลุกเสกเครื่อง รางของขลัง ทำพิธีอันเป็นมงคล เพื่อเสกของ เสกคนคือ ศิษย์ยานุศิษย์ ประชาชนที่ร่วมในพิธี ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดความเป็นสิริมงคล จะมีพุทธคุณด้านคงกระพัน และ
แคล้วคลาด มากกว่าวันปกติ ถือว่าเป็นวันแรง และวันที่แข็ง

บุคคลที่เกิดในวันเสาร์นั้น จะมีเทพพระเสาร์พิทักษ์คุ้มครองและรักษาเทพพระเสาร์นั้น เกิดจากพระศิวะ นำเอาเสือสิบตัวมาป่นให้
เป็นผง แล้วห้อด้วยผ้าสีม่วง สีดำ ประพรมด้วยน้ำอัมฤทธิ์กึ่งเทวราช

พระเสาร์เป็นดาวประจำตัวของคนที่เกิด ในวันเสาร์ หรือท่านที่เกิดในลัคนาราศีมังกร

จะเห็นได้ว่าครู บาอาจารย์ คือท่านเจ้าคุณพระเทพภาวนาวิกรม ท่านเกิดวันเสาร์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชสมภพในวันเสาร์

หรือบุคคลที่มีลัคนาอยู่ราศีมังกร เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช มีดาวเสาร์เป็นดาวประจำตัว

ดังนั้น ความแข็ง หรือความแรงของพระเสาร์นั้นปรากฏเด่นชัด

ชีวิตของท่านที่เกิดในวันเสาร์ มักจะเหนื่อยยากมีภารกิจหรือกิจการงานต่างๆ ที่ผ่านมาให้ได้รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา
แต่นั่นแสดงถึงคุณูปการ หรือ บารมี ที่สามารถรับเรื่องราวต่างๆเหล่านั้น และสร้างให้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่คนโดยทั่วไปว่า
มีความเป็นผู้มีบุญวาสนาบารมี

« « Prev : คุณเป็นใคร…ทำความรู้จักกันหน่อย

Next : ค้นหาเพื่อเรียนรู้ชีวิตริมแม่น้ำป่าสักในอดีต » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 มีนาคม 2010 เวลา 21:54

    สังคมภาคกลางสมัยก่อนนั้นแข่งกันสร้างวัด เพราะเป็นบุญใหญ่ ทุกหมู่บ้านมีวัด 1 แห่ง หรือมากกว่า 1 แห่งในกรณีที่เป็นชุมชนใหญ่ เพราะที่วัดคือที่เรียนหนังสือ ที่เราเรียกโรงเรียนวัด พี่เองก็จบจากโรงเรียนวัด ที่พ่อเป็นครูใหญ่เอง  วัดมีบทบาททางสังคมและวิถีชีวิตสังคมมากมาย ทั้ง การเรียน เกิดจนตายก็วัด บวชเรียน ยาสมุนไพรต่างๆก็วัดเป็นส่วนใหญ่ งานบุญประเพณี 12 เดือนของสังคมไทยโบราณก็ได้อาศัยวัดทั้งพิธีกรรมและสถานที่ ทุกวันพระโรงเรียนหยุดเพื่อให้ทุกคนไปทำบุญที่วัด เมื่อทำบุญเสร็จแล้วคนเฒ่าแก่ทั้งหญิงชายก็ อยู่กรรมที่วัด  คือกิน นอนที่วัดอีก 1 วันหนึ่งคืน  หากใครต้องการบำเพ็ญจริงอย่างแก่กล้าก็ไปนอนในป่าช้าเพียงคนเดียว 

    บทบาทของวัดมีมากมายต่อสังคมในสมัยโบราณ ต่อมาแยกการเรียนออกจากวัดไปสร้างโรงเรียน เด็กห่างวัด โรงเรียนไม่หยุดวันพระไปหยุดวันเสาร์ อาทิตย์ ตามสากล?????  แล้วระบบการศึกษาก็เป็นอย่างปัจจุบัน บทบาทพระหายไปเหลือแค่พิธีกรรม บางวัดเป็นวัดร้าง หรือต้องไปนิมนต์พระมาจำวัด บางชุมชนยิ่งร้ายพูดกันหยาบๆว่า ต้องจ้างพระมาอยู่ เพราะต้องเรี่ยไรถวายพระเท่านั้นเท่านี้  เพราะคนออกจากชุมชนไปทำงานหาเงินกันหมด

    มหาสติปัฎฐาน 4
    ฐาน กายในกาย :       เห็นวัดก็เห็น….
    ฐาน เวทนาในเวทนา : เห็นวัดก็เห็น…..
    ฐาน จิตในจิต:           เห็นวัดก็เห็น…
    ฐาน ธรรมในธรรม:     เห็นวัดก็เห็น…

    วัดในพระนครศรีอยุธยาล้วนเป็นวัดหลวงที่ยิ่งใหญ่มาในอดีต มีบทบาทต่อชุมชนข้างเคียงมากมาย แม้กระทั่งสงคราม วัดก็มีบทบาทเป็นกำลังใจ เป็นบุญเหลือเกินที่คณะได้ไปกราบพระวัดเก่าแก่ในอยุธยาที่พี่เคยกราบมาก่อนแล้ว

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 มีนาคม 2010 เวลา 21:05

    ขอบคุณค่ะพี่บู๊ดที่มาช่วยเติมเต็ม

    คนเข้าเรียนมีคำถามว่า “อยุธยามีวัดมากมายไปหมดด้วยเหตุอะไร”  อ.ศรีศักร์ให้คำตอบในทำนองว่า “บารมีของกษัตริย์ทำให้มองเห็นว่าคนมีกิเลสแข่งกันรวย ดังนั้นให้คนรวยแข่งกันทำประโยชน์ให้สังคมดีกว่า คนรวยจึงแข่งกันสร้างวัด ทำให้คนจนกว่ามีที่เรียน มีผู้อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี” และน้องก็เข้าใจว่านี่ก็เป็นตัวอย่างของความเป็นจักรวรรดิราชเหมือนกันค่ะพี่  ไม่รู้เข้าใจตรงหรือเปล่านะคะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.54240703582764 sec
Sidebar: 0.31246995925903 sec