ค้นหาเพื่อเรียนรู้ชีวิตริมแม่น้ำป่าสักในอดีต
เช้าของวันนี้ฟ้าไร้เมฆอีกวัน ดวงอาทิตย์ดวงกลมสาดส่องฟ้าไม่ร้อนแรงด้วยยังเช้าอยู่ หลายๆคนตื่นแล้วและพากันลงมาเติมท้องให้อิ่ม หลายคนที่อิ่มแล้วเริ่มจัดการข้าวของใส่รถที่ขับมากันเอง หลายคนที่จะกลับก่อนไม่ร่วมเรียนก็ทักทายแล้วบอกลากัน หลายคนที่อิ่มท้องแล้วก็พาตัวมานั่งในรถบัสเพื่อตามไปเรียน
ฟ้ายามเช้าของจ.อยุธยา หลังจากผ่านคืนเสาร์ ๕ ปีขาลมาแหมบๆ
บทเรียนแรกของวันนี้เริ่มขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา อ.ศรีศักร์ วัลลิโภดม มีเมตตามาเพิ่มความรู้ให้ ด้วยห่วงความเข้าใจต่อเส้นทางการใช้ชีวิตของผู้คนสมัยอยุธยาของผู้เรียน อาจารย์อธิบายให้เข้าใจเส้นทางของวิถีแนวฝั่งแม่น้ำผ่านแผนที่โบราณที่ติดอยู่ที่ฝาผนังของพิพิธภัณฑ์
ภาพรวมที่เห็นจากแผนที่เมื่อเชื่อมโยงกับเส้นทางและเรื่องราวที่ได้ยินจากห้องเรียนเรือเมื่อคืนนี้ทำให้นึกภาพการใช้ชีวิตของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำป่าสักสมัยก่อนได้อย่างเข้าใจขึ้น
ปูพื้น รื้อทวนให้เกิดความเข้าใจปูมหลังเพิ่มขึ้นก่อนไปยังสถานที่จริง
แผนที่โบราณกับแผนที่ปัจจุบันมีความต่างอยู่…นี่ก็เป็นมุมความรู้ (เอื้อเฟื้อภาพจากสถาบันพระปกเกล้า)
ทำความเข้าใจจากแผนที่แล้ว อาจารย์คุยต่อให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องความเป็นจักรพรรดิราช และชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่จะไปเรียนกันต่อไป
สถานที่ที่เป็นห้องเรียนในวันนี้มีวัดไชยวัฒนาราม โบสถ์เซนต์ยอเซฟ และ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินนาสยาม รวม ๓ แห่ง
ขอบคุณเจ้าภาพกันก่อนจาก คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดีๆของสังคม
สำหรับวัดไชยวัฒนาราม เป็นสถานที่ที่มีลักษณะพิเศษอยู่หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่จำได้คือ มีพระปรางค์ที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่ถูกหลักคณิตศาสตร์มากที่สุดตามแบบของปราสาทนครวัดสถิตย์อยู่ ความเป็นจักรวรรดิราชขององค์กษัตริย์สมัยอยุธยาที่เอื้อให้เกิดค่านิยมคนรวยสร้างวัดขึ้นก็ดูได้จากที่แห่งนี้แหละนะ
คำถามที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เห็นต่อหน้าด้วยความคิด ความเข้าใจ ณ เวลาปัจจุบัน ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่เป็นไปในอดีตได้ตรงจริง การมาดูสถานที่จริงแล้วย้อนรอยจึงจำเป็น
ที่ต่อไปที่ไปเรียนกันเป็นโบสถ์เซนต์ยอเซฟ ซึ่งเป็นโบสถ์ของชาวแคทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณรอบๆโบสถ์มีชุมชนและบ้านเรือนอยู่รายรอบห่างออกไป
ได้ความรู้เพิ่มจากที่นี่ว่า แคทอลิก กับ โปรแตสแตนท์ ต่างกันอย่างไร มีส่วนที่เหมือนกันอย่างไร
ความเหมือนกันอยู่ตรงที่ ทั้งคู่มีพระเจ้าองค์เดียวกัน
ความต่างอยู่ตรงที่ การกำหนดตัวผู้นำในเชิงโครงสร้างไว้ชัดเจน
สนใจว่าความต่างเป็นอย่างไรในรายละเอียด ขอชวนไปอ่านที่นี่ค่ะ
ไม่น่าเชื่อว่าโบสถ์แห่งนี้มีอายุมาเนิ่นนานแล้ว
รอบโบสถ์ที่เห็นไม่ใคร่เห็นบ้านเรือนอาศัย ร้านอาหารริมน้ำเห็นเยอะกว่า
ที่เรียนสุดท้ายที่ไปกันก็เป็นชุมชนคลองตะเคียนที่มีตำนานเล่าขานว่า มีการประลองปัญญากันของปราชญ์ แล้วผลการประลองทำให้พระในศาสนาพุทธปรับตัวเองมาเป็นศิษย์ของปราชญ์มุสลิม การที่อาจารย์นำพามาเยี่ยมชุมชนนี้ก็เพื่อให้ได้ลองฝึกเรียน
ต่างชาติที่เข้ามาประกอบอาชีพและค้าขายในสมัยอยุธยามีถิ่นฐานอาศัยริมฝั่งน้ำทั้งจีน มุสลิมจากถิ่นต่างๆ มลายู จาม มัวร์ อาหรับ ชุมชนที่นี่มีลักษณะเฉพาะที่มีความเป็นมาดั้งเดิมเป็นที่รวมของความหลากหลายชาติพันธุ์ของชาวมุสลิม แขกมลายู และแขกจาม โดยอยู่ร่วมกับชาวพุทธอย่างสันติตลอดมาในพื้นที่นี้กว่า ๔๐๐ ปี สมาชิกของชุมชนแห่งนี้มีเป็นมุสลิมกว่า ๙๐ %
ภาพซ้ายบนคือภาพเยาวชนที่นั่งรอรับแขกกันอยู่แบบนิ่งๆ
เมื่อเข้าไปในชุมชนแห่งนี้ฉันรู้สึกแปลก แปลกตรงที่รู้สึกว่าคนในชุมชนเฉยๆกับการที่มีคนมาเยี่ยมชม หลายวัยที่นั่งรออยู่เหมือนจะรู้ว่าจะมีแขกมาในหมู่บ้าน ท่าทีที่ได้เห็นจึงเหมือนกำลังนั่งรอคอย เพิ่งมารู้ทีหลังว่าชุมชนแห่งนี้มีนักศึกษามาเยี่ยมชมเป็นประจำ
คนที่นั่งอยู่มีหลายวัยค่ะ รุ่นเด็กๆนั่งอยู่สบายๆที่โต๊ะด้านหน้าใกล้ๆมัสยิด ชาวบ้านบางคนนั่งอยู่รายรอบอาคารที่อยู่ใกล้มัสยิด คุยถามดูว่าจึงรู้ว่าอาคารนี้คือโรงอาหารที่มีไว้สำหรับให้คนมาบริจาคทานและเลี้ยงอาหารคนในชุมชน เจตนาของการมาเลี้ยงอาหารเป็นเรื่องด้านไหนไม่ได้ถามมาค่ะ
พื้นที่ภายในสุสานที่อนุญาตให้เข้าไปคารวะปราชญ์ของมุสลิมได้
ผู้คนที่มานั่งอยู่มีทั้งหญิง ชาย ปะปนกัน สายตาที่มองมายังกลุ่มที่เดินเข้าไปดูเฉยๆ (หมายถึงไม่ลุ้น) มีคนเข้าไปชวนคุยด้วยก็คุยตอบอย่างมีใจให้ บ้างนั่งถักสวิงอยู่ที่มุมๆหนึ่งอย่างไม่สนใจว่ามีใครไปใครมาหรือเปล่า เด็กเล็กวัยอนุบาลพอเห็นหน้าตากันบ้าง คนวัยหนุ่มสาวเห็นน้อยมาก
การคุยกับหญิงสูงอายุ ๒-๓ คนที่นั่งอยู่ทำให้รู้ว่า ส่วนใหญ่ที่มานั่งกันอยู่รู้จักกันในระดับหนึ่ง บางคนถือกำเนิด ณ ที่แห่งนี้ แต่อพยพไปอยู่ที่อื่นเมื่อยามวัยสาว และเพิ่งพาตัวกลับมาพำนักกายอยู่เมื่อแก่ตัว หลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ตัวอพยพไปจากพื้นที่มีความเหลื่อมล้ำในด้านการรับรู้ข้อมูล บางคนตอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้นำของชุมชนแห่งนี้ก็มี หญิงสูงวัยที่ได้พบเจอในที่แห่งนี้ ณ เวลานี้มีผู้สูงอายุที่สุดแค่ ๘๐ ปี ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในช่วง ๕๐-๖๐ ปี
มัสยิดที่มาเยี่ยมชมชื่อ มัสยิดตะเกี่ยโยคิณราชมิสจินนาสยาม เป็นนามที่ได้พระราชทานมาจาก ร.๕
ริมแม่น้ำอยู่หลังสุสานระยะห่างอยู่ในราว ๕๐๐ เมตร
นอกจากได้คุยกับหญิงสูงอายุ ก็ยังได้คุยกับชายสูงอายุคนหนึ่ง ได้ความว่า ที่ชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งของแห อวนชั้นดีจากภาคกลางที่เกิดจากฝีมือของชาวบ้าน การคมนาคมติดต่อในอดีตใช้ทางน้ำ มีผู้คนจะมาที่นี่เพื่อสั่งทำแห อวน หรือไม่ก็มาหาอาจารย์ที่มีวิชาเพื่อรักษาโรค แต่เมื่อการถักทอแห อวน สามารถใช้เครื่องจักร อาชีพถนัดของชาวบ้านก็ยุติลงไปด้วย
ลุงพาไปดูฝั่งแม่น้ำที่อยู่ห่างจากมัสยิดเพียง ๕๐๐ เมตรด้วย เมื่อถามลุงเรื่องการผ่องถ่ายความรู้ ลุงชี้ให้ดูบอกว่ารุ่นที่ยังถักแห อวนได้ในเยาวชนยังพอมีอยู่ โดยที่ชาวบ้านที่ยังมีความรู้เปลี่ยนจากถักทอแห อวน เป็นถักสวิงแทน แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนชั้นประถมทำไม่ได้ซะแล้ว
จบกิจกรรมจากที่นี่แล้ว ทีมงานก็พาผู้ร่วมเรียนไปกินข้าวที่อาหารแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำ ระหว่างกินข้าวฉันได้ยินผู้นั่งร่วมโต๊ะพูดว่าจะกลับรถตู้เพื่อให้ถึงกรุงเทพฯก่อน ๓ โมง กะเวลาดูแล้วคิดว่าเมื่อถึงกรุงเทพฯตัวฉันก็สามารถกลับกระบี่ทันในเย็นนี้ได้ ตัดสินใจในฉับพลัน ขอลุงเอกนั่งรถตู้กลับเข้ากรุงด้วย พาตัวรีบไปที่รถบัส ขอเป้แบกขึ้นหลังมาที่รถตู้ ซึ่งเพิ่งรู้ว่าเป็นรถของลุงเอกนะเอง
เมื่อคืนกินข้าวก่อนแล้วเรียนบนเรือ อากาศสบายกว่ากลางวัน
วันนี้เรียนก่อน แล้วกินข้าวริมฝั่งแม่น้ำ อากาศร้อนอบพอประมาณ
ลุงเอกทำเวลาได้ดี มาถึงกรุงเทพฯทันตามเวลาที่คาดการกันไว้ เมื่อมาถึงสนามบินดอนเมือง ทั้งหมดที่ร่วมทางกันมาก็พาตัวลงและร่ำลาลุงเอก ต่อจากนั้นก็แยกย้ายกันเดินทางต่อ
พอรู้หรือยัง ว่าอะไรทำให้รุ่นพี่ สสสส.๑ ฝากคำถามนี้ไว้ให้
เย็นวันนี้ฉันกลับมาถึงกระบี่ ๖ โมงครึ่งแล้ว ลูกชายมารับอย่างแปลกใจที่แม่ได้กลับบ้านก่อนกำหนด สายการบินที่บินกลับมากระบี่มีต่างชาติเป็นผู้โดยสารจำนวนมากกว่าคนไทยเช่นเคย
๒๑ มีนาคม ๒๕๕๓
หมายเหตุ
คำศัพท์ที่ใช้เรียกของศาสนาคริสต์ (ค้นจากอาจารย์กูฯ ) :
คริสตัง = คาทอลิก คริสเตียน = โปรแตสแตนท์ คริสตชน = คาทอลิก หรือ โปรแตสแตนท์ หรือ ออโทดอกซ์
บาทหลวง ซิสเตอร์ แต่งงานไม่ได้ (คาทอลิก) , ศาสนจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้ประกาศ อาจารย์ แต่งงานได้ (โปรแตสแตนท์)
ชุมชนตะเกี่ย มีผู้นำชุมชนทั้งตำบล ๓,๙๔๐ คน ชุมชนแห่งนี้มีความสัมพันธ์เก่าแก่กับสายตระกูล บุนนาค
ตะเกี่ย เป็นศัพท์ใช้เรียกที่อยู่ของอิหม่าม
« « Prev : เริ่มชิมลางฝึกการลงพื้นที่
Next : เก็บตกช่วงเวลาโปรโมชั่น » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ค้นหาเพื่อเรียนรู้ชีวิตริมแม่น้ำป่าสักในอดีต"