ตั้งหลักเตรียมกอด

อ่าน: 1453

ในช่วงต้นๆก่อนจะเป็นชั่วโมงที่นั่งฟังเรื่องราวเร้าใจให้อยากกลับไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งนั้น ผู้ดูแลนักเรียนโข่งได้บอกกล่าวให้รับรู้กติกาของการอยู่ร่วมเรียนรู้ด้วยกัน  หลักสูตรนี้มีวิธีดูแลนักเรียนโข่งทันสมัยไม่เบา ใช้วิธีสแกนนิ้วมือแทนการลงชื่อเข้าเรียน ใช้เวลาเข้าเรียนเป็นการตัดสินได้-ตก

ได้-ตกในที่นี้มีระดับด้วยนะ ระดับหนึ่งเป็นการถอนสิทธิการได้ร่วมเรียนรู้ในต่างประเทศ ระดับสองเป็นการให้สิทธิเรียนซ้ำชั้นในอีกปีต่อมา ระดับสามเป็นการถอนสิทธิการให้เรียนซ้ำชั้น

เรื่องราวเล่าสู่กันฟังของอาจารย์ศรีศักร์กระตุ้นต่อมหลายต่อมของคนฟัง เมื่อต่อมลงมือทำงาน บ้างจึงลุกขึ้นมาแลกเปลี่ยนและให้ความเห็นว่าเรื่องราวทุกคำพูดที่ได้ยินอาจารย์เล่าสู่กันฟังไม่มีอยู่ในตำราเล่มใดๆทั้งสิ้น การบันทึกไว้แล้วพิมพ์เล่มอย่างไม่ตัดทอนคำพูดใดๆเป็นเรื่องทรงคุณค่า ขอชักชวนให้ทำ

บ้างลุกขึ้นตั้งคำถามกับลุงเอกด้วยความอยากรู้ว่าหลักสูตรนี้จะเดินไปสู่จุดลงเอยอะไร บ้างลุกขึ้นมาสื่อสารมุมมองของตนและเหตุผลของการพาตัวเข้าไปเกี่ยวกับประเด็นสังคมม็อบ รวมถึงนัยยะการเป็นผู้มีส่วนร่วมกระทำซึ่งก่อเกิดจากพลังขับเคลื่อนบางอย่างภายในตัวชักนำ

บรรยากาศในห้องขณะที่มีคนลุกขึ้นพูดคุยนั้นสงบและเงียบ มีคนพูดอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นคนอื่นๆปล่อยตัวนั่งฟังคำพูดกันเงียบๆ  ไม่มีการลุกขึ้นแย้งทั้งแบบโต้และแบบสวนคำ  บรรยากาศอย่างนี้อาจารย์ศรีศักร์ชี้ย้ำบอกนักเรียนโข่งว่า นี่แหละ dialogue การลุกขึ้นมาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนแล้วคนฟังเงียบฟังไม่โต้กลับ ฟังไปแล้วจบตรง “รับรู้แล้ว”

ลุงเอกเกริ่นบอกความเป็นสังคมของนักเรียนโข่งว่าผู้เข้าร่วมมาจากหลายสังกัด หลายกลุ่มสีคละกันอยู่ หลายๆอาชีพด้วยนะ ทั้งสังกัดภาครัฐ เอกชน และสังกัดคนโง่ (สมเด็จพ่อหลวงเรียก NGO ว่า คนโง่ )

เมื่อถึงเวลาผ่อนคลายอิริยาบถเหมือนการอบรมในที่อื่นๆ  พลวัตรของความสัมพันธ์ท่ามกลางนักเรียนโข่งเริ่มแปรเปลี่ยน ผู้เข้าที่รู้จักกันมาก่อนจับกลุ่มคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราว ผู้เข้าที่หน้าใหม่ต่อกันเปิดพื้นที่ทำความรู้จักกัน  จนต่อมาเกิดเป็นถ้อยทีถ้อยอาศัย เอื้อเฟื้อที่นั่งในรถเดินทางด้วยกันไปสู่ห้องเรียนใหม่ที่จัดไว้ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา

น้องๆทีมงานของลุงเอกได้จัดการเรื่องที่พักเอาไว้ให้แล้วในพื้นที่  นักเรียนโข่งรู้ตั้งแต่แสดงตัวกับทีมงานในตอนเช้าแล้วว่าใครเป็นรูมเมทของตน ใครนอนเดี่ยว รูมเมทของฉันคือคุณติ๋ว ศันศนีย์ นาคพงศ์

ระหว่างการเดินทางไปยังห้องเรียนใหม่ สถาบันพระปกเกล้าจัดรถบัสอำนวยความสะดวกให้ แต่มนตร์ของสถานที่ทำงานใหม่ของลุงเอกก็ทำให้ฉันนะจังงัง ตกรถแบบเฉียดฉิว ทำให้ต้องเดินทางเดี่ยวตามไปเอง กว่าจะถึงห้องเรียนใหม่  ลุงเอกก็เริ่มกิจกรรมภาคบ่ายไปบ้างแล้ว

กิจกรรมในภาคบ่ายเป็นกระบวนการเช็คอินทำความรู้จักผู้เข้าร่วม นักเรียนโข่งทุกคนนั่งเรียง ๒ แถวแบบอัศวินโต๊ะกลม ๒ วงซ้อนกัน ลุงเอกกำลังแนะนำตัวและปูมหลังที่ไปที่มาของการมาทำหน้าที่อยู่ที่สถาบันพระปกเกล้า แล้วค่อยๆคลี่ไพ่ของหลักสูตรออกมาให้นักเรียนโข่งทำความรู้จักทีละตัวๆ  หมดสำรับแล้วก็ให้นักเรียนซักถามเพื่อแลกเปลี่ยนข้อกังขากัน ให้โอกาสได้ต่อรอง ข้อต่อรองที่เป็นไปได้ยากก็ให้คำตอบตรงๆว่าไม่ได้  ข้อต่อรองที่สนองตอบได้ก็เอื้ออำนวยความสะดวกให้

นั่งฟังการแนะนำตัวนักเรียนโข่งโดยลุงเอกแล้วร้องโอ้โหในใจ องค์ประกอบของนักเรียนโข่งรุ่น ๒ นี้ไม่ธรรมดาเลยนา อาชีพหลากหลายที่เข้ามาร่วมเรียน  ตัวแทนจากองค์กรหลักที่สังคมต้องพึ่งพิงเข้ามาครบเครื่อง ทั้งครู ทหาร ตำรวจ หมอ ผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา  นายกเทศมนตรี  นายกอบจ.  ผู้พิพากษา อัยการ พระ แม่ชี  นักหนังสือพิมพ์  ศิลปิน  นักจัดรายการวิทยุ  นักปกครอง  ผู้นำชุมชน  รัฐวิสาหกิจ  ผู้บริหารการศึกษา ครูฝึกภาคบริการ  ผู้ทำงานภาคสังคมในองค์กรเอกชน นักวิชาการ นักเขียน แม่บ้าน ฯลฯ

ดูจากหมวกที่แต่ละคนสวมอยู่ อื้อฮือ จอมยุทธที่มีฝีมือด้านบริหารขององค์กรทั้งน๊านเลย

เพิ่งอ๋อกับตัวเองว่าเหตุใดจึงงงเป็นไก่หลงทางเวลานั่งฟังเรื่องราวจากอาจารย์ศรีศักร์ เมื่อเห็นภาพรวมของความหลากหลายอาชีพที่สรุปมาบอกต่อข้างบนนี่เอง แต่ละคนล้วนเก็บเกี่ยวดีกรีปริญญาเอก ปริญญาโทมาประดับตัวกันแล้วเป็นส่วนใหญ่  มิน่าๆพวกเขาถึงเป็นเครื่องรับที่ไว

หลวงพี่มาไกลจากอริโซน่า แม่ชีมาจากสกลนคร

กระบวนการยามบ่ายดำเนินไปได้สักครู่ พี่บู๊ทก็โทรเข้ามาถามด้วยความอยากรู้ รู้เลยว่าพี่บู๊ดเสียดายโอกาสที่ไม่ได้มาร่วมเรียนด้วย  ได้คุยกันเรื่องของคนโง่ (NGO) กันด้วย เลยถือโอกาสบอกเล่าว่าคนโง่ที่มาร่วมเรียนมาจากแห่งหนใดบ้างกับพี่บู๊ดที่นี่ซะเลย  น่าแปลกที่ผู้เข้ามาร่วมจากส่วนของ NGO มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ

ความสัมพันธ์ที่ลุงเอกเชื่อมผ่านกิจกรรม เริ่มทำให้ฉันจำชื่อบางคนได้แล้ว ขอบันทึกเพื่อเตือนความจำไว้หน่อยค่ะ : น้องอุ้ม (เกษรา รื่นภิรมย์) จากมูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย), คุณยะ (สุริยะ ดวงสุริยทัย) ผู้ริเริ่มชักชวนให้พับนกสีขาวโปรยให้โบยบิน  ประธานองค์กรทูตสันติภาพ , คุณไพศาล จากสมาคมปัญญาชนมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้, พี่จุก (บุญศรี สุธรรมานุวัตน์) มูลนิธิบิ๊กซี, คุณพร (ณฐพร ชลายนนาวิน) จากสโมสรไลออนส์พระนั่งเกล้า กรุงเทพฯ

ลุงเอกเกริ่นนำให้เห็นประเด็นที่สามารถนำสู่การเกิดความขัดแย้งสั้นๆ เป็นประเด็นที่อยู่ใกล้ตัวเราเองทั้งนั้น และบางครั้ง บรรดามีเหล่านี้เราเองก็เป็นคนลงมือทำซะเองก็เคย แล้วการปลดชนวนเพื่อยุติความขัดแย้งเหล่านั้นก็ทำโดยตัวเราเองลงมือได้เลย  ไม่เชื่ออ่านดู

ฟัง “เรา” บ้าง

บางครั้ง….สิ่งที่คุณคาดหวังก็มิใช่…สิ่งที่คุณได้รับ

หลังจากมีกิจกรรมไปได้ช่วงหนึ่ง ทีมงานก็ปล่อยตัวนักเรียนให้ไปผ่อนพัก นัดหมายมาพบกันใหม่ตอนกลางคืน มีกิจกรรมทำความคุ้นชินระหว่างนักเรียนโข่งจนกระทั่ง ๒ ทุ่มครึ่ง นักเรียนจึงได้รับการปล่อยตัว กิจกรรมยามค่ำคืนมีความสนุกแค่ไหน ประเมินเอาเองจากภาพของคนเข้าร่วมค่ะ

เมื่อเลิกกิจกรรมคุณติ๋วแวะมาบอกว่า มีงานที่กรุงเทพฯ จะกลับมาเจอกันในเช้าวันใหม่ ให้ฉันนอนคนเดียว เมื่อตอนหัวค่ำน้องอึ่งอ็อบโทรมาบอกว่าจะมาร่วมกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น น่าจะมาถึงอยุธยาเกือบสองยาม ให้ช่วยติดต่อที่พักให้ด้วย

เมื่อรู้ว่านอนคนเดียวแน่แล้ว จึงส่งข่าวให้น้าพาตัวมาให้กอดจะได้นอนคุยกัน น้าก็ใจง่ายรับปากทันทีไม่ลังเลใจ ใจถึงสมนามเมียสิบล้อที่ตั้งให้จริงๆ  บึ่งรถมาถึงโรงแรมที่ฉันนอนตอนตี ๒  กอดกัน คุยกัน แล้วนอนหลับไปเวลาไหนก็ไม่รู้ ลืมตาอีกทีสว่างแหล่ว

ขอบคุณคุณติ๋วที่เปิดโอกาสให้ฉันได้กอดคนใจถึง

ขอบคุณคนใจถึงที่นำส่งน้ำมิตรมาสู่ให้ใจอุ่นอีกครา ขอบคุณที่มาร่วมทางเดินเรียนรู้ด้วยกัน และนำพากัลยาณมิตรจาก G2K ให้ได้มาพบเจอกันอีกครั้ง

ขอบคุณโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ที่ขายดิบขายดีจนไม่มีห้องเหลือ จึงเื้อื้อโอกาสให้ฉันได้ช่องชวนมิ่งมิตรมานอนร่วมห้องแบบได้ตัวมาอย่างง่ายๆไม่เปลืองแรง…อิอิ

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เอ๊ะกับคำว่า “อบรมเพื่อความมั่นคงทางสังคม”

Next : คุณเป็นใคร…ทำความรู้จักกันหน่อย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มีนาคม 2010 เวลา 8:06

    มาเข้าเรียนทางลานก็แล้วกันนะ ครับ เลยถือโอกาสขยายความคำว่า NGO ครับ

    เราใช้คำ NGO = Non Government Organization นี้มาก่อนจนชิน ในต่างประเทศหลายแห่งไม่ได้ใช้คำนี้ เขาใช้ NPO = Non Profit Organization หรืออื่นๆ และในไทยเอง คำว่า NGO ก็แบ่งเป็นกลุ่มประเภทของลักษณะงาน เช่น กลุ่มที่ทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ ประเภท โรตารี่ โรตาแรก เจซี เจเซียส มูลนิธิการกุศลต่างๆ รวมๆว่าเป็นองค์กรเชิงสังคมสงเคราะห์ ประเภทนี้มีกิจกรรมเช่น แจกผ้าห่ม เสื้อผ้า ฯ เขาเรียก NGO เหมือนกัน

    แต่มี NGO อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชน มิใช่สังคมสงเคราะห์ เพราะมีการทำโครงการพัฒนาแบบต่อเนื่อง เป็นเรื่องๆ เมื่อจบโครงการก็จบกัน แล้วเริ่มโครงการใหม่ ซึ่งมีพัฒนาการสาระของการพัฒนามากมาย เป็นที่ยอมรับกันว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณืเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง NGO ประเภทนี้เป็นครั้งแรกที่ชัยนาทที่เรียก TRRM = Thailand Rural Reconstruction Movement ซึ่งท่านจำลองมาจาก PRRM ของ ดร.เจมส์ ซีเยน ของประเทศฟิลิปปินส์ NGO ด้านนี้พัฒนาเนื้อหาสาระมากและขยายองค์กรด้านนี้มากหลังสงครามอินโดจีนที่ไทยมีค่ายอพยพมากมาย แล้วมีองค์กร NGO ต่างประเทศมาสนับสนุนงานค่ายอพยพ  แล้วเลยขยายมาทำงานพัฒนาชนบท พัฒนาสังคมของไทยไปด้วยในภายหลัง เช่น Save The Children, CARE, REDD Barnar ฯลฯ และพอดีช่วงนั้นเป็นระยะช่วงหลัง 14 ตุลาคม นักศึกษาที่ตื่นตัวทางด้านสังคมเมื่อจบการศึกษาก็มุ่งออกสู่ทำงานพัฒนาชนบทกับองค์กรต่างๆทั้งของฝรั่งเอง และตั้งขึ้นมาใหม่ในเมืองไทย โดยเขียน proposal ไปขอเงินจากแหล่งเงินทุนที่สนุบสนุนงานด้านนี้ในต่างประเทศ

    สมัยนั้นเกิด NGO ด้านนี้มากมายนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่จะทำงานภาคอีสาน เหนือ แล้วขยายลงมาทางใต้ภายหลัง พี่เองอยู่ในกลุ่มนักศึกษาหลัง 14 ตุลา ทำมาจนถึงปัจจุบัน อิอิ

    สมัยนั้น ดร.ป๋วยก็ตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัครขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เราเรียก บอ. เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร รับนักศึกษาที่เรียนจบแล้วทุกสาขาวิชามาเข้าหลักสูตรนี้ 1 ปี ฝึกอบรมแล้วออกไปพัฒนาชนบทตามเงื่อนไข จนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาโครงการ บอ.ขยายไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จุฬา ที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ฯลฯ  (คนข้างกายพี่ก็เป็น บอ.ธรรมศาสตร์ แต่จบจากจุฬาฯ)

    สมัยนั้นในมหาวิทยาลัยไม่มีคณะพัฒนาชุมชน มีแห่งเดียวที่ธรรมศาสตร์คือคณะสังคมสงเคราะห์.. ต่อมาเมื่อนักศึกษา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคม เกษตร ศึกษาศาาสตร์

    NGO ด้านนี้ได้รวมตัวกันทั้งประเทศมาประชุมกัน แลกเปลี่ยนงานกัน ทุกปี จนพัฒนาตั้งขึ้นเป็น กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาชุมชนเอกชน)  และเรียก NGO ที่ทำงานด้านนี้ว่า อพช. หรือ องค์กรพัฒนาชุมชนเอกชน

    กป.อพช. ก็แบ่งเป็นภาคอีสาน เหนือ กลาง ใต้ และรวมตัวเป็น กป.อพช.ชาติ อยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีบทบาทมากในอดีต
    พี่มีส่วนร่วมก่อตั้ง กป.อพช. ทั้งระดับภาคเหนือ อีสานและระดับชาติ แล้วก็วางมือให้น้องๆรุ่นหลังขึ้นมาทำแทน

    บุคคลหนึ่งที่เป็นรุ่นเก๋ากึ๊ก ตั้งแต่สมัย ดร.ป๋วยก่อตั้ง TRRM จน กป.อพช.ชาติ และปัจจุบันคือ พี่บำรุง บุญปัญญา พี่ใหญ่ในวงการ อพช. ที่ชาวอีสานเรียกว่า ราชสีห์อีสาน ที่เคยไปปรากฏตัว สสสส 1 ที่สวนป่าเมื่อปีก่อน

    ดังนั้นเมื่อพูดถึง NGO เราจึงแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ NGO ด้านสังคมสงเคราะห์ และ NGO ที่เรียกว่า อพช.ที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนเอกชนครับ

    อ้าว ขยายซะยาวเลย อิอิ ถือว่าแลกเปลี่ยนนะครับ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มีนาคม 2010 เวลา 8:12

    สมัยนั้นในมหาวิทยาลัยไม่มีคณะพัฒนาชุมชน มีแห่งเดียวที่ธรรมศาสตร์คือคณะสังคมสงเคราะห์.. ต่อมาเมื่อนักศึกษา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคม เกษตร ศึกษาศาาสตร์….(ข้อความนี้อธิบายไม่จบ) ต่อนะ

    …..มหาวิทยาลัยต่างๆเห็นว่า นักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วไปทำงานพัฒนาชนบทมาก ที่มาจากหลากหลายคณะพื้นฐาน จึงตั้งคณะพัฒนาชุมชนเฉพาะขึ้นมาเลย เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม และมหาวิทลาลัยราชภัฏต่างๆหลายแห่ง เด็กที่จบจากคณะนี้ก็ออกไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนมากมาย…..จนถึงปัจจุบัน

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มีนาคม 2010 เวลา 19:05

    โอ๊ะๆๆ…โอ๊ย…ดีใจๆค่ะ ที่พี่เข้ามาแลกเปลี่ยน ขออีกๆค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.050369024276733 sec
Sidebar: 0.1631019115448 sec