เอ๊ะกับคำว่า “อบรมเพื่อความมั่นคงทางสังคม”

โดย สาวตา เมื่อ 25 มีนาคม 2010 เวลา 1:34 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สสสส.๒, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1135

บันทึกนี้ขอนำเรื่องที่ฟังจากอาจารย์ศรีศักร์มาเล่าสู่กันฟัง เป็นเกริ่นนำที่อาจารย์ตั้งใจปูพื้นฐานให้นักเรียนโข่งได้เติมเต็มภูมิรู้ของตนอย่างให้ใจและเปิดใจ

ข้อคิดที่สะิกิดใจแรกที่เกริ่นแล้วสะกิดต่อมเอ๊ะของฉัน เป็นคำพูดนี้ค่ะ  “อบรมเพื่อความมั่นคงทางสังคม” ท่านได้ยินแล้วงงกับถ้อยคำนี้มั๊ยค่ะ ฉันว่าถ้อยคำนี้มีความหมายที่แปลกนะถ้าแปลเชื่อมไปกับความคาดหวังของหลักสูตรที่ได้เล่าเอาไว้

นัยยะของถ้อยคำบอกถึงว่า ในฐานะสมาชิกของสังคมควรอบรมเพื่อความมั่นคงทางสังคมเนอะค่ะ มาอบรมเพื่อบริหารมุมมองต่างให้เกิดความยอมรับกัน

“ไม่เข้าใจก็ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับก็ไม่มีความมั่นคง”  “ขว้างงูไม่พ้นคอ”  เป็นคำเปรียบที่อาจารย์ใช้เตือนสติให้รำลึกถึงความเชื่อมโยงและความเกี่ยวพันที่มาถึงตัว

พื้นฐานที่อาจารย์โยงให้เห็นเพื่อเติมความเข้าใจให้เห็นมุมขับเคลื่อนที่ผ่านพ้นมาของสังคมไทย ชี้ไปที่ “การไม่ได้เตรียมสังคม” การพัฒนาที่ผ่านมาทุกยุคขาดหายไปเรื่องการเตรียมสังคม พัฒนามาแบบมองด้านเดียวจากผู้ที่อยู่สูงสุดฝ่ายบริหาร  มิติเดียวที่นำสังคมก้าวเดินมาพลาดตรงที่มองไปทางเศรษฐกิจมิติเดียว

อาจารย์ชี้ว่าสังคมที่อยู่ร่วมกันมา มีเรื่องราวของความขัดแย้งอยู่เป็นธรรมดาของมนุษย์ซึ่งเกิดจากการมองมุมต่าง มีขัดแย้งแล้วสังคมเดินมาได้ก็ด้วยการมีถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยทำให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างนุ่มนวล การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดก่อผลให้การปรับไม่ทัน  การแก้ความขัดแย้งต้องเข้าถึงคน

เข้าถึงคน เข้าถึงกลุ่มคน ในเวลา ในสถานที่ ได้ความเข้าใจเกิดขึ้น

อาจารย์โยนตัวกวนใส่หูเพื่อให้เข้าใจมุมชัดเรื่อง “ความเข้าใจ”  ชี้ตัวอย่างกรณีปลาร้าในสังคมม็อบ ที่ผู้คนจากถิ่นแห้งแล้งอย่างแดนอีสานหวงแหนและเสพเช่นอาหารเลิศรส  แต่ผู้คนที่มาจากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในภาคกลางกลับเลือกใช้เฉกเช่นอาวุธชีวภาพที่ทรงพลังของตน ช่วยขยายให้ฉันเข้าใจชัดถึงความหมายของถ้อยคำที่อาจารย์พยายามย้ำ “ความไม่เข้าใจสังคมและปฏิสัมพันธ์สร้างความเหลื่อมล้ำของความเข้าใจ”

อีกเรื่องราวที่อาจารย์ถ่ายทอดเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของ “culture values”  คำๆนี้มีความสำคัญตรงที่สามารถเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย

คำที่ใช้อ้างอิงยุคเปลี่ยนผ่านการปกครองที่เก็บลิ้นชักความจำไว้ยาวนาน “สมบูรณาญาสิทธิราช”  “ประชาธิปไตย” “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นคำที่อาจารย์สะิกดให้ปัดฝุ่นนำขึ้นมาทบทวนความเข้าใจของตัวฉันเพื่อใช้เรียนรู้ร่วมต่อไป

ได้เรียนรู้ตัวเองว่าภูมิเดิมที่รู้ความนัยที่ตรงของคำเหล่านี้มีอยู่น้อยกว่าน้อย แค่อ่านออก เขียนได้ แล้วอ้อว่าเคยได้ยินคำพวกนี้ คุ้นชินกับเสียงอ่านที่ได้ิยิน แค่นี้เองจริงๆ เป็นความรู้แบบเด็กอนุบาลที่เพิ่งไต่ระดับจากตั้งไข่แล้วหัดเดินปานนั้นเชียว

รู้สึกขำตัวเองจริงๆ  ขอหัวเราะหน่อยเหอะ….5555….บอกตัวเองว่า เรียนแบบไร้สาระศาสตร์เตาะแตะตามไปก็แล้วกัน การเรียนรู้ที่หลักสูตรคาดหวังผลจะให้ผลแบบหมู่หรือจ่าหรือผู้กองหรือนายพลหรือนายพัน ครบเวลา ๙ เดือนเดี๋ยวรู้เอง

เรื่องราวของร้านโชห่วยและระบบอุปถัมภ์เป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ/วัฒนธรรมที่ถูกยกขึ้นมาชี้ให้ลองเรียนรู้กับมัน

การที่มีการตัดขวางกลุ่มคนเป็นกลุ่ม ในพื้นที่หนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง เพื่อให้สามารถควบคุมได้หมด ถ้าทำไม่ดี ไม่มีการคุยกัน จะทำให้เกิดการทำลาย เป็นอีกมุมที่อาจารย์ชี้ชวนให้มองเห็นแล้วตามเรียนรู้

การเป็นครอบครัวที่ขยายมาเป็นบ้าน เป็นเมือง แล้วเกิดหน่วยที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ซึ่งเมื่อร้อยรัดกันแล้ววัฒนธรรมก็เกิดขึ้นมา เป็นมุมที่อาจารย์ได้ชวนให้รำลึก และสะท้อนมุมมองเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นมาของวัฒนธรรม

มนุษย์พึ่งตัวเองไม่ได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ความเป็นปัจเจกจะทำให้ขาดการจัดการเรื่องร่วม ทุนเสรีนิยมทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายโครงสร้างสังคม ทำลายความสัมพันธ์คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

สังคมคือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่หนึ่งด้วยกัน ในเวลาหนึ่ง  การรวมศูนย์ทำให้เกิดการแย่งทรัพยากร  ยุคสมัยขององค์พระมหากษัตริย์ในอดีตมีการรวมศูนย์ เป็นการรวมศูนย์ที่เกิดจากบารมีขององค์กษัตริย์นั้นๆ อาจารย์เรียกคุณลักษณะการรวมศูนย์ที่เกิดจากบารมีของผู้นำว่า “จักรพรรดิราช”

การนำพาย้อนความจำในส่วนเสี้ยวไปรื้อความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขึ้นมาแล้วทบทวนเพื่อค้นหาความรู้ใหม่ ที่สังเคราะห์ในมุมของสังคมศาสตร์แล้วอาจารย์กรุณานำมาเผยแพร่ให้ได้ร่วมเรียน  มีเรื่องชวนพิศวงไม่น้อยเกี่ยวกับกระบวนการสันติวิธีที่บรรพบุรุษไทยได้เคยลงมือมาแล้ว ได้ฟังแล้วรับรู้ถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยรุ่นต่างๆจริงๆ

เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับ ร.๔ และ สมเด็จพระปิ่นเกล้าคือครั้งแรกของการใช้สันติวิธีแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย  ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในยุคที่เกิดรูปแบบวังหน้า วังหลังขึ้น

มีประเด็นความต่างที่ได้รับการชี้แนะให้เกิดความเข้าใจมิติของถ้อยคำที่ใช้ของคำสำคัญ ๓ คำ  : เชื้อชาติ(ชี้บ่งโดยสายเลือด) ชาติพันธุ์ (ชี้บ่งโดยวัฒนธรรมที่บ่มเพาะ) ชาติภูมิ (ชี้บ่งโดยพื้นที่ให้กำเนิด)

๓ คำนี้สำคัญด้วยมีความเกี่ยวพันไปสู่ความเข้าใจในมุมใหม่ต่อผู้คนหลังการฟังผู้คนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง

ในความเห็นของอาจารย์ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือสังคมและวัฒนธรรม วิเคราะห์กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่หนึ่ง เวลาหนึ่ง ให้เห็นความอ่อนแอ หาความอ่อนแอให้พบโดยดูที่การพึ่งพิง

ต่อไปนี้คือข้อคิดหลากประเด็นซึ่งฉันเก็บเกี่ยวได้ทันและขอยกมาใช้เป็นข้อเตือนสติสำหรับตัวฉัน :

“ความแตกต่างและพึ่งพิงทำให้อยู่รอด”

“ความแตกต่างและพึ่งพิงทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคมแล้วทำให้อยู่รอด”

“เรียนรู้ได้แต่อย่าเลื่อมใส”

“ประชาธิปไตย คือ การยอมรับความขัดแย้ง มีถ้อยทีถ้อยอาศัย ประนีประนอม แล้วนำสู่การพบกันครึ่งทาง”

” to know is understand  to understand is control”

“ประชาพิจารณ์ คือ Dialouge”

” สื่อจากความสัมพันธ์ที่เห็นหน้าเห็นตากันโดยตรง คุยกัน แล้วกระจายออกไปสู่ที่อื่น”

” Demoralization ทำให้เกิด Dehumanization”

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ปรับตัว ปรับวิธีเรียน พบผู้รู้ที่หลากหลาย

Next : ตั้งหลักเตรียมกอด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มีนาคม 2010 เวลา 7:02

    พี่ตาเขียนแบบนี้เรื่อยๆ ปีนี้ก็จะมีหนังสือแจกรุ่น ๓ เป็นเล่มเบ้อเริ่ม ปีนี้จะแจกของผมครับต้นเดือนเมษานี้ครับ
    อ.ศรีศักร์ ท่านพูดได้น่าฟังมาก ผมหลงไหลกับการบรรยายของอาจารย์เกี่ยวกับชาติพันธุ์ของคนไทยและเพื่อนบ้านน่าสนใจมาก แถมปากจัดอีกต่างหาก อิอิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มีนาคม 2010 เวลา 13:45

    อย่างนี้แหละที่อยากได้ อยากเจอ อยากอ่านสมใจนึก อิอิ

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มีนาคม 2010 เวลา 21:13

    #1 หือ…เหวออออ…..มีสัญญาอย่างนี้ด้วยเหรอ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 มีนาคม 2010 เวลา 21:15

    #2  กว่าจะปะติดปะต่อเป็นรวมเรื่องได้ ก็มึนๆเหมือนกัน เริ่มรู้ตัวว่าเป็นคนแก่ขี้ลืม อีตรงเมื่อกลับมาเรียนใหม่นี่แหละค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.023910999298096 sec
Sidebar: 0.13786315917969 sec