เปลี่ยนฟอร์ม
ปกติเวลาที่ทีมงานออกไปทำงานเป็นวิทยากร ส่วนใหญ่สไตล์ที่ใช้จะเป็นแบบพูดคนเดียวฟังหลายคนตลอดมา เวลาถามว่าพูดจบแล้วรู้หรือเปล่าว่ามีคนรู้เรื่องสักเท่าไร หลายๆคนจะตอบว่าทำ pre-test, post-test ไว้ขอไปคำนวณดูก่อน ถามพวกเขาไปหลายครั้งได้คำตอบอีหรอบนี้ทุกทีไป หรือไม่ก็ตอบว่า คนที่มาเข้าร่วมเขาประเมินผลว่า พอใจวิทยากรร้อยละเท่านั้นเท่านี้ ถามมากเข้าว่าแล้วคนเข้าเขารู้อะไรเพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าบ้าง ตอบคร่าวๆได้หรือเปล่า ก็เคืองให้อีก ไม่รู้เป็นอะไรกันไปหมด
คราวนี้ก่อนออกไป ตกลงหลักการว่า ที่จ่ายงานให้ทุกๆคนเป็นหัวข้อที่จะได้ชวนคนเข้าให้ได้ลงมือลอง
ก่อนที่พิธีเปิดจะเริ่มขึ้น ระหว่างรอฉันก็บริหารเวลาขอให้ผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มเพื่อเป็นคู่บัดดี้เรียนรู้ ก่อนจัดที่ทางปูเสื่อ ฉันสังเกตเห็นมีกระดาษเย็บมุมชุดใหญ่วางอยู่ตรงหน้าผู้เข้าร่วม เอ๊ะอะไร หยิบขึ้นมาอ่าน ปรากฏว่าเป็นเรื่องราวด้านสุขภาพพิมพ์อยู่แน่นเอี๊ยด ซึ่งผู้เข้าเข้าใจว่าทีมงานฉันเป็นผู้นำมาให้
เห็นอย่างนั้นฉันจึงประกาศว่า “เอกสารที่อยู่ในมือท่าน เป็นความปรารถนาดีที่ทางอบต.เขาค้นมาให้ แต่วันนี้ที่จะมาแลกเปลี่ยน ไม่เกี่ยวกันกับเรื่องราวในเอกสาร ขอให้เก็บไปอ่านที่บ้าน วันนี้ขอมาทำหน้าที่แลกเปลี่ยนกัน ไม่ได้มาเป็นครู ขอไม่ใช้รูปแบบให้ท่านเป็นนักเรียน แต่จะมาชวนเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ดีกว่า”
บรรยากาศระหว่างน้องหมอฟันกำลังสอน
เมื่อพิธีเปิดเสร็จสิ้นลง น้องเจ้าของโครงการก็รีบจัดห้องให้ ได้พื้นที่โล่งสำหรับปูเสื่อบนพื้นให้คนที่สามารถนั่งพื้นได้มาหน่อยนึง คน ๒ กลุ่มพากันนั่งลงบนเสื่อ คนบางกลุ่มยังคงนั่งเกาะโต๊ะกันไว้แน่น ฉันจึงเข้าไปขอให้จัดกลุ่มนั่งกลุ่มละ ๔ คนแบบไม่มีโต๊ะคั่นกลางเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมไปด้วยกันได้
เช็คอินจุดประสงค์ของการมาเข้าร่วมว่าคาดหวังอะไรก่อนเริ่มกิจกรรม เพื่อสรุปเป็นประเด็นที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันและทวนสอบว่าอุปกรณ์ที่เตรียมมาใช้นั้นพอสำหรับประยุกต์ให้ลองลงมือทำได้ด้วยหรือเปล่า ได้คำตอบออกมาเป็น ๗ เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
ได้ประเด็นก็เริ่มโยนไมค์ให้หมอฟันเป็นคิวแรกว่าไปก่อน อย่างที่เล่าเอาไว้แล้วว่า กว่าจะได้เริ่มทำงานก็เป็นเวลาบ่ายสองโมงครึ่ง เมื่อหมอฟันเริ่มทำงาน ตายละวา น้องเราใช้วิธีพูดคนเดียวยาวเหยียดแล้วปล่อยให้คนหลายคนฟังอีกแล้ว เธอพูดเรื่องการตรวจฟันและพลิกรูปให้ดู แบบว่าเป็นชุดๆโดยไม่ได้เช็คคนฟัง เช็คเวลาเอาซะเลย
จับทางได้ว่าคนฟังจับประเด็นไม่ได้กับการคุยที่ทำอยู่ ฉันจึงตัดสินใจแทรกตัวเข้าทำงานด้วยแบบคู่หูดูโอ ชวนคนฟังให้พาตัวเข้ามาสู่บรรยากาศการฟังใหม่ ให้บอกว่าที่น้องหมอพูดไปแล้วมีอะไรที่ได้ฟังแล้วจับเคล็ดได้บ้าง ได้ยินเสียงอ้ำๆอึ้งๆไม่กล้าตอบ จึงบอกน้องหมอให้แจกกระจกตรวจฟันคนละด้ามแล้วส่งสัญญาณให้น้องหมอรับลูกต่อ “เอ้าไหนๆดูฟันซิ ในปากตัวเองมีฟันผุหรือเปล่า ดูแล้วเห็นอะไร ยกมือขึ้น จะได้ให้หมอฟันเดินไปยืนยันว่าที่เห็นใช่ฟันผุหรือเปล่า”
คนเรียนกำลังสนุกกับการได้เห็นฟันตัวเองกับตา พี่เลี้ยงก็สนุกไปด้วย
ระหว่างนี้เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจเริ่มดังขึ้น น้องหมอเดินไปทีละกลุ่ม เพื่อชวนเรียนรู้เป็นรายคน ส่วนฉันก็โยนคำถามซ้ำว่า “ใครที่ในปากตัวเองไม่มีฟันผุเลยบ้าง” ปรากฏว่ามีคนเดียวจากทั้งห้องที่ยกมือแสดงตัว จึงชวนให้เธอขอดูฟันเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆเป็นบทเรียน
ดูแล้วเธอคงเอ๊ะกับตัวเองมั๊ง เมื่อรอกลุ่มให้ตามกันทัน ฉัันสังเกตเห็นเธอลงมือส่องกระจกดูปากตัวเองใหม่ แล้วอมยิ้มขำๆอยู่คนเดียวแบบเปลี่ยนฟอร์ม
สังเกตว่าทุกคนเริ่มกลับมาสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว จึงชวนเขาให้สะท้อนการเรียนรู้ให้ได้ยินกับหู ” ฟันผุที่ควรแจ้นไปหาหมอถ้าเจอเป็นอย่างไร” โป๊ะเช๊ะได้คำตอบตรงประเด็นที่ตั้งใจไว้ให้เขาได้รับไป จึงโยนไมค์กลับให้น้องหมอคุยให้ฟังต่ออีกประเด็น “หินปูนกับรำมะนาด”
คราวนี้ให้เขาลงมือดูฟันตัวเองอีกครั้ง สังเกตว่าจะใช้เวลามากมายหากให้น้องหมอเดินไปตามกลุ่มแล้วอธิบายรายคนแบบเดิม ฉันจึงขอให้ทุกคนวาดภาพความสัมพันธ์ระหว่างฟัน เหงือกและหินปูนลงในกระดาษ แล้วให้ทีมงานเดินไปแลกเปลี่ยนชวนทำชวนเรียนรู้และยืนยันความเข้าใจ ใครเข้าใจผิดกับสิ่งที่ตาเห็นก็แก้ไขความรู้ซะใหม่เป็นรายคน แล้วชวนให้น้องหมอสรุปซ้ำเพื่อย้ำประเด็นสำคัญที่จะทำให้เสียฟัน
เดินไปตามกลุ่มเืพื่อยืนยันสิ่งที่เห็นว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”
ฉันรับไมค์มาคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการดื่มน้ำเพื่อลดผลของโรคความดันโลหิตสูง ทำความเข้าใจผลเลือดที่เกี่ยวข้องกับกรดยูริก แล้วไมค์ถูกโยนต่อให้น้องผู้ชายอีกคนที่ไปด้วย ให้คุยประเด็นของการเจาะเลือดว่าทำยังไงจึงทำง่ายและไม่เจ็บ อ้าวแล้ว น้องออกนอกเรื่องไปคุยเรื่องขอความเห็นใจคนทำงานเหนื่อยในร.พ. กว่าจะวกกลับมาเรื่องประเด็นความรู้ทำเอาใจหายใจคว่ำ
มือใหม่หัดขับคนนี้เพิ่งดึงตัวจากห้องปฏิบัติการมาทำงานด้วยกัน ใจหายใจคว่ำด้วยเกรงทีมงานคนอื่นจะไม่เข้าใจตัวเขา แล้วทำให้เกิดแตกคอกันไปแทนที่จะได้ทำงานด้วยกันต่อ
รับไมค์มาต่อเมื่อเขาพูดจบ ชวนวงให้กลับมาคุยแลกเปลี่ยนสะท้อนการเรียนรู้ ได้เรื่องว่าผู้เข้าได้สิ่งที่มีประโยชน์อีกมุม จึงเปลี่ยนโยนไมค์ให้ทีมงานอีกคนเข้ามาลงมือชวนเรียนรู้ต่อไป
มือใหม่หัดขับคุยกับป้าๆน้าๆพี่ๆ เจ้าของโครงการ(เสื้อเหลือง)นั่งสังเกตกระบวนการ
คราวนี้การเรียนเปลี่ยนเป็นการเล่น ให้บทเรียนผลัดกันใช้ตาดู ใช้มือทำ ใช้ฝ่าเท้าของคู่บัดดี้เป็นอุปกรณ์ประกอบการเรียน บทเรียนจั๊กจี๊ฝ่าเท้าค่ะ
รอบแรกให้ผลัดกันดูว่าฝ่าเท้าใครบ้างที่เห็นสิ่งไม่ธรรมดา หลายเสียงบอกว่า “เท้าแตก” ได้เรื่องแล้วนี่ ผู้เข้าใ้ห้ใจเรียนแล้ว ฉันจึงชวนต่อให้ใช้กระดาษทิชชูเป็นอุปกรณ์ เขี่ยเท้ากันเล่น สาธิตแนวเส้นที่ให้เขี่ย แล้วเฉลยว่าเล่นอย่างนี้มีประโยชน์อะไร เมื่อผู้เข้าเข้าใจประโยชน์ มีเสียงเซ็งแซ่ว่า เอาใหม่ๆ บอกใหม่วิธีเขี่ย เขี่ยอย่างไร
แจกหนังสือพิมพ์เพื่อชวนเล่นแล้วเรียนรู้
ชวนเขี่ยด้วยกระดาษแล้วก็เปลี่ยนอุปกรณ์ ขอให้ใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มลงที่ปลายหัวแม่เท้า โคนนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วกลาง และนิ้วนาง ๔ จุด แล้วให้ทดสอบแรงมือลงบนดินน้ำมัน เปรียบเทียบความหนักของมือ เพื่อให้รู้แรงหนักเบา แล้วเฉลยว่าวิธีนี้ใช้ตรวจคร่าวๆเรื่องเท้าชาได้ แล้วหากพบชามันสื่อถึงอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปของคนเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง
หลังจากนั้นก็ฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์กันเป็นที่สนุกสนานค่ะแล้วต่อด้วยให้นอนเล่นยางยืดแบบเด็กๆ เป็นที่สนุกสนานอีกนั่นแหละ เสียงกิ๊วก๊าวแซวกันดังเซ็งแซ่ ไม่กิ๊วได้ยังไงก็มีคนใส่กระโปรงนอนยกขาสูงนอนเล่นยางยืดอยู่ตรงหน้า คนเล่นก็เพลินจนลืมตัวว่ามีคนนั่งอยู่ตรงปลายเท้า
วิธีเล่นกับหนังสือพิมพ์ทีู่้ผู้สูงอายุทุกคนได้ประโยชน์ คนเบาหวานห่างการเสียเท้า
บรรยากาศการเรียนสนุกสนานทีเดียวเชียว เหลือบเห็นเวลาใกล้สี่โมงครึ่ง เห็นว่าได้เวลาแล้วจึงชวนให้ผู้เข้าสะท้อนคำถามที่อยากรู้ ไม่มีคำถามด้วยเหตุเวลาโรงเรียนเลิก
เล่นกันอย่างนี้แหละที่มีเสียงกิ๊วก๊าวลั่นห้องเซ็งแซ่
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
๑. ติดฟอร์ม
๒. ปลดฟอร์ม
« « Prev : ติดฟอร์ม
Next : ปลดฟอร์ม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เปลี่ยนฟอร์ม"