เรียนการใช้…ปัจจุบันขณะ…ลดความขัดแย้ง…และเรียนการเป็นครู

โดย สาวตา เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009 เวลา 21:50 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1258

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีโอกาสรับหน้าที่ครูหมอเต็มตัว ทำอะไรไปบ้างเอาไว้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ  ได้คุยไปกับนักเรียนแพทย์ที่มาอยู่ด้วยว่า ในการทำงานสาธารณสุขนั้นแฝงหน้าที่ครูอยู่ด้วย ฉะนั้นคนเป็นหมอ พยาบาล หรือใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาทำงานด้านสาธารณสุขก็คือครูนอกระบบการศึกษาในรูปแบบหนึ่งนี่เอง

เห็นระบบการศึกษาในระบบสาธารณสุขเป็นอย่างไร และที่ไปเข้าโรงเรียนมานั้น ห้องเรียนและการเรียน-การสอนเป็นอย่างไร  เผื่อใครจะได้ไอเดียไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวใกล้ตัว

บันทึกนี้ขออนุญาตยกประโยคในบันทึกพี่บู๊ดมาเชื่อมโยงหน่อยนะคะ

มองไปรอบๆ สิ่งที่คุ้นเคยในการพัฒนาคนทำงานในระบบสาธารณสุขก็จะมีรูปแบบสรุปได้หลายแบบ เท่าที่นึกได้และเคยเห็นก็มีอยู่ในราวๆ 4 แบบ

แบบแรกคือ ทำอย่างที่พี่บู๊ดเขียนไว้  “….ราชการเน้นงานสำนักงานเป็นหลัก ใช้วิธีสั่งการลงไป เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….”   วิธีนี้กระทรวงฯเรียกว่า “นิเทศงาน”  มีสารพัดระดับที่เข้ามานิเทศทีเดียวเชียว เจ้าหลายระดับที่ว่า มีทั้งระดับประเทศ ระดับกรม ระดับเขต ระดับจังหวัด ผลัดกันเดินเข้ามา มีการทวนสอบความรู้และความสามารถในการปฏิบัติกันตลอดทั้งปี

วิธีนี้ทำให้ผู้เรียน สามารถทำงานได้ตรงเป้า แล้วเข้าใจไปถึงผลลัพธ์ที่ระดับสูงกว่าต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะได้ผลลัพธ์ในเชิงปริมาณ ที่ใช้คำพูดตามตัวกะปิว่า ความครอบคลุม ซึ่งบางทีก็มีแถมน้ำหนักผักชีหรือลมมาด้วยหลายกระบุงโกยหรือหลายหอบ

ลมที่เก็บกลับมานั้นถ้านำมาเก็บอัดกระป๋องไว้ ก็แทบจะนำไปปั่นพลังงานไฟฟ้าขนาดย่อมๆได้เลย

แบบที่ 2 คือ การจัดอบรมแบบเป็นห้องเรียน จัดขึ้นโดยเชิญผู้เชียวชาญมาสอนให้ เล็คเชอร์ให้ฟัง โดยใช้กระบวนการแบบสื่อสารทางเดียวจากผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดให้ ใครได้ความรู้ ไม่ได้ความรู้ก็ขึ้นกับความสามารถของผู้เข้าฟังในเรื่องการเรียนรวมถึงความตั้งใจของผู้ฟังในเรื่องการเรียน

วิธีนี้จะโชคดีมากกว่าหน่อย หากว่าคนเรียนทั้งตั้งใจและมีความสามารถ โชคดีน้อยลงหน่อยถ้าได้คนตั้งใจแต่ความสามารถต่ำ  ผู้เรียนก็ได้ทำความเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำงานตรงทิศทางที่สังคมสาธารณสุขกำลังทำอยู่หรือเปล่า  อะไรคือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง อะไรคือการปฏิบัติที่ควรเกิดขึ้นมา  โชคดีที่ทฤษฎีและการปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็เป็นเชิงปริมาณอยู่ดี มีแถมผักชีและลมอยู่ดี

แบบที่ 3  คือ  การจัดการเรียนรู้แบบเปรียบเทียบ ซึ่งจะอยู่ในรูปการดูงานบ้าง การรับคนอื่นมาดูงานบ้าง การขอรับการประเมินเพื่อล่ารางวัลบ้าง ใช้แบบที่ 2 ที่เชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ทำจริงไปโชว์ให้ดูบ้าง อะไรอย่างนี้

ผลลัพธ์คือความตื่นตัวของคนที่ไปเรียนจากการได้เปิดกะลาที่ครอบตัวออก แล้วทำให้ผลงานที่ขับเคลื่อนจะโดยกะปิหรือต้องการให้ลอกเลียนแบบเกิดขึ้นตามมา ดีมากขึ้นหน่อยที่นอกจากจะได้ผลลัพธ์ในเชิิงปริมาณก็ได้แถมคุณภาพมาด้วยจากความเชี่ยวชาญ(ประสบการณ์)ที่คนเรียนมีอยู่เป็นพื้น  อย่างนี้ดูดีหน่อย แถมผักชีนะมีอยู่หรอก แต่ไม่ใคร่แถมลม

แบบที่ 4  คือ การจัดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนวิธีคิดด้วยตัวเอง มิใช่โน้มนำอย่าง 3 แบบแรก  กระบวนการที่นำมาใช้จะอยู่ในรูปผสมผสาน ระหว่าง 3 แบบแรก  แบบนี้ต้องการครูสอนที่มีลักษณะเฉพาะ และมีประสบการณ์สูงและเข้าใจธรรมชาติผู้เรียน เข้าใจจริตผู้เรียนอย่างมากมาย  แบบนี้ครูสอนจะทำได้ต้องทำอย่างที่พี่บู๊ดบอกคืออย่างนี้….”ทำงานกับการคลุกคลีชาวบ้านเกือบแยกกันไม่ออก เพราะทุกอย่างเป็นงานและเป็นการชวนคุยธรรมดา ให้เวลากับชาวบ้านมากฯลฯ จึงมีความเข้าใจมากกว่า สนิทสนมกับชาวบ้านมากกว่า ลงลึกมากกว่า ชาวบ้านให้ความเปิดเผยมากกว่า…”

ผลลัพธ์ในแบบนี้ กลับได้เรื่องในเชิงระบบซะมากกว่า ได้แถมผักที่มีค่ามากกว่าผักชีมาด้วยเวลามีการตามผลลัพธ์  ผักที่ได้แถม คือ ความคิดเชิงระบบของคนทำงาน วิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไปแบบช้าเร็วไม่เท่ากัน

แบบที่ 5  คือ การจัดการเรียนรู้ที่คลุกทุกรูปแบบ  แบบสุดท้ายนี้มุ่งไปที่องค์ความรู้ด้านการบริหารกลยุทธ์และการทำแผนงานรองรับ  ที่มีการพัฒนาคนสม่ำเสมอทุกๆปี

ผลลัพธ์จากแบบนี้ ทำให้ได้ผลในทุกๆด้าน ในช่วงแรกๆ ความครอบคลุมจะลดระดับ ไปเพิ่มที่ระดับคุณภาพเข้ามาชดเชย ผักชีมักจะตาย ด้วยไม่ใคร่มีใครรดน้ำให้มัน  ผักมีค่าที่ได้แถมคือความสามารถของคนทำงานที่เพิ่มขึ้น วิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป  ทำให้ได้ผลลัพธ์แถมคือ ผลงานที่เพิ่มระดับขึ้นตามความชำนาญของคน

วังวนแห่งอำนาจนี้มีรังสีนะ เมื่อใครขึ้นไปครองตำแหน่งจะวางตัวยังไงก็ยังไม่วายมีมือที่มองไม่เห็น ที่คาดไม่ถึงเอื้อมเข้ามาทำให้เบี่ยงเบน โน้มนำ หากว่าคนที่อยู่ระดับล่างกว่ายังติดภาพลวงตาอยู่กับความมีอำนาจ

ภาพลวงตาของความมีอำนาจนั้นก็คือ มองว่าคนเป็นนายควรทำบทบาทอยู่แค่นี้ “……..เน้นงานสำนักงานเป็นหลัก….สั่งการลงไป…เมื่อถึงคราวที่จะต้องลงไปในพื้นที่ก็ลง และเมื่อเสร็จก็กลับ จนกว่าจะมีกิจกรรมใหม่ก็ลงไปอีก….

“ถ้าทำมากกว่านี้ คือ สอบถามข้อมูลในลักษณะทำงานกับการคลุกคลีจนเกือบแยกกันไม่ออก…..ลงลึกมากว่า…ให้ความเปิดเผย….” จะถูกระแวงว่า นั่นคือ การตรวจสอบเพื่อการตัดสินผิดถูก และจะมีการลงโทษเมื่อพบว่าผิด

วันนี้ที่ได้เรียนวิธีคิดของคนเป็นครู(เจ้านาย) และคนเป็นนักเรียน (สมาชิกในบอร์ด) ในเรื่องนี้  ได้เรียนรู้ตัวเองเปรียบเทียบวิธีคิดด้วยว่าที่มีแนวคิดของตัวเองอยู่นั้นมีอะไรที่เป็นวิธีคิดใหม่ เป็นเรื่องที่ได้เรียนอย่างนี้แหละนะคะ ที่ทำให้ไม่รู้สึกทุกข์ที่ถูกเรียกตัวไปทำงานวันอาทิตย์

สิ่งที่เรียนรู้จากเจ้านายก็เป็นเรื่องของการมองทุกอย่างเป็นงานของทุกระดับ ไม่ใช่เป็นของระดับใดระดับหนึ่งที่มอบหมายไปแล้ว สไตล์ที่เจ้านายใช้ก็ใช้วิธีชวนคุยธรรมดาๆนี่แหละ แต่เรื่องที่ชวนคุย พี่ท่านได้ลดระดับตัวเองลงมาเท่าเทียมกับทุกๆคนที่มาร่วมคุย แล้ววางอำนาจของตัวเองเอาไว้ข้างๆตัว สิ่งที่นำมาใช้ก่อนก็คือ ความเป็นครู แล้วเมื่อเรื่องราวชัดเจนจนได้ข้อสรุปของการเรียนการสอน นั่นแหละจึงหยิบอำนาจมาใช้ และใช้ในรูปแบบของการให้การบ้านไปทำ  ซึ่งถ้ามองในความรู้สึกในเชิงอำนาจก็คือ มอบหมายงานหรือสั่งงานแบบนิ่มๆ

วันนี้ได้เห็นความคิดเรื่องของการทำงานแบบคลุกคลีถึงผู้คนระดับล่างของคนเป็นนายในหลายๆระดับ รวมถึงวิธีคิดที่ผูกโยงไปถึงการใช้อำนาจ ที่ส่งผลให้การตัดสินใจออกมาแตกต่าง

อีกทั้งได้เห็นว่า เมื่อคนเป็นนายบางคนติดกับกับ “วิตก” (ขึ้นขบวนรถไฟความคิดแห่งอนาคต)และ“วิจารณ์” (ขึ้นขบวนรถไฟความคิดแห่งอดีต) (คำบัญญัติโดยอ.ไร้กรอบ) ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึก  ก็เริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างในเรื่องของการอยู่กับปัจจุบันขณะดีขึ้น

ได้เห็นว่าหากคนเป็นนายติดกับกับ “วิตก” และ “วิจารณ์” เมื่อไร การสื่อสารที่ส่งออกไป จะผิดเพี้ยนไปจากต้นเรื่องอันเป็นผลจากประสิทธิภาพของการฟังที่ลดถอยลงไป  ประสิทธิผลของการ “ฟัง”จึงเปลี่ยนไป

ได้เรียนด้วยว่า พฤติกรรม “เงียบ” ของคน ไม่ได้หมายความว่า ไม่ติดกับกับ “วิตก” และ “วิจารณ์” เช่นกัน

“วิตก” และ “วิจารณ์” ที่เกิดขึ้น เกิดจากการมีความลึกของข้อมูลสำหรับตัดสินใจที่ต่างกันและการไม่อยู่กับปัจจุบันขณะของการ “ฟัง” นั่นเอง

วิธีคิดที่ได้จากการเรียนในวันนี้ ก็คือ ให้อยู่กับปัจจุบันขณะเสมอเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น ให้แขวนข้อมูลที่มีอยู่ลึกๆที่มีเป็นส่วนตัวและไม่ได้นำออกมาคุยด้วยกันเอาไว้ก่อน  ฟังให้ได้ยินว่าข้อมูลที่คุยออกมาให้ได้ยินร่วมกันเป็นอะไรบ้าง มีอะไรที่เหมือนและต่างกับที่มีอยู่เองลึกๆ  จับเป้าร่วมให้ถูกว่ากำลังใช้ข้อมูลที่ได้ฟังนั้นเพื่อร่วมตัดสินใจเรื่องอะไรในฐานะผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ของงาน  แล้วการตัดสินใจร่วมกันทำหน้าที่ตามบริบทของตัวเองก็จะชัดเจนสำหรับคนอื่น

ข้อตกลงกับคนเป็นนายก็จะเกิดขึ้นจากการร่วมกันตัดสินใจซึ่งจะได้เป้าร่วมที่มีความเป็นไปได้จริงอันมีที่มาจากการใช้หัว การใช้ข้อมูลจริง ณ ปัจจุบันขณะร่วมกัน

ถือว่าเป็นการเรียนรู้วิธีจัดการกับความคาดเดาหรือความรู้สึกหรือความฝันหรือความเชื่อหรือความคาดหวังที่เข้ามาปะปนอยู่ในความคิดของคนทำงานในระดับนายได้อย่างชะงัดไม่น้อยทีเดียว

ร้ายๆจริงๆนะ การอยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่ให้เป็น ทำให้เป็นเหอะ เดี๋ยวงานดีเอง

ใครที่สนใจพัฒนาการระบบศึกษา ลองถอดบทเรียนดูหน่อยมั๊ยค่ะ ว่ารูปแบบของการฝึกครูนอกระบบการศึกษาอย่างกระทรวงสาธารณสุข(ข้าราชการที่ไม่อยู่ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ครูในระบบการศึกษาของกระทรวงฯ คือบรรดาผู้ที่ทำงานในสถาบันพระบรมราชชนกค่ะ)  มีความต่างกันอยู่อย่างไร เผื่อจะมีทางออกในการนำไปพัฒนาครูในระบบการศึกษาให้สร้างผลสัมฤทธิ์ของผลการศึกษาได้อย่างที่หวังกันไว้ ได้เพิ่มมากกว่าวันนี้

วิธีสอนนะคงชัดอยู่แล้ว ก่อนจบอยากจะบอกว่า เรื่องราวที่เล่าในบันทึกนี้นั้น มีวิธีทำแผนการสอน และแผนการสอนอยู่ด้วยนะคะ ลองถอดบทเรียนดูกันนะคะ

อ้อ ข้างบนพูดถึงมือที่มองไม่เห็นเอาไว้ ขอบันทึกไว้หน่อยก่อนจบบันทึกว่าในที่นี้ฉันหมายถึง “วิตก” “วิจารณ์” และ “วิธีคิดที่ผูกโยงไปถึงการใช้อำนาจจากการเสพติดวัฒนธรรมอำนาจ” นะคะ อย่าเข้าใจผิด…อิอิ

« « Prev : เข้าโรงเรียน

Next : เรียนวิธี…สอนงาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เรียนการใช้…ปัจจุบันขณะ…ลดความขัดแย้ง…และเรียนการเป็นครู"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.11901307106018 sec
Sidebar: 0.51140904426575 sec