กระบวนการจัดการความรู้ในมุมมองหนึ่ง

โดย สาวตา เมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 21:08 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1356

เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยียนสวนป่าในวันเวลาที่นักศึกษาแพทย์ชลบุรีไปเยือน วันหนึ่งในช่วงของเวลานั้น เมื่อครูน้อยเข้ามาถามไถ่เพื่อขอข้อมูลที่จะนำไปใช้ตอบคำถามของงานวิจัยที่ครูน้อยกำลังทำงานอยู่จึงเกิดการคุยกันต่อในช่วงระยะหนึ่ง และในวันนั้นฉันไม่ได้ให้คำตอบอะไรไปหรอกนะเมื่อได้ฟังคำถามที่ส่งมาในระหว่างการคุย

จำได้ว่าตอบไปว่า ตัวฉันได้สัมผัสและมีโอกาสอยู่กับกลุ่มเพียงแค่ชั่วไม่กี่ครั้งในรอบเวลาปีหนึ่งที่รู้จักกัน ฉันไม่อาจบังอาจไปให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ครูบาฯได้ดำเนินการในเรื่องของการจัดการความรู้มาเนิ่นนานได้หรอก

เหตุผลที่ไม่ขอให้ความเห็นนั้น ด้วยฉันมีมุมมองที่ต่างไปในแง่ของวิธีการค้นหาข้อมูลเพื่อการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพกับงานที่เป็นเรื่องเฉพาะของปัจเจกบุคคล  ฉันมีความคิดอยู่ว่า งานวิจัยที่น่าเชื่อถือควรมาจากข้อมูลที่เป็นเรื่องของผู้ที่รู้เรื่องเหล่านั้นจริงไม่ใช่มั่วตามความรู้ผิวเผินของตัวใครก็ได้ที่รู้จักผู้คนๆนั้นเพียงแค่ผิวเผิน

ที่เรียกว่าผิวเผินก็เพราะว่า ระยะเวลาที่รู้จักกันนั้นสั้นเกินกว่าที่จะฟันธงจนกล้าบอกว่า “รู้จักและเข้าใจ”

ฉะนั้นการที่จะให้ความเห็นในขณะที่ยังเป็นแค่ผู้ดูอยู่ห่างๆจะส่งผลให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นไม่น่าเชื่อถือได้

ที่ฉันมองเห็นว่าเรื่องน้ำหนักของข้อมูลสำคัญก็เพราะว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพซะด้วยซิ

แล้วฉันก็ได้ทราบในภายหลังว่า สิ่งที่ได้ให้คำตอบไปในวันนั้นทำให้เกิดคลื่นบางประการที่ส่งผลเป็น after shock และโยงใยไปถึงเรื่องราวบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวฉันในบางแง่มุมในเวลาต่อมา

นั่นคือที่มาของคำแซวจากหมอจอมป่วนเรื่อง พูดรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่อง ของฉัน

วันนี้มาตามอ่านบันทึกของใครๆที่ได้ให้ความเห็นไว้ในลานปัญญา ต่อประโยคคำถามเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ จึงพอเข้าใจขึ้นมาบ้างว่าเหตุใดเรื่องราวของ after shock จึงเกิดขึ้นมาได้ เอาเป็นว่าบันทึกนี้ขอทำการบ้านคืนให้เจ้าของเรื่องตัวจริง คือครูบาฯ ในมุมมองของความคิดเห็นส่วนตัวจากภาพที่มองเข้าไปเห็นจากการได้สัมผัสกระบวนการในระหว่างที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มในบางช่วงเวลาก็แล้วกัน

คำถามเหล่านี้ทำให้ไปย้อนรอยดูบันทึกเก่าของตัวเองว่าได้เห็นภาพอะไรบ้าง ณ สัมผัสแรกที่ได้รู้จักกลุ่ม และต่อเนื่องมาจนมีสัมพันธ์ต่อกัน ตามไปอ่านเอาเองที่นี่( , ) แล้วกันว่าเคยเห็นอย่างไร ถือว่าชวนไปรำลึกความหลังด้วยกันก็แล้วกัน ส่วนคำตอบที่ลองเขียนมานี้เป็นมุมมองจากการวิเคราะห์ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวในเวลาเท่าที่พอจะนึกได้เร็วๆในเวลานี้

คำถามหลัก

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

ขออภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นคร่าวๆเหมือนพี่บู๊ดละกัน ดังนี้

  • ครูบาฯมีประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมเป็นต้นทุนของตัวเอง ทั้งศักยภาพส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือทำด้วยตัวเองมาก่อนจากการจัดการพื้นที่ของตนตามประสาชาวบ้านอยู่เดิมแล้ว
  • จากการตั้งโจทย์และใฝ่รู้แล้วตามเรียนรู้ในโลกกว้างจากที่ต่างๆที่มีโอกาสได้โลดแล่นไปใช้ชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อค้นหาคำตอบมาแก้โจทย์เดิมที่ให้คำตอบว่าผิดหรือไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ
  • การมีผืนดินหลักที่สามารถลงมือทดลองจัดการอะไรก็แล้วแต่ตามแต่โจทย์ที่มีถือเป็นต้นทุนที่แข็งแกร่งอีกประเด็นหนึ่งที่ครูบาฯ มี
  • พื้นฐานการศึกษาที่ครูอาจารย์รุ่นเดอะได้ปูไว้ให้ครูบาฯ ถือว่าแน่นพอสมควรสำหรับใช้ต่อเพื่อการค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง
  • การปูพื้นด้านการศึกษาที่ครูบาฯ ได้รับทำให้ครูบาฯ รักเรียน
  • การเขียน-อ่านหนังสือได้ทำให้เมื่อได้เรียนรู้และเข้าสู่โลกของไซเบอร์ ครูบาฯ จึงเหมือนได้ติดปีกบินเข้าสู่แหล่งความรู้ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม
  • การใช้คอมพิวเตอร์เป็นและมีการเรียนรู้ต่อเนื่องเป็นอีกต้นทุนหนึ่ง
  • ต้นทุนอีกมุมที่ครูบาฯ มีอยู่ในตัวตนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือ ความกล้าลอง เป็นการลองโดยคาดหวังคำตอบเรื่องของความรู้ (ไม่เรียกว่าเป็นการลองผิดลองถูก ด้วยในส่วนตัวมองว่าเมื่อมันมีคำตอบออกมาแล้วซะมากกว่าจึงมีคำตัดสินว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่)
  • ศักยภาพการเรียนรู้ในเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ที่ถูกปูพื้นฐานทั้งจากภาคการศึกษาเดิมและจากประสบการณ์ที่สั่งสมจากวิถีของชีวิตที่ได้เผชิญด้วยตัวเอง เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวเป็นอีกต้นทุนที่ครูบาฯ มีอยู่และทำให้ กล้าลอง
    คำถามรอง
    1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
  • ใช้หลักการบริหารความเชื่อมโยงเข้ามาจัดการให้เกิดกระบวนการ สิ่งที่ถูกนำเข้ามาสู่การจัดการคือ “ศรัทธา ความรู้ ศีล วัฒนธรรม ความเรียบง่าย
  • การจัดการการเชื่อมโยงนี้ทำให้เกิดสัมพันธภาพ
  • แล้วมีการจัดการเรื่องของสัมพันธภาพให้มีการต่อเนื่อง โดยมีสิ่งที่ถูกนำเข้ามาสู่การจัดการ คือ ความเป็นเพื่อน-มิตร, การยอมรับความต่างๆว่าเป็นเรื่องธรรมดา(ในหลายแง่มุม : ศักดิ์,ฐานะ,ความรู้,ความใหม่-เก่า,ความเด็ก-แก่-เฒ่า),การยอมรับว่าการพึ่งพิงกันเป็นเรื่องธรรมดาในระหว่างสัมพันธภาพ, สร้างและสานสัมพันธภาพที่อบอุ่นให้เกิดขึ้นในเครือข่าย”
  • มีการจัดการกับตัวเองในเรื่องของความมุ่งมั่น การดำรงตนอยู่ในศีล การยอมรับความจริง และการจัดการความรู้สึกส่วนตัว
  • ใช้ประเด็นหลักของเรื่องเพื่อสังคมส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เป็นแนวทางในการวางเป้าหมาย ลงมือเรียนรู้
  • สไตล์ของการเกาะติดสถานการณ์และการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวคือตัวจุดประกายให้เกิดความสนใจ เกิดความกระหายใคร่รู้ ใคร่ติดตามของผู้ที่ได้เข้ามาสัมผัส
  • ใช้ศรัทธาที่ผู้คนมีต่อตัวเองและทักษะการจัดการที่มีอยู่ในตัวตามธรรมชาติ เป็นศูนย์กลาง ขยายผลให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้จากผู้รู้กลุ่มอื่นๆ เข้ามาผสมผสานกับความรู้เดิมที่มี
    2.มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
  • วิถีปฏิบัติของครอบครัวที่ประจักษ์ได้ด้วยตาที่สวนป่า ก่อให้เกิดศรัทธาและเห็นจริงกับความรู้ที่ผ่องถ่ายมาสู่ผู้เข้าเรียน
  • ความสามารถในการสื่อสาร ทั้งด้วยวาจา และการถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ และยังกระตุ้นให้ได้คิด
  • การรู้จักจับประเด็นและส่งต่อความรู้ได้ถูก ตรง ที่เสริมประสบการณ์ที่เป็นพื้นความรู้เดิม เติมความไม่รู้ และกระตุ้นต่อมอยากรู้ของผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชวนให้กระบวนการเรียนรู้ลื่นไหล
  • ความหลากหลายของโจทย์ที่เกิดขึ้นจากจุดสนใจส่วนตัวของครูบาฯ แล้วนำมาสู่การลงมือลอง ลองและลองจนได้มาซึ่งองค์ความรู้ คือที่มาของแก่นความรู้ที่เกิดขึ้น
  • การมีทีมงาน (ครอบครัว) ที่รู้ใจ เข้าใจ และมีปัญญาปฏิบัติเฉพาะตัว ช่วยเป็นครูร่วมผ่องถ่ายความรู้ ทำให้ครูบาฯ สามารถแบ่งเวลาเพื่อการเรียนรู้และการจัดการกับบทบาทของตัวเองได้ดีในระดับหนึ่ง
  • การเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะอย่างต่อเนื่องของผู้ที่สนใจอยากร่วมเรียนรู้ ทำให้มีการหมุนเวียนประเด็นของความรู้เข้ามาแลกเปลี่ยนในพื้นที่ไปพร้อมกับตัวความรู้ที่ครูบาีฯกำลังเรียนรู้และหาคำตอบให้กับโจทย์ของตัวเอง
  • ถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้การจัดการความรู้ง่ายต่อการเข้าถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและการประยุกต์ความไม่พร้อม
  • มีเครือข่ายของผู้มีความรู้ที่สามารถระดมสรรพกำลังมาช่วยเสริมได้อย่างหลากหลายช่องทางเมื่อยามที่ครูบาฯ ต้องการ
  • คุณลักษณะส่วนตัวของครูบาฯ ที่มีความรักและศรัทธาต่อ ชาติ ศาสน์ จงรักภักดีต่อกษัตริย์ และมีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวสูง เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่หนุนเสริมให้โจทย์ของการเรียนรู้เปลี่ยนจากเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องของสังคมและประเทศชาติ
  • การได้มีโอกาสสัมผัสโลกกว้างบ่อยครั้งและมีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเสริมให้เกิดมุมมองที่ต่าง มองเห็นมุมบวกของความไม่พร้อม และการใช้ความพร้อมให้เป็นจุดแข็งในการสร้างความต่อเนื่องของการเรียนรู้ส่วนตัวของครูบาฯ เอง
  • เครือข่ายผู้รอบรู้ที่มีศักยภาพและจุดเด่นของความเชี่ยวชาญที่หลากหลายซึ่งหมุนเีวียนเข้ามาในกลุ่มรอบตัวครูบาฯ เป็นแรงดูดที่เสริมให้มีผู้คนอยากรู้และพาตัวเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยสมัครใจ ซึ่งส่งผลเสริมให้เกิดการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความรู้ในพื้นที่ของการจัดการความรู้ที่เป็นไปอย่างเนียนๆแบบธรรมชาติ
    3.มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
  • การทำงานอิงระบบ ทำให้มีข้อจำกัดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เช่น คาดหวังผลสูง แต่ให้งบประมาณต่ำ , ความคาดหวังจากภาคในระบบที่สนับสนุนงบประมาณและความคาดหวังจากกลุ่มเป้าหมายที่ถูกส่งเข้ามาสู่กระบวนการจัดการความรู้มีช่องว่างของความต่างที่กว้างและหลากหลายส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านการจัดการงบประมาณและการบริหารผลสัมฤทธิ์
  • ความจำกัดด้านงบประมาณ เป็นตัวอุปสรรคในการระดมเครือข่ายของผู้มีความรู้ที่ครูบาฯเชื่อมโยงเข้ามาสู่ความร่วมมือช่วยเหลือกัน เพราะว่าเครือข่ายผู้รู้มีทั้งผู้คนในระบบของรัฐ เอกชน และเป็นอิสระกับตัวเอง
  • การมีบทบาทในหลายๆระนาบ ทั้งในระนาบของการลงมือปฏิบัติ การเป็นพี่เลี้ยง การเป็นที่ปรึกษา การเป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบาย ทำให้เกิดข้อด้อยของประสิทธิภาพของการบริหารเวลาอันเนื่องมาจากการรวมศูนย์ในลักษณะของคอขวดที่มาอยู่ที่ตัวครูบาฯ เอง
  • การบริหารเวลาและการโลดแล่นในบทบาทของผู้จัดการความรู้ก่อปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของตัวครูบาฯ เอง
  • การรวมตัวของผู้รู้ที่ระดมกันมาช่วยครูบาฯ ไม่ได้เกิดจากเหง้าของการมีเป้าหมายเดียวกัน หากแต่เกิดจากเหง้าของความอยากรู้ อยากให้ความช่วยเหลือของผู้ที่มาร่วมเป็นความเปราะบางต่อความต่อเนื่องและความยั่งยืน
  • ภาระงานส่วนตัวของผู้ที่เข้ามาเป็นเครือข่าย เป็นความเปราะบางอีกแง่มุมหนึ่งที่มีผลต่อการความต่อเนื่องและความยั่งยืน
    ขอจบไว้เพียงแค่นี้  มันเป็นเพียงแค่เรื่องราวของคนที่ได้เห็น ได้สัมผัสเพียงไม่กี่ครั้งแล้วแตกเรื่องราวคิดไปอีกมากมายด้วยมุมมองจากประสบการณ์ส่วนตนจากคนๆหนึ่งเท่านั้นเอง ตีแตกต่อเอาเองแล้วกันนะคะ ถ้าจะนำเอาไปใช้งาน

ปล. หากว่าคราวนี้จะมี after shock อีกครั้งก็ทำใจไว้แล้วค่ะเฮียตึ๋ง

« « Prev : เตือนใจด้วยดอกไม้ริมทาง

Next : ความสวยพึงมีฐานที่ดีก่อน…ความต่างจึงจะช่วยให้สวยขึ้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 22:24

    มาบอกว่าอ่านรู้เรื่องดี  อิอิ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 22:37

    ตามพี่ตึ๋งมาเพื่อบอกว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากค่ะ ^ ^ วันนี้นอนดึกเลยได้อ่าน อิอิอิ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 22:58

    after shock ที่พี่คิด อาจไม่ใช่ after shock ที่ผมคิด หรือไม่ใช่ after shock ที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ครับ เห็นอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น(ถ้าอยากตอบ) แต่ถ้าไม่อยากตอบก็ไม่จำเป็นต้องตอบนี่ครับ แต่ไม่ควรตอบสิ่งที่ไม่รู้ เผอิญว่าคำถามนั้นขอความเห็นนะครับ นักศึกษาปริญญาเอกที่จะต้องสังเคราะห์ความรู้ขึ้นใหม่นั้น เขาจะต้องพิจารณาเอง

    ยืนยันว่าอ่านรู้เรื่องดี และน่าสนใจมากครับ

    ในกลุ่มนี้ มี “พิธีกรรม” ไหมครับ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 23:16

    #1 #2 ขอบคุณเจ้าค่ะ คุณพี่ และคุณน้อง

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 เวลา 23:47

    #3  เมื่อตอนที่ได้รับคำถาม การสื่อที่รับสารเข้ามาให้แปล ไม่ได้บ่งบอกแง่มุมขอความเห็นในมุมมองส่วนตัวคะ ฟังคำถามแล้วเป็นเรื่องของการเกิดกลุ่มเฮฮาศาสตร์ และการให้คิดแทนครูบาในเรื่องของเฮฮาศาสตร์ ก็เลยปฏิเสธการตอบไป เพราะไม่รู้จริงๆว่ามันคืออะไรกันแน่ค่ะ (คราวก่อนคำถามที่ถามมาไม่ได้ชัดขนาดนี้หรอกคะ)

    สำหรับบันทึกนี้ เขียนเพื่อบันทึกสิ่งที่เห็น เพื่อลองตอบคำถามที่ชัดพอที่จะเข้าใจว่าถามเรื่องอะไร แค่นั้นเอง  ไม่ได้เกี่ยวกับความอยากตอบหรือไม่อยากตอบอะไรหรอกค่ะ

    ด้วยเหตุบังเอิญว่าในช่วงที่มีบางอย่างให้ใคร่ครวญก่อนหน้า ได้ไปนั่งอ่านบันทึกเก่าๆและจัดระเบียบบันทึกมันอยู่ในช่วงนั้น เป็นการทบทวนตัวเองไปด้วย  ทำให้รำลึกได้ว่าเคยบันทึกความเห็นไว้ในมุมมองบางมุมส่วนตัวที่มีต่อกลุ่มเฮฮาศาสตร์เมื่อพบกันในครั้งแรกเอาไว้  บันทึกนี้เลยถือโอกาสเขียนให้ต่อเนื่องกับเรื่องเก่า จะได้เอาไว้อ่านและตามเรียนรู้ความคิดตัวเองเมื่อมันเก่าแล้ว

    เมื่อจะลงมือเขียนจึงนึำกขึ้นมาได้ว่า เคยมีคำถามคล้ายกันมาก่อนหน้าก็เลยอ้างอิงเรื่องราวไว้ก่อนว่ามันโยงกันอยู่กับเหตุการณ์อะไรจึงทำให้ลงมือเขียนมันขึ้นมา

    เรื่องของ after shock เป็นเรื่องความคิดของคนอื่นที่บังเอิญได้รับรู้  พี่้จึงรู้ว่ามีเรื่องของ after shock เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดว่าจะมี  ซึ่งมันก็เป็นอดีตไปแล้ว จะยังคงเป็นปัจจุบันรึไม่ก็อยู่ที่คนคิด จะเกิดหรือไม่เกิดก็อยู่ที่คนคิดอย่างที่น้องว่านะแหละนะ

    ปล. ที่เขีียนไว้ สื่อความถึงพี่ตึ๋งเป็นนัยที่รู้กัน 2 คนในเรื่องที่พี่ตึ๋งเคยคุยเรื่องการพูดตรงๆไว้ ซึ่งในส่วนตัวไม่คิดว่าเสียหายอะไรที่จะพูดตรงๆในเมื่อมันเป็นความเห็นในส่วนของตัวเราค่ะ 

    หากว่า “พิธีกรรม” หมายถึง “กระบวนการที่ทำซ้ำๆ หรือ รูปแบบซ้ำๆ”  พี่ว่ามีนะค่ะ

    แต่หากว่า หมายถึง การทำอะไรที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่ลงมือกระทำและไม่เชื่อมโยงไปถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้เลย นอกจากบอกว่า “ทำด้วยความเชื่อ”  เท่าที่เคยผ่านตา ไม่เคยเห็นนะค่ะ

  • #6 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 เวลา 0:51

    ขอบคุณพี่หมอเจ๊ค่ะ  อ่านแล้วรู้สึกว่า “ลึก” ค่ะ  กลับมามอง มาทบทวน กระบวนการคิด การรับทราบคำถาม การประมวลคำตอบ ช่างมีมิติที่แตกต่าง แสดงถึงความคิดที่แตกต่างของคน บางส่วนเหมือนกัน บางส่วนต่างกัน แต่ในความเหมือนและความแตกต่างนั้นยังเกิดจากการบรรยาย การถ่ายทอด อีกด้วย เป็นธรรมชาติของชีวิตนะคะ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมต่างกันต่อการกระทบ ต่อเรื่องราวต่างๆที่ได้พบ ได้เห็น ได้เรียนรู้ ขอบคุณค่ะ

  • #7 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 เวลา 7:25

    หมอเจ๊มาก็ดีแล้ว  ครบกระบวนชวนคิดกันทุกผู้ทุกนาม
    ขอบคุณหลาย

  • #8 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 เวลา 22:19

    #6  ป้าหวานค่ะ หมอเจ๊ว่ากระบวนการทำงานของสมองของทุกผู้คนล้วนมีมิติที่ต่างมุม และ มีมุมเหมือน จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาตลอดวิถีชีวิตของตน จึงแล้วแต่ใครจะสื่อออกมา เมื่อเดินสายไม่นานมานี้ หมอเจ๊ได้ความรู้บางอย่างติดมาให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้คนมากขึ้นกว่าเดิม
    จริงอย่างที่ป้าหวานว่าค่ะ พฤติกรรมที่แตกต่างของมนุษย์เกิดมาจากการ “เรียนรู้” ที่เป็นผลจากการกระทบต่อเรื่องราวต่างๆที่ได้พบ ได้เห็น ระหว่างการเติบโตในวิถีของตน

  • #9 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 เวลา 22:20

    #7  ฮาๆๆๆ…..เจ้าของมารับด้วยตัวเองเลยเชียว……ขอบคุณเช่นกันค่ะ….ที่เป็นแบบเรียนให้ได้เรียน


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.27055501937866 sec
Sidebar: 0.81556487083435 sec