ทางเบี่ยงก่อนตกร่อง

โดย สาวตา เมื่อ 14 กุมภาพันธ 2009 เวลา 22:27 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1222

ในยามที่เน็ตมันกวนโอ๊ยเล่นไม่ได้ เมื่อตัวตนกำลังจะนำพาให้เป็นแผ่นเสียงตกร่อง ตัวตนที่ชื่อ คุณตระหนัก ก็มากระชากมือและชี้ชวนให้หันมามองดูหนทางที่กำลังจะเดินต่อไป คุณสำนึกได้มาสะกิดเตือนว่าเหยียบเท้าลงไปในร่องแล้วนะ แต่ยังไม่ถึงก้นร่อง จะชักเท้าพาตัวตนหลบออกมายังทัน ก่อนที่จะเท้าจะพาตัวตนให้ตกร่องลงไปจริงๆคุณสำนึกจึงเป็นพระเอกที่เข้ามาช่วยเอา เมื่อคุณรู้ทันเขามาชวนให้ฉันใช้เวลาไปกับการอ่านบันทึกหลากหลายที่เก็บเกี่ยวมาไว้อ่าน ใคร่ครวญ และเรียนรู้ ฉันก็ผ่านไปพบบันทึกหนึ่งที่เขียนเรื่องราวของทฤษฎีตัวยูเอาไว้ การอ่านทำให้ได้พบกับ 2 ประโยคที่ทำให้รำลึกย้อนไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันก่อน

 

หลังจากฉันไปร่วมประชุมกับสปสช.แล้วกลับมา บ่ายสามโมงก็เป็นเวลานัดพบกับลูกน้องเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการทำงานกับอสม. เรื่องราวที่แลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของการทวนสอบความคิดของลูกน้อง เมื่อให้เอกสาราชการที่มีแผนงานมายาวเหยียดเกี่ยวกับอสม.ว่าเธอรู้สึกอย่างไร เธอตอบฉันว่า รู้สึกว่างานที่ให้มานะเยอะจนทำไม่ทันทีเดียวแหละ อีกอย่างงานที่เธอทำไปแล้วก็มีอุปสรรคที่อสม.ไม่เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน แม้ว่าจะมีการพูดคุยทำแผนร่วมกัน

 

ฉันให้เขาแลกเปลี่ยนบอกออกมาว่า ที่บอกว่าทำไม่ทันนะ วางแผนงานไว้อย่างไร ถ้าทำไปทีละชิ้น ก็คงไม่ทัน ให้เล่าวิธีการทำงานวางแผนกับอสม.ให้ฟังสักหน่อย ซึ่งเธอก็เล่าออกมาให้ฟัง  ฟังแล้วฉันสรุปบอกเธอว่า ฉันกลับไม่ได้พบเห็นว่า อสม.ไม่ร่วมมือ แต่ฉันเห็นว่าที่ทำยากนั้น มันเป็นเพราะว่า สิ่งที่เกิดมาในแผนนั้น มันเป็นความคิดที่เจ้าหน้าที่ใส่ความคิดตนลงไปไว้ แล้วนัดหมายอสม.มาพูดคุยขอให้กำหนดเวลาในความร่วมมือ ซึ่งไม่ใช่วิธีทำงานแบบมีส่วนร่วมหรอกหนา

 

วิธีการอย่างนี้สำหรับฉันแล้วฉันกลับเห็นว่า มันเบียดเบียนอสม.ในเรื่องของเวลาที่เขาสามารถจะเสียสละได้ เจ้าหน้าที่ไปกินพื้นที่เวลาที่เป็นส่วนตัวของเขา  และไม่ได้ให้เกียรติเขา การทำแผนใช้วิชาการที่ลึกเกินกว่าอสม.จะเข้าใจจนเกิดข้อตัดสินใจของเขาเอง เหตุใดจึงไม่เปลี่ยนวิธีการให้อสม.เขาคิดเองทำเอง แล้วเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

 

เธอตอบฉันว่า งานมันเยอะ และแต่ละงานกระทรวงฯต้องการผลงานส่งให้ ฉันจึงบอกเธอไปว่า ฉันเป็นคนขี้เกียจ ดังนั้นฉันจึงไม่เป็นเด็กดีของกระทรวงฯหรอก แต่ฉันจะคิดงานของฉันที่จะทำให้เมื่อลงมือทำงานให้กระทรวงฯอยู่ทุกปีๆแล้วงานที่ฉันต้องทำจะลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้นๆ  ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเธอจึงทำงานอย่างที่ทำอยู่ เธอก็ยืนยันฉันว่า เธอทำตามกระทรวงฯสั่ง

 

ฉันได้บอกเธอไปว่า ให้ลองนึกภาพดูว่า เมื่อมีคำสั่งลงมาให้ทำงานแล้วเธอก็ลงมือทำเพื่อนำเอางานมาส่งตามสั่ง ลักษณะอย่างนี้ฉันว่ามันเหมือนกับการปั๊มอะไรสักอย่างหนึ่ง ฉันขอเปรียบเทียบว่า เมื่อกระทรวงฯให้เงินไปซื้อวัตถุดิบหรือส่งวัตถุดิบมาให้พร้อมคำสั่งงานและจำนวนผลผลิต เธอก็รับเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาใส่ตัวเธอแล้วปั๊มผลผลิตออกมาส่ง ภาพอย่างนี้มันคือเครื่องยนต์กลไกชัดๆ เครื่องจักรไม่มีมันสมองสักหน่อย ไม่ใช่คน แต่ฉันขอเป็นคน ดังนั้นเวลาทำงานฉันขอทำงานแบบเป็นคนซึ่งมีมันสมอง ใช้สมองเพื่อที่จะได้ยังคงเป็นคนเมื่อลงมือทำงาน  ในเมื่อเธอเองก็เป็นคน ทำไมเธอจึงทำตัวเป็นเครื่องจักรเล่า   

 

นำเหตุการณ์นี้มาเล่าให้ฟังเพราะประโยค 2 ประโยคนี้ในบทความที่อ่านแท้ๆ

คือ  “What the system did to us!” และ “What did we do to ourselves!!”

 

ผู้คนพึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อไร “What the system did to us!” จะกลายมาเป็น “What did we do to ourselves!!”

 

บทความที่ไปอ่านนั้นเป็นเรื่องราวของการพัฒนาองค์กรที่มีคำศัพท์เรียกว่า OD (Organizing development) ท้ายบันทึกเขียนว่า

 

สุนทรียสนทนาทำให้ผู้คนเดินทางลงไปในตัวตน ทฤษฎีตัวยูมีบทบาทสำคัญมากขึ้น  และเก็บเกี่ยวเอาเงาของตัวตนที่ถูกซ่อนไว้ขึ้นมาดูแลด้วย เป็นอุดมคติที่ humanized ไม่ใช่อุดมคติแบบ solid, physical, mechanical ideology เป็นอุดมคติที่นำเอาอารมณ์ ความรู้สึก ครอบครัว สิ่งแวดล้อมมาพิจารณาในสมการเชิงซ้อนด้วย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ strategy สามารถทำงานได้แม้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่ทฤษฎีที่ทำงานได้เฉพาะในสิ่งแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ซึ่งไม่มีอยู่จริงในโลกแห่งความจริง

 

วิธีการหลายอย่างถูกนำเข้ามาใช้ร่วมกันใน OD เพื่อให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้ตามที่วางไว้ มีทั้งกระบวนการที่ทำกับคน ทำต่อเทคโนโลยีและโครงสร้าง ทำต่อทรัพยากรกำลังคน และการออกแบบงาน


สุนทรียสนทนาสามารถช่วยให้พนักงานสืบค้นความหมาย และการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้อยู่ในรูปแบบของความมีชีวาได้ดีขึ้น การทำOD มีส่วนที่ยากคือการรับมือกับแรงต้านทั้งที่เห็นได้ชัด และที่อยู่ใต้น้ำ

 

ภายใต้กระบวนการที่ดำเนินไปนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารความกลัวและแปรเปลี่ยนความกลัวของคนให้มลายไป (Fear management and turning to fearlessness)


ความกังวลใจของผู้คนเกี่ยวกับอนาคต ความไม่แน่ใจ ในการก้าวไปในอนาคตที่มาใหม่ ความกลัวที่ดังลั่นและกวนใจจิตรู้สำนึก และจิตใต้สำนึก คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้คนไม่สามารถมองเห็นพื้นที่รอบตัวว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับตัวเขา

« « Prev : เรียนรู้อีกครั้งจากสวนป่า

Next : ควันหลงสอบสัมภาษณ์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 กุมภาพันธ 2009 เวลา 23:46

    อะไรๆก็มีระบบอัตโนมัติ  แต่คนเรากลับไม่น่าใช้ระบบอัตโนมัติ  นอกจากจะเป็นระบบหน่วงให้ใคร่ครวญอัตโนมัติ  อิอิ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 กุมภาพันธ 2009 เวลา 20:01

    กว่าจะพลิกโหมดไม่ใช้อัตโนมัติกับของชอบนี่…บอกตรงๆว่ายากส์จริงๆค่ะพี่


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.058133840560913 sec
Sidebar: 0.30928516387939 sec