เรียนรู้อีกครั้งจากสวนป่า

โดย สาวตา เมื่อ 14 กุมภาพันธ 2009 เวลา 22:18 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สวนป่า, สังคม, เล่าสู่กันฟัง, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1201

มีคนถามฉันว่า หมอไปสวนป่ามาอีกหรือ น้ำเสียงที่ถามนั้นมันส่อความสงสัยที่มีอยู่ในใจเขา ฟังแล้วฉันก็เอ๊ะกับตัวเองว่า เออ! น่าหาคำตอบน่ะ ว่าแล้วก็หยิบคำถามเขากลับมาใคร่ครวญเพื่อหาคำตอบให้ตัวเอง คำตอบที่ได้หลังการใคร่ครวญบอกอะไรบางอย่างที่ชวนให้ตามรู้ไปเรื่อยๆ จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนอีกครั้ง

การไปสวนป่าอีกครั้งไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่า อยากไปเยี่ยมเยียนผู้อาวุโสที่นับถือในความคิดอ่านและการดำรงตนผู้มีเงาร่างของความคิดคล้ายคลึงกับผู้เป็นที่รักของฉัน ทำให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ร่วมกับหนุ่มๆสาวๆอีกหลายคน แถมด้วยการได้พบกับมิตรใหม่ในวงการเดียวกันอีกสองคน นับเป็นเดือนแห่งความรักที่ให้คุณค่าจริงๆ

อ.แป๋วนำพาลูกศิษย์ไปฝึกฝนวิทยายุทธด้วยมีโจทย์ติดตัวไปในเรื่องของจุดอ่อน อันเป็นจุดอ่อนที่น่าจะรวมอยู่ในเรื่องราวจุดอ่อนที่อาจารย์นกไฟเคยเขียนบันทึกไว้สอนสั่งในโกว์ ในบันทึกนั้นกล่าวถึงเรื่องราวว่า หัวใจของเรื่องราวของแต่ละคนนั้น มันไปเกี่ยวข้องอยู่กับจุดอ่อน 4 เรื่อง 4 มุมเหล่านี้ คือ การไม่รับรู้สิ่งที่กำลังเห็น (not recognize what you see) การไม่บอกกล่าวความในใจ ( not saying what you think) , การไม่ลงมือทำในสิ่งที่พูดว่าจะทำ (not doing what you say) และการมองไม่เห็นสิ่งที่ตัวเองกำลังลงมือทำ ( not seeing what you do)

เด็กๆของอ.แป๋วยืนยันว่า เมื่อผู้คนมีการเก็บเกี่ยวรับเอาเรื่องราวต่างๆมาจากคนอื่นเข้ามาในการรับรู้อยู่ตลอดเวลาจนเกิดความเป็นปกติว่าฉันเคยเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ แล้วจู่ๆจะให้เปลี่ยนเป็นเห็นอย่างอื่นนั้น เป็นอะไรที่เป็นไปได้ยากมาก และความยากนั้นไม่เกี่ยวกับความฉลาด หรือระดับความรู้แต่อย่างใดอีกด้วย จุดอ่อนทั้ง 4 เรื่องนี้สามารถเป็นพยาธิสภาพของผู้คนได้ทุกระดับชั้น

เด็กๆพกโจทย์งานที่เตรียมไว้เบื้องต้นในเรื่องของงานวิจัยไปเพียบ แลกเปลี่ยนบทบาทกันและกันในการร่วมเรียนรู้ ทำให้ได้มองเห็นว่า ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำงาน แม้แต่กับการทำงานสายวิทยาศาสตร์ การวิจัยอะไรที่สำคัญๆก็เช่นกัน การมีการตั้งคำถามงานวิจัย (research question) ที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดว่าผลงานจะออกมาได้ดีระดับไหน ซึ่งครูบาใช้คำว่า เรื่องที่หัวใจมันคันอยากรู้นั่นแหละ คือ โจทย์หรือคำถามงานวิจัยที่ควรตั้งมันขึ้น ความอยากรู้จะทำให้เกิดความมัน และอยากค้นคว้า ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งมัน มีชีวิตและวิถีที่สนุกสนานกับงานวิจัย ไม่จืดชืดไร้วิญญาณ

ทำให้รำลึกไปถึงบรรดานักคิด นักปรัชญาทั้งหลาย ที่เขาขยันตั้งคำถาม เป็นเพราะ คำถามนั้นเป็นเครื่องมือที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขามาโดยตลอด ปราชญ์เหล่านี้จึงสอนวิชาความรู้ต่างๆมากมายให้สานุศิษย์ด้วยกรรมวิธีถามตอบเพื่อเพาะเลี้ยงให้เกิดสานุศิษย์เชื่อมั่นว่า อันความรู้ต่างๆมากมายกว้างใหญ่ดั่งห้วงมหรรณพนั้น ผู้คนสามารถที่จะสำรวจ ใคร่ครวญ และตอบคำถามเหล่านั้นได้ โดยตัวเอง ขอเพียง หมั่นตั้งคำถาม”

เคยสังเกตตัวเองไหมว่า เมื่อนั่งเรียนหนังสือแล้วมีชั่วโมงเรียนที่มีการฟังบรรยายอยู่มากมาย แล้วรู้สึกอย่างไร ช่วงเวลานั้นตื่นเต้นเท่ากับตอนที่ถูกป้อน คำถาม” รึไม่

เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า การฟังบรรยายแบบฟังข้างเดียวแล้วมีคำตอบว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ผุดบังเกิดเป็นลูกคลื่นของตัวเองนั้น รู้สึกอย่างไร มีสักกี่ครั้งที่ฟังแล้วตัวเองมีความรู้สึกภายในอย่างรุนแรงจนตั้งคำถาม

คำถามที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงคำถามที่ตัวเรากำลังรู้สึก เช่น “เอ….. จริงอย่างที่พูดเหรอ?” หรือ “โอ้ โฮ มันเป็นขนาดนี้ทีเดียวเจียวหรือ?”

ลองถอดความรู้สึกของตัวเองดูเถิดว่า ที่มีคำถามนะ มันเป็นเพราะเกิดความอยากรู้รึเปล่า ความอยากรู้มันสะกิดตัวเราใช่ไหมจึงก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ตามมา แล้วอย่างนี้การฟังบรรยายเฉยๆที่เราบอกตัวเองว่าได้ความรู้นั้น เป็นความรู้ที่มีพลังทะลุทะลวงเข้าไปในเกราะแห่งข้อสรุปที่มีอยู่เดิมของเราแค่ไหน เมื่อเทียบกับตอนที่เราเกิดอยากถาม มีสักกี่ครั้งที่คำถามที่ถามนั้นที่เรายอมให้ความรู้เก่าของเราถูกทำลาย หรือท้าทายความรู้เก่า

น่าสนใจนะว่า เวลาที่ไม่มีคำถาม ผู้คนพอใจกับความรู้ของตัวเองดีมากแค่ไหน หรือมีความพึงพอใจในอัตภาพของตนมากน้อยอย่างไร

เคยถามความรู้สึกของตัวเองบ้างไหม ก็แม้แต่นักคิด นักปรัชญา ที่ดำรงชีวิตด้วยความสันโดษ และสมถะ ก็ยัง “มีคำถาม” ไม่สงสัยความรู้ของตัวเองบ้างหรือไรจึงไม่เกิดคำถาม

เคยสังเกตไหมว่า ในที่สุดแล้วเมื่อคำถามดี เมื่อการตั้งคำถาม ตั้งประเด็นที่ถูกต้อง โดนหัวใจของเรื่องราวทั้งหมด มันจะทำให้ผู้คนปลดปล่อยตัวตนให้มีความวิวัฒน์จากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งผุดบังเกิดขึ้น

แม้กระนั้น คำถามที่มีความชัดเจน และยังมีเป้าหมายที่ได้มาจากการใช้เวลาใคร่ครวญไตร่ตรอง เมื่อดำเนินการไปแล้ว การเบี่ยงเบนออกไปในระหว่างทางก็ยังเกิดขึ้นได้ มีจุดบอดผุดโผล่ได้ตลอดเวลา

พ่อครูบาคือผู้เป็นตัวอย่างของผู้คนที่มีความมุ่งมั่นที่มั่นคง มีความตื่นตาตื่นใจ ที่จะลงไปคลุกคลีใช้ชีวิตกับปัญหาหรือจุดบอดนั้นๆเพื่อให้สามารถเข้าถึงรากแห่งปัญหาและเกิดความสามารถในการแก้ปัญหาได้ สิ่งมหัศจรรย์หลายๆเรื่องราวจึงเกิดขึ้นที่สวนป่า เคยสังเกตบ้างไหมว่ามีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นกับตัวเอง ความหัศจรรย์นั้นมันเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกอย่างไรเคยสังเกตไหม

การยอมรับของเราไว้ก่อนว่า โลกนี้แท้ที่จริงแล้วมีอะไรมากมายนอกเหนือจากที่เราเคยรู้ เคยคิด เคยเข้าใจว่าถูกต้อง หรืออย่างไร ครูบาและฤษีได้ชวนให้เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ต่อไปเพื่อรับรู้โลกของเราว่าสวยสด งดงาม น่าตื่นตาตื่นใจแค่ไหน

ฉันถือว่าการไปสวนป่าอีกครั้งในครานี้ เป็นการเรียนรู้เพื่อปรับสมดุลของ Internal World และ External World ของตัวเองและเรียนรู้เพื่อเติมเต็มจากผู้คนที่ได้ไปอยู่ ณ ที่แห่งนั้นในเวลานั้นด้วยนะเอง

และนี่คือคำตอบของฉันสำหรับคำถามที่ครูบามักจะถามถึงวิธีเรียนค่ะ

« « Prev : ความสบายใจ

Next : ทางเบี่ยงก่อนตกร่อง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.32331204414368 sec
Sidebar: 0.1256730556488 sec