เจ้ามีที่มาอย่างไร(17)

โดย สาวตา เมื่อ 25 มกราคม 2009 เวลา 11:00 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1542

ปีแรกของการเรียนที่ศิริราช สาวน้อยมีกิจกรรมหลากหลายให้ได้เรียนรู้มากกว่าที่เรียนเก่า  แน่นอนที่ปีแรกนั้นนักเรียนแพทย์ทุกคนต้องได้พบอาจารย์ใหญ่ผู้นอนรอสอนวิชาสำคัญให้อยู่ เพียงแต่นักเรียนแพทย์มีความสุขกับการเรียนรู้ร่างกายท่าน ความรู้ที่ได้มาก็ช่วยคนได้มากแล้ว

 

การเรียนที่โรงเรียนแพทย์จัดไว้ให้มีชั่วโมงลงมือปฏิบัติอยู่หลายรูปแบบ บางวิชาต้องใช้จินตนาการผนวกความใจเย็นเมื่อลงมือเรียน นอกห้องเรียนสามารถเรียนรู้เพิ่มได้อีกตามสบายตามแต่นักเรียนแพทย์จะวางแผนการเรียนรู้ของตนเอง เวลาเข้าสอบครูหมอก็ยังฝึกให้เรียนไปด้วย   

 

รูปแบบของการเรียนนั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกับที่เรียนเดิมที่ผ่านมาและมีรูปแบบที่ต่างออกไปซึ่งต้องปรับตัวในการเรียนรู้อีกมากโข เธอยกตัวอย่างการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ให้ฟังว่ามีเครื่องมือประกอบการเรียนให้แค่เพียงหนังสือภาพองคาพยพคนหนึ่งเล่มเท่านั้น ตำราเรียนใครไม่มีไม่บังคับว่าต้องมี สามารถไปอ่านจากห้องสมุดการแพทย์เอาเองได้ เวลาเรียนจากร่างกายอาจารย์ใหญ่ผู้ยิ่งใหญ่ในใจของนักเรียนแพทย์ทุกคนนั้น เธอและเพื่อนต้องใช้สติ ฝีมือและความละเอียดในการเรียนมากด้วยว่าความรู้ที่อาจารย์ใหญ่ท่านสอนนั้นมันซ่อนอยู่ในเนื้อตัวของอาจารย์ทั้งตัว

 

สาวน้อยนึกย้อนไปแล้วเห็นภาพเลยว่าครูหมอของเธอมีจิตวิทยาสูงมากทีเดียว เออหนอครูหมอคงรู้ว่านอกจากสอนเนื้อหาให้แล้ว ความเป็นวัยรุ่นของนักเรียนแพทย์คงไม่สามารถเกิดความละเมียดละไมเท่าไรนักต่อผู้ป่วย ท่านจึงแฝงการสอนที่สร้างนิสัยละเอียดไปพร้อมด้วยกัน วิธีที่ครูหมอฝึกวิชาสร้างนักเรียนเรื่องความละเอียด คือ มอบบทเรียนให้ลงมือทำด้วยตัวเองทุกเรื่อง ลงมือทำอะไรนะหรือ ลงมือรื้อหาบทเรียนที่อยู่บนเรือนร่างอาจารย์ใหญ่นะซิ ในการลงมือทำอย่างนี้ถ้าคนรื้อใจไม่เย็นและไม่ละเอียดพออาจารย์ใหญ่ที่นอนรอให้เรียนมีหวังเนื้อขาดป่นปี้ ไม่ถึงปีอาจารย์ก็คงโบกมือขึ้นมาขอบายการเป็นครูสอน

 

เธอเล่าว่าเวลาเรียนกับอาจารย์ใหญ่ครูหมอเขาไม่ให้เรียนแบบหนึ่งต่อหนึ่งหรอกนะ ครูเขาจัดให้เรียนร่วมด้วยกันทั้งหมดสี่คน หญิงชายนะหรือก็อยู่ในสี่คนนี้นะแหละแล้วแต่ใครโชคดีได้คละอย่างไร ฉันเห็นภาพที่เธอเล่าเลยว่าครูหมอเขาฝึกให้นักเรียนแพทย์ทำงานเหมือนการใช้ชีวิตทำงานจริงๆด้วยกันเลยตั้งแต่ปีแรกนะนี่ มันเป็นหลักสูตรที่นำมาใช้ละลายพฤติกรรมของเด็กที่ปิดกั้นการมีสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยความกลัวให้เรียนรู้การเปลี่ยนตัวเองอย่างฉลาดล้ำด้วย นี่คือมุมดีๆของการที่มีข้อจำกัดแลกคืนมาให้ ข้อจำกัดอะไรนะหรือก็ข้อจำกัดที่มีอาจารย์ใหญ่อยู่น้อยกว่าจำนวนนักเรียนแพทย์ที่เรียนที่ให้ของโรงเรียนแพทย์นะซี

 

ฉันถามเธอว่า เอ๊ะ! แล้วอย่างนี้ เธอพบกับบทเรียนที่ไม่คาดหมายได้ยังไง เธอฟังแล้วก็งงฉันถามเรื่องไรรึนี่ เมื่อเธออ้อออกมาจึงเล่าให้ฟังต่อว่าในทีมของเธอ 4 คนนั้นเพื่อนในทีม 3 คนเขารู้จักกันมาก่อน เขาจึงมีกิจกรรมเรียนเล่นด้วยกันนับแต่เวลาเรียนไปจนถึงนอกเวลาเรียน เพื่อนๆคนอื่นส่วนใหญ่เขาล้วนมีเพื่อนฝูงจากโรงเรียนเดิมตามมาเรียนมาเล่นเป็นส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน ส่วนตัวเธอมีแต่เพื่อนที่เธอเคยอยู่ในกลุ่มเขาเมื่อเรียนอยู่ที่เก่า ตั้งแต่ได้ข้ามฟากมาเรียนที่ใหม่แล้วนั้นเธอแทบไม่ได้เขาทั้งสองคน ด้วยว่าทั้งสองกลับบ้านทุกวันหลังจากเลิกเรียน

 

ฉันฟังเธอแล้วยังงงว่า มันเกี่ยวอะไรด้วยเล่ากับเรื่องการเรียนของเธอ เธอเล่าต่อมาว่า บทเรียนที่ต้องเรียนมันมีมากมายจนอ่านไม่ทัน แล้วมีเรื่องที่แต่ละคนไม่ถนัดมาก่อนปนเปอยู่ การเรียนให้ทันนั้นจึงต้องอาศัยการช่วยกันอ่านช่วยกันเรียนและช่วยกันทำความเข้าใจเข้ามาด้วยด้วยเหตุว่ามันกว้างมีเรื่องที่เหมือนกับต้องรู้เต็มไปหมด  คนเดียวไม่ทันหรอกจะบอกให้

 

การเรียนปีแรกที่นี่เองที่เธอพบกับเรื่องสอบตก มันเป็นเรื่องของโลกกว้างที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย มันกว้างจนไม่รู้ว่าครูหมอที่เขาสอนเขาอยากให้เธอเรียนรู้อะไร อีกทั้งในวิถีที่เธอผ่านมานั้นโลกของเธอก็แคบจนไม่เคยรู้เรื่องราวของมัน ซึ่งมันทำให้เธอเชื่อมโยงบทเรียนไม่ถูกจนเป็นเหตุให้คั้นแก่นไม่เป็น ข้อสอบของวิชานี้เป็นอัตนัย ในเมื่อเชื่อมโยงเรื่องราวและคั้นแก่นไม่ได้ย่อมไม่เข้าใจว่าโจทย์นั้นถามเรื่องอะไรอยู่ มันเลยเขียนตอบไม่ตรงเรื่องราวที่ตั้งคำถามมาให้ตอบ เธอก็เลยตกม้าตายสอบตกเอาซะง่ายๆดังนั้นแล

 

เธอบอกฉันว่าเมื่อรู้ว่าสอบตก เธอไม่รู้สึกว่าตกใจกับมันเท่าไร เพียงแต่แปลกใจว่าอ้าวสอบตกเหรอ ที่ไม่ตกใจด้วยรู้มาก่อนว่าสอบซ่อมได้ การได้เรียนซ่อมจะทำให้เธอได้เข้าใจมันว่าครูหมอปรารถนาให้นักเรียนแพทย์เชื่อมโยงเรื่อง ราวที่ให้เรียนเพื่ออะไร ดีกว่าได้คะแนนดีๆแล้วเอาแต่จำซะอีก ปิดเทอมกลางของการเรียนปีแรกเธอจึงต้องอยู่ซ่อมวิชานั้น ในขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่เขากลับบ้านหรือไปมีกิจกรรมร่วมกันที่อื่นๆกันแล้ว

 

เธอมักได้ยินผู้ใหญ่คุยกันบ่อยในเรื่องลูกคนนั้นหลานคนนี้เรียนดีเรียนเก่งแล้วพูดกันเรื่องเด็กเรียนไม่เก่งที่มีข้อสรุปลงเอยว่า เด็กคนที่เรียนไม่เก่งนั้นเป็นเพราะความเกเรและความเหลวไหล มันทำให้เธอเรียนรู้ว่าการที่ผู้ใหญ่แปลความหมายเรื่องสอบตกเชื่อมโยงไปที่ความเกเรและเหลวไหล ผู้ใหญ่นะไม่เชื่อใจว่าการสอบตกนั้นเกิดขึ้นได้ แม้ว่าเด็กคนนั้นไม่เกเรเหลวไหลเลย เมื่อเชื่อมโยงเรื่องที่ผู้ใหญ่คาดหวังจากเด็ก การสอบซ่อมนี้จึงถูกเก็บเป็นความลับเธอไม่บอกให้พ่อรู้ด้วยความกลัวว่าจะทำให้พ่อเสียใจและผิดหวังในตัวเธอ 

 

ตอนเรียนซ่อมเธอไปเจอครูหมอที่ใจดีมากๆและมีวิธีสอนที่ท้าทายเธอเชียวแหละ  ครูหมอสอนแบบไม่สอนอะไรทั้งสิ้น  ครูเขาแค่ทิ้งโจทย์ไว้ให้ที่เลขา ให้แจ้งเธอว่าให้ทำรายงานมาส่งตามโจทย์ พร้อมรายละเอียดว่าให้ส่งงานเมื่อไร และรอท่าอยู่ที่ไหนเพียงเท่านี้

 

เธอว่าเอาละซีทำยังไงต่อดี ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบเข้าใกล้ผู้ใหญ่ เธอจึงตัดสินใจทำงานไปภายใต้การตัดสินใจของตัวเธอ ไม่ไปปรึกษาครูหมอแม้สักนิด เธอใช้เวลาของปิดเทอมนั้นหนึ่งอาทิตย์นั่งอ่านนั่งค้นเรื่องราวเกี่ยวกับโจทย์จากห้องสมุดการแพทย์ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องแล้ว เธอก็จัดการสรุปประเด็นของเรื่องราว แล้วนำมันมาเรียงร้อยจนเสร็จงาน

 

งานเธอเสร็จก่อนเวลาที่ครูหมอกำหนดให้จึงตัดสินใจส่งไปก่อนเผื่อว่ามีแก้เธอยังมีเวลาเหลือถมไปในการทำใหม่ถ้ายังไม่ตอบโจทย์ ครูหมอเอารายงานไปตรวจแล้วส่งคืนมาไม่มีคำตำหนิอะไรเธอแม้สักนิด ไม่มีคำตอบว่าทำผิด มีคำชมผ่านเพียงคะแนนที่ปรากฏบนปกรายงานที่ส่งคืนมา เธอบอกว่าเสียดายที่มันหายไปแล้วนับแต่รื้อบ้านของพ่อเพื่อสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาแทนที่ อดีตที่รำลึกได้ในส่วนนี้ มันจึงเป็นแค่ความทรงจำดีๆที่มีต่อครูคนหนึ่งในชีวิตเธอ

 

บทเรียนจากชีวิตจริง :

 

การได้ลงมือทำด้วยตัวเองกับงานที่ต้องอาศัยความละเอียด นอกจากทำให้เด็กวัยรุ่นเพิ่มทักษะเรื่องฝีมือแล้ว ยังได้ฝึกสติด้วย ของแถมที่ได้คือความละเมียดของใจซึ่งจะเกิดเมื่อเขาเกิดความสุขจากความภูมิใจต่อความสำเร็จที่เกิดจากน้ำมือของเขาเอง

 

เด็กวัยรุ่นมีบทเรียนรู้การฝึกใจแฝงอยู่ในบทเรียนที่ผู้ใหญ่ให้งานในรูปแบบที่ลงมือทำด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่ควรเสริมหนุนบทเรียนที่ชวนให้เขาได้เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองเพื่อให้ตัวเขาเกิดความเข้าใจความปรารถนาที่แท้ของใจเขาได้

 

คนเป็นเด็กนะไม่รู้ว่าทุกวินาทีที่เรียนไป ตัวเขานั้นได้ความรู้อะไร จวบจนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักกับความหมายของคำว่าทักษะชีวิตแล้ว เขาจึงรู้ว่าการเรียนรู้ที่แทรกอยู่ทุกเวลานับแต่วัยเด็กนั้นเป็นการฝึกทักษะชีวิตให้เด็กทั้งสิ้น

 

การที่เด็กได้ลงมือทำอะไรที่เป็นเรื่องต้องใช้ความละเอียด เด็กได้เรียนรู้การผสมผสานทักษะทางร่างกาย จินตนาการ และความคิดวิเคราะห์เข้าด้วยกัน

 

เป็นธรรมดามากที่ช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้อะไรในรูปแบบที่ไม่คุ้นชิน จะเกิดความสำเร็จที่ไม่ได้คาดฝันเกิดขึ้นทั้งด้านบวกและด้านลบ

 

การที่มีเด็กคนหนึ่งสอบตกโจทย์ที่ครูให้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนั้นไม่เรียน หากแต่เป็นเพราะว่า เขายังงงต่างหาก งงที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เขารู้ออกมาเป็นคำตอบให้ตรงกับคำตอบที่ครูมีในใจอยู่ก่อนแล้ว

 

เด็กเรียนรู้การสร้างความกลัวในใจขึ้นในใจของเขาจากทักษะชีวิตที่ผู้ใหญ่รอบตัวแสดงบทบาทเป็นบทเรียน

 

การที่เด็กกล่าวเท็จหรือปิดบังเรื่องบางเรื่องไม่ให้ผู้ใหญ่รับรู้เกิดจากเขามีความกลัวอยู่ในใจ เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้ความคาดหวังของผู้ใหญ่และการเรียนรู้คำตัดสินที่ผู้ใหญ่มักแลกเปลี่ยนกันหรือผู้ใหญ่เคยบอกจากปากให้เขารู้ตรงๆ  

 

การที่เด็กถูกเลี้ยงดูอยู่ในกรอบตั้งแต่ยังเล็ก ไม่มีโอกาสฝึกฝนทักษะชีวิตการมีสังคมกับคนรอบข้างที่ไม่ใช่คนในครอบครัวมันส่งผลต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นสับสนในการเลือกเพื่อนที่จะอยู่ด้วยในสังคมโลกที่กว้างกว่าครอบครัวด้วยนะ

 

Keywords :

เมื่อใดที่ครูให้เวลาเรียนรู้แก่เด็ก ขอเพียงแต่ครูตั้งคำถามเป็น ให้อิสระเด็กในการตอบ ไม่ตั้งธงคำตอบเอาไว้ในใจครูก่อน ตั้งธงไว้อยู่แค่เด็กเข้าใจในสิ่งที่ครูอยากให้เขาเรียนรู้ ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้อย่างมีสติ ได้คิดวิเคราะห์และไตร่ตรองใคร่ครวญกับตัวเองว่าคำถามที่ถูกตั้งนั้น เขาอยากบอกอะไรกับครูตามที่เขาเข้าใจและตัดสินใจแล้วบ้าง เด็กเขาก็สามารถสร้างผลงานของเขาเองออกมาได้ตามแนวทางที่เขาถนัด

 

« « Prev : เมื่อเด็กสอนเรื่องครอบครัว

Next : ใจแตกรึปล่าว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มกราคม 2009 เวลา 18:36

    น้องสาวตาครับ อ่านมาทุกตอนแหละ มาถึงตอนนี้ก็เลยอยากเอาเรื่องทำนองนี้มาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องท่านอาจารย์ ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ อดีต ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เพิ่งจะจัดงานมุทิตาจิต 70 ปีให้ท่านไปเมื่อวัน พฤหัสที่ผ่านมา

    ท่านเล่าว่า สมัยที่เรียนสังคมวิทยามานุษย์วิทยาที่ “คอแนล” หลังจากที่ท่านจบกฏหมายที่อ๊อกฟอร์ดมาแล้ว ท่านมาทำปริญญาโทและเอกทางด้านนี้ที่อเมริกา

    ตอนเรียนโทใบที่สองนั้นท่านทำวิทยานิพนธ์ให้อาจารย์เรื่อง “สังคมไทยในยุตต้นรัตนโกสินทร์” เนื่องจากท่านเป็นเจ้า ท่านจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มาก เมื่อทำไป เสร็จก็เอาไปส่งอาจารย์….

    สาวตาเอ๋ย….อาจารย์อคินท่านกล่าวว่า โปรเฟสเชอร์โยนทิ้ง บอกให้ไปทำใหม่
    อาจารย์ก็กัดฟันมาทำใหม่ เมื่อเสร็จก็เอาไปส่งอีก ก็ถูกโยนทิ้งอีก และถูกโยนทิ้ง 9 ครั้ง (อาจารย์ท่านใช้คำว่าโยนทิ้งจริงๆ) โอยถ้าเป็นเราก็เลิกเรียนไปแล้ว…… แต่ท่านอาจารย์ก็กัดฟันสู้จนสุดท้าย ได้รับคำชมว่าเป็นวิทยานิพนธ์ที่ดีที่สุด ดีกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนักศึกษาท่านอื่นๆอีกมากมาย…..

    เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า……

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 มกราคม 2009 เวลา 20:33

    แฮ่ แฮ่ พี่บู๊ธขา เม้นท์พี่มาก่อนพิมพ์ keywords ค่ะ

    ที่จริงข้อสรุปที่ได้มาจากเจ้าหล่อนนะ มันเหมือนเรื่องที่พี่เล่าเรื่องอาจารย์พี่เลยค่ะ

    เจ้าวิชานี้มันช่วยทำให้น้องทำงานอย่างที่ทำอยู่ได้อย่างสบายๆไม่หนักใจเลยค่ะ ซึ่งต้องขอบคุณครูหมอ 2 ท่านที่ได้ฝึกฝนให้ค่ะ ท่านหนึ่งคือ ครูหมอคนนี้ และอีกท่าน คือ ครูหมอเด็กที่แสนดุ

  • #3 nning ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มกราคม 2009 เวลา 8:39

    อยากให้ครูทั้งหลายได้อ่านค่ะ โดยเฉพาะในส่วนบทเรียนของชีวิตจริงและ Keywords ที่จะเสริมให้ศักยภาพของเด็กมีเพิ่มมากขึ้น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.059725046157837 sec
Sidebar: 0.13746786117554 sec