คุยแล้ว….หลุด….ของขึ้น

โดย สาวตา เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2008 เวลา 12:21 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1262

มีคำพูดหนึ่งที่ผู้ใหญ่ที่ร.พ.และใหญ่พูดตรงกัน คำพูดนั้นก็คือ “คนไม่คุยกัน มันก็เลยมีปัญหา”  เมื่อได้ยินครั้งแรก ฉันร้องเบาๆว่า อืม!จริง แต่เมื่อผ่านประสบการณ์การคุยมาแล้วหลายๆครั้ง ใจฉันก็เริ่มเถียงแล้วว่าไม่ใช่  ข้อเถียงนี่แหละที่เป็นเหตุให้ฉันสนใจเรื่องของวงน้ำชาที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสังฆะดีๆสำหรับการฝึกการสนทนา

 

พ่อครูเคยบอกว่าการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา  ใหญ่เคยให้ข้อคิดว่าคนเราควรรู้จักประเมินตัวเอง ระหว่างนั่งทบทวนการพัฒนาตนในวันนี้ ฉันก็มีความรู้สึกว่าฉันเห็นอะไรบางอย่างในเรื่อง “การคุย-ไม่คุย”  ใคร่ครวญอยู่ตั้งนานว่าจะเขียนบันทึกเอาไว้ดีไหม 

 

การเห็นในวันนี้มีความรู้บางเรื่องที่เป็นโจทย์ซึ่งน้าแห่งชาติเคยปรึกษา  เจ้าโจทย์ที่ว่านั่นคือ ทำยังไงถ้าในขณะที่บรรยากาศการสนทนากำลังลื่นไหล แล้วก็มีคนที่ขัดการสนทนา ทำให้บรรยากาศที่ลื่นไหลอยู่นั้นชะงักสะดุดลง แล้วคนที่ขัดนั้นเป็นคนที่มีอาวุโสที่สุดในกลุ่ม และก็อาวุโสกว่ากระบวนกรเองด้วย

 

 

ฉันคิดว่าได้คำตอบบางอย่างที่ทำให้เข้าใจเหตุขึ้นมาแล้ว จึงได้ทดลองนำไปใช้ในการสนทนาในวงงานของฉัน เพื่อที่จะได้ถอดบทเรียนรู้ไว้ใช้ต่อไป

 

วันนี้จึงขอเอามาเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ เหตุการณ์ที่เอามาเล่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังวันลอยกระทงหนึ่งวัน  เริ่มต้นจากมีหัวหน้าหอผู้ป่วยมาปรึกษาว่ามีงานชิ้นหนึ่งส่งมาให้ทำ ไม่แน่ใจว่าเรื่องราวที่จะลงมือทำจะเดินต่อไปในทิศใดจึงจะดี  ฉันจึงบอกกับเธอว่า งั้นฉันจะแวะไปคุยกับผู้เกี่ยวข้องที่หอของเธอละกัน ขอเวลาแค่ครึ่งชัวโมงที่จะคุยแลกเปลี่ยนกันนะ

 

คุยกันแล้วเธอก็บอกว่าเธออยากขยายผลเรื่อง 5ส. อย่างที่หน่วยงานของฉันทำไปแล้ว ฉันได้โอกาสจึงบอกว่า งั้นส่งคนขึ้นมาที่ฝ่ายฉันและคุยกันได้เลยบ่ายนี้  คุยจบแล้วเธอจึงนัดหมายว่าจะนำพาคนของเธอขึ้นไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทันที  สรุปว่าบ่ายวันนี้ฉันมีนัดกับเธอถึงสามงาน

 

ไอ้ที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นแค่เพียงหนึ่งในสามงานนั้นค่ะ ฉันนัดหมายกับเธอไปว่า ฉันจะลงไปหาทีมของเธอด้วยตัวเองเพื่อจับเข่าคุยกันให้ได้รู้เรื่องราวในใจ ดูเหมือนเธออยากจะเรียนรู้ร่วมกันไป เธอจึงขัดข้องอยู่บ้าง ฉันเลยบอกเธอไปว่าเอาเวลาที่เธอจัดการตัวเองได้เป็นหลักก็แล้วกัน ส่วนเวลาของฝ่ายฉันนั้น ฉันก็ตามน้ำตามเวลาของเธอไป สุดท้ายก็ได้ลำดับการนัดหมายกันที่ลงตัวได้คุยกันทุกงานค่ะ

 

สรุปว่างานที่ลงไปคุยด้วยเป็นเรื่องของการนำเสนอรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็เป็นประเด็นทำยังไงกับคนที่คอยพูดขัดให้การสนทนาสะดุดไม่ลื่นไหล  ขอเล่าเหตุการณ์ประกอบเพื่อให้นึกภาพได้ไปพร้อมกันค่ะ

 

วงสนทนาที่เกิดขึ้นมีผู้ร่วมอยู่แค่สามคน หนึ่งคนเป็นหัวหน้า หนึ่งคนเป็นลูกน้อง และหนึ่งคนคือตัวฉันเอง  เสียงพูดที่เกิดขึ้นในวงสนทนานั้นส่วนใหญ่ดังออกมาจากปากหัวหน้า เสียงพูดที่มีรองลงมาเป็นเสียงพูดจากตัวฉันเอง เจ้าน้องที่นั่งอยู่ด้วยออกเสียงน้อยกว่าน้อยค่ะ ด้วยว่าวัฒนธรรมที่นี่ น้องมี “หน้าที่” ฟังเมื่อพี่พูดซะเป็นส่วนใหญ่

 

เวลาสนทนากัน เมื่อฉันพูดก็จะมีเสียงพี่พูดขัดขึ้นมาอยู่หลายช่วง การพูดขัดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของความเห็นแย้งเลย หากแต่เป็นเรื่องราวที่บอกว่า เธอได้ยินเรื่องราวที่ฉันพูดแล้วคิดต่ออย่างเร็วมาก จนเธอไม่ได้โอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้อื่น ที่เธอไม่มีโอกาสนั้นก็เพราะว่าใจเธอนั้นจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ตัวเองรู้แล้วก็อยากที่จะบอกออกมา  โดยที่เธอไม่รู้ว่าที่เธอจดจ่อจะบอกนั้น เธอตั้งใจจะบอกใครระหว่าง “ตัวเธอ” และ “ผู้ฟัง” 

 

ฉันว่ามันไม่แปลกที่คนเราจะเป็นอย่างนี้ ด้วยว่าสถานะของฐานคิดที่เธอกำลังอยู่นั้นเป็นช่วงของคลื่นเบต้าเสมอ เธอยังไม่ได้ฝึกที่จะหน่วงฐานคิดของตัวเธอให้ช้าลงเพื่อเรียนรู้ใหม่  อย่าได้ทึ่งว่าทำไมฉันจึงถอดความมาเล่าอย่างนี้นะค่ะ การแปลความที่บอกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่นั่งคุยกันค่ะ ความเข้าใจมันออกมาระหว่างที่นั่งพิมพ์บันทึกนี้เอง

 

การตอบถ้อยที่ฉันทำตอบสนองตอนเริ่มต้นก็เป็นคลื่นเบต้า ด้วยว่าเมื่อเธอพูดสะท้อนมา ฉันพยายามที่จะพูดต่อเพื่อเคลียร์ประเด็น จนเมื่อรู้ตัวว่าถ้าตอบถ้อยกันอยู่อย่างนั้น เวลาที่มีอยู่จะไม่พอคุย ฉันจึงนั่งเงียบฟังให้เธอคุยของเธอจนจบ ระหว่างฟังก็มองมุมสูงเพื่อจะตอบคำปรึกษาที่  ขอมา

 

 

ก่อนมอบสรุปความได้ตรงกันว่า เรื่องที่ปรึกษาคือจะนำเสนอเรื่องราวอย่างไรจึงจะสะท้อนตรงประเด็นของโจทย์ที่รับมา เข้าใจตรงกันแล้วก็จ่ายงานกันเลยซิค่ะ ฉันตอบถ้อยการให้คำปรึกษาด้วยการมอบหมายงานให้ต่างคนต่างรู้ว่าช่วยกันทำงานอะไร

 

หัวหน้ายังอ่อนหัดต่อการเป็นกัลยาณมิตรของวงสนทนา ลูกน้องนั้นโอเคแล้วสำหรับการเป็นกัลยาณมิตรของวงสนทนา ความสัมพันธ์ที่ทีมมีต่อกันโอเคแล้วที่ลูกน้องจะเป็นผู้เปิดวงสนทนาให้ลื่นไหล หากแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะทำให้รื่นไหลด้วยหรือไม่  อย่างงี้ให้หัวหน้าไปทำหน้าที่ประสานงานเพื่อความพร้อมก่อนลงมือทำงาน ความพร้อมจะมีมาเมื่อจัดหาสิ่งที่ต้องการมาพร้อมสรรพ  เรื่องราวที่นำเสนอมีอยู่พร้อมให้ลูกน้องหยิบจับได้ทุกเมื่อ จุดอ่อนก็มีแต่ทักษะของเธอในการรวบรวมเรื่องราวจากวงสนทนา 

 

แล้วฉันก็นัดว่า งั้นพรุ่งนี้ ฉันมาช่วยคุยให้เข้าใจก็แล้วกันว่าถ้าเป็นฉัน ฉันจะทำอย่างไร ขอเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงที่ทีมงานนั่งคุยด้วยได้ ไม่ต้องให้ทั้งหมดมาเอาแค่ว่าคนที่ว่างมีเกินสองคนก็คุยกันได้ พูดไปแล้วได้เวลามาเป็นเที่ยงของวัน นั่งกินข้าวกันแล้วคุยกันไป 

 

ฉันย้ำไปว่า ไม่ต้องบอกคนอื่นหรอกว่าฉันจะมาคุยด้วย หัวหน้าไม่ว่างคุยด้วยก็ไม่เป็นไร เหตุผลไม่มีอะไรมาก จะใช้ตัวเองเป็นตัวก่อกวนให้คนเอ๊ะ!กับตัวเองในเรื่องที่พวกเขากลัวฉัน และไม่อยากให้เกิดภาวะปิดกั้นระหว่างการคุยกันก็เท่านั้นเอง  

 

 

บทเรียนรู้ตัวเอง :

 

ไม่มีอารมณ์ให้หลุด

อารมณ์ราบเรียบ นิ่งฟัง คิดเร็ว มองมุมสูง

แปลกใจ สนใจที่ตัวเองคิดเร็ว หาคำตอบได้เร็ว…..สนใจหาคำตอบไว้ส่งการบ้านครูบา

ยังมีคำตัดสินก่อนฟังอยู่บ้างเมื่อคุย มันเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในคลื่นเบต้า

รู้ตัวแล้วหน่วงได้ทัน ผลการแปลเรื่องที่ฟัง กลายเป็นการมองมุมสูง ซะมากกว่ามองมุมเดิมๆตามแนวราบที่สะท้อนไปสะท้อนมา

ที่หยุดนิ่งฟังได้ไม่ต่อความให้ยาว ก็เนื่องด้วยเวลาเป็นคุณ มาช่วยกระตุกให้ได้สติคืนมา

สติเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัวว่ามันมี จนกว่าจะรู้ว่าสติมันไปยึดตัวไว้กับอะไร

สิ่งที่สติมันไปยึดอยู่ มันเปลี่ยนที่ไปตลอดเวลา ตอนแรกก็เป็นเสียงที่พูดออกมา ต่อมาเป็นคำที่พูด

สติไหลไปติดอยู่กับความคิดจนสติวูบลงไปชั่วครู่

เมื่อสติตื่นขึ้นมาอีกที มันก็หาที่ยึดตัวใหม่ จนไปสะดุดกับเรื่องเวลา มันจึงเริ่มทำหน้าที่เตือน

ความหลงจะเกิดขึ้นร่วมเมื่อเผลอให้ความคิดครอบครองการรับรู้ และนั่นคือช่วงที่สติมันเผลอหลับไป

 

 

Keywords:

หากมีผู้ร่วมสนทนาขัดการสนทนาขึ้นมาไม่ให้ลื่นไหล ให้เข้าใจเถิดว่า เขารับรู้ว่ากำลังสนทนาอะไรกันอยู่

 

การที่มีคนขัดการสนทนาขึ้นมาด้วยว่า เขากำลังเรียนรู้ตัวเองและอยากจะบอกตัวเองว่า เขารู้อะไร และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่สนทนาอยู่  คำพูดที่เขาคุยอยู่นั้น เขาพูดให้ตัวเองฟังโดยตัวเขาก็ไม่รู้ตัว

 

สิ่งที่ต้องการจากบรรยากาศการสนทนา เพื่อให้คนที่เขากำลังพูดให้ตัวเองฟังรู้ว่า ที่แท้ที่เขาพูดขึ้นมานั้นเขาต้องการพูดให้ตัวเองฟัง คือ “ความเงียบ” 

 

เมื่อคุณภาพความเงียบเกิดขึ้นในระดับพอเพียงให้เกิดคำว่า เอ๊ะ! กับคนที่กำลังพูดอยู่ได้ ถือว่าเป็นความสำเร็จเล็กๆสำหรับกระบวนกรแล้วละ

 

ประเด็นที่สำคัญกว่าอยู่ที่ว่า กระบวนกรได้ยินเสียงตัวเองรึยังในเรื่องความรู้สึกของตัวเองต่อทิศและเป้าซึ่งเป็นผลประโยชน์ของตัวกระบวนกรเอง

 

เมื่อตอบตัวเองว่าได้ยินแล้ว ให้ถามตัวเองต่อด้วยคำ “5Why” + “1when” เพื่อทำความกระจ่างให้ใจตัวเอง และสรุปตอบอีกทีว่า ที่แท้แล้วอยากได้อะไร ณ ต่อหน้า 

 

หากได้คำตอบให้ใจชัดๆ เมื่อใดก็เมื่อนั้น งานรุดหน้าง่ายดี คำตอบที่ชัดนั่นซิที่ช่วยดึงให้รู้จักมองมุมสูงกับเรื่องที่กำลังทำต่อหน้า

 

การอยู่กับปัจจุบันที่ควรฝึกฝนของกระบวนกร คือ การทำให้วาระต่อหน้าเป็นเรื่องวาระของเขา วาระของกระบวนกรคือ เรียนรู้ผลการนำพาและปรับปรุงกระบวนการนำพาให้สอดคล้องกับวาระของเขาเท่านั้นเอง

 

การบ้าน :

 

ปรับปรุงวิธีเขียนบันทึกลงโดยตรงบนบล็อก ไม่ให้มันหายไปด้วยเน้อ เหตุที่เกิดวันนี้เปิดหน้าต่างเดียวหลายหน้าต่างแล้วปิดผิดหน้าต่าง….เลยได้บันทึกเวอร์ชั่นใหม่… เสียดายเวอร์ชั่นที่หายไป  อ่ะ

 

เวลาที่ทำหน้าที่กระบวนกรแล้วจี๊ดใคร จะจี๊ดเล็กๆหรือจี๊ดใหญ่ ให้ถามตัวเองว่า ไอ้ที่จี๊ดนะเราเคยมีประสบการณ์อะไรของตัวเองอยู่เบื้องหลังบ้างไหม วันนี้ไม่มีจี๊ดเกิดขึ้น มีแต่แค่ไม่ชอบเล็กๆชั่วแวบแค่นั้นเอง

« « Prev : ถอดบทเรียนกระบวนกร-4

Next : เจ้ามีที่มาอย่างไร(1) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "คุยแล้ว….หลุด….ของขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.044651031494141 sec
Sidebar: 0.12617993354797 sec