ถอดบทเรียนกระบวนกร-1

โดย สาวตา เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 เวลา 1:48 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1217

อุ้ยจันตาลองของไปแล้วกับเทคนิคหนึ่งที่เล่าให้ฟัง วันนี้ฉันได้เอาไปลองบ้างด้วยอยากจะรู้ว่ามันมีผลอย่างไร คนที่เป็นหนูทดลองเป็นลูกน้องที่เคยผ่านเวทีฝึกการสนทนาที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว 4 คน ซึ่งในการดำเนินวิถีปกติ 2 คนเป็นญาติกันอยู่ อีกคนเพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ อีกคนทำงานมานานแล้วเกินกว่า 20 ปีค่ะ 


 

บุคลิกของสองในสี่ เป็นคนที่พูดจาน้อย จะฟังเงียบๆเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใคร่จะมีอารมณ์โกรธ หากจะมีอารมณ์เป็นสุขอย่างมากก็มียิ้มน้อยๆให้เห็น คนอีกสองคนต่างไป คนหนึ่งเป็นคนไม่นิ่ง ทำงานมีสมาธิได้ไม่นาน ชอบพูดจาไปเรื่อยๆ ล้อเล่นหัวเราะกับคนซะร่วนอยู่ทั้งวันเลยเชียว คนสุดท้ายเป็นคนที่ใจร้อนใจเร็วเป็นไฟ มั่นใจ ให้ใจกับงานสูงยิ่ง วิ่งงานไม่ดูเวลา ผลงานต้องได้ดีเลิศ ไม่ใคร่เห็นช่วยงานของใคร มีของก็นำมาแบ่งปันให้กับคนที่อยู่เหนือกว่ามากกว่าคนศักดิ์เสมอกัน

หลังผ่านเวทีฝึกสนทนา 3 คนแรกนั้นเปิดใจต่อกัน อารมณ์ที่ใช้ทำงาน ปรากฎรอยยิ้มมากขึ้น มีเสียงหัวเราะให้ได้ยินเพิ่มขึ้น คนสุดท้ายนั้นแง้มประตูใจกว้างขึ้นกว่าเดิม มีรอยยิ้มแย้มแจ่มใส มีใจช่วยงานคนอื่นให้เห็นเพิ่มขึ้นมาหน่อย 

3 คนแรกนั้นมีการคุยเรื่องปัญหางานต่อเนื่องกันมาตลอด พวกเขากินข้าวด้วยกันทุกวัน คนหลังนั้นเขากินแยก ไปกินกับคนอีกกลุ่ม มีบ้างที่ในตอนเช้า เอาของมากินกับคนอื่น

หลังกลับไปจากเชียงใหม่ ฉันได้บอกให้พวกเขารับรู้ว่าฉันขอปรับระบบการมอบหมายงาน ฉันแบ่งให้เขานั้นมีพื้นที่ดูแลสถานที่ชัดเจน จัดการเบ็ดเสร็จตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบค่ะ อย่าคิดว่าฉันโหดร้าย ด้วยงานที่ได้มอบหมายเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ตึกในขนาด 10×10 เมตรแค่นั้นเอง งานที่ให้รับผิดชอบคือจัดการ 5ส.และแจ้งซ่อมจุดอ่อนของสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่เขาดูแล พื้นที่ที่ต้องแบ่งดูแลมี 2 ห้องทำงาน 1 ห้องล้าง 2 ห้องน้ำและ 1 ห้องประชุม

ตอนที่แบ่งงานให้เขานั้น ฉันแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือพื้นที่นอกห้องทำงาน แบ่งให้รับห้องและลานพอดีสี่คน และในห้องทำงานนั้นแบ่งบล็อกให้รับผิดชอบครบสี่เช่นกัน  มอบหมายไปแล้วก็บอกกติกาให้พี่ๆในห้องรับรู้ ว่าบนโต๊ะที่นั่งอยู่จะมีคนช่วยทำ 5ส. อะไรที่จะอยู่บนโต๊ะ ให้บอกด้วยนะคุณพี่ว่าแตะ เลื่อน และเช็ดอะไรได้บ้าง และงานที่มอบหมายนี้หากว่าน้องเขาทำไม่ได้ไม่เป็นที่พอใจให้มองอย่างเดียวไม่ต้องชี้นิ้วบอกให้แก้ไข ไม่ต้องทำหน้าที่ของผู้ปรารถนาดีสอนสั่ง พี่ที่เผลอลงมือทำไปแสดงว่าไม่เข้าใจในเรื่องที่ได้บอกกันนี้ ขอให้พี่ทำหน้าที่แค่โทรประสานการแจ้งต่อเรื่องแจ้งซ่อมที่น้องมาบอก(เดิมพี่เห็นจุดอ่อนและบอกต่อให้น้องโทรประสานการแจ้งซ่อมค่ะ)

เวลาผ่านไปสองอาทิตย์ กลับจากเชียงรายก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้อง บนโต๊ะส่วนใหญ่เก็บเรียบ เป็นระเบียบงามตามากขึ้น คงเหลือบางโต๊ะที่ยังรกตาอยู่บ้างให้เห็น โต๊ะหนึ่งที่เป็นอย่างนั้นคือโต๊ะที่ฉันนั่งเอง  ผลลัพธ์ที่เห็นบอกว่าความเป็นระเบียบที่เห็นเขาเน้นแค่ดูดี แต่ความสะดวกไม่เกิด อย่างเช่นวันนี้ฉันจะหาเบอร์โทรศัพท์เพื่อโทรติดต่อ ก็ไม่สามารถหาเจอ เพราะไม่มีใครตอบได้ว่าเอาเก็บไว้ที่ไหน 

เมื่อพบเหตุการณ์อย่างนั้น เสียงแรกที่ได้ยินบอกว่า อย่างนี้น่าจะคุยกันต่อ ทวนถามความเข้าใจงาน แต่ก่อนจะชวนมาคุย ปากบ่นออกไปบอกว่า 5ส.ที่ทำนั้นหนา ขอให้ลงเอยด้วยผลคือมีความสะดวกของการทำงานของทุกคนในห้องทำงาน บอกแล้วก็ลืมไปแล้วที่บอกว่าจะชวนมาคุย

ตอนบ่ายพอมีเวลาว่างนึกได้ว่าอยากนัดหมายพวกเขามาพูดคุยกัน ลืมไปแล้วว่าเมื่อเช้าจะคุยเรื่องงานกัน ตอนบ่ายเหลือแค่อยากฝึกสนทนาพวกเขาให้ถึงระดับฟังลึกให้ได้ ตอนที่ไปเรียกพวกเขา พวกเขากำลังกินของว่างกันอยู่ เป็นสิ่งที่เขานำมาเอง ฉันบอกให้เขาเอาเข้ามากินไปคุยไปก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครทำ สัมผัสที่รับรู้นั้นบอกว่า ใน 3 คนแรกไม่อึดอัด และมีคนหนึ่งที่กลัว ไม่อยากจะเข้ามาคุย ส่วนคนสุดท้ายที่เล่าไม่อึดอัดที่จะคุยมากเท่าไร แต่ว่ายังมีความกลัวอยู่ในใจอยู่เยอะทีเดียว ที่สรุปว่ากลัวก็คือ พฤติกรรมที่หน่วงตัวเองเอาไว้ ไม่เข้ามาคุยทันที

ตอนที่พวกเขามานั่ง ฉันใช้เทคนิคสนทนาเป็นวงเล็ก 5 คน ในใจไม่มีความคิดว่าจะคุยด้วยเรื่องอะไร ตั้งธงที่จะชวนพูดว่า ให้เล่าอะไรก็ได้ที่อยากจะพูดออกมา ปรากฎว่ามีคนเล่าสั้นมากเพียงสองสามคำ และก็มีคนที่จะพูดฟังว่าผู้พูดคนก่อนพูดเรื่องของอะไรไว้ เรื่องที่เล่าออกมาจึงเป็นเรื่องทำนองเดียวกันหมด จนกระทั่งมีคนหนึ่งเริ่มเบื่อ ฉีกแนวไปพูดเรื่องครอบครัวบ้าง

เรื่องแรกที่เขาพูดออกมาจะเป็นการถามปัญหา ปรึกษาเรื่องในงานทั้งสิ้น ฉันฟังแล้วฉันนิ่งไว้ชวนเขาคุยต่อในเรื่องความดีเล็กๆที่ตัวเองได้ทำในวันนี้ ทุกคนก็จะเล่าแต่เรื่องงาน ฉันเลยเล่าออกไปว่า วันนี้ฉันรู้สึกดีที่ ตื่นมาก็อาบน้ำทันที ไม่โอ้เอ้ นั่งเล่นก่อนจะไปอาบ

ลองเปิดโอกาสให้เล่า แล้วรู้สึกว่า เขาสะดุดต้องใช้ความคิด ฉันจึงปล่อยให้เขาคิดสักครู่ แล้วฉันชวนเขากลับมาคุยปัญหาที่ปรึกษาไว้ เป็นการชวนคุยโดยดึงเขามองลงมาจากมุมมองที่อยู่เหนือปัญหา ฉันชวนเขาพูดในเรื่องมุมมองของผู้รับบริการและองค์กรค่ะ และเมื่อถึงคิวที่ฉันวนพูด ฉันสะท้อนสิ่งที่ได้ยินก่อนเพื่อสรุปให้พวกเขาฟังอีกครั้งพร้อมกับบอกเพิ่มไปว่ามุมมองที่ฉันมองเห็นเป็นอย่างไรหนึ่งมุมเท่านั้น 

เรื่องเล่าที่บอกออกมา ฉันโยนตัวกวนไปว่า ให้ลองมุมบวกดูไหม โดยเปลี่ยนตัวละครเวียนไป ว่าแต่ละคนได้ผลประโยชน์และเสียประโยชนอะไรบ้าง รวมทั้งองค์กรและผู้มารับบริการ ได้ผลนะค่ะได้ผล ทุกคนร่วมกันบอกออกมาว่าผลประโยชน์มีอะไรบ้าง เทียบกับเสียแล้วน้ำหนักเป็นอย่างไร

บางคนเสนอทางออกแล้วบอกตัดสินตัวเองตอบผิดในรอบต่อมา เมื่อฉันไม่ตอบเขาว่า ฉันเลือกคำตอบข้อใด ฉันฟังแล้วจึงบอกกลับให้เขาฟังว่า ฉันฟังแล้วทุกคนมีความคิด ความคิดเหล่านี้เป็นความรู้ที่ฉันก็ฟังและเก็บเกี่ยวไป เพื่อว่าข้างหน้าจะใช้จะได้นึกได้ว่าเคยพูดกัน บรรดาความคิดที่บอกออกมาไม่มีผิดไม่มีถูกแต่อย่างไร  อ่านมาถึงตรงนี้เดาได้ไหมว่าคนที่ตัดสินตัวเองว่าผิดจะเป็นคนไหนในทั้งหมดที่คุยอยู่

วันนี้ฉันตั้งใจว่า จะใช้เวลาคุยแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น สายตาเหลือบเห็นเวลา ใช้เวลาคุยแค่ไม่นานได้อะไรออกมาตั้งเยอะ ทั้งๆที่ในระหว่างการคุยมีคนคอยขัดการพูดด้วยการหัวเราะ ชวนเล่นอยู่บ้าง และที่ชวนพวกเขาคุยนั้นก็เพราะหวังจะให้เขานิ่ง

เมื่อการคุยที่ผ่านไปนั้น มีคุณภาพเรื่องของบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่าตอนเริ่มต้น ฉันจึงเริ่มสั่งให้เขายืนคู่กัน แล้วใช้เทคนิคที่เล่าน้องสร้อย ระหว่างทำก็มีภาษากายที่รู้ว่าแตะปมในใจของใครบางคนเข้าแล้ว ภาษาที่เห็นก็คือ มีคนไม่กล้ามองหน้าเพื่อน มีคนน้ำตารื้นออกมาเมื่อเริ่มนิ่งได้ มีคนที่ตอนเริ่มต้นกังวล ขยุกขยิก มีคนที่นิ่งสงบได้ แต่ตานั้นยังลอกแล่ก

ภาษากายที่เห็นทำให้ฉันหน่วงการสั่งให้ช้าลง ทำต่อจนกระทั่งนิ่งทุกคน จึงชวนเขามานั่งคุยกันใหม่ ให้เขาถอดความรู้สึกมาเล่าว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

คนที่เปิดใจมากกว่าจะบอกว่า รู้สึกถึงความสงบของอีกคน และเป็นสุขกับกิจกรรมที่ทำ คนที่เปิดใจน้อยกว่ายังไม่กล้าบอกเล่าออกมาตามแต่ใจที่รับรู้อยู่ ฉันจึงโยนตัวกวนใส่ให้รู้ว่า ใจสื่อใจนั้นรับรู้กันได้ แล้วก็เล่าเรื่องนักเรียนพยาบาลของน้องสร้อยให้ฟัง

 

แล้วฉันก็กลับมาที่เรื่องงานอีกครั้งหนึ่งค่ะ คราวนี้ฉันบอกเขาว่า ฉันก็เห็นว่าห้องทำงานเปลี่ยนแปลงไปในวันแรกที่กลับมา แล้วต่อๆมาก็คล้ายๆจะรกอีก หากว่าเขาจะให้คะแนนผลงานที่ทำลงไป เขาจะให้คะแนนเท่าไร ทุกคนให้คะแนนเป็นภาพรวมในระดับใกล้เคียงกัน สิ่งที่ฟังแล้วดีใจ เขาบอกว่าทำงานสนุกที่ได้คิดได้ทำโดยอิสระ ได้ปรึกษาและช่วยกันคิดแก้ไขงาน

พอดีเวลาที่ตั้งใจไว้ใกล้จะหมดลงแล้วฉันจึงคุยถามกลับไปว่า การคุยกันอย่างนี้ดีไหม เขาตอบมาว่าดีค่ะ แถมบอกออกมาด้วยว่า เขามีอะไรที่อยากบอกและปรึกษาฉัน ปัญหางานที่เอามาเล่า เขาคุยกันและอยากปรึกษาอยู่  ฉันถามเขาไปว่าต่อไปฉันจะคุยด้วยบ่อยๆ เขาอยากจะคุยบ่อยแค่ไหนก็ให้เขาบอกออกมา น้องใหม่ตอบทันทีว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ คนเก่ากว่าเขาตอบมาว่า เดือนละครั้ง คนที่ยังไม่เปิดใจ ตอบว่า ขอปีละสองครั้งก็พอ 

ไหนๆก็เอามาเล่า ให้ทายกันหน่อยค่ะว่า ฉันตอบเขาว่าอย่างไร ใครตอบถูกให้ไปรับรางวัลที่คนใกล้ตัวเป็นกอดอ้อมใหญ่ๆค่ะ 

« « Prev : รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไรกับบทเรียนในวิถี “คืนแรก ณ เมืองเจียงฮาย”-1

Next : ถอดบทเรียนกระบวนกร-2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ถอดบทเรียนกระบวนกร-1"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.29436111450195 sec
Sidebar: 1.0611028671265 sec