คิดให้ได้ คิดให้ดี

โดย สาวตา เมื่อ 26 กุมภาพันธ 2012 เวลา 23:39 ในหมวดหมู่ การจัดการ, วงเสื้อกาวน์, สังคม #
อ่าน: 1385

ทำงานมาหลายปีดีดักแล้ว ทุกๆ ๕ ปีจะมีประสบการณ์เจอทางสองแพร่งให้เลือกทางชีวิตทุกทีไป แต่ละเวลาที่ให้คำตอบกับตัวเองไว้ก็ได้รู้ ได้เห็นว่าชีวิตที่ผ่าน พบอะไรมากมาย

ดี เลว ทุกข์ สุข สำเร็จ ล้มเหลว ไม่สำเร็จ ต่างๆเหล่านี้ถูกหยิบขึ้นมาใช้ด้วยความรู้สึกในระหว่างนั้นมากมาย  หลายเรื่องเมื่อมองย้อนหลัง ทำให้นึกขอบคุณเวลาที่ผ่าน  ที่ทำให้ยืนมั่นได้ถึงวันนี้

วันนี้เวลาของการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนเริ่มหดสั้นลงๆ  มีคนรุ่นใหม่หมุนเข้ามาทำงานเพื่อแทนที่ จะใช้เวลาที่ชีิวิตต้องเดินผ่านต่อไปอย่างไร จึงเป็นคำถามที่เปิดขึ้นให้เลือกตอบอีกครั้ง

ระหว่างการหาคำตอบ ก็ต้องขอบคุณบทความบทนี้  ที่ช่วยยืนยันสิ่งที่คิด ว่าคิดชอบแล้วในสิ่งที่คิดจะทำต่อไป

“………เศรษฐกิจ พอเพียงเริ่มจากวิธีคิด คิดถูก คิดดี คิดชอบ เป็นสัมมาทิฐิอันเป็นข้อแรกของมรรคมีองค์ ๘ เมื่อเริ่มด้วยคิดชอบแล้ว ปฏิบัติชอบก็ตามมา ประกอบอาชีพชอบก็ตามมา

ท่านพุทธทาส สอนว่า “ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย” หมายถึงการจับความคิดให้มั่นก่อนที่จะไปหาเทคนิกวิธีการ ถ้าหากด่วนไปหาแต่วิธีการโดยไม่สนใจวิธีคิดก็จะผิดพลาด เหมือนขึ้นต้นไม้ทางปลาย ขึ้นไม่ได้ ไปไม่ถึง

ปัญหาส่วนใหญ่ของชาวบ้านเราเป็นเรื่องวิธีคิด ไม่ใช่วิธีทำ เพราะชาวบ้านทำเก่ง ไปสอนไปอบรมเรื่องอะไรก็ทำได้หมด ไม่ว่ากล้วยฉาบหรือแชมพู สบู่หรือน้ำยาล้างจาน แต่ก็ตกม้าตายตรงที่คิดได้อย่างเดียวว่าทำแล้วต้องเอาไปขาย ไม่ได้คิดว่าจะเอามากินเอามาใช้ หรือถ้าจะขายก็ขายในท้องถิ่นให้ได้เสียก่อน

ทำอะไรก็คิดแต่จะเอาไปขายข้างนอก ลืมไปว่าตลาดท้องถิ่นนั้นมีมูลค่าสูงมาก แต่ละตำบลซื้อกินซื้อใช้ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านบาท ซื้อจากตลาดทั้งนั้น ไม่เคยทำเองใช้เองบ้าง

ลุงประยงค์ รณรงค์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาผู้นำชุมชนบอกว่า ร้อยละ ๘๐ ของสิ่งที่เรากินเราใช้ในหมู่บ้านเราสามารถทำเองได้ แต่เราไม่ทำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงสอนว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ทำกินเองใช้เองทั้งหมด ทำให้ได้แค่หนึ่งในสี่ก็พอ แต่เราก็ยังไม่ทำอยู่ดี ยังก้มหน้าก้มตาหาแต่เงินเพื่อจะได้เอามาซื้อทุกอย่าง เงินที่ได้มาจึงมีแต่จะไหลออกไปจากหมู่บ้าน ไม่เหลือเก็บ กลับเป็นหนี้ด้วยซ้ำ เพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้

ปัญหาของชาวบ้านเราเป็นปัญหาวิธีคิด ปัญหาวิธีคิดอย่างแรก คือ คิดไม่ออกว่าจะไปทางไหน อย่างที่จ่าชัย ผู้นำบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางพูดในที่กระทรวงมหาดไทยให้อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเอาไปคิดต่อ ว่า “ปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่พวกเขาไม่รู้จะไปทางไหนมากกว่า”

หมายความว่าเดินเวียนไปเวียนมาเหมือนในเขาวงกต หาทางออกไม่เจอ ไปทางไหนก็ตัน ทำอะไรก็ผิดพลาด ขาดทุน เป็นหนี้เป็นสิน สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องพึ่งคนอื่นหมด

ตั้งแต่สังคมเปลี่ยนจากเกษตรมาสู่อุตสาหกรรม เปลี่ยนจากทำมาหากิน มาทำงานหาเงิน เปลี่ยนจากการพึ่งพาปัจจัยสี่จากธรรมชาติมาพึ่งพาตลาด ชาวบ้านเริ่มสับสน หรือจะบอกว่า “มั่ว” ก็คงไม่ผิด อะไรๆ ก็ดูซับซ้อนมากขึ้น ระบบระเบียบใหม่ไม่รู้จัก ไม่เคยชิน เหมือนกับที่คุ้นเคยกับวิถีชุมชน ซึ่งปู่ย่าตายายได้ถ่ายทอดมา เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น

แต่นี่เป็นภูมิปัญญาอย่างใหม่จากภายนอก จากข้างบน จากคนที่มีอำนาจกำหนดการกิน การอยู่ของผู้คนทั้งแผ่นดิน เป็นระบบที่มีความซับซ้อน ชาวบ้านจำนวนมากปรับตัวไม่ได้ เดินหลงทิศหลงทาง หาทางออกไม่เจออย่างที่ว่า

ชาวบ้านทำอะไรก็มักทำตามๆกัน เลียนแบบกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน การทำมาหาเงินเพื่อนำไปซื้อข้าวของจากตลาดจึงเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ คือการเอาทรัพยากรธรรมชาติไปขายเพื่อให้ได้เงิน ตัดไม้ในป่า เก็บของป่า ล่าสัตว์

เอาจากป่าแล้วก็เอาจากน้ำ เอาจากดิน จับสัตว์น้ำไปขาย ปลูกพืชเดี่ยว รีดเอาจากป่า ดิน น้ำ จนไม่เหลืออะไร สุดท้ายก็ไปขายแรงงาน บางรายถึงขั้นขายลูกสาว

เราโชคดี ที่เกิดมาในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขนาดปู้ยี่ปู้ยำธรรมชาติอย่างหนักจนแทบไม่เหลืออะไร ก็ยังไม่มีใครอดตาย ธรรมชาติฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เป็นอะไรคล้ายกับที่คนจีนในเมืองจีนบอกลูกบอกหลานว่า เมืองไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ขนาดเอาตะเกียบเสียบลงดินยังงอกได้

ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเราจะลำบากยากแค้น เป็นหนี้เป็นสินกันถ้วนหน้าก็ต้องหันมาดูว่า เรามีปัญหาที่ตรงไหน เราไม่ได้จนทรัพยากร ไม่ได้จนแรงงาน ไม่ได้จนเงิน แต่จนปัญญาใช่หรือไม่

สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำให้มากวันนี้ จึงเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดปัญญา ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือพูดให้เป็นภาษาวิชาการสักหน่อยก็ คือ การปรับกระบวนทัศน์ ซึ่งรวมทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า รวมไปถึงปรับการมองโลกความเป็นจริงแบบเดิมๆ ให้มามองโลกความเป็นจริงแบบใหม่

โลกวันนี้ไม่ได้อยู่ในยุคอุตสาหกรรมอีกแล้ว เป็นยุคหลังอุตสาหกรรม จะเรียกยุคอะไรก็ได้ในยุคเกษตรชาวบ้านต้องการดิน เพื่อจะได้ทำนา มีข้าวกิน ส่วนอาหารหาได้จากธรรมชาติ อยากกินเห็ดเข้าป่า อยากกินปลาลงหนอง ในยุคอุตสาหกรรมชาวบ้านต้องการเงิน เพื่อจะได้ซื้อสินค้าจากตลาดแทนที่จะไปหาจากธรรมชาติ หรือผลิตเอง

วันนี้ มีดิน มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ยุคนี้ชาวบ้านต้องการความรู้ จึงจะอยู่รอด คนไม่มีความรู้จะอยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็จะถูกเขาเอาเปรียบ โกง หลอก ครอบงำ คิดเองไม่ได้ ตัดสินใจเองไม่เป็น ต้องพึ่งคนอื่นหมด ถามคนอื่นหมด เขาชี้ไปทางไหนก็ไป เขาบอกให้ซื้อ ให้กิน ให้มี ให้เป็นอะไรก็ทำตามเขาบอก เพราะตนเองไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ แยกแยะไม่ถูก

อย่างป้าคนหนึ่งในหมู่บ้านแถวๆ ตีนภูพาน กินสะไปรูรีน่าเดือนละ ๒,๙๐๐ บาท ตามที่ลูกสาวซึ่งไปทำงานกรุงเทพฯ บอกให้กินและส่งเงินมาให้ทุกเดือน ป้าได้ยินว่ากินแล้วจะหายเบาหวาน ป้าไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ได้ยิน “เขาว่า” ก็เชื่อ บอกให้ไปถามเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัย ป้าก็ตอบว่า ถามทำไม เพราะ “หมอ” เป็นคนเอามาขายเอง

การปรับกระบวนทัศน์เป็นอะไรที่ซับซ้อน และยากลำบาก เพราะสี่สิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านถูกบอกถูกสอนให้คิดให้ทำอย่างหนึ่ง อยู่ดีๆ จะให้เปลี่ยนคงไม่ง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง และมีทางออกทางเลือกที่สร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา

สิ่งแรกที่ชาวบ้านต้องปรับ คือ ความคิดความฝันว่า “พรุ่งนี้จะรวย” ต้องปรับมาเป็น “พรุ่งนี้จะรอด” วันนี้พวกเขาเป็นเหมือนคนจะจมน้ำตาย จะเอาแต่ไหว้วอนเทวดาอย่างเดียวคงไม่รอด เหมือนคน ๗๐๐ คนในเรือสำเภาที่มุ่งหน้าสู่ “สุวรรณภูมิ” ในพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รอดอยู่คนเดียวคือพระมหาชนก ซึ่งหาทางช่วยตัวเอง และว่ายไปเรื่อยๆ แม้ไม่เห็นฝั่งก็ยังว่าย ความเพียรอันบริสุทธิ์ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ ช่วยให้พระองค์รอดได้

การปรับวิธีคิดให้หาทาง “รอด” ก่อนหาทาง “รวย” เป็นอะไรที่เกิดได้ถ้าหากคนเริ่ม “ตั้งหลัก” ใหม่ ตั้งหลักโดยกลับไปหา “หลัก” เดิมที่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของเราเคยยึด และเอาตัวรอดมาได้ เกิดเรา เลี้ยงเรามาจนโตเป็นผู้เป็นคน

หลักแรก คือ คุณธรรม สิ่งที่ค้ำจุนชีวิตให้อยู่ได้ด้วยความดีงาม ความซื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา รวมทั้งความกล้าหาญในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ และมีความเพียรแสวงหาทางออกด้วยสติและปัญญา

หลักที่สอง คือ ภูมิปัญญา เมื่อกลับไปหาคุณธรรม ต้นกำเนิดของชีวิตและความสุขที่แท้จริงแล้ว ควรกลับไปหารากเหง้าด้วย กลับไปค้นหาคุณค่าดีงามของบรรพบุรุษ ความรู้ภูมิปัญญาในการทำมาหากิน การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ กับคนอื่น

กลับไปเรียนรู้ “เคล็ดลับ” ของปู่ย่าตายายว่าท่านทำอย่างไรจึงอยู่รอดได้ในสภาวะที่ยากลำบาก บางปีอดอยากยากแค้นเพราะฝนแล้งน้ำท่วม มีภัยพิบัติทางธรรมชาติบ้าง ทางสังคมบ้าง เกิดโรคระบาดบ้าง สงครามบ้าง แต่ท่านก็เอาตัวรอดมาได้

หลักที่สาม คือ ความเรียบง่าย รากฐานและพื้นฐานของชีวิต หมายความว่ามีสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างพอเพียง และมีความสะดวกสบายพอสมควร แต่ก็ไม่ไปถึงขั้นฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็นและสะดวกสบายจนเกินพอดี

การรับประทานอาหารที่ดี มีคุณค่าต่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องขึ้นเหลา เข้าร้านอาหารแพงๆ โรงแรมห้าดาว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปนั่งข้างถนนเสมอไป ใครๆ ก็รู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่า เท่าไรจึงจะเป็นการกินให้พอดี อยู่ให้พอดี

ไปกินเลี้ยง สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ กินได้ไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือทิ้งไป เป็นความฟุ่มเฟือยเปล่าประโยชน์ อาจจะแสดงออกถึงฐานะและ “หน้าใหญ่” ของผู้จัด แต่เป็นอะไรที่เกินพอดี

เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับ บ้างช่องห้องหอ เครื่องใช้ไม้สอย ล้วนแต่เป็นอะไรที่เลือกให้พอดีพองาม พอเหมาะพอควรได้

ลองหาเวลาว่างๆ เปิดตู้เสื้อผ้า แล้วหยุดพิจารณาสักพักจะพบว่า เสื้อผ้าที่เราใช้จริงๆ มีอยู่ไม่กี่ตัวเอง ส่วนใหญ่ก็ตัวที่ชอบๆ นั่นแหละ ตัวอื่นๆ ก็แทบไม่เคยไส่เลย แต่ก็ยังเก็บไว้ให้รกตู้อยู่ได้ รวมไปถึงรองเท้า ซึ่งทั้งปีทั้งชาติใส่แค่คู่โปรดคู่เดียวเท่านั้น อย่างมากก็สอง แต่ก็มีคู่อื่นๆ อีกเต็มตู้จนต้องใส่ลังซุกไว้ที่ไหนก็แทบจะจำไม่ได้

บ้านเรือนของบางคนมีข้าวของมากมายที่ซื้อไว้ ได้ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้าง ของเก่าเก็บมาจากไหนก็ไม่รู้ เต็มบ้านจนหาทางเดินเข้าบ้านแทบไม่ได้ จนคนผ่านไปมาคิดว่าเป็นร้านรับซื้อของเก่า

การมีของเก่าเต็มบ้าน เช่นนี้เกิดจากความผูกพัน ความเสียดาย กลายเป็นมัธยัสถ์เกินเหตุเกินควร เกินพอดี กลายเป็นความยึดติด ยึดมั่น เป็นทุกข์ จนอาจกลายเป็นโรคทางกาย ทางจิต เพราะหมักหมมอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย ตายไปญาติพี่น้องยังเก็บใส่โลงให้ก็มี เพราะเห็นชอบเหลือเกิน

สามหลักนี้รวมกันแล้ว น่าจะเป็นคำอธิบายองค์ประกอบแรกของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “พอประมาณ” รากฐานคุณธรรม ทำให้คนเดินทางสายกลาง ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อยู่พอดี กินพอดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ

การปรับกระบวนทัศน์ต้องปรับทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่า แปลว่า ปรับการตีค่าสิ่งต่างๆ ว่า เหมาะสม ดีงาม พอดี คืออะไร ตรงไหน เท่าไร

ไม่ใช่เพียงแต่การเลือกซื้อ เลือกใช้ให้มีสติเท่านั้น แต่เลือกที่จะอยู่ จะไป อย่างมีสติด้วย การปรับ “ความเร็ว” เป็นอะไรที่คนอาจมองข้าม รวมทั้งการปรับ “ขนาด”

ความเร็วในสังคมเกษตรช้ากว่าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมช้ากว่ายุคโลกาภิวัตน์ ยุคไอที ซึ่งทุกอย่างวิ่งด้วยความเร็วเท่าแสง เกิดอะไรขึ้นที่ไหนในโลกรับรู้ได้เท่ากัน เท่าทันกันหมดถ่ายทอดสดเห็นพร้อมกันทั้งโลก ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองในหมู่บ้าน ในทุ่งนาหรือป่าเขา

ผู้คนในสังคมวันนี้จึงอยู่กันด้วย ความเร็วเกินขนาด เกินพอดี มีปัญหาต่างๆ ที่เกิดเพราะความเร็ว เกิดอุบัติเหตุเพราะรถสมัยนี้เร็วขึ้นทุกวัน ใหญ่ขึ้นทุกวัน ความเร็วของการเดิน การวิ่ง ความเร็วของการทำงานก็เพิ่มขึ้น อยู่กันดึกดื่น ซึ่งก็มีผลทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้น โรคกระเพาะโรคประสาทมากขึ้น บ้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น

คนวันนี้รอไม่ได้ ปลูกต้นไม้ก็ต้องหาต้นใหญ่ๆ มาปลูก เพราะรอเห็นมันค่อยๆ โตตามธรรมชาติไม่เป็น อยากเห็นออกดอกออกผลวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ ลงทุนซื้อ “ความเร็ว” และ “ขนาด” ด้วยเงินเป็นหมื่นเป็นแสน แทนที่จะซื้อแค่สิบบาทร้อยบาท ได้เมล็ดได้กล้าเล็กต้นเล็กมาปลูก ปล่อยให้มันโตตามธรรมชาติ และนี่คือความเร็วตามธรรมชาติ

วันนี้ คนรีบเร่ง เร่าร้อน อยากรวยเร็วๆ ทำมาหาเงินจนไม่มีเวลาให้ลูก ให้ครอบครัว ไม่มีเวลาให้คนอื่น และที่สุดไม่มีเวลาให้แม้กระทั่งตัวเอง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เวลากินไม่ได้กิน เวลานอนไม่ได้นอน เวลาพักผ่อนก็ไม่มี กลายเป็นคนบ้างาน สุดท้ายก็ได้บ้าจริงๆ เพราะความเกินพอดีไม่มีคุณ มีแต่โทษ

หลายคนคิดว่า ถ้าไม่รีบทำงานหาเงินตอนนี้ อีกไม่กี่ปีก็อาจไม่มีโอกาส ฉะนั้นน้ำขึ้นต้องรีบตัก แต่เพราะตักมาก รีบมาก เร่งมาก ทำงานจนเกินกว่าที่ร่างกายจิตใจจะรับไหว ได้เงินมาเท่าไรก็อาจไม่มีโอกาสได้ใช้ อาจตายหรือพิการเสียก่อน

ธรรมชาติ ให้อะไรที่พอดี พองามมาอยู่แล้ว มนุษย์ไปบิดเบือน ปรับเปลี่ยนจนเพี้ยนไปหมดอะไรที่ผิดธรรมชาติจึงไม่อาจดีและงามตามธรรมชาติ ได้

ชีวิตคนเราก็ทำงานบ้าง พักบ้าง หยุดบ้าง เหมือนการพูดการเขียน มีเงียบบ้าง เว้นระยะบ้าง เว้นวรรคบ้าง ก็ทำให้คำพูดและคำเขียนนั้นสมบูรณ์

องค์ประกอบประการที่สองของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีเหตุผล แปลความได้ว่า ทำอะไรควรใช้ข้อมูล ความรู้ วิชาการ ควรทำงานอย่างมีแบบมีแผน ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ทำ ใช้ความรู้สึกมากกว่าความรู้ ใช้ความเห็นมากกว่าการพินิจพิจารณา

ไม่ใช่เห็นคนอื่นทำ แล้วรวย เราก็ทำบ้าง การเลียนแบบเป็นอะไรที่เกิดขึ้นทั้งในชนบทและในเมือง ถึงได้จน ล้มเหลว เป็นหนี้เป็นสินกันมาก มีคนปลูกปอสองสามคนแล้วรวย ทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลก็เฮโลปลูกตามบ้าง ไม่นานปอก็ราคาตก สามคนปลูกมันสำปะหลังแล้วรวย ทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลก็ปลูกบ้าง แล้วก็พากันจนทั้งตำบลทั้งหมู่บ้าน คนที่รวยคือพ่อค้า

พอคิดจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า ลงทุนลงแรงทำโอทอปกับเขา ปรากฎว่าขายไม่ออก เป็นหนี้เป็นสินกันทั้งกลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน เพราะค้าขายไม่เป็น ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้และประสบการณ์

ความมีเหตุมีผลไม่ได้หมายถึงแต่เพียงความคิดเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำก็ควรมีเหตุมีผล มีขนาดพอเหมาะพอควร ทำเป็นขั้นเป็นตอน ทีละเล็กละน้อย จากเล็กไปหาใหญ่ ไม่ใช่ตรงกันข้าม ทำกินทำใช้จนเก่งกล้าสามารถ จึงค่อยผลิตเพื่อนำออกสู่ตลาดภายนอก ทำให้เกิดความมั่นคงในครัวเรือน ในชุมชน แล้วค่อยขยายออกไปสู่เครือข่าย และสู่ตลาดใหญ่

ไม่ใช่ทำแชมพูสมุนไพรดอกอัญชัน มะคำดีควาย ว่านหางจระเข้ เสร็จแล้วก็วิ่งหาตลาดใหญ่ในเมืองหน้าดำคร่ำเครียด โดยมิได้ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์ของตนเองสู้ของคนอื่น โดยเฉพาะของพ่อค้าได้หรือไม่ มีอะไรที่วิเศษไปกว่าของคนอื่น แค่สมุนไพรสามตัวไม่ได้เป็นข้อแตกต่างแล้ว สมัยนี้พ่อค้าเขาใช้กว่าสามสิบตัว ขวดก็สวยกว่า ตลาดก็ใหญ่กว่า ลูกค้าก็มากกว่า โฆษณาทุกวัน แล้วจะเอาอะไรไปสู้เขา

ความมีเหตุมีผลมาจากการเรียนรู้ ซึ่งมีทั้งการค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นฐาน การเรียนรู้ภูมิปัญญาสากล เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาประกอบประยุกต์ในการจัดการชีวิต จัดการทรัพยากร จัดการผลผลิต จัดการสุขภาพ จัดการทุน จัดการการพัฒนาท้องถิ่น

ความมีเหตุมีผลแปลว่ามีข้อมูล มีความรู้ มีความสามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลกที่ซับซ้อนนี้ อย่างน้อยก็ยังสามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ตัดสินใจว่าจะกิน จะอยู่อย่างไร ไม่ใช่ใครว่าดีก็ดีด้วย ใครสวยก็สวยด้วย เขาบอกว่าความสุขดื่มได้ ก็อยากดื่มความสุข

การมีเหตุมีผลคือการไม่ถูกครอบงำจากสังคม คิดได้ คิดเป็น เลือกเดินทางที่ตนเองเห็นว่าถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นชี้นำหมด ผลผลิตก็ให้พ่อค้า การศึกษาก็ให้ครู สุขภาพก็ให้หมอ การพัฒนาก็ให้ข้าราชการและนักการเมือง

การมีเหตุมีผล จึงหมายถึงการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย ขอให้แสวงหาความรู้ ซึ่งวันนี้ทำได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมากนัก วันนี้มีกล่องวิเศษสมองกลอยู่กล่องเดียว (คอมพิวเตอร์) ถามอะไรมันก็ตอบได้ จากสากกะเบือยันเรือรบ จากเรื่องขี้หมูขี้หมาไปถึงเรื่องความเป็นความตายอะไรก็ได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าอยากรู้หรือไม่ และพูดจาภาษาไอทีเป็นหรือไม่

นอกนั้น ก็สามารถหาซื้อหนังสือหนังหามาอ่านเองที่บ้านได้ตามใจชอบ หนังสือมีเป็นแสนเป็นล้านเล่ม มีร้านหนังสือ อาณาจักรหนังสือ งานแสดงหนังสือระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ทุกวันก็มีแผงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร น้ำเน่าก็มี น้ำดีก็มาก เลือกได้ไม่ยาก มีขายทั่วไป

นอกนั้น โอกาสการเรียนรู้ในระบบนอกระบบก็มีมากมาย เรียนได้ในสถาบันการศึกษาซึ่งมีกระจายไปทั่ว เรียนในชุมชนหมู่บ้านก็ได้ ถ้ามีความสามารถก็เรียนทางไกลส่งตรงถึงบ้านก็ได้ และยังมีหลักสูตรฝึกอบรมสั้นยาวอีกมากมาย สำคัญที่ว่า อยากเรียนรู้หรือไม่

อย่างที่บอกไว้ตอนต้น สังคมวันนี้เป็นสังคมความรู้ คนไม่มีความรู้จะอยู่ไม่ได้ ผู้นำที่ไม่มีความรู้ก็อยู่ไม่ได้ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ มีเงินกับอำนาจเท่านั้นไม่เพียงพอ ชาวบ้านวันนี้ไม่ได้โง่ให้ครอบงำง่ายๆ อีกแล้ว พวกเขาได้รับข้อมูล ข่าวสาร ได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้จากสื่อ จากคนอื่น รู้สิทธิหน้าที่ของตนเองมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ใช่จะไปหลอกเอาง่ายๆ ได้อีกต่อไป

คนทั่วไปวันนี้มีดิน มีเงิน แต่ไม่มีความรู้ก็อยู่ไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็เอาดินไปขายกิน เงินที่มีอยู่ เมื่อไม่รู้จักใช้ก็หมด เหลือแต่หนี้

ประเทศที่คนเขามีความรู้ แม้ไม่มีดินทำนาเขาก็ขายข้าว ไม่มียางสักต้นก็ขายยาง ไม่มีน้ำมันสักบ่อก็ขายน้ำมัน เขาใช้ความรู้บริหารจัดการจนประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีประชากรเพียงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่พัฒนากว่าประเทศไทย ผู้คนมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนไทยไม่รู้กี่เท่า

ชาวยิวกลับประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจอแต่ทะเลทรายและความแห้งแล้ง ชาวยิวมีความรู้ มีปัญญา สามารถทำให้ทะเลยทรายกลายเป็นป่าเป็นสวน เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยความรู้

ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำบลที่พัฒนาแบบพึ่งตนเองมานานแล้ว โดยมีผู้นำอย่างลุงประยงค์ รณรงค์และอีกหลายคนช่วยกันสร้างชุมชนเรียนรู้ จนกระทั่งพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของตนเองขึ้นมาทีละเล็กละน้อย เกิดระบบและแบบแผนการพัฒนาซึ่งกลายเป็นตัวแบบของการพัฒนาชุมชน ซึ่งมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซยอมรับ นำไปเผยแพร่ผ่านซีเอ็นเอ็นไปทั่วโลก ยกย่องว่า เป็นชุมชนต้นแบบการแก้ปัญหาความยากจนด้วยทุนทางปัญญา และการจัดการที่เป็นระบบ

ลุงประยงค์ รณรงค์มักพูดบนเวทีเสมอว่า การที่วันนี้เกษตรกรทำอะไรมักล้มเหลว เพราะทำโดยไม่มีความรู้ ไม่รู้จริงกับสิ่งที่ตนเองทำ ลุงจะพูดต่อไปว่า ที่ไม้เรียง ชาวบ้านจะได้เรียนทุกอย่างที่อยากรู้ และต้องรู้ทุกอย่างที่ตนเองทำ

ไม้เรียงเป็นที่มาสำคัญของการทำแผนแม่บทชุมชน การเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์การกินการอยู่ของตนเอง แล้วหาทางจัดการใหม่ให้มีเหตุมีผลมากกว่าเดิม อะไรพอทำได้เองก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ซื้อ จัดระบบการผลิต การบริโภค การตลาด การออม สวัสดิการร่วมกัน

ไม้เรียงเคยเป็นแดนสนธยามาก่อน ผู้คนเป็นพันเป็นหมื่นจากทั่วประเทศไปไม้เรียงเพื่อขุดแร่ที่เขาศูนย์ กว่าสิบปีไม้เรียงไม่อาจเรียกว่า “ชุมชน” ได้ มาฟื้นคืนสภาพเป็นชุมชนเมื่อมีการปิดเขาศูนย์เมื่อปี 2523 ไม้เรียงเริ่มเรียนรู้ใหม่ และเติบโตขึ้นมาใหม่ด้วยการเรียนรู้ และอยู่อย่างมั่นคงได้เพราะฐานความรู้

ไปเรียนรู้การทำโรงงานยางแผ่น รมควัน แล้วก็นำมาประยุกต์กับชุมชนของตนเอง ระดมทุนตั้งโรงงานของตนเอง แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จนกระทั่งต้องลงมือทำแผนแม่บทยางพาราไทย จึงได้ทางออกที่มีผลมาจนถึงวันนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะสำหรับไม้เรียง แต่สำหรับชาวสวนยางทั้วประเทศ และประเทศผลิตยางทั้งหลายอีกด้วย

องค์ประกอบที่สามของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี นับเป็นพระปรีชาญาณอันล้ำลึกของพระบาทสมเด็จอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นประเด็น นี้ เพราะที่ผ่านมาและเป็นอยู่คือปัญหาใหญ่สุดของชีวิตชาวบ้าน

ทรงใช้คำว่า “ภูมิคุ้มกัน” ทำให้เราเห็นภาพชัดเจน เพราะเหมือนร่างกายที่ขาดภูมิคุ้มกันที่ดี ทำให้เกิดโรคต่างๆ เห็นได้ชัดที่สุดคือโรคเอดส์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งโดนเชื้อโรคอะไรก็ป่วยไข้ได้หมด เพราะไม่มีอะไรไปต้านทานเชื้อโรคเหล่านั้น ขณะที่คนแข็งแรงธรรมดาๆ ไม่เป็นอะไร

ปัญหาสำคัญของชาวบ้านวันนี้คือ การขาดความมั่นคงในชีวิต ไม่มีระบบสวัสดิการ ไม่มีหลักประกัน ยามแก่เฒ่าก็ไม่มีบำเหน็จบำนาญ บางคนมีลูกมีหลานอาจจะพอพึ่งพาอาศัยได้ แต่หลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เผชิญชีวิตที่โหดร้ายตามลำพัง แรงกายก็ค่อยๆ หายไปตามอายุขัย ไม่มีวิชาความรู้อะไร สิ่งที่ได้มาในชีวิตก็แลกมาด้วยด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย

ชีวิตในชุมชน ซึ่งเคยพึ่งพาอาศัยกันก็เปลี่ยนไปเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างก็ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ เพื่อแก้ปัญหาการทำมาหากิน ปัญหาหนี้สิน ชีวิตไม่มีระบบระเบียบอะไรไปมากกว่าการหาเงิน หาที่บ้านไม่ได้ก็ไปหาในเมือง ไปต่างที่ต่างถิ่น พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง ชีวิตที่แยกกันอยู่แยกกันเดินเช่นนี้จะเหลือภูมิคุ้มกันอะไร ในเมื่อครอบครัว อันเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้

ในวิถีดั้งเดิมของชุมชน มีระบบชีวิต มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ระหว่างคนกับธรรมชาติ สะท้อนออกมาในระเบียบต่างๆ ในจารีตประเพณี วิถีปฏิบัติ อย่างฮีตสิบสองคองสิบสี่ในอีสาน และที่ปรากฎในการทำมาหากิน การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นระบบภูมิคุ้มกันของชุมชน ภูมิคุ้มกันของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การพัฒนาสมัยใหม่ได้ทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวลงไปเกือบหมด เป็นการพัฒนาที่คล้ายกับโรคชนิดหนึ่งที่ทำลายภูมิคุ้มกันของตนเองของคน และทำให้คนตายไปในที่สุด

ชีวิตทุกชีวิตล้วนสัมพันธ์กัน สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนสัมพันธ์กัน จน “เด็ดดอกไม้ดอกเดียว กระเทือนถึงดวงดาว” การพัฒนาสมัยใหม่ทำลายล้างดอกไม้หลายร้อยดอกหลากสีที่เบ่งบานในทุ่งนาไปจน หมด ทำลายด้วยยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ใช้สารเคมีกระตุ้น เร่งดิน พืช สัตว์ ตัดแต่งยีนเพื่อทำให้ได้ใหญ่กว่า มากกว่า เพื่อผลทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายระบบความสัมพันธ์ทางธรรมชาติและระบบนิเวศ

ความพอเพียงมีความหมายรวมไปถึงความสมดุล ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวพัน เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นปฏิสัมพันธ์ (interactive) เป็นความสัมพันธ์สองด้าน ไป-กลับ โต้-ตอบ เกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดพลัง และนี่คือความหมายของระบบ ระบบชีวิต ระบบธรรมชาติ ระบบนิเวศ

ในวิถีดั้งเดิมนั้น การทำมาหากิน หาเช้ากินเช้า หาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า ที่ภาคอีสานเรียกว่า เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน เป็นเศรษฐกิจยังชีพ (Subsistence Economy) ฝากชีวิตไว้กับธรรมชาติ กับแม่ธรณี แม่โพสพ เจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง

ก่อนทำอะไรไม่เคยละเลยการบอกกล่าว ขออนุญาต ผู้คนอยู่อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ มีอำนาจไปควบคุมธรรมชาติ อันเป็นความรู้สึกหลงตัวเองที่มาพร้อมกับการพัฒนา กับวิทยาการ กับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากตะวันตก อันเป็นที่มาของการทำลายล้าง ก่อให้เกิดความทันสมัยที่ไม่พัฒนา ระบบชีวิตและธรรมชาติชำรุดเสียหายจนยากจะเยียวยา

นี่เป็นการทำลายระบบภูมิคุ้มกันที่ดีที่มีอยู่ในสังคม ที่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษได้สร้าง สะสม สืบทอด ถ่ายทอดต่อๆ กันมา น่าจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมครอบครัวจึงไม่อบอุ่น ชุมชนจึงไม่เข้มแข็ง และน่าจะช่วยให้เราหาหนทางฟื้นฟูสภาพป่วยไข้ และช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมอีกครั้งหนึ่ง

ยี่สิบปีที่แล้ว ชาวบ้านบัว อำเภอกุดบาก ที่อาศัยอยู่ตีนภูพาน จังหวัดสกลนครอยู่ในสภาพที่ลำบากยากแค้น ไม่มีข้าวกิน มีแต่หนี้สินล้นพ้นตัว ขึ้นไปเห็นสภาพแวดล้อมแล้วก็พอเข้าใจว่า ทำไมถึงได้ตกอยู่ในสภาพเลวร้ายขนาดนั้น

ป่าภูพานเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ วันหนึ่งป่าก็ถูกถางจนเตียน ชาวบ้านปลูกปอปลูกมัน เพราะเห็นคนที่เริ่มปลูกคนแรกๆ แล้วรวย แต่เมื่อปลูกกันทุกคนราคาก็เริ่มตก วิธีแก้ง่ายๆ คือการขยายที่เพาะปลูก จะได้ผลผลิตมากขึ้น ป่าหมดไม่เป็นไร

เมื่อถนนเข้า ไฟฟ้าเข้าเมื่อประมาณปี ๒๕๒๐ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ทะลักเข้าหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น พัดลม ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง ขายปอขายมันเท่าไรก็ไม่พอ ก็ไปหาเห็ด หาหน่อไม้ ผักหวาน ผักคอนแคน อีลอก ดอกกะเจียว ทุกอย่างในป่าเอาไปขายเพื่อจะได้เงินไปใช้หนี้ จนป่าหมด ไม่เหลือแม้แต่สำหรับเอามากินเอง ต้องซื้ออาหารการกินจากตลาดเคลื่อนที่ที่วิ่งเข้าออกหมู่บ้านวันละหลายครั้ง

นับเป็นโศกนาฎกรรมของชีวิตที่ผู้คนที่เคยอยู่เย็นเป็นสุข มีอาหารเหลือกิน วันหนึ่งต้องดิ้นรนเอาตัวรอด อยู่อย่างอดๆ อยากๆ จนต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อกิน หนี้สินพอกพูน ชีวิตก็ถึงทางตัน

วันหนึ่งชาวบ้านได้ค้นพบตัวเอง ค้นพบเพราะมีคนเรียนจบวิชาเอกพัฒนาชุมชนจากวิทยาลัยครูสกลนครเข้าไปทำงาน วิจัยเพื่อการพัฒนา (เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิหมู่บ้านกับวิทยาลัยครู) เข้าไปถาม ไปพูดไปคุย ไปทำให้ชาวบ้านได้เห็นปัญหาและเห็นทางออก ได้ค้นพบตัวเอง ได้เห็นอดีต ได้สัมผัสกับรากเหง้าของตนเอง

นั่นคือที่มาของกระบวนการฟื้นฟูชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยยุทธการ “ยกป่ามาไว้สวน” อยากกินอะไรก็เอามาปลูก คนละร้อยสองร้อยชนิด เหลือกินก็ขาย มีเงินใช้หนี้ มีอาหาร มีสวัสดิการ มีความมั่นคง สิ่งที่ชำรุดก็ฟื้นกลับคืนมา ทั้งป่า ทั้งชุมชน ขยายเครือข่ายออกไปเป็นเครือข่ายอินแปงที่คนรู้จักกันวันนี้

อินแปงได้พิสูจน์ความจริงข้อหนึ่งว่า ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติกลับคืนมา ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลับคืนมา เมื่อนั้นพลังอันยิ่งใหญ่ก็กลับคืนมา คนจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกัน คนรักษาป่า ป่าก็รักษาคน คนรักธรรมชาติ ธรรมชาติก็รักคน เป็นปฏิสัมพันธ์ เป็นระบบชีวิต เป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

วันนี้สวนห้าหกไร่ของชาวบ้าน มีสารพัดอย่างที่ปลูกไว้ เลี้ยงไว้ ให้อาหาร ให้รายได้ ให้ความมั่นคงแก่ชีวิตวันนี้และวันหน้า วันที่อายุมากขึ้น ไม่มีแรงทำงานต่อไปก็ไม่ต้องทำ นำเอาไม้ใหญ่น้อยจำนวนหนึ่งไปแปรเป็นไม้กระดาน ขายได้สักล้านสองล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสวนที่เต็มไปด้วยไม้ใหญ่น้อย อายุ ๒๕-๓๐ ปี คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาท

ขายได้เงินล้านแล้วอยากทำบุญก็ ทำ อยากไปเที่ยวไหนก็ไป ไปทัวร์เมืองนอกก็ไปได้ อยากกินอะไรก็กิน มีเวลาพักผ่อน มีเวลาทำงานเพื่อสังคม เพื่อชุมชน

วันนี้ชีวิตของชาวอินแปงมีระบบ ระบบซึ่งอาจจะแฝงเร้นในวิถีชุมชน มีการจัดการการผลิต การบริโภค การแปรรูป สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กองทุนและสวัสดิการ มีกิจกรรมต่างๆ หลายสิบกิจกรรมที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกิจกรรม (หรือที่เรียกว่า คลัสเตอร์) ที่เกื้อกูลกัน เสริมกันให้เข้มแข็งแบบ “ผนึกพลัง” หรือ “สนธิพลัง” (synergy) ก่อให้เกิดผลมากกว่าบวก

ระบบเช่นนี้มีความมั่นคง เป็นเป็นระบบชีวิตที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน ไม่ได้ต้องการตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นอันดับแรก พ่อค้าแม่ค้าไปหาซื้อของจากสวนได้เสมอ ไม่ว่ายอดหวาย ผัก ผลไม้ ปลา ไก่ หมู แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ผลิตเพื่อตลาด แต่ทำไว้กิน เหลือกินก็ขาย เป็นรายได้ที่เก็บสะสมเป็นสวัสดิการของตนเองและของชุมชน

ชาวอินแปงทำน้ำผลไม้ป่าพร้อมดื่ม เพื่อทดแทนน้ำอัดลมที่ซื้อกันจากตลาด พวกเขาได้เรียนรู้ว่า น้ำอัดลมไม่ค่อยมีประโยชน์ สู้น้ำผลไม้ป่าไม่ได้ ซึ่งอุดมด้วยสารอาหาร เป็นอะไรที่พวกเขามีอยู่มากมาย จึงเรียนรู้และทำน้ำหมากแงว หมากไฟ หมากค้อ หมากเม่า จนแพร่หลายไปทั่ว เพราะเป็นอะไรที่แปลก และมีคุณค่าต่อสุขภาพ

วันดีคืนดีก็มีคนชวนให้ ทำไวน์หมากเม่า พวกเขาก็ลองดูและขายได้ดีในปีแรกๆ วันนี้ก็คงไม่ต่างจากไวน์ชาวบ้านทั่วไปที่ขายไม่ค่อยดี แต่ที่พวกเขาไม่เจ๊ง ไม่ขาดทุน เพราะไม่เคยผลิตแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่เคยเอาตลาดเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เอาความต้องการของท้องถิ่นเป็นหลัก ไม่ใช่เอากำไร เอารายได้เป็นหลัก

ชาวอินแปงได้เรียนรู้ว่า ชีวิตเกษตรกรนั้นเสี่ยงยิ่งนัก ไม่มีหลักประกันอะไรเลยก็ว่าได้ เสี่ยงยิ่งกว่านักกายกรรมที่ตีลังกาอยู่ในอากาศ ซึ่งยังดีที่มีสลิงก์รัดเอว หรือไม่ก็มีตาข่ายกางไว้รองรับก่อนตกถึงพื้น ชาวบ้านไม่มีอะไรเลย พลาดพลั้งตกลงมาขาหัก แข้งหัก คอหักตายกันไม่รู้เท่าไร

จะรอให้รัฐสร้างระบบให้ก็คงสายเกินไป แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ไม่รู้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะต้องใช้เวลานานเพียงใดเพื่อให้ได้แนว คิด นโยบาย และระบบที่เป็นหลักประกันให้ชีวิตของชาวบ้านได้มั่นคงและอุ่นใจได้บ้าง

รัฐ และคนนอก ทั้งราชการ นักวิชาการ นักพัฒนา และนักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองท้องถิ่นดูจะไม่เคยสนใจที่จะสร้างระบบ ได้แต่ส่งเสริมชาวบ้านแบบให้โครงการ ซึ่งแปลว่าให้งบประมาณไปก้อนหนึ่งเพื่อ “ทำโครงการ”

โครงการนั้นสร้างได้ด้วยเงิน แต่ระบบสร้างได้ด้วยปัญญา

โครงการสร้างได้ด้วยเงินและความรู้ ซึ่งมาจากการฝึกอบรมให้รู้ทักษะในการทำโน่นทำนี่ แต่มักไม่ยั่งยืน เงินหมดก็เลิก ขอโครงการใหม่

ระบบสร้างได้ด้วยปัญญาและทุนของท้องถิ่น ทุนซึ่งไม่ได้แปลว่าเงินเท่านั้น แต่หมายถึงทุนทางสังคม ทุนความรู้ภูมิปัญญา และทุนทรัพยากร เมื่อมีปัญญาและค้นหาทุนเป็น ชุมชนท้องถิ่นก็มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

ระบบเป็นหลักประกันความมั่นคงยั่งยืน ระบบเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้ชุมชน ระบบเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ที่ผนึกพลังหรือสนธิพลังกันจนให้ผลลัพธ์มากกว่าบวก อาจเป็นคูณ

ที่เป็นคูณเพราะผลลพัธ์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ความเชื่อมั่นที่เกิด ความสามัคคี ความสัมพันธ์ที่ดี ความมีเมตตาต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และหลักประกันด้านอาหารและปัจจัยสี่ที่ไม่มีวันขาดแคลน เป็นอะไรที่วัดไม่ได้ คำนวณไม่ได้

นี่คือความหมายของคำว่า “ทวีคูณ” เป็นอะไรที่ประมาณการมิได้ คนเราเมื่อใจมาปัญญาก็เกิด เมื่อเกิดปัญญา คนก็อยู่กับร่องกับรอย ชีวิตมีระบบระเบียบ มีแบบมีแผน คนเช่นนี้มีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ กับปัจจุบัน ไม่มีทั้งอดีต ไม่มีทั้งอนาคต ตามยถากรรม

วันนี้เรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ เปี่ยมไปด้วยพลัง เรามีตัวอย่างระดับประเทศอย่างภูฏาน มีตัวอย่างของชุมชนและเครือข่าย ตัวอย่างบุคคลและครอบครัวทั่วทุกภาคของประเทศ

เราต้องการเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เริ่มต้นที่ตัวเราเอง “จุดเทียนขึ้นมาคนละเล่ม ดีกว่านั่งด่าความมืด” (ภาษิตจีน) เราจะได้แสงสว่างที่อาจจะสว่างไสวไปทั่วแผ่นดิน

เริ่มที่การทบทวน การสำรวจตัวเราเองว่าวันนี้ “พอเพียง” หรือไม่ อย่างไร เพียงใด ควรจะจัดการอย่างไรให้ตัวเราเองพอเพียง และมีความสุข

ชีวิตเรามีระบบระเบียบ มีแบบมีแผนพอเพียงหรือไม่ หรือปล่อยไปวันๆ ตามบุญตามกรรม ไปไหนก็แล้วแต่ลมจะพัดพาไป กระแสไปทางไหนก็ไปทางนั้น

เริ่มที่องค์กรของเรา หน่วยงานของเรา สถาบันของเรา ชุมชนของเรา เริ่มทบทวน ประเมินตัวเอง สำรวจตัวเอง สร้างระบบระเบียบที่อยู่บนหลักของความพอเพียง ช่วยกันสร้างกรอบ เกณฑ์ ตัวชี้วัด ที่จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกัน ทำงานกันอย่างพอเพียง

ช่วยกันสร้าง “รูปแบบ เนื้อหา กระบวนการ” ของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม

ช่วยกันตั้งคำถาม ตรวจสอบนโยบายสาธารณะต่างๆ โครงการต่างๆ ที่ใช้งบประมาณ อันเป็นภาษีอากรของเรา ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความเร็ว” เกี่ยวกับ “ขนาด” เกี่ยวกับปริมาณ-คุณภาพ ถามให้ได้ว่า ทำไมต้องซื้อต้นไม้ใหญ่ๆ ราคาเป็นหมื่นเป็นแสนไปปลูกข้างถนน ในสวนสาธารณะ เอาต้นเล็กๆ ราคาไม่กี่สิบบาทร้อยบาทไปปลูก ไม่ได้หรือ รอไม่ได้ หรือมีวาระซ่อนเร้นอื่น

ช่วยกันตั้งคำถามว่า ทำไมต้องลงทุนสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯ ใหญ่โตมโหฬาร โครงการเดียวเป็นแสนๆ ล้าน รวมหมดเป็นล้านล้านบาท แต่โครงการช่วยเหลือชนบท เกษตรกร คนยากคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับมีแค่ไม่กี่หมื่นล้านบาท

ทำไมต้องทำให้กรุงเทพฯ โตแบบไม่รู้หยุด ไม่หาทางส่งเสริมความเจริญในท้องถิ่น ส่งเสริมเมืองเล็กๆ ให้น่าอยู่ ให้คนมีแรงจูงใจไปอยู่ในชนบท มากกว่าอยู่ในเมืองใหญ่ๆ

ช่วยกันตั้งคำถามและตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่น ที่ชอบเลียนแบบนักการเมืองระดับชาติ เลียนแบบรัฐบาลที่ชอบสร้างอะไรใหญ่โต ทำอะไรโดยไม่มีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในใจเลยแม้แต่น้อย

คนไทยเรา โชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพียงแต่ด้วยคำพูดคำสอน แต่ด้วยแบบอย่างชีวิต แบบอย่างของความเรียบง่าย ความพอดี ความพอเพียง แบบอย่างของ “สูงสุดคืนสู่สามัญ”

เราจะโชคดีและมีความสุข ถ้าเราลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

ดร.เสรี พงศ์พิศ

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 December 2006 )

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

« « Prev : เนื้อนาบุญที่ติดตัวเปลี่ยนคน

Next : คิดชอบ ชอบคิด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 กุมภาพันธ 2012 เวลา 8:15

    ชอบมาก ถูกอกถูกใจหลายเด้อ อาจารย์เสรี ท่านเป็นคริสเตียน แต่ไปทำปริญญาเอกที่เยอรมันด้านศาสนาเปรียบเทียบ และท่านมาศึกษาท่านพุทธทาสที่สวนโมก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.068344116210938 sec
Sidebar: 0.12480902671814 sec