ตามลม (๘๗) : จะทำยังไงกับตะกอนดีนะ
วันนี้มีแต่ต้องจัดการย้ายที่อยู่ของเจ้าหลอดที่เห็นไม่ให้แช่น้ำ เพื่อไม่ให้ปรอทปนเปื้อนเพิ่ม แล้วย้อนรอยกลับไปดูเส้นทางที่บำบัดน้ำก่อนหน้า เพื่อให้รู้ว่าตะกอนมีสารประกอบปรอทอยู่ด้วยหรือไม่
ต้องขอบคุณเจ้าหลอดที่เห็นมากๆ ที่กระตุกให้ไปย้อนรอยดูเส้นทางขยะหลอดฟลูออเรสเซนต์ซ้ำ ระบบมีวางไว้รองรับแล้ว ให้แยกเก็บขยะเหล่านี้รวบรวมไว้ในที่หนึ่ง ก่อนส่งไปให้จัดการอย่างถูกวิธี
ผู้มีพระคุณที่ช่วยจัดการให้ คือ อบจ.ภูเก็ต อบจ.ที่คิดดีทำดีน่าชื่นชม เขาทำโครงการขนส่งของเสียอันตรายออกจากเกาะภูเก็ตขึ้น เพื่อส่งเสริมกลไกการจัดการของเสียอันตรายที่เหมาะสม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังพฤติกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยทั่วไปให้แก่ประชาชน และลดผลกระทบจากขยะอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี
คณะทำงานในโครงการนี้ ประกอบด้วย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต และโดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในเขตอันดามัน ที่ได้คัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป
เมื่อขยะถูกนำส่งไปถึง เขาจะกักเก็บไว้ ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมจังหวัดภูเก็ต ที่รู้มาล่าสุด จำนวนของเสียอันตรายหรือขยะพิษ ประเภทหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอร์รี่มือถือ และบรรจุภัณฑ์สารเคมี คัดแยกได้ราว 5 ตัน
กักแล้วเขาไม่ได้ทำลายเอง แต่ส่งไปกำจัดต่อที่โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ของบริษัทเจนโก้ แสมดำ กรุงเทพมหานคร โดยเขาเป็นเจ้าภาพดูแลค่าใช้จ่ายในการขนส่งและกำจัด
ปรอทเป็นของเหลว ที่หนักกว่าน้ำถึง 13 เท่า พาตัวไปปนในบรรยากาศด้วยการระเหิด เมทธิลเมอร์คิวรี่ และเมอร์คิวริกคลอไรด์ คือต้นแหล่งปล่อยไอปรอท
ปรอทที่อยู่ในอากาศอาจจะมีทั้งธาตุปรอท และสารประกอบของปรอท ได้แก่ ไดเมทธิลเมอร์คิวรี ไดเอทธิลเมอร์คิวรี
การเปลี่ยนรูปเมื่ออยู่ในน้ำ มีแสงและ pH น้ำเป็นกรดเป็นปัจจัยสำคัญ และเกิดเป็นตะกอนเมทิลเมอร์คิวรี่ หรือธาตุปรอท
วันแรกที่ไปตรวจวัดน้ำในคู pH น้ำอยู่ที่ราว 6.5 หลังใส่ลูกบอลน้ำหมัก pH เปลี่ยนไปเป็น 7 หลังใส่ปูนขาว pH ก็ไม่ต่าง จนวันนี้ pH น้ำก็อยู่ระหว่าง 6.5-7 จะถือว่าโชคดีหรือเปล่า ที่ pH ไม่เป็นกรดนะ
แต่อย่างไรก็เหอะ เพื่อความสบายใจกับการให้คนไปลอกตะกอน ก็น่าจะตรวจหาการปนเปื้อนของปรอทในตะกอนไว้ก่อนดีกว่า
วันนี้กรุงเทพฯน้ำท่วมหลายแห่ง ถ้าโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ของบริษัทเจนโก้ แสมดำ กรุงเทพมหานครโดนน้ำท่วมไปด้วย จะยังส่งหลอดไฟ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายที่รวบรวมไว้ไปพึ่งพาอบจ.ภูเก็ตต่อได้มั๊ยนี่
« « Prev : ตามลม(๘๖) : โอ๊ะ มีเจ้าสิ่งนี้ด้วยรึ….ใคร่ครวญเรื่องตะกอนให้รอบคอบอีกหน่อยเหอะ
Next : ตามลม (๘๘) : มีอะไรช่วยได้บ้าง ถ้าเกิดน้ำมีสารประกอบปรอทอยู่ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๘๗) : จะทำยังไงกับตะกอนดีนะ"