ตามลม(๘๖) : โอ๊ะ มีเจ้าสิ่งนี้ด้วยรึ….ใคร่ครวญเรื่องตะกอนให้รอบคอบอีกหน่อยเหอะ
เมื่อเกิดทางเลือกว่าควรจะลอกตะกอน หรือปล่อยตะกอนให้ไหลไปกับน้ำดีกว่าขึ้น ก็ควรใคร่ครวญให้รอบคอบก่อน ยังไม่วางใจว่าได้เห็นของจริงในทุกมุมแล้ว จึงไปด้อมๆมองๆหาข้อมูลอีกรอบ
คราวนี้ให้กล้องเป็นตาให้ ถ่ายภาพมุมต่ำที่ไม่สามารถก้มตัวลงไปดูได้ ได้ภาพมาแล้วก็ชวนกันดู ชวนกันหาว่ามีอะไรหลงตาอยู่อีก นั่นอะไรแท่งยาวๆอยู่ในมุมมืด หน้าตาเป็นบ้องและบอบบาง ไม่น่าจะใช่ไม้
ภาพไม่ใช้แฟลตดูไม่ออกจึงไปถ่ายใหม่ โอ๊ะ เจ้านี่มาอยู่ได้ยังไง ปกติกำหนดให้เก็บทิ้งแยกเป็นขยะพิเศษนี่นา รูปร่างยาวๆกลมๆอย่างนี้ ใครนำมาใช้ทำอะไรนะ
ทิ้งอยู่นานเท่าไร ดูไม่ออก ดูเหมือนมีรอยแตกน้ำรั่วซึมเข้าไปได้ มันคือหลอดฟลูออเรสเซนต์
การที่มันมาแช่น้ำอยู่ตรงนี้ เกินคาดฝัน จะเกี่ยวข้องกับตะกอนอย่างไรบ้าง จำต้องหาข้อมูลมาประมวล
ภายในแก้วรูปทรงกระบอกยาวๆอย่างหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีไส้ มีช่องว่างอยู่ ไส้ทำจากโลหะทังสเตน ติดไว้ที่ปลายหลอด 2 ข้าง ส่วนของแก้วด้านในหลอดฉาบสารเรืองแสงไว้ ช่องว่างภายในหลอดมีปรอทอัดไว้
เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปทำให้ไส้หลอดร้อนขึ้น ปรอทจะกลายเป็นไอ และคายรังสีอัลตราไวโอเลตออกมากระทบสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ ทำให้เกิดแสง
สีไฟที่ส่องของหลอดเปลี่ยนได้ ขึ้นกับชนิดของสารเรืองแสงที่ฉาบไว้หรือจากก๊าซที่อัดไว้ด้วย เช่น สีชมพูมาจากฉาบแคดเมียมบอเรท หรือมีก๊าซฮีเลียม สีเขียวฉาบซิงค์ซิลิเคท สีขาวอมฟ้าฉาบแมกนีเซียมทังสเตน สีแดงใส่ก๊าซนีออน สีขาวอมน้ำเงินใส่ก๊าซอาร์กอน เป็นต้น
เคยมีเรื่องปรอทกับปลาอยู่ว่า อเมริกาประกาศให้ สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการบริโภคปลาน้ำจืด เพราะไปพบว่าปลาน้ำจืดมีสารพวกเมธิลเมอร์คิวรีปนเปื้อนอยู่ในตัวมากพอจะเกิดผลต่อสุขภาพ
ผลต่อสุขภาพนี้คือ พัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ที่ทำให้ปัญญาอ่อน สายตาและท่วงท่าในการเดินผิดปกติ ความบกพร่องถาวรด้านภาษา สมาธิและความจำ
อย่างนี้ก็จำต้องรู้ทางน้ำของปรอท มากไปกว่า เป็นสารประกอบที่มีโลหะเจือปนหรือสารประกอบอนินทรีย์ ที่แพร่สู่สิ่งแวดล้อมด้วยฝีมือมนุษย์
แหล่งแพร่ของสารประกอบปรอทของอเมริกา คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเผาขยะเทศบาล และเตาขยะติดเชื้อ ปริมาณที่แพร่เยอะเชียวนะ (ประมาณปีละ 160 ตัน)
เส้นทางห่วงโซ่อาหารทำให้มันไปอยู่ในปลาได้ สารปรอทอยู่ในอากาศก่อนตกลงสู่ดินและน้ำ อยู่ในน้ำ ในโคลนเลนสะสมตรงไหน ก็สามารถรวมตัวกับสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ได้อย่างแข็งแรง
รวมแล้วก็ตกตะกอนรวมกับตะกอนอื่นๆ จนเปลี่ยนมาเป็น เมธิลเมอร์คิวรี่ และ ไดเอทิลเมอร์คิวรี่ในน้ำ แบคทีเรียคือตัวสำคัญที่เข้าไปจัดการกับมันก่อนถึงปลา สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตต่างๆในน้ำ
เคยมีข้อมูลปลาที่อาจจะมีสารปรอทสะสมอยู่ว่า มักจะเป็นปลาที่มีช่วงอายุยาวและกินปลาเล็กเป็นอาหาร ปลาดาบ ปลาบางชนิดในตระกูลเดียวกับปลาโอ ฉลาม ทูน่า โลมา วาฬ เป็นปลาที่มีโอกาสสูงต่อการมีสารปรอทสะสมอยู่ในตัวได้มาก
อืม ไม่นึกมาก่อนว่าเรื่องปรอทในอาหารจะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากอย่างนี้ เมื่อใกล้ตัวก็ควรรู้ว่ามันเข้าตัวได้ทางไหนบ้าง อาหารและน้ำที่กินเข้าไปนั้นใช่เลยหากปนเปื้อน ความเป็นไอสูดเข้าทางการหายใจได้สบายๆ
ความเป็นโลหะที่ระคาย สัมผัสแล้วผิวหนังก็จะป่วยได้ เมื่อไรที่ผิวหนังป่วย ภูมิต้านก็แย่ลง มันก็ซึมเข้าไปทางรอยป่วยได้ 3 ทางเลยนะที่มันเข้าตัวคนได้
ที่ปรอทสร้างความระคายได้ เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง อมเริกากำหนดให้อากาศมีสารปรอทได้ไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไม่รู้บ้านเรามีกำหนดไว้หรือเปล่า
อย่างนี้ถ้าบังเอิญไปสัมผัสมันเข้า ก็ต้องรีบล้างน้ำออกให้ผิวหนังสะอาดโดยเร็ว เข้าใกล้ที่ที่มันอยู่ ก็ต้องใส่หน้ากากกรองก๊าซไว้ แต่อีตรงปนเปื้อนในอาหารและน้ำนี่ซิ จะรู้ได้ยังไง
โอ๊ยโย่ ถ้าเรื่องของปรอทมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องคิดใหม่ ถ้าจะเลือกให้น้ำพาตะกอนไหลไป ด้วยในที่สุดที่ปลายน้ำคือ แหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งอาหาร ก็เห็นอยู่กับตาว่ามีแหล่งแพร่ปรอทอย่างหลอดฟลูออเรสเซนต์แช่น้ำอยู่ จะอยู่มานานเท่าไร ไม่สำคัญแล้ว
« « Prev : ของแถมอย่างนี้…มาจากการเป็นยักษ์..ใช่มั๊ยนี่
Next : ตามลม (๘๗) : จะทำยังไงกับตะกอนดีนะ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๘๖) : โอ๊ะ มีเจ้าสิ่งนี้ด้วยรึ….ใคร่ครวญเรื่องตะกอนให้รอบคอบอีกหน่อยเหอะ"