ตามลม(๘๐) : น้ำไหลช้าๆ……แก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียได้ระดับหนึ่ง

อ่าน: 1305

ตั้งแต่นำสิ่งประดิษฐ์จากเศษวัสดุไปลองดู ก็มีการวัดคุณภาพน้ำคู่ไปด้วย เพื่อให้เข้าใจกายภาพของน้ำที่ตาเห็น

ค่า DO ที่บอกถึงความสกปรก และการใช้ออกซิเจนจัดการกับความสกปรก วัดได้จริง 0-0.5

ค่า DO ต้นน้ำกับปลายน้ำ ห่างจากจุดที่นำวัสดุไปวางขวางทางน้ำออกไป ในระยะ 1 ฟุต 3 ฟุต  4 เมตร ต่างกันเพียงเล็กน้อย ต้นน้ำเป็นศูนย์ ปลายน้ำเพิ่มอีกนิดหน่อย เรียกว่าวัดน้ำตรงตำแหน่งไหนของคู  มีการใช้ออกซิเจนไปไม่ต่างกัน ว่างั้นเหอะ

ตำแหน่งที่น้ำผ่าน มีแรงน้ำไหลที่ไล่ๆกับความแรงน้ำที่ไหลจากก๊อกประปาครึ้งก๊อก ไหลช้าเื่อื่อยๆและหมุนวน  ไหลผ่านแสงในร่มและไหลผ่านท่อไม่โดนแสง  ทั้งหมดไม่ทำให้ค่า DO ต่างกัน

ในระหว่างสัปดาห์ ตะกอนเปลี่ยนไป บางวันมีสีส้มเพิ่มมา สีเขียว ขาว ดำ เดิมบางลง บางสีหายไป สีเขียวหายไปก่อน สีดำบางตัวลง สีขาวเนียนละเอียดขึ้น

ตะกอนสีส้มเป็นตัวช่วยให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในน้ำทุกวัน อัตราเปลี่ยนมีรอบเร็วราว 3 วัน ตรงนี้ดูจากสีที่จางลงๆจนเป็นสีทรายละเอียดของมัน

ระหว่างการเปลี่ยนแปลงไม่ใคร่รู้สึกว่ามีกลิ่น แสบจมูกเล็กน้อยเมื่อไปคลุกอยู่นานกว่า 5 นาที ทำให้ยังไม่ไว้ใจเรื่องก๊าซ ก๊าซที่กังวลคือก๊าซไข่เน่า กรดไนตริก แอมโมเนีย

วัดค่าไนไตรท์ในน้ำพบว่ามีค่าไม่เกิน 0.2 และไม่พบเลยในหลายจุด ทำให้โล่งใจกับก๊าซแอมโมเนีย

ไนไตรท์คือแอมโมเนียที่เปลี่ยนรูป วันนี้พบว่าน้อยในน้ำ  ไนเตรทมีมากทำให้เกิดกรดไนตริก ก่อนจะแปลว่าไนเตรทในน้ำก็น้อยด้วย  ก็ไปถามผู้รู้เรื่องการจัดการไนเตรทในน้ำมาเติมเต็ม

ได้ความรู้เพิ่มมาว่า ต้องการกรองเพื่อกำจัดไนเตรทหรือลดปริมาณไนเตรทในที่แคบๆน้ำขัง ก็ต้องแยกไนเตรทเป็นไนโตรเจนและออกซิเจน  ผู้มีความสามารถทำได้ คือ เจ้าตัวจิ๋วที่อยู่ได้ทั้งในที่มีและไม่มีออกซิเจน เวลามีออกซิเจนก็ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน ไม่มีออกซิเจน ก็ใช้ไนเตรทแทน

และเมื่อออกซิเจนที่ละลายน้ำถูกใช้หมด  ระบบนี้จะไปได้สวยต่อไป ต้องเติมคาร์บอนจากสารอินทรีย์ ในจำนวนเท่าที่ใช้ไปแล้วลงไปใหม่ ซึ่งจะเป็นแอลกอฮอล์ น้ำตาลแลคโตส หรือกรดน้ำส้มได้ทั้งนั้น

มีคำเตือนมาว่าการเติมกะยาก มากไปจะทำให้ไนเตรทสูงกว่าเดิม น้อยไปจะทำให้ตกตะกอนมาก และเกิดกลิ่นของก๊าซไข่เน่าขึ้น ถ้ามีก๊าซตัวนี้เกิดขึ้น เจ้าตัวจิ๋วอาจไปใช้ซัลเฟตแทนไนเตรท

น้ำต้องไหลช้ามากๆ เพื่อให้เจ้าตัวจิ๋วมีเวลาดึงไนเตรทไปใช้ได้สมบูรณ์ ลดปริมาณออกซิเจนได้ดี ถ้าน้ำไหลเข้าเร็วเกินไป หรือสารประกอบคาร์บอนอินทรีย์น้อยไป ไนเตรทจะคงอยู่ในน้ำ

ความแรงน้ำไหลควรเป็นเท่าไร ให้ดูผลตรวจน้ำ ถ้าไม่พบไนเตรทหลังปล่อยน้ำไว้ 1-2 สัปดาห์ โดยให้ปริมาตรน้ำทั้งหมดหมุนเวียน นั่นแหละอัตราการไหลของน้ำที่พอเหมาะ กับการคงสภาพไนเตรทในพื้นที่ขังน้ำนั้นให้มีปริมาณต่ำได้

เขาวัดไนไตรท์เพื่อใช้บอกสภาวะการทำงานของระบบกรองชีวภาพว่า เจ้าตัวจิ๋วทำงานสมบูรณ์หรือเปล่า ถ้าตรวจพบไนไตรท์แปลว่าการทำงานไม่สมบูรณ์

ในแง่ของความเป็นพิษ ก็บอกกันไว้เลยตรงนี้ว่า ไนไตรท์เป็นพิษต่อปลาน้อยกว่าแอมโมเนีย

ไม่พบไนไตรท์หรือพบน้อยในน้ำ ก็แปลได้ว่า น้ำนี้ปลอดภัยขึ้นจากไนเตรท

ผู้รู้เขาบอกว่า ถ้าเพิ่มการไหลเวียนของน้ำให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจน จะทำให้เจ้าตัวจิ๋วใช้ไนเตรทได้ และช่วยป้องกันการไปใช้ซัลเฟตแทน

เข้าใกล้น้ำยังแสบจมูก ก็น่าจะเป็นผลจากก๊าซไข่เน่า ซึ่งแปลว่าเจ้าตัวจิ๋วมีการใช้ซัลเฟตซินะ มิน่า เวลาเขี่ยตะกอนในคู เวลาที่น้ำประปาไม่ไหล จึงมีกลิ่นคลุ้งขึ้นมาจากน้ำ

« « Prev : ตามลม(๗๙) : ลองดูหน่อย….บ่ออับอากาศ บ่อหมักจากเศษวัสดุ…จะเป็นไปได้ไหม

Next : ตามลม (๘๑) : ยังต้องจัดการกับก๊าซที่เป็นผลผลิตจากการบำบัด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๘๐) : น้ำไหลช้าๆ……แก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียได้ระดับหนึ่ง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.15290188789368 sec
Sidebar: 0.75294804573059 sec