ตามลม(๗๙) : ลองดูหน่อย….บ่ออับอากาศ บ่อหมักจากเศษวัสดุ…จะเป็นไปได้ไหม

อ่าน: 1559

ออกซิเจนและไนโตรเจนละลายน้ำได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับก๊าซอื่นๆ   มีปัจจัยอยู่ 3 อย่างที่มีผลต่อการละลายน้ำของออกซิเจน คือ อุณหภูมิ ความดันในน้ำ และปริมาณเกลือแร่กับสารปนเปื้อนในน้ำ

ออกซิเจนและไนโตรเจนละลายน้ำแปรผันกลับกับอุณหภูมิน้ำ และแปรผันตรงกับความดันของตัวมันเองในน้ำ

มีคนวัดค่าไว้และบอกว่า ที่ความดัน 1 บรรยากาศ อุณหภูมิ 0 องศาเซนติเกรด ออกซิเจนละลายน้ำได้ 14.6 มก./ลิตร และที่ 35 องศาเซนติเกรดจะละลายได้เพียง 7 มก./ลิตร

เมื่อควบคุมปัจจัย 2 ปัจจัยให้คงที่  ปริมาณสารปนเปื้อนหรือสารเกลือแร่ในน้ำ จะทำให้ออกซิเจนละลายได้ลดลง ที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศเดียวกัน ระหว่างน้ำทะเล น้ำเสียซึ่งมีเกลือแร่และสารปนเปื้อนในน้ำ และน้ำสะอาด น้ำสะอาดจึงมีค่าอิ่มตัวของออกซิเจนมากกว่า

ค่า DO จึงเป็นค่าที่บอกความสามารถน้ำว่า จะรับการถ่ายเทของเสียหรือการฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆมากน้อยแค่ไหน

เพิ่งรู้ว่าค่า DO ใช้ช่วยควบคุมอัตราเร็วของปฏิกิริยาในกระบวนการบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ ให้แน่ใจว่ายังคงรักษาสภาวะมีอากาศไว้ได้และป้องกันการให้อากาศมากเกินควรด้วย และใช้ควบคุมการกัดกร่อนของเหล็กในท่อประปาและหม้อต้มน้ำได้

ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปมีออกซิเจนอยู่ทั้งนั้น ค่า DO ที่เหมาะสมของแหล่งน้ำทั่วไป อยู่ที่ 4-5 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) หรือ หนึ่งส่วนในล้านส่วน (ppm)

แหล่งน้ำที่มีความบริสุทธิ์มากๆ อาจจะมี DO สูงได้ถึง 8 ppm น้ำระดัับนี้สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ชอบมาก

ออกซิเจนในน้ำทำให้เกิดการกัดกร่อนของเหล็กได้ การใช้ค่า DO ควบคุมการกัดกร่อนของเหล็กในท่อน้ำประปาและหม้อต้มน้ำที่ค่า “ศูนย์” เอาไว้ จะช่วยป้องกันเรื่องนี้ได้

เมื่อ DO ลดต่ำมาอยู่ในช่วง 2-3 ppm ถือว่าน้ำเริ่มเน่า ปลาจะเริ่มพะงาบๆ ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำบ่อยๆ เมื่อค่า DO ลดต่ำเหลือเป็นศูนย์ เมื่อนั้นน้ำเน่าสนิทแล้ว

อย่างนี้ ลองนำไปใช้ปรับค่า DO ในจุดที่มีท่อเหล็กให้เป็นน้ำเน่า แล้วหาวิธีเติมออกซิเจนแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดบ่ออับอากาศและและบ่อหมักขึ้นมาแบบชิวๆที่ใต้ตึกแห่งนี้

คิดแล้วทำทันที ช่วยกันหาเศษวัสดุมาประดิษฐ์อุปกรณ์ ใช้ลวดกรงไก่เย็บเข้ากันเป็นกล่องสี่เหลี่ยมไม่มีฝาแบบง่ายๆ เติมเศษฟองน้ำจากเบาะรถเก่าที่เลิกใช้แล้วลงไปในกล่อง ให้ฟองน้ำปิดช่องลวดกรงไก่ทั้ง 4 ด้านไว้ หนา 2 นิ้ว

วางเศษพลาสติกเล็กๆที่ตัดจากถุงบ้าง แก้วพลาสติกบ้าง ปลอกเข็มบ้าง หลอดกาแฟบ้าง ลงไปที่ช่องว่างตรงกลางกล่องจนเต็ม นำไปวางขวางช่องที่น้ำใต้ตึกไหลออกมาลงคู

เศษฟองน้ำนำมาใช้แทนหินในระบบบำบัดแบบใช้อากาศ ไว้เป็นคอนโดให้เจ้าตัวจิ๋วใช้พักพิง

ช่องว่างระหว่างเศษพลาสติกจะเป็นที่เก็บอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีคงค้างอยู่ในระหว่างแต่ละชิ้นบ้างเมื่อน้ำไหลผ่าน

หลักคิดนี้ก็แค่ย่อส่วนบ่อไร้อากาศกับบ่อหมักมาลองดู ถ้าใช้ได้ กลิ่นที่เหม็นน่าจะลดลงไปเรื่อยๆตามความสามารถของเจ้าตัวจิ๋วในน้ำ จนหมดกลิ่น

วันรุ่งขึ้นไปวัดค่า  DO ค่าที่เคยอยู่ที่ 4 ppm ลดฮวบเป็นศูนย์ ตะกอนก้นคูเป็นสีดำเข้ม มีกลิ่นน้ำเหม็นพอรู้สึกอยู่บ้าง ปลาที่เคยว่ายอยู่แถวนั้น ว่ายออกมาอยู่ในคูที่ไกลออกมาอีกหน่อย

อีก 2 วันไปดูซ้ำ  DO ยังเป็นศูนย์  ที่ก้นคูมีตะกอนลักษณะเหมือนกระดาษยุ่ยน้ำเกิดขึ้นประปราย ตรงที่ไม่มีปลา มีปลาเข้าไปว่ายอยู่แบบสบายๆ ลองโรยใบไม้เล็กๆลงไปตรวจสอบกระแสน้ำ อืม ใบไม้ลอยอยู่นิ่งๆ สงสัยจริง DO เป็นศูนย์ ทำไมปลาจึงมาอยู่ได้ละ

วันที่ 5 ไปดูใหม่ อ้าว ตะกอนขาวนั้นหนาเป็นปื้นเต็มพื้นก้นคู เหมือนเอากาวลาเท็กซ์ลงไปราดทิ้งเป็นกระป๋องๆเลย  ปลาเป็นปกติดี มีตัวใหญ่มาโชว์ตัวให้ดูด้วย จำนวนปลาก็เยอะขึ้น DO ยังเป็นศูนย์ น้ำไม่มีกลิ่นแล้ว ใบไม้ที่ลอยไว้ก็อยู่ที่เดิม

เอ๊ะ! ที่ว่าน้ำเน่า ปลาจะตายเป็นเบือ แต่ที่เห็นต่างไป สังเกตต่อ อ๋อ รู้แล้วละ มีชั้นน้ำเกิดขึ้น หรือว่าชั้นน้ำนี้ช่วยให้ปลามาอยู่ได้

ล่าสุดที่ไปดูซ้ำ ก้นคูมีตะกอนดำเขียวเกาะเป็นแผ่น มีหนา มีบางเป็นหย่อมๆ  ตะกอนขาวคล้ายลาเท็กซ์ยังอยู่ ตื่นตากับสิ่งที่เห็น  จึงรอสังเกตต่อไป และชวนลูกน้องมาเรียนรู้ด้วยกัน

ด้วยน้ำมันเน่าไปแล้ว จึงคอยลุ้นว่ากลิ่นจะเปลี่ยนอีกอย่างไร แล้วก็โล่งใจ เมื่อคนไข้และญาติที่ครองพื้นที่ใช้สอยอยู่ใกล้บอกว่า กลิ่นดีขึ้นเยอะ และไม่ได้กลิ่นแล้ว

แต่ถึงไม่เหม็นก็ยังจำคำเตือนของที่ปรึกษาใหญ่ได้ ว่าการไม่มีกลิ่น ไม่ได้หมายถึงโอเรื่องก๊าซ จึงยังตามล่าหาความรู้มาใช้

วันนี้ถ้าใช้สีน้ำบอกคุณภาพน้ำ ถือว่าทั้งสีและความใส ผ่านได้เต็มร้อย น้ำใสเป็นตาตั๊กแตน ไม่มีสีเลย แสงผ่านโลด เห็นสีตะกอนใต้น้ำชัดเจน

ตะกอน มีทั้งดำ เขียว ขาว ให้เห็น ขาวเป็นจุลินทรีย์แน่แล้ว เขียวเป็นพืชน้ำ ดำเป็นอะไรได้บ้าง จุลินทรีย์เพิ่มขนาดหรือตะกอนโลหะหนัก บอกไม่ได้

การตามดู ตามเฝ้า ให้ความจริงว่า  “ทุกขณะที่มีการใช้น้ำ อาบ ดื่ม กิน ใช้ จะมีน้ำเหลือใช้ทิ้งออกมาสะสมอยู่รอบๆตัวเสมอ และน้ำเหล่านั้นสามารถเปิดปัญหาด้านคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำให้เกิดขึ้น แล้วยังแถมปัญหาอื่นตามมาได้อีกมากโดยผู้ใช้น้ำเองคาดไม่ถึง”

น้ำตามธรรมชาติจะมีออกซิเจนละลายเต็มที่ประมาณ 8 มิลลิกรัม/ลิตร จุิลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนย่อยสลายและใช้ออกซิเจนในน้ำไป  เมื่อสิ่งปฏิกูลและความสกปรกต่างๆในน้ำที่มาเจือปนลดลง นั่นหมายถึงออกซิเจนในน้ำลดลงด้วย

ถ้าสิ่งสกปรกยังมีเหลือมาก แต่ออกซิเจนหมดไปแล้ว จุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการใช้ออกซิเจน จะเข้ามารับหน้าเสื่อย่อยสลายสิ่งสกปรกแทน  และแถมก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซไนโตรเจนซัลไฟด์ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงให้  ต่อมาซัลเฟอร์จะแปรรูปเป็นตะกอนเกาะตัวอยู่ใต้น้ำ เห็นเป็นสีดำ

อืม อย่างนี้ ในคูที่มีตะกอนสีดำ นั่นแหละใช่เลย ตะกอนซัลเฟอร์ซินะ  เคยตักตะกอนนี้มากองไว้บนดินข้างคู ทิ้งไว้ มาเจอใหม่ สีดำๆที่เคยมีกลายเป็นสีอิฐไป

กองไหนบางก็เปลี่ยนสีทั้งกอง กองไหนหนาก็เปลี่ยนเฉพาะตรงผิวบนๆ ในเนื้อกองยังเหมือนเดิม เว้นแต่พลิกกองให้โดนอากาศและแสง

วันนี้ยังไม่มีความรู้ว่าเจ้าสีอิฐที่เห็นเป็นสารประกอบอะไร  ปลอดภัยที่จะทิ้งปนไปกับดินทั่วไปได้มั๊ย  จึงยังต้องหาวิธีระบายตะกอนออกไปจากคูต่อไปด้วยวิธีที่คนทำงานไม่ต้องสัมผัสกับมัน

« « Prev : ตามลม(๗๘): บำบัดน้ำเสียแบบปรับเสถียรกับคูเจ้าปัญหา…เรื่องนี้น่าลอง

Next : ตามลม(๘๐) : น้ำไหลช้าๆ……แก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียได้ระดับหนึ่ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๗๙) : ลองดูหน่อย….บ่ออับอากาศ บ่อหมักจากเศษวัสดุ…จะเป็นไปได้ไหม"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.74485993385315 sec
Sidebar: 0.45116996765137 sec