ตามลม(๘๙): แล้วก็ได้…ระบบบำบัดน้ำเสีย…ย่อส่วน…เกิดขึ้นมา
ไม่รู้จักเจ้าคราบสีขาวที่เห็นเจนตา รู้แต่ว่าคราบที่เห็นหนานั้นเป็นความเข้มข้นของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง เห็นแล้วขัดตาคนรักความสะอาด
จะรังเกียจมันก็ควรรู้จักคุณสมบัติ มันกันหน่อย ชวนมารู้จักความเข้ากันได้ที่ทำให้สรุปว่ามันเป็นจุลินทรีย์แน่แล้ว เพื่อเปิดมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับมัน
ความเป็นจุลินทรีย์เข้มข้น อยู่ที่คุณสมบัติเกี่ยวกับการย่อยสลาย การปรับความเป็นกรดด่างให้สมดุล การจัดการกลิ่นเหม็น และส่วนประกอบที่มันมี ดังนี้
-ย่อยสลายสารอินทรีย์ อินทรีย์วัตถุและเศษสิ่งปฏิกูลต่างๆในน้ำ ที่เป็นต้นเหตุของน้ำเสียได้
-ช่วยย่อยปริมาณขี้เลน เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสียได้
-ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่าง (PH) ในดินและน้ำให้สมดุล
-ย่อยสลายกากไขมัน คราบไขมันผิวน้ำและฟอสเฟตได้
-กำจัดกลิ่นเหม็นจากน้ำเสียได้ดี
-สร้างไรแดงขนาดเล็ก เพื่อกำจัดสาหร่ายน้ำตามระบบธรรมชาติได้ และ
-มีส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทั้งที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจนอยู่
จุลินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติหลากหลาย และมีมากกว่า 80 ชนิด ไม่มีพิษ มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมสูงมาก หลักๆมี 6 กลุ่ม
กลุ่มแรกเร่งการย่อยสลายสารอินทรีย์ ทำงานดีในที่มีออกซิเจน ต้านความร้อนได้ดี มีรูปร่างเป็นเส้นใย ย่อยสลายสารอินทรีย์ให้มีอณูเล็กลง พวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในพวกรา
กลุ่ม 2 สังเคราะห์แสงและสร้างสารอินทรีย์ เพิ่มประสิทธิภาพและความสมบูรณ์ให้ดิน ช่วยสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับจุลินทรีย์อีกตัว ในการสังเคราะห์ธาตุไนโตรเจนในดิน พวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสงได้ จัดการกับไนโตรเจนได้เหมือนพืช
กลุ่ม 3 ย่อยสลายโดยการหมัก เปลี่ยนสภาพดินเข้าสู่วงจรการย่อยสลายแบบหมักและแบบสังเคราะห์ ช่วยบำบัดมลพิษในน้ำเสียได้ พวกนี้เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกรา ราหมักและยีสต์
กลุ่ม 4 ช่วยจัดการกับธาตุไนโตรเจนในดิน และผลิตสารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งกรดอะมิโน กรดอินทรีย์ และกรดไขมัน พวกนี้มีทั้งสาหร่ายและแบคทีเรีย
กลุ่ม 5 เป็นพวกที่สร้างกรดน้ำนม ทำให้ต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่เป็นโทษได้ ทำงานได้โดยไม่ต้องการอากาศหายใจ เปลี่ยนดินเน่าเปื่อยหรือดินก่อโรคให้เป็นดินดี ต้านโรค ช่วยย่อยสลายเปลือกของเมล็ดพันธุ์พืช พวกนี้เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง และรูปกลม ที่คุ้นๆคือ กลุ่มแลคโตแบซิลลัส
กลุ่ม 6 ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ย่อยสลายกากไขมัน ย่อยสลายฟอสเฟต ย่อยสลายสารอินทรีย์และคราบไขมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทำงานได้ในสภาวะที่มีอากาศน้อย
เวลาผลิตน้ำหมักชีวภาพ มักจะเห็นบริเวณผิวด้านบนของน้ำหมักเป็นแผ่นสีขาวๆ หน้าตาเหมือนเจ้าคราบขาวๆที่เห็น ได้คำอธิบายมาจากผู้คุ้นเคยว่า เจ้าพวกนี้แหละคือ ราเส้นใย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์พวกที่ต้องการอากาศ
เมื่อไรที่มีออกซิเจนน้อย พวกนี้โตไม่ดี มันจึงมักจะมาอยู่กันที่บริเวณผิวหน้าของน้ำหมักชีวภาพ หรือบนพื้นผิวภาชนะที่มีน้ำตาลติดอยู่ เพื่อหาอากาศหายใจ
ชัดขึ้นว่า คราบขาวๆมากมายที่เกิดขึ้นปากท่อและในน้ำคือเจ้าราเส้นใย แอลจีสีเขียวไม่เกิดให้เห็นเป็นฝีมือของเจ้าไรแดงนั่นละ กลิ่นเหม็นรำคาญเป็นผลของการหมักเพื่อบำบัดสิ่งเป็นพิษในน้ำ
กระบวนการหมักที่รับรู้ได้จากฟองอากาศที่ปุดขึ้น สมดุลกรด-ด่างที่ให้ค่าเคมีน้ำเป็นกลาง (pH 7) สม่ำเสมอ คราบไขมันบนผิวน้ำที่ไม่มีให้เห็น ตะกอนลอกขึ้นมาก็เปลี่ยนตัวเองเป็นดิน แอมโมเนียในน้ำตรวจแล้วพบต่ำ ไนไตรท์ก็ต่ำ
อย่างนี้แปลว่ามีจุลินทรีย์เกิดขึ้นครบอยู่แล้วในน้ำเสีย ลอยวัสดุมีรูพรุนลงไปในน้ำก็เหมือนไปช่วยปรับสมดุลของจำนวนจุลินทรีย์ซินะ
ผลที่เกิดขึ้นบอกให้รู้ว่า เจ้าวัสดุมีรูพรุนนี่ร้ายเหลือเหมือนกัน แค่วางเฉยๆก็ช่วยปรับสภาพระบบบำบัดตรงนี้ให้เลยง่ายๆ
ได้ระบบบำบัดน้ำเสียย่อส่วนเกิดขึ้นมา จำลองครบส่วนให้ทั้งภาคใช้ออกซิเจนและไม่ใช้มาให้ ก็เหลืองานตามวัดประสิทธิภาพการบำบัดอีกหน่อย งานที่เข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่ตรงนี้ก็จะจบลงไปอีกขั้นหนึ่ง
28 พฤศจิกายน 2554
« « Prev : วัสดุมีรูพรุน..อยู่ในน้ำ..แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง
Next : งอม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๘๙): แล้วก็ได้…ระบบบำบัดน้ำเสีย…ย่อส่วน…เกิดขึ้นมา"