ตามลม (๕๘) : มีประเด็นให้หวนกลับไปที่จุดเดิมอีกครั้ง
พูดถึงน้ำปนเปื้อนสารเคมีแล้วนึกได้ น้ำทิ้งที่ไปพบตรงหน่วยไตเทียมเป็นกรด ลองใช้ปูนขาวปรับความเป็นกรดได้ ใช้ลูกบอลน้ำหมักช่วยทำให้กลิ่นลดได้ แต่ยังไงๆปลาก็ตาย ปูก็ตาย และในช่วงหลังๆทั้งที่น้ำมีออกซิเจนในปริมาณเพียงพอ DO เกิน 5 บางวันหลังฝนตกก็ยังเจอไส้เดือนตายก็ยังสะกิดใจอยู่ดีว่าอะไรเป็นเหตุ
ให้ลูกน้องวนเวียนไปสังเกตก็หลายรอบ ยังไม่พบคำตอบว่าทำไมน้ำตรงนี้จึงเป็นกรดมากขนาดนี้ การตามรอยระบบ drain นี่แหละ ที่ทำให้สะดุดใจกับความเป็นไปได้ที่จะมีคลอรีนลงไปปนในน้ำตรงนี้
เวลานี้น้ำเปลี่ยนเป็นด่างไปแล้วชั่วคราว แต่ยังไม่รู้ว่ามีสารตกค้างอยู่เท่าไร ไม่สบายใจตรงนี้เรื่องหนึ่งละ เพราะกว่าที่น้ำจะไหลไปถึงปลายน้ำระยะทางยาวไกล มีสัตว์น้ำแหล่มเข้ามาในเส้นทางมันจะแย่เอา
พอจะวัดประสิทธิภาพของการจัดการเรื่องคลอรีน ผู้รู้วงการประปาเขาแนะว่าใช้สารตัวแทนวัดได้แต่วัดยาก ก็รู้สึกเหมือนจนมุม
สารสำคัญที่เขาบอกว่าเขาใช้วัดในน้ำประปา คือ กลุ่มไตรคลอรโรมีเทน (Trihalomethanes, THMs) ซึ่งมีสมาชิกคือ คลอโรฟอร์ม โบรโมไดคลอโรมีเทน คลอโรไดโบรโมมีเทน และโบรโมฟอร์ม และกลุ่มฮาโลอะเซติก แอซิด (HAAs) สมาชิกคือ โมโนคลอโรอะซิเตต ไดคลอโรอะซิเตต และไตรคลอโรอะซิเตต จะใช้ตัวเดียวหรือ 2 ตัว เขาว่าก็แล้วแต่นโยบายความปลอดภัยของน้ำสะอาดของประเทศหนึ่งๆ
การจัดการเชื้อโรคไม่ให้เปื้อนเครื่องมือเป็นเรื่องสำคัญมากๆของหน่วยนี้ วิธีการตกตะกอนและการกรองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นทำกันอยู่แล้ว ด้วยการใช้วิธี RO แต่การเติมคลอรีนในน้ำให้ได้ระดับที่เหมาะสมแล้วนำมาใช้ทำความสะอาดเครื่องมือนี่ซิที่ไม่ลงตัว
รู้จักคลอรีนมาบ้างแล้ว พอจะควบคุมการเติมคลอรีนเพื่อทำความสะอาดเครื่องมือด้วย รู้สึกตัวเลยว่ามีความรู้น้อยไปถ้าจะนำมาใช้งาน
จะวัดก๊าซคลอรีนอิสระก็ทำไม่ได้ จะวัดกรดเกลือลองดูก็ไม่รู้จะไหวมั๊ย ที่วัดได้ง่ายๆก็มีแต่ pH
pH น้ำรู้แล้วว่าเป็นกรด บอกได้แค่ว่ามีสารฤทธิ์กรดในน้ำเยอะ บอกเรื่องการคงค้างในน้ำของคลอรีนให้ไม่ได้
ความอับอากาศของหน่วยไตเทียม คาร์บอนไดออกไซด์สูง มีแอมโมเนียจากท่อน้ำแอร์ เป็นอะไรที่แว๊บเข้ามาส่งสัญญาณให้เอ๊ะๆๆๆๆ กับความสัมพันธ์ที่มีกับแอมโมเนียและคลอรีนในพื้นที่
คลอรีนกับแอมโมเนียมาเกี่ยวกัน สร้างโอกาสเกิดสารก่อมะเร็ง ควรจะทำอะไรต่อที่หน่วยงานนี้กลายโจทย์กลับมาืในมืออีกรอบหนึ่ง
ได้กลิ่นก็ช่วยว่ามีคลอรีน ไม่ได้กลิ่นไม่ได้แปลไม่มี ตรงนี้ไม่ได้กลิ่น คนทำงานอยู่ตรงนี้ทุกวัน วันละอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
ไม่ใคร่รู้ว่าคลุกคลีแล้วเสี่ยงสะสมยังไง บ้านเราไม่มีกำหนดไว้ มีแต่ค่าของต่างประเทศ ซึ่งเขาใช้ความเข้มข้นของก๊าซมาสัมพันธ์กับเวลาคลุกคลี 2 ช่วงเวลา ทำนายความเสี่ยงของคนทำงาน 2 เวลาที่ว่าคือ 10 นาที และ 8 ชั่วโมง
ลู่ทางค้นหาความเสี่ยงถ้าวัดคลอรีนไม่ได้ มีคนแนะให้วัดออกซิเจนแทน ออกซิเจนต่ำกว่า 19.5% แสดงว่ามีคลอรีนสะสมอยู่เยอะแล้ว
อย่างนี้ที่พบคาร์บอนไดออกไซด์สูงในพื้นที่ แล้วตรงนี้ก็มีการใช้คลอรีน อีกทั้งพบมีแอมโมเนียรั่วปนในน้ำทิ้งท่อแอร์ ก็แปลว่าแจ๊กพ็อตแตกโดยไม่คาดฝันซินะ
ทำให้ต้องเร็วรี่ในการติดตามดูความเกี่ยวพันระหว่างคลอรีนกับการป่วยจากการทำงานที่เกิดในต่างประเทศ ก็ได้ข้อมูลเพิ่มมาว่า ในโรงงานที่ใช้คลอรีนในการผลิต มีคนงานที่ป่วยเพราะทำงานคลุกคลีกับกระบวนการผลิตที่ใช้คลอรีนด้วย
สารประกอบหนึ่งที่มีบันทึกชัดเจนว่ามีคลอรีนเกี่ยวและทำให้คนทำงานคลุกแล้วป่วยก็มี ไวนีล คลอไรด์
อย่างนี้มีเรื่องที่ต้องจับประเด็นให้จั๋งหนับแล้วจัดการควบคุมคลอรีนที่ปนในอากาศ-น้ำที่หน่วยไตเทียมซะ จะสบายใจกว่านี้เยอะเลย
« « Prev : ตามลม(๕๗) : จะจัดการน้ำทิ้งที่มีคลอรีนปนอยู่ มีเรื่องให้ระวังนะ
Next : ตามลม(๕๙) : ก็ไม่ได้นึกว่าจะเป็นน้ำปนเปื้อนคลอรีนหรอก » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๕๘) : มีประเด็นให้หวนกลับไปที่จุดเดิมอีกครั้ง"