ตามลม (๔๗) : เรื่องดีๆมีคนร่วมมือทำด้วยเสมอเมื่อรู้ว่า “ฉันทำได้”
ตอนที่ยื่นกล้องจ่อที่ปากช่อง มีประสบการณ์ที่ทำให้ฉงน ภาพที่ถ่ายได้เป็นภาพพร่ามัว ทำยังไงก็ไม่ชัด ทีแรกคิดว่าเป็นเพราะกล้องแบตเตอรี่อ่อน ชาร์ตแบตให้เต็มแล้วไปถ่ายภาพใหม่ ผลก็เหมือนเดิม
จนนึกขึ้นได้เรื่องก๊าซกับการหักเหของแสง จึงปรับแสงกล้องใหม่ นั่นแหละจึงได้ภาพชัดมา
เมื่อยื่นมือลึกเข้าไป สภาพแสงใต้ตึกมองด้วยตาไม่เห็น ก็ใช้โหมดออโตเป็นตาแทน จับโฟกัสได้ก็กดฉึบ ได้ภาพดีๆมาดูทุกครั้งไป โดยไม่ต้องใช้แฟลต
ประสบการณ์ตรงนี้สร้างคำถาม มีก๊าซอะไรที่หนาแน่นมากจนตัดแสงให้หักเหขนาดนี้ได้
ได้รูปก็ใช้วิเคราะห์ หัวหน้าช่างได้รับคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรกับท่อเหล็กเก่าๆที่ต่อไปจะผุ และมีบางท่อที่ผุ เข้าไปซ่อมแล้ว แต่ซากท่อยังทิ้งร้างไว้ใต้ตึก เพราะสภาพที่ทำงานไม่สะดวกให้ใช้คนเข้าไปทำงานหลายคน คำตอบที่กลับมาทำให้อึ้ง คิดได้ยังไง เขาบอกว่าเขาอยากให้ทุบพื้นตึกเจ้าปัญหาลงมาให้ติดดิน แล้วปูพื้นใหม่ วางท่อใหม่
ที่อึ้งนั้นเพราะชอบใจค่ะ ไม่คิดว่าเขาจะกล้าคิดนอกกรอบ ทะลุโลกมาให้อย่างนี้ ได้ยินก็อิอิ….ดีใจที่มีคนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดเพิ่มขึ้นอีกคนแล้ว
ซากของเศษเหล็ก เศษท่อที่ทิ้งอยู่ใต้ถุน สีของตะกอนที่เป็นสีดำ และกลิ่น บอกใ้ห้รู้ว่า มีก๊าซไข่เน่าถูกผลิตไว้ที่ใต้ถุนแห่งนี้มาเรื่อยๆ โชคดีที่มีเศษท่อและเครื่องมือไม่ใช้ที่เป็นเหล็กวางอยู่มากพอสมควรที่ใต้ถุน สารอนินทรีย์ตัวนี้จึงมีตัวจับไปทำลายบางส่วนแล้ว ไม่งั้นคงได้เรื่องไปแล้ว
แต่กลิ่นที่เกิดขึ้นในบางเวลาที่มีคำบ่นก็บอกสัญญาณว่า ยังมีการผลิตของก๊าซตัวนี้และตัวอื่นที่ใต้ถุนตึกต่อเนื่องมาเรื่อยๆ
ได้รู้ ได้เห็นสภาพจริง ก็ได้คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ตัดสินใจชวนลูกน้องทั้งหน่วยมานั่งคุย บอกเล่าให้รู้ว่าที่สั่ง ที่บอก ที่ชวนให้ลงมือทำงานกันอยู่ ที่วัดน้ำกันอยู่ กำลังแก้ปัญหาอะไร มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างไร ชวนให้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะเดินหน้าต่อไปถึงจุดสัมฤทธิ์ตรงไหน ระหว่างผลลัพธ์ของน้ำเสียที่ตรวจทีไรก็บอกว่าผ่านเกณฑ์ทุกที กับตรวจแล้วสบายใจว่าไม่มีอะไรที่เสี่ยงอยู่ในน้ำและในอากาศแล้ว
เมื่อบอกภาพรวมของผลกระทบออกไป ก็สังเกตเห็นความตื่นตัวของคนทั้งฝ่ายเกิดขึ้น คราวนี้ทุกคนเต็มใจเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ในวันต่อๆมาก็มีคนช่วยคิด ช่วยประสานงานเพื่อให้ได้เครื่องมือเข้ามาจัดการกับพื้นที่ให้ลงตัวกับโจทย์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน
คำว่า “ลงตัว” ที่ตกลงกันไว้ เป็นเรื่องของระยะสั้นไปก่อน คือ มีเครื่องมือสำหรับใช้กับวัสดุที่ใช้จัดการน้ำ อย่างเช่น ปูนขาว ลูกบอลน้ำหมัก การตรวจวัดที่สามารถนำมาเป็นคำตอบแก้โจทย์ที่ต้องการแก้ และการชวนคนในพื้นที่ก่อน้ำเสียให้ร่วมมือจัดการน้ำเสียที่ร่วมผลิต นี่คือเบื้องหลังของความคิด “ทำดีเพื่อแม่” ค่ะ
ลูกน้องที่เป็นพยาบาลซึ่งเดิมก็ไม่ใคร่เต็มใจเข้ามาเกี่ยวใกล้ชิดกับน้ำเสีย เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงและกลัวความสกปรก ก็ตื่นตัวที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยประสานทำความเข้าใจกับหน่วยงานทางการพยาบาลมากขึ้น เต็มใจที่จะประสานกับช่างให้เกิดความเข้าใจผลลัพธ์ด้านการก่อสร้่างที่ต้องการให้ลงตัวกับสิ่งที่คิดจะทำต่อไปและลงตัวกับการปลดล็อกปัญหามากขึ้น
วันนี้ ปูนขาวถูกโรยลงไปในพื้นที่น้ำขังใต้ตึกที่สามารถยื่นมือเข้าไปถึงและในหลายๆจุดที่ลูกน้องเดินผ่านไปแล้วพบว่าน้ำมีกลิ่นโดยไม่ต้องสั่ง รอบเวลาของการทำงานเริ่มเป็นระบบงานที่ดีกว่าเดิม
ตรงใต้ตึกที่น้ำขัง โรยไปครึ่งวันก็ได้ผล กลิ่นลดลงไป ยุงหนีให้ว่อน มียุงตายด้วย ลูกน้องก็ยังไปวัดน้ำให้ทุกวัน น้ำในคูยังคงมีตะกอนสีดำ
« « Prev : ตามลม (๔๖) : ถือว่าเป็นการแก้ระยะสั้นไปก่อนละกัน
Next : ตามลม (๔๘) : กลิ่นก๊าซบอกเหตุเรื่องน้ำเป็นกรดนั้นแน่แล้ว…แต่ไร้กลิ่นก็ใช่ว่าจะไม่เป็นกรดนะ » »
2 ความคิดเห็น
ระวังนะหมอเจ๊ ผมเว๊ามาหลายครั้งแล้วว่า กลิ่นเหม็นทางชีวภาพที่โทษน้อย อาจยังดีกว่าไม่มีกลิ่นแต่โทษมาก เพราะสารเคมีมันไปทำปฏิกิริยากัน เพื่อหลอกฆานะประสาทของเราให้หลงเพลิน เหมือนดังเชื่อเอดส์มันส่งสัญญาณหลอกการ์ดที่เฝ้าระวังเม็ดเลือดเรา ว่า เป็นพวกเดียวกัน
นอกกรอบ..ทุบตึกทิ้ง อาจดีกว่าจริงๆ ครับ ..ที่สวีเดนช่วงหลังสงคราม เขาทุบตึกทิ้งมากหลาย แล้วสร้างใหม่ จนวันนี้สวยงามเหลือหลาย ก็เหมือนดังการ “ละสังขาร” ที่ผุเน่าพ้นสภาพ เพื่อไปเกิดใหม่ ไม่ได้ทำบาปอะไรหรอก ..ยกเว้นจะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกอะไรสักอย่าง ก็ว่าไป อิอิ
ที่รพ.มีคนที่คิดว่าตัวเอง “รู้” อยู่หลายคน มีทั้งผู้คนที่อยู่ในบอร์ดของรพ. ฝ่ายบริหารและกลุ่มช่าง
ความคิดนอกกรอบจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อมีข้อมูลที่มีน้ำหนักพอให้คิดใหม่ทำใหม่ค่ะอาจารย์
เรื่องราวที่กำลังทำอยู่ของหมอ เป็นการทำงานเพื่อหาข้อมูลเชิงประจักษ์ไปให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายร่วมตัดสินใจ
เพื่อการคิดใหม่ทำใหม่ อาจารย์จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการให้ข้อมูลทางเทคนิคลึกๆด้านวิศวกรรมของไหลค่ะ