ตามลม (๔๘) : กลิ่นก๊าซบอกเหตุเรื่องน้ำเป็นกรดนั้นแน่แล้ว…แต่ไร้กลิ่นก็ใช่ว่าจะไม่เป็นกรดนะ

อ่าน: 1372

ภายใต้กระบวนการของน้ำเสีย ก็ได้เห็นการหมุนเวียนของแร่ธาตุเป็นวัฎจักร จากสิ่งแวดล้อมสู่จุลินทรีย์และจากจุลินทรีย์สู่สิ่งแวดล้อม หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันอยู่ กลางวันแตกต่างกับกลางคืน มีแดดแตกต่างกับในร่ม ที่มีอากาศแตกต่างกับที่อับอากาศ

เห็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกันทั้งกระบวนการทางชีวภาพ กระบวนการทางกายภาพ และกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นทั้งในสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ด้วยน้ำทิ้งที่จะปล่อยออกไปมีปลายน้ำเป็นป่าชายเลน ต่อจากป่าชายเลนก็เป็นหมู่บ้านที่เป็นชุมชนดั้งเดิมของที่นี่  อาชีพของชาวบ้านคือเลี้ยงปลาในกระชัง จับสัตว์น้ำมาขาย เลี้ยงแพะ และทำนาข้าว

ความเป็นชนบทที่ยังบริสุทธิ์ของชุมชนนี้ยังมีอยู่มากหลาย ทำให้วางใจไม่ลง หากคุณภาพน้ำที่ปล่อยทิ้งไม่ดีพอ

ที่เคยเป็นห่วงเรื่องดินเค็ม น้ำเค็ม ไม่ห่วงแล้ว  ที่ห่วงใหม่คือ น้ำที่ปล่อยทิ้งไปจะไปทำให้ดินเปรี้ยวได้ไหม เรื่องนี้ยังไม่รู้เลย  ทิ้งน้ำไปแล้ว น้ำไปมีผลทำให้ดินเปรี้ยวที่ป่าชายเลนท้ายน้ำ ก็จะกลายเป็นทำเรื่องให้ชุมชนแห่งนี้เดือดร้อนได้

เมื่อ 20 ปีก่อนเคยไปเยี่ยมโครงการหลวงที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้เรียนมาจากที่นั่นว่าดินเปรี้ยวปลูกต้นไม้ยาก  ดินที่เปรี้ยวเกิดจากกระบวนการกำเนิดของดินที่ไปเกี่ยวข้องกับตะกอนน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย แล้วสะสมสารประกอบกำมะถันขึ้นในดิน เมื่อดินแห้งลง สารประกอบกำมะถันที่สะสมแปรสภาพทำให้เกิดกรดกำมะถันขึ้นในดิน ดินเป็นกรดสูงมากจนมีผลกระทบต่อพืชที่ปลูก

เมื่อรับรู้ว่ามีก๊าซไข่เน่าจากกลิ่นที่เหม็น ก็ไม่คิดว่าจะมีแหล่งของกำมะถันอยู่ที่ตรงไหนให้น่าเป็นห่วง จนเมื่อมีผู้รู้มาบอกว่ากำลังเข้าไปเรียนรู้เรื่องการหมุนเวียนทางชีวธรณีเคมี หรือ วัฏจักรชีวธรณีเคมี (Biogeochemical Cycle) ซึ่งเป็นวงจรที่เกี่ยวข้องกับ 5 ธาตุอยู่ ก็ชักจะยังไงๆ

5 ธาตุที่อยู่ในวงจร สร้างเรื่องได้เสียไว้ให้คนอย่างไรมี 3 ธาตุที่รู้จักดีขึ้นแล้ว คือ น้ำ คาร์บอน ไนโตรเจน  ยังเหลือฟอสฟอรัส และกำมะถัน ที่คงจะต้องทำความรู้จักมันต่อไป

เมื่อรู้ว่าธาตุ “กำมะถัน” เป็นตัวการทำให้ดินเปรี้ยว กรดกำมะถันนั้นละลายน้ำได้  ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการจัดการน้ำเสียมากขึ้น

ความเป็นที่สาธารณะของรพ.ดึงดูดคนให้เข้ามาใช้น้ำจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การจัดการน้ำเสียก่อนทิ้งให้ไม่กระทบต่อชุมชนจึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของรพ.

เคยเห็นเมื่อตอนเด็กๆว่า คนโบราณใช้กำมะถันไล่แมลง วันนี้มาเจอร่องรอยของก๊าซไข่เน่าที่ใต้ถุนตึก ที่บอกว่ามีการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในพืชและสัตว์มาตลอดที่ใต้ถุนแห่งนี้  ก็ข้องใจกับความปลอดภัยของดินใต้ถุนและตะกอนสีดำในน้ำที่เห็น

เรื่องที่คนงานเล่าว่าเข้าไปทำงานใต้ถุนตึกแล้วต้องรีบออกมาเพราะหายใจไม่ออก บอกให้รู้ว่าใต้ถุนนั้นอับอากาศมากๆ

เคยพยายามให้น้องจูนจากศูนย์เขตฯ ช่วยวัดก๊าซนี้ แต่ไม่มีหัววัด ก็เลยไม่รู้ความมากน้อยที่มันสะสมอยู่

เคยรู้มาว่าก๊าซไข่เน่าเป็นก๊าซที่เป็นพิษกับคน ถ้ามันสะสมนานๆตรงไหน ตรงนั้นเป็นพื้นที่อับอากาศ ก๊าซนี้หนักกว่าอากาศ

เหตุการณ์ทั้งหมดเมื่อใช้หลักอนุมานแบบลูกเสือ ก็บ่งชี้ว่า ที่ใต้ถุนตึกมีก๊าซไข่เน่าอยู่มากพอสมควรเชียวแหละ

เพิ่งจะรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่าฟ้าแลบเป็นวิธีที่ธรรมชาติใช้เพิ่มไนเตรทให้โลก จึงไปค้นดูว่าธรรมชาติช่วยจัดการกำมะถันยังไง ได้มาว่า เมื่อซากพืชและซากสัตว์ย่อยสลายเป็นก๊าซไข่เน่า ธรรมชาติจะเปลี่ยนร่างมันต่อไปเป็นซัลเฟต พืชจะดึงซัลเฟตไปเป็นอาหาร กำมะถันส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยนเป็นก๊าซไข่เน่า จะแฝงตัวเข้าไปอยู่กับถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียม

ความเป็นกรดของดินเปรี้ยวทำให้ดินมีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสน้อยลง มีเหล็กและอลูมิเนียมเกิดเพิ่มขึ้น  ธาตุ 2 ตัวหลังเมื่อมีมากถึงระดับหนึ่งเป็นพิษต่อพืชที่ปลูกได้

« « Prev : ตามลม (๔๗) : เรื่องดีๆมีคนร่วมมือทำด้วยเสมอเมื่อรู้ว่า “ฉันทำได้”

Next : ตามลม (๔๙) : โชคดีของคนทำงาน…ที่ธรรมชาติช่วยแก้เรื่องความเปรี้ยวของน้ำให้บ้างแล้ว….ไม่งั้นแย่กว่านี้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 สิงหาคม 2011 เวลา 20:56

    ความรู้สึก อึดอัด (ขาดอากาศ) มาจากสัดส่วนปริมาณ O_2 ที่น้อยเกินไป ปกติด O_2 ประมาณ 21% ถ้าต่ำถึง 18% มนุษย์เราจะแย่…นี่ว่าตามตำราฝรั่งที่จำมา อิอิ

    กลางใต้ถุน ถ้าน้ำขังจนหมักหมมสร้างแก๊สมาก สัดส่วน O2 ก็ต้องลดลงเป็นธรรมดา O2 ด้านนอกจะแพร่เข้ามาก็จำกัด ก็เลยอึดอัด เล็กน้อย

    แต่ถ้าบวกสำออยเพราะมันแต๋ว รู้แกวจุดอ่อนเรา ก็อาจกลายเป็น “มาก” อิอิ

    พนักงานรากหญ้าบางคน หมอเจ๊ต้องระวัง ลีลา ท่าทางมันมากเหลือหลาย ทำให้หลงเชื่อได้ง่ายๆ เพื่อโก่งค่าแรง ให้แพง

    ปัญหาที่ว่ามาทังหลาย เผลอๆ บางที เพิ่มเงินค่าเสี่ยงภัยให้ 200 บาทต่อวัน ก็อาจหมดปัญหา ไม่บ่น อิอิ อาจ
    ถูกกว่าทุบตึกทิ้งที่ต้องเสีย 200 ล้าน

    ปัญหาพวกนี้มันเชื่อมโยงหลากหลายมิติ แต่ก่อนอื่นๆ ต้อง “วัดเวทนาแบบภววิสัยให้ใด้เป็นอันดับแรก ไม่งั้นที่เหลือ ที่เสียเวลาวิเคราะห์ แก้ มามากหลาย มันจะสูญเปล่า เหนื่อยเปล่าหมดเลยนะหมอ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.40898895263672 sec
Sidebar: 0.54518604278564 sec