ตามลม (๔๙) : โชคดีของคนทำงาน…ที่ธรรมชาติช่วยแก้เรื่องความเปรี้ยวของน้ำให้บ้างแล้ว….ไม่งั้นแย่กว่านี้

อ่าน: 1365

วิธีแก้ความเป็นกรดจากกรดกำมะถันที่ใช้กันที่แปลงสาธิตของโครงการหลวง คือ ขังน้ำไว้นานๆบนพื้นที่ดินเปรี้ยวแล้วระบายออก หรือใส่น้ำเข้าไปล้างดิน

ตรงไหนมีความเป็นกรดมากก็เพิ่มใส่ปูน เช่น ปูนมาร์ล ปูนขาว หินปูนบด หินปูนฝุ่น ลงไปคลุกเคล้ากับหน้าดิน หรือใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้าง ร่วมไปกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดิน

ทำไปๆสมดุลก็เกิด บางพื้นที่ของภาคใต้ปลูกต้นไม้ได้แล้ว พระบารมีนี้คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประทับไว้ในใจไม่รู้ลืม

มีคนเล่าให้ฟังว่า ความสมดุลทางธรรมชาติ เป็นภาวะธรรมชาติของระบบนิเวศหนึ่งๆที่ความสัมพันธ์เชิงระบบขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ความหมายคือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย รวมไปถึงสิ่งไม่มีชีวิต ได้ทำหน้าที่สนับสนุนกันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดหาย

ความแตกต่างของสมดุลทางธรรมชาติมีอยู่เสมอเพราะการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลาทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์  ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอยู่ 2 แบบ คือ กระทันหันและค่อยเป็นค่อยไป ประสบการณ์จริงที่เจอจากที่ตรงนี้ก็เป็นอย่างนั้น

ได้รับรู้จากเหตุการณ์น้ำท่วมแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงแบบกระทันหันมีผลกระทบที่ทำให้เกิดอันตรายได้รุนแรงกว่าจากภัยที่ซ่อนอยู่ที่ไม่เคยรู้จัก เมื่อสมดุลเสียไปกระทันหัน ผลกระทบต่อชีวิตก็จะมากไปด้วย ตรงนี้ทำให้เลือกทำสิ่งที่แน่ใจว่าไม่สร้างผลกระทบมาก

วันนี้จึงเลือกที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติ อะไรที่รู้จักแล้ว แน่ใจแล้วว่าปลอดภัยเมื่อลงมือทำก็ทำ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ที่เลือกแล้วว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อคนทำงานและสิ่งมีชีวิตอื่นน้อยกว่าการรีบร้อนทำ

การไปตามรอยอยู่บ่อยครั้งก็ทำเพื่อแกะรอยและค้นหาปัจจัยที่ควบคุมได้ แล้วลงมือเปลี่ยนแปลงให้ปลอดภัยกว่าเดิม จุดไหนมีอะไรที่ยังไม่รู้ว่าปลอดภัยแค่ไหน ก็ไม่ส่งคนไปทำงานเรื่องนั้น ตรงนั้น

การตามรอยยังเป็นเรื่องการทำความเข้าใจว่ามีสิ่งแวดล้อมภายนอกอะไรอีกที่จะรบกวนความสามารถในการปรับตัวของสิ่งแวดล้อมตรงนั้นให้กลายเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เมื่อเปลี่ยนแปลงมันด้วย

เรื่องราวที่ตามรอยมาเรื่อยๆ ได้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการสูญเสียความสมดุลในระบบนิเวศของตึกๆหนึ่งจากความเก่าของท่อที่อยู่ภายในตึกนั้น และความไม่รู้จักพื้นที่แล้วไม่ทำให้รู้ก่อนลงมือจัดการปัญหา มันจึงลากยาวจนเรื่องราวตกมาถึงมือให้ร่วมแก้

เมื่อทำงานกับเรื่องนี้ก็ไ้ด้มุมคิดเรื่องประวัติศาสตร์ของที่ทำงานขึ้นมาแวบๆว่าสำคัญ ที่แก้ไขมาได้จนถึงวันนี้ก็เพราะคนที่ทำงานอยู่กับพื้นที่ รู้จักพื้นที่ดี ยังคงทำงานอยู่ ต่อไปถ้าคนรุ่นนี้ออกจากงานกันหมด คนรุ่นหลังแย่แน่ๆ

ประวัติศาสตร์ที่ย้อนรอยไปรับรู้ชี้ให้เห็นว่าน้ำฝนที่ไหลเข้าไปใต้ถุนตึกเป็นตัวช่วยชะล้างความเป็นกรดในน้ำให้ในช่วงหน้าฝน การขังอยู่ของน้ำก็ให้คุณด้วย

น้ำที่ระบายออกมาแล้วส่งกลิ่นเตือนในหน้าแล้งฝน ก็เป็นกลไกที่ธรรมชาติที่มาร่วมส่งเสียงเตือน

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแล้ว เข้าหลักการจัดการความเป็นกรดอย่างที่โครงการหลวงให้ความรู้ไว้ข้างต้นเป๊ะเลย

ที่ไปควบคุมแล้วโดยไม่ตั้งใจและตรงเป๊ะกับวิธีแก้ความเป็นกรดอีกเรื่อง ก็เป็นการตัดสินใจใส่ปูนขาวเพื่อจัดการกลิ่นที่ทำไปแล้ว

เพื่อความสบายใจก็ต้องพิสูจน์หลักฐาน เก็บน้ำไปส่งวัดตามเกณฑ์คุณภาพน้ำเสีย อืม. น้ำทุกจุดที่สุ่มตรวจมีสารประกอบกำมะถันอยู่ในเกณฑ์ทุกจุด ยกเว้นที่บ่อรับน้ำทิ้งที่ได้ใส่ปูนขาวลงไปเพียงครั้งเดียวที่มีเกินเกณฑ์ (เกณฑ์ผ่านคือ ไม่เกิน 1 มก.ต่อลิตร)

ค่าที่พบมีอย่างนี้ค่ะ ในบ่อทดน้ำมี 0.26 มก.ต่อลิตร น้ำในคูที่อยู่ห่างไปกว่า 10 เมตร 2 จุด ไม่มีเลย ตรงจุดที่มีอุนจิรั่วออก มี 0.13 มก.ต่อลิตร น้ำในแอ่งน้ำขังใต้ถุนตึกที่ยังไม่เติมปูนขาวมี 0.53 มก.ต่อลิตร  น้ำในบ่อรับน้ำทิ้งก่อนบำบัดมี 1.0 มก.ต่อลิตร และน้ำในบ่อใกล้ไตเทียมมี 0.4 มก.ต่อลิตร

ได้บอกกับลูกน้องไปแล้วว่า ผลตรวจนี้เป็นความก้าวหน้าของการที่ได้ช่วยกันแก้ไขระยะสั้น ดีใจกับสิ่งดีๆที่ได้ทำกันได้ แต่อย่าเผลอว่างานเสร็จแล้ว เพราะว่าน้ำที่เห็นๆกันอยู่นั้น มันเปลี่ยนแปลงตลอดวัน

จะให้แน่ใจว่าปูนขาวเอาอยู่ยังต้องตรวจซ้ำเป็นระยะๆ ซึ่งก็ยังต้องกรุยทางผ่านเรื่องงบประมาณตรวจน้ำในแต่ละครั้งที่เป็นเงิน ๕ หลัก ถ้าจำเป็นต้องตรวจบ่อย

« « Prev : ตามลม (๔๘) : กลิ่นก๊าซบอกเหตุเรื่องน้ำเป็นกรดนั้นแน่แล้ว…แต่ไร้กลิ่นก็ใช่ว่าจะไม่เป็นกรดนะ

Next : ตามลม (๕๐) : หรือว่าเหตุที่เกิดกับคนงานเป็นผลจากแอลจีบลูม????? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๔๙) : โชคดีของคนทำงาน…ที่ธรรมชาติช่วยแก้เรื่องความเปรี้ยวของน้ำให้บ้างแล้ว….ไม่งั้นแย่กว่านี้"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.046075105667114 sec
Sidebar: 0.18990397453308 sec