ตามลม(๔๓) : เขาบำบัดน้ำกันยังไง…หลักคิดที่ใช้
การบำบัดน้ำในขั้นตอนระดับสูงที่ไปเกี่ยวกับฟอสฟอรัส และไนโตรเจนมีทั้งกระบวนการทางเคมีและกระบวนการทางชีวภาพเป็นทางเลือก
การเกิดปรากฏการณ์แอลจีบลูมที่คูรับน้ำทิ้งจากไตเทียมส่งสัญญาณว่ามีกระบวนการเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นไนเตรท และ pH ที่เปลี่ยนไปในยามเย็นที่ลดลงเมื่อเทียบกับยามเช้าบอกว่ามีกระบวนการเปลี่ยนไนเตรทให้เป็นไนโตรเจนและปล่อยออกสู่อากาศในตอนกลางคืนด้วย
แอลจีบลูมที่เกิดขึ้น ยังบอกถึงการมีฟอสฟอรัสอยู่ในน้ำสูง สาหร่ายได้ฟอสฟอรัสใช้อย่างฟุ่มเฟือยจึงเจริญเติบโตมาก
อย่างนั้นที่ใส่ปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักผ่านพ้นมากว่าเดือนก็เป็นการจัดการน้ำขั้นสูงไปอย่างไม่ได้ตั้งใจซิ
ในระบบบำบัดน้ำเสียมีหลักการบำบัดกากตะกอนหรือสลัดจ์ (Sludge Treatment) ให้เลือกอยู่ 3 แบบ คือ
ลดปริมาณโดย ทำให้ข้นในถังข้นที่มีกลไกทำให้สลัดจ์ตกตะกอนและลอยตัว
ลดปริมาณโดยย่อยด้วยกระบวนการใช้อากาศ หรือ กระบวนการไร้อากาศ ทำให้สลัดจ์คงตัวไม่เน่าเหม็นเมื่อนำไปทิ้ง
ปรับสภาพให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้เหมาะสม เช่น ทำปุ๋ย ปรับสภาพดินสำหรับใช้ทางการเกษตร
ลดปริมาณโดยการรีดน้ำด้วยวิธีสุญญากาศ อัดกรอง ตากแห้ง หรือหมุนเหวี่ยง ก่อนนำไปฝังกลบ เผา หรือใช้ประโยชน์อื่น
อย่างนี้การบำบัดน้ำตรงไตเทียมก็ได้ข้อสรุปเกือบทั้งหมดแล้ว เมื่อไรได้คำตอบเรื่องการตายของปลา และปริมาณแอมโมเนียที่ค้างในบ่อ ปัญหาเรื่องวิธีบำบัดน้ำของบ่อนี้ก็มีทางออกแล้ว ขั้นต่อไปก็เหลือแต่การเติมคลอรีนเพื่อจัดการกับเชื้อโรคและแอมโมเนียในน้ำตรงนี้ถ้ายังคงค้าง จะทำตรงนี้หรือทำที่บ่อบำบัดใหญ่ปลายทางที่น้ำไหลไปรวมอยู่
กลับไปดูคูเจ้าปัญหาว่าจะทำอย่างไรต่อไป สำรวจพื้นที่ใหม่ก็พบร่องรอยของบ่อเกรอะที่ยังมีการใช้งาน จึงกลับมาค้นหาว่าบ่อเกรอะทำงานยังไง
รู้จักบ่อเกรอะจึงเข้าใจขึ้น น้ำในคูเจ้าปัญหาที่รับอุนจิลงมาถ้ามีบ่อเกรอะรองรับไว้ บ่อเกรอะจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้ราวร้อยละ 40 - 60 ช่วยบำบัดขั้นแรกเท่านั้น ยังต้องบำบัดต่อในขั้นสอง
ไม่ใช้บ่อเดียวแต่เป็น 2 บ่อ บ่อแรกป้องกันตะกอนลอย (ฝ้าไข: Scum)และตะกอนจมไม่ให้ไหลต่อไปยังบ่อที่สอง มีแผ่นขวางหรือสามทางรูปตัวทีติดตั้งอยู่ก็เพื่อการนี้
ลักษณะที่เป็นบ่อปิด น้ำซึมไม่ได้และไม่มีการเติมอากาศ ทำให้ภายในบ่อเกรอะไร้อากาศ (Anaerobic) กากตะกอนหลังย่อยเกิดขึ้นราว 1 ลิตร/คน/วัน
ถ้ามีกรดหรือด่างเข้มข้น น้ำยาล้างห้องน้ำเข้มข้น คลอรีนเข้มข้น ไหลลงในบ่อเกรอะ ประสิทธิภาพในการทำงานของบ่อจะลดลงไปอีก
ถ้าปรับให้ภายในช่วงกลางของบ่อมีชั้นตัวกลาง เช่น หิน หลอดพลาสติก ลูกบอลพลาสติก กรงพลาสติก และวัสดุโปร่งอื่นๆ เพื่อให้มีพื้นที่ผิวสำหรับจุลินทรีย์ยึดเกาะได้มากขึ้น ปรับการไหลเข้าของน้ำเสียจากที่เข้าทางด้านบนเป็นด้านล่าง ให้น้ำเอ่อผ่านตัวกลางแล้วไหลออกทางท่อด้านบน สภาพภายในบ่อก็คือ ถังกรองแบบไร้อากาศดีๆนี่เอง น้ำทิ้งที่ไหลล้นออกจะมีคุณภาพน้ำที่ดีกว่าบ่อเดิม
ในบ่อซึ่งเดิมไม่มีส่วนกักและกรองสารแขวนลอยขนาดใหญ่ออกจากน้ำเสีย ปรับเพิ่มให้มีตะแกรงดักขยะและบ่อดักไขมันได้ ใช้งานไปแล้วเกิดตัน ให้ใช้การฉีดน้ำสะอาดเข้าไปทางบนและระบายน้ำส่วนล่างออกไป ทำพร้อมๆกัน
เมื่อมีน้ำไหลออกเร็วกว่าปกติและมีตะกอนติดออกมาด้วย มันบอกถึงความน่าจะเป็นว่ามีก๊าซสะสมภายในบ่อแล้วดันทะลุตัวกลางขึ้นมาเป็นช่อง วิธีแก้ไขที่ใช้ได้ก็เป็นการฉีดน้ำล้างตัวกลางเช่นเดียวกัน
การย่อยสลายแบบใช้อากาศให้น้ำทิ้งที่มีคุณภาพดีกว่าแบบไม่ใช้อากาศตรงที่มีสารที่ต้องการออกซิเจนเหลืออยู่ในน้ำทิ้ง ประมาณ 10 % ของสารอินทรีย์ตั้งต้น ตะกอนส่วนเกินอยู่ในรูปของมวลชีวภาพของจุลินทรีย์ ซึ่งยังต้องบำบัดเพิ่ม
ระบบที่ไม่ใช้อากาศ มีปริมาณของแข็งและสารที่ต้องการออกซิเจนเหลืออยู่ในน้ำทิ้ง ประมาณ 30 % ของสารอินทรีย์ตั้งต้น ตะกอนส่วนเกินน้อยกว่าและมีความเสถียร (more stable) กว่ากระบวนการใช้อากาศ และให้มีเทนซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิง และแหล่งพลังงานได้
ข้อต่างของระบบบำบัดทั้งใช้อากาศและไม่ใช้อากาศที่ได้รู้เพิ่มมานี้ ช่วยให้เห็นมุมที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่าง “บ่อ” กับต้นแหล่งน้ำเสียที่คูเจ้าปัญหาเกี่ยวข้องขึ้นมารำไร
« « Prev : ตามลม(๔๒) : รู้ไว้หน่อย…เรื่องปริมาณน้ำใช้
Next : ตามลม(๔๔) : รู้จักฤทธิ์ปูนขาวกันหน่อย…ช่วยอะไรได้บ้างเมื่อใส่ในน้ำ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๔๓) : เขาบำบัดน้ำกันยังไง…หลักคิดที่ใช้"