อุ๊ยสร้อยชวนเรียนรู้….รางจืดแก้เค็ม

อ่าน: 6114

ก่อนที่จะเล่าเรื่องความเค็มที่เกิดจากธาตุตัวอื่น ไหนๆก็นึกขึ้นได้แล้ว ก่อนลืมขอชวนกลับไปพิจารณาเรื่องราวที่ได้สนทนากับอุ๊ยสร้อยเรื่องรางจืดกันหน่อย

” เมื่อวานนี้ไปงานเลี้ยง..สามมื้อ…ก็ว่าเลี่ยงอาหารเค็มและรสจัดแล้ว แต่ก็รู้สึกคอแห้งหิวน้ำตลอดวัน…..ผลชูรสคงทำให้ไม่รู้สึกว่าเค็มแต่ก็รับ ไป เต็มๆ แล้ว…เลยชงรางจืดดื่มไปแล้วรู้สึกค่อยยังชั่วค่ะ ไม่รู้เกี่ยวกันไหมแต่รู้สึกว่าหลายครั้งที่เจออาหารที่ทำให้เกิดอาการแปลกๆ รางจืดช่วยได้ค่ะ” ประโยคนี้อุ๊ยสร้อยได้กรุณานำมาแลกเปลี่ยนในบันทึกนี้

ในเมื่อความเค็มในปากคอเกี่ยวกับการขับทิ้งเกลือผ่านแก้มลิงเพื่อทดทิ้งไป  ความจืดในคอที่รางจืดทำให้เกิดขึ้นเกิดได้ยังไงน่าสนใจไม่น้อย

ฤทธิ์ของรางจืดนี้พูดกันอยู่มากในเรื่องการจัดการพิษ อมไม่ให้เมาแบบหมา่มองหน้าไม่ได้เพราะหัวปักหัวปำเวลาดื่มเหล้า ฤทธิ์ในทางยาก็เป็นเรื่องแก้พิษปลาปักเป้า

ในการออกฤทธิ์ทางเคมี รางจืดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายก็ต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อใช้ปรับสมดุลน้ำตาลและใช้ขับทิ้งส่วนน้ำตาลที่เกินทิ้งออกไป  เคยเล่าไว้แล้วว่าน้ำในร่างกายเป็นน้ำเกลือ จะให้น้ำอยู่ในร่างกายได้พอก็ต้องมีการเก็บเกลือคืนกลับ กลไกที่ต้องเก็บเกลือไว้เพื่อเก็บน้ำนี้แหละที่ทำให้เมื่ออุ๊ยสร้อยดื่มชารางจืดแล้วปากคอหายเค็ม

ถ้าจะถามว่ารางจืดลดเกลือในร่างกายด้วยไหม อันนี้ไม่กล้าตอบเลยค่ะ ไม่เคยรู้ว่ามีการศึกษาฤทธิ์ของรางจืดในแง่มุมนี้หรือเปล่า แต่ที่มีแน่ๆคือฤทธิ์รางจืดทำให้ไขมันบางตัวลดลง แก้พิษของสัตว์ที่ส่งผลให้ระบบประสาทรวนได้จริง

สาเหตุที่รางจืดแก้พิษที่ีทำให้ระบบประสาทรวนได้อย่างสำคัญก็เพราะในรางจืดมีธาตุรสเค็มอีกตัวอยู่มาก ธาตุตัวนั้นชื่อ โปตัสเซียม

เคยได้ยินใช่ไหม เมื่อหลายสิบปีก่อนมีข่าวครึกโครมทีเดียวเกี่ยวกับคนอีสานที่ทำให้แตกตื่นกันไปหมด ข่าวนั้นบอกว่าอยู่ดีๆคนอีสานก็มีอาการอ่อนเปลี้ยเดินไม่ได้อย่างเฉียบพลันเป็นแฟชั่น  จนเมื่อกระทรวงสาธารณสุขส่งคนไปสืบค้นสาเหตุ จึงได้รู้ว่า เจ้าโปตัสเซียมคือต้นเหตุ เมื่อไรในร่างกายผู้คนมีตัวมันต่ำ เมื่อนั้นเกิดเรื่องอ่อนเปลี้ยง่ายๆนะคะ ขอบอก แต่ถ้ามีมากเกิน สามารถหัวใจเต้นช่าช่าช่า ไม่เป็นจังหวะได้ค่ะ

โปตัสเซียมเกินไม่ดีสำหรับหัวใจ ขาดไม่ดีกับกล้ามเนื้อและประสาทว่างั้นเหอะ

ฉะนั้นที่น้องหนิงมาแลกเปลี่ยนไว้ที่นี้ว่ามีคนพิเรนทร์ทำสินค้าออกมาในตลาดแล้วใส่โปตัสเซียมไว้แทนโซเดียม ระวังไว้นะคะ ทำให้ตัวเองเกิดโรคโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้

จะรู้ทันการสอดไส้ขายอย่างนี้ได้ ให้พึ่งฉลากโภชนาการนะคะ อ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้อสินค้าสำเร็จรูปทุกตัว

อย่าลืมสร้างนิสัยอีกอย่างไว้ด้วยค่ะ พกพาแว่นขยายติดตัวไปช๊อปปิ๊งด้วยนะคะ ก็เจ้าฉลากนี้มันถูกพิมพ์ไว้ตัวเล็กถึงเล็กมากๆๆ ต่อให้ไม่ใช่สว.ก็เหอะ อ่านยากอย่างยิ่ง

เลยถือโอกาสทวนซ้ำซะหน่อย ฉลากบริโภคมีอะไรอยู่บ้าง ขอยกตัวอย่างข้อความจากฉลากบริโภคของซอสเจตราสถานที่สำคัญใกล้วัดหลวงพี่ติ๊กมาอ่านทำความเข้าใจไปด้วยกันค่ะ

ซอสเจ 1 หน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะ = 15 มล.)   ข้อความนี้ หมายถึง ส่วนประกอบต่างๆวิเคราะห์ต่อจำนวน 15 มล. กำหนดส่วนบริโภคไว้่ครั้งละ 15 มล.

ร้อยละของปริมาณต่อวัน :  ไขมันทั้งหมด 0 กรัม  0%   โปรตีน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 2 กรัม  0%  น้ำตาลน้้อยกว่า 1 กรัม โซเดียม 1260 มก. 53%  เหล็ก 6%

ข้อความนี้หมายความว่า ถ้าบริโภคใน 1 วันจากซอสนี้ 15 มล. จะมีโซเดียม 1,260 กรัม (กำหนดให้บริโภคไม่ควรเกิน 2,000 กรัมต่อวัน) และซอสนี้เป็นน้ำเกลือเข้มข้นเชียวนา สัดส่วนน้ำต่อเกลือราว 1:1 เลยเชียว (53%)  แถมยังมีแหล่งให้น้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตที่ไม่รู้ว่าได้จากวัตถุดิบอะไรและมีน้ำตาลด้วย และมีแหล่งให้พลังงานจากโปรตีนด้วยในสัดส่วนเท่าๆกับคาร์โบไฮเดรต  อีกส่วนประกอบที่พิเศษและเติมไว้ในซอสยี่ห้อนี้คือ ธาตุเหล็ก

ในแง่ของการบริโภค คนที่โลหิตจางจะได้ประโยชน์จากการบริโภคซอสเจนี้  แต่ถ้าโลหิตจางจนตัวบวม บริโภคซอสนี้ก็มีเสี่ยงกับโซเดียมที่มีอยู่เข้มข้น

กลับมาบอกเล่าเรื่องรางจืดอีกหน่อย เผื่อใครยังไม่รู้ ยาเขียวที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้รักษาไข้ทั้งดื่มทั้งเช็ดตัวในสมัยก่อนๆ คือ น้ำจากผงรางจืดค่ะ

อ้อ เกือบลืมไปเชียว ชารางจืดไม่เหมาะกับผู้ได้รับการติดยศเบาหวานหรือว่าที่เบาหวานที่มีเหรียญกล้าหาญเรื่องตับ ก็มันทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แถมยังมีฤทธิ์ทำให้น้ำย่อยจากตับขึ้นสูงได้ด้วย

ดื่มนานๆๆครั้งไม่ว่ากันอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดจะดื่มประจำหรือบ่อยๆเพื่อให้ปากคอจืด น้ำลายจืด ขอเหอะๆ

ส่วนถ้าจะดื่มเพื่อใช้มันเป็นยาสมุนไพรดูแลร่างกาย ไม่ขอนะคะ ก็การคงอยู่ในร่างกายของมันเหมือนการกินอาหาร จะดื่มมันเข้าไปได้หรือไม่ ก็ตอบว่าได้ แต่ควรดูจังหวะเวลาที่จะดื่มไว้หน่อย ตรวจดูสภาพเลือดของร่างกายไว้ก่อนเป็นบรรทัดฐาน ติดตามต่อหลังการดื่มต่อเนื่องป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ฤทธิ์ที่ไม่ต้องการของมันข้างบนมาเติมซ้ำให้เกิดโรคเร็วขึ้น หยุดดื่มได้ทันกับด้านลบที่มันเป็นต้นเหตุ

บันทึกอื่น

ขอเล่าเรื่องฉลากโภชนาการซะหน่อยดีกว่า

« « Prev : เล่าเรื่องแก้มลิงในร่างกาย

Next : ความเค็มของอาหาร….เกี่ยวอะไรกับอากาศหายใจ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 มกราคม 2010 เวลา 16:12 (เย็น)

    ขอบพระคุณค่ะพี่หมอเจ๊

    ถึงว่าซิคะ คนโบราณเขาดื่มเฉพาะตอนที่มีไข้ แต่เดี๋ยวนี้คนเขาเห่อดีท๊อกตัวเองด้วยการดื่มชารางจืด

    รู้แต่รู้ไม่หมดนี่อันตรายจริงๆนะคะ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 มกราคม 2010 เวลา 19:19 (เย็น)

    รางจืดปลูกไว้หลายปีแล้ว ออกเถาว์พันยั๊วเยี้ย แถมยังออกต้นเล็กๆเต็มไปหมด
    เคยลองชิมบ้างนานๆครั้ง
    ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็น “ใบย่านางปั่น” ทุกเช้า รวมกับสมุนไพรตัวอื่น
    ไม่ทราบว่า “ย่านาง” จะแสลงโรค“ตับ” เหมือนรางจืดหรือเปล่านะครับ
    แคว๊กๆๆ

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 มกราคม 2010 เวลา 17:58 (เย็น)

    #1 อุ๊ยสร้อยที่รัก การดีท๊อกหรือการดื่มกินรางจืดมีแง่มุมดีๆของมันอยู่ในยุคสมัยที่มีการบริโภครสเค็มอย่างมากมายอย่างยุคสมัยนี้

    เพียงแต่ทุกอย่างที่อยู่ในโลกไม่ได้มีด้านเดียว มันมีแง่ดีน้อยกว่า ดีมากกว่าให้ใคร่ครวญก่อนเลือกทำให้เหมาะกับกาล

    จะอย่างไรรางจืดก็เป็นประโยชน์ในเรื่องแก้กินเค็มในอีกแง่มุมค่ะ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 มกราคม 2010 เวลา 18:00 (เย็น)

    #2  พ่อครูค่ะ การที่เอ็นไซม์ตับขึ้นสูง ในบางเรื่องก็ไม่ได้เกิดจากตับป่วยหรือแย่ค่ะ  ต้องแยกแยะต้นตอก่อนฟันธงว่าตับแย่ลง

    ดูแล้วรางจืดไม่เหมาะสำหรับพ่อครูในเรื่องที่จะส่งผลให้เขยิบยศเป็นเบาหวานยศสูงกว่าเร็วขึ้นค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030217885971069 sec
Sidebar: 0.090848207473755 sec