ความขัดแย้ง ทางออก …3

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มิถุนายน 2009 เวลา 0:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2664

ผมคงเหมือนๆกับท่านอื่นๆที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการเข้าสู่การเมืองโดยตรง แม้ว่าน้องพ่อผม(อา) เคยเป็น สส.มาหนึ่งสมัยแล้วเสียชีวิตไป แต่ผมก็ไม่มีส่วนใดๆต่อการใกล้ชิดกับการเมือง การเข้าสู่กระบวนการนักศึกษาที่มีความคิดเห็นทางการเมืองก็อยู่ในช่วงของเยาวชนมากกว่า เมื่อมาทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในชนบท ด้านการพัฒนาองค์กร มีบทสรุปส่วนตัวที่สามารถจำลองประเทศเป็นองค์กร ถือว่าเป็นข้อสังเกตก็แล้วกัน

ลองทำแบบจำลองขึ้นดังภาพนี้

  1. สังคมอุดมคติคือสังคมสันติภาพ สงบสุข สังคมคุณธรรม พึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออาทรต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ มีศีลธรรม ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม หรือสังคมนิยม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักธุรกิจ หรือเกษตรกร ฯลฯ หากสังคมนั้นๆมีคุณสมบัติหรือองค์ประกอบลักษณะสังคมเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสังคมอุดมคติ จากภาพ เป็นเส้นสีแดงตรงแกนกลางนั่น
  2. แต่สังคมในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ขับเคลื่อน พัฒนา ก้าวหน้าไปแบบเป็นเส้นตรงที่ราบรื่น สงบเรียบร้อย มีความสุขทั่วหน้า ตรงข้ามมีปัญหาอุปสรรคมีความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปตามความประสงค์ของบุคคล กลุ่มคน ฯลฯ ทั้งจากภายนอกประเทศ เช่น กรณีการเสียดินแดนในสมัยล่าอาณานิคม และภายในประเทศเอง เช่นกรณีการปฏิวัติต่างๆ เราเรียกความประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงไปตามบุคคล กลุ่มคนนั้นว่า “แรงผลักทางสังคม” ก็ย่อมหันเหสังคมไปในทิศทางที่เขาต้องการ
  3. ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีบุคคล กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราเรียกได้ว่า “ความขัดแย้ง” ก็ย่อมที่จะสร้าง “แรงต้านทางสังคม” ตั้งแต่เป็นไปตามกติกาสังคมจนถึงขั้นรุนแรง
  4. การต่อสู้ระหว่างสองแรงดังกล่าวอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นไปตามวิถีของสังคม และเป็นไปในแนวทางที่รุนแรง เมื่อแรงทั้งสองปะทะกันในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งใช้ระยะเวลาสั้นและยาวนาน ก็ลงเอยด้วยข้อสรุปทางสังคม ที่อาจจะเป็นในลักษณะที่สังคมยอมรับได้ หรือจำใจยอมรับ และยังมีคลื่นใต้น้ำ แต่ไม่ปรากฏการกระทำ หรือยังไม่เป็นพลังทางสังคม
    รอเวลาสะสมพลังด้วยขบวนการต่างๆ เช่นกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
  5. มีข้อสังเกตว่าไม่ว่าสังคมจะถูกกระทำแล้วหันเหไปทางใดๆก็ตาม ก็ย่อมหันกลับมาในแนวสังคมอุดมคติ หรือใกล้เคียง เพราะเป็นสภาพที่ทุกคนยอมรับว่านั่นคือสังคมที่ทุกคนปรารถนา แม้ว่าจะไม่ใช่ในทุกกระเบียดนิ้ว แต่สถาบันทางสังคมต่างๆจะเป็นผู้คัดหางเสือสังคม สถาบันต่างๆทางสังคมจึงมีบทบาทมากๆต่อการพัฒนาประเทศชาติ เช่นสถาบันยุติธรรมต่างๆ สถาบันการศึกษา สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และอื่นๆ
  6. ดังนั้นไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะไปอย่างไร หากสถาบันต่างๆหนักแน่นในหลักการของสังคมอุดมคติก็ย่อมเป็นแรงต้านที่เป็นพลังถ่วงให้พลังผลักที่ไม่พึงประสงค์ไม่เข้ามาครอบงำสังคม
  7. นี่คือทางออกของความขัดแย้งในสังคมที่สถาบันต่างๆต้องออกมาแสดงพลังความถูกต้องของการขับเคลื่อนสังคมอุดมคติ ให้สังคมทุกภาคส่วนมีสติ
  8. เนื่องจากปัจจุบันพลังความต้องการที่เป็นแรงผลักทางทางสังคมนั้นซับซ้อนมากขึ้น เขาพูดในสิ่งที่ดูดี แต่เบื้องลึกแฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ นี่คือปัญหาที่ซับซ้อน และยุ่งยากมากขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความเป็นจริง
  9. ทางออกที่สำคัญคือ ผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ต้องสร้างสังคมอุดมคติให้ใกล้เคียงความเป็นจริงให้มากที่สุด สนับสนุนสถาบันทางสังคมได้แสดงพลังที่ถูกต้องออกมาเพื่อร่วมกันคัดหางเสือสังคมให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

หากปล่อยให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นนี้สังคมจะเป็นอย่างไร

  1. สังคมก็จะเสียเวลาในการขับเคลื่อนสังคมเข้าสู่สังคมอุดมคติ นานมากขึ้น เสียหายมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ยุ่งเหยิงมากขึ้น
  2. เพราะแรงผลักดันทางสังคมที่มีทิศทางมิใช่สังคมอุดมคติจะใช้เวลาที่เขาครองอำนาจนั้นๆสร้างความเข้าใจแก่สังคมใหม่ตามแนวทางที่เขากำหนด

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นเบื้องต้นอย่างหยาบๆ นะครับ


ความขัดแย้ง ทางออก…2

580 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มิถุนายน 2009 เวลา 7:23 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12549

ผมขอเอาบทความเก่า ชื่อ ร่างแนวคิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มาเป็นตุ๊กกะตา พิจารณาในเรื่องความขัดแย้ง: ทางออก

——-

ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม นั้นจะกล่าวแบบกว้างๆก็เพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประเทศนั่นเอง ผู้บันทึกเคยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กับคนทำงานพัฒนาชนบท และกลุ่มเพื่อนๆในวงการ NGOs และสรุปร่างแนวคิดนี้ไว้ อย่างคร่าวๆ

สังคมไทยหรือสังคมไหนๆก็มีอดีต มีประวัติศาสตร์ มีพัฒนาการ มีเหตุการณ์ต่างๆมากมาย และอดีตทั้งหมดมีผลต่อพัฒนาการของสังคมในปัจจุบัน นี่เองคือความสำคัญของการเรียนการศึกษาประวัติศาสตร์ ในทุกสาขาที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯ


Diagram ข้างบนนั้นแสดงให้เห็นแนวสมมุติการเคลื่อนของสังคม จากฐานเดิมของความเป็นไทยๆ เรามีสถาบันกษัตริย์ เรามีสถาบันศาสนาที่เปิดกว้างทุกศาสนา เรามีสถาบันสังคมที่เป็นแบบแผนปฏิบัตินั่นคือวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ที่เราเรียกรวมๆกันว่า ทุนทางสังคม วันเวลาผ่านการขับเคลื่อนด้วยสถาบันเหล่านั้น สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยภายในของสังคมเป็นด้านหลัก อาจจะมีปัจจัยภายนอกบ้างก็ในแง่ของการเกิดศึกสงครามแต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว และไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก


สังคมประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อสังคมโลกขับเคลื่อนและเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเรา เช่น ลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในสมัยนั้น ซึ่งผู้นำประเทศและพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทยทรงปรีชาญาณนำพาประเทศรอดพ้นมาได้ แต่เป็นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมา เช่น การทำสัญญาเบาริ่ง ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นเงื่อนไขการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ให้มีการค้าขายระหว่างประเทศ (ก่อนหน้านี้ก็มีแล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลมาก) การนำเข้าสินค้าและสิ่งอื่นๆเข้ามาในประเทศเรา ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นการสะสมปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประการในช่วงเวลาต่อมา


นอกจากสัญญาเบาริ่งแล้วในช่วงเวลาต่อมาเราก็เริ่มสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นการกำหนดแผนพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย อันเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งด้านสร้างสรรค์ และสะสมปัจจัยให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆตามมาภายหลัง แล้วสังคมโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีทุนเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมโลกให้พัฒนาไป

สังคมโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนั้น ได้เกาะเกี่ยวให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรีระหว่างประเทศขึ้น มีส่วนทำให้สังคมไทยเปิดกว้างต่อธุรกิจต่างๆทั่วโลกที่สามารถเลือกมาลงทุนในประเทศไทยได้ และกอบโกยกำไรอย่างมหาศาลออกไป ระบบนี้ผลักดันให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งทีเดียว ส่งผลกระทบมหาศาลต่อวิถีชีวิต และระบบชุมชนต่างๆอย่างไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมที่เราทราบกันดีตามสื่อมวลชนต่างๆนั้น คือผลพวงของความไม่สมดุลของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนผู้ด้อยโอกาสต่างๆในสังคม


สัญญาเบาริ่งก็ดี แผนพัฒนาฯชาติก็ดี ระบบโลกาภิวัฒน์ก็ดี ระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศก็ดี และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งหมดนั้นคือแรง G ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันสังคมไทยให้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวตามแนว A1 ไปสู่ A2 จนถึง A5 และ Ac นั้น หันเหไปสู่แนว Acg1 (ตาม diagram) ด้วยแรงกระทำของ G นั่นเอง

ทิศทางการเคลื่อนที่ของสังคมประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากแนว A5- Ac ไปสู่แนว A5-Acg1 นั้นก่อให้เกิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” (หรือ D) และแปรผันตามแรง G ที่กระทำต่อการเคลื่อนที่ของ A5 สู่ Ac


ปรากฏการณ์ขยับตัวของปัจจัยภายนอกที่รุกเข้ามา ทั้งโดยการพยายามเข้ามาแสวงหาประโยชน์ และการนำเข้ามาของทุนภายใน และการเข้ามาด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ทวีความหนาแน่นมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยที่รัฐบาลผู้บริหารประเทศต้องการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่การเป็นแหล่งอุตสาหกรรมของโลก ต้องการยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความทันสมัย และด้วยเหตุผลอื่นๆ ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของ “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มากขึ้น

แรงกระทำที่มากขึ้นของ G กระทำต่อ แนวการเคลื่อนตัวของ A5-Ac ส่งผลให้ทิศทางการเคลื่อนตัวของสังคมจากแนว A5-Ac เปลี่ยนไปเป็น A5-Acg2 และก้าวไปสู่ A5-Acg3 และต่อไปเรื่อยๆตราบเท่าที่ G มีแรงมากเพียงพอ หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ แรงกระทำที่มากขึ้นของ G จะสร้างให้เกิด “องศาของการเปลี่ยนแปลง” มากขึ้นเป็นสัดส่วนตรงนั่นเอง

การเคลื่อนที่ของ A5 นั้นมิใช่มีเพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น ยังมีปัจจัยภายในเองด้วย เช่นการยอมรับคุณค่าของแรง G การปรับเปลี่ยนค่านิยมของ A5 การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การหลงใหลในรสนิยม ทัศนคติแบบ G มากขึ้นของมวล(Mass) ใน A5 แนวนโยบายของรัฐบาล และแรงผลักดันของกลุ่มทุนระดับชาติ ฯลฯ

การขยายตัวขององศาของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็มี “แรงเสียดทาน” หรือ “แรงต้าน” อันเป็นคุณสมบัติเดิมของ A5 ที่ไม่ยอมรับคุณค่าใหม่บางเรื่องบางส่วนของ G เราอาจจะเรียกรวมๆของแรงต้านนี้ว่า “พลังต่างๆในสังคม” หรือก็คือ “ทุนทางสังคม” ของสังคมไทยนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้นเป็นแบบสะสม ค่อยเป็นค่อยไป และสังคมที่อยู่ศูนย์กลางอำนาจ หรือตัวเมืองจะเปลี่ยนแปลงก่อน หรือมากกว่าสังคมที่อยู่ห่างออกไป หรือสังคมชนบท ตามทฤษฎี Periphery Theory ในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา

Diagram การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ เป็นแบบจำลองรวมๆที่มิได้นำปัจจัยทั้งหมดมาประกอบโดยละเอียด ทั้งนี้เพียงเพื่อสร้างให้เห็นภาพคร่าวๆของทิศทางการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และจากข้อคิดของเด็กข้างถนนจึงปรับ diagram ให้อยู่ในลักษณะตามหลักมากขึ้น


องศาของการเปลี่ยนแปลง: คือค่าความเบี่ยงเบนของแนวทางการเคลื่อนตัวของสังคมด้วยแรง G กับสังคมประเทศไทย (หรือแรงทุนทางสังคม)

ความหมายต่างๆ

Ac คือ ลักษณะของสังคมไทยแบบเดิมๆ

Acg1 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg1

Acg2 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg2

Acg3 คือ สังคมไทยที่เปลี่ยนจากลักษณะเดิม Ac ไปด้วยแรง G ที่องศาการเปลี่ยนแปลง Ac-A5-Acg3

แรงกระทำ G จากภายนอก คือปรากฏการณ์สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในรูปต่างๆที่เรียกว่าการพัฒนา การทำธุรกิจ ฯลฯ มีอะไรบ้าง เช่น

  • สัญญาเบาริ่ง
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • การขยายตัวเข้ามาของระบบทุนนิยม Globalization
  • สัญญาการค้าแบบเสรีระหว่างประเทศ

สิ่งต่างๆดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับระบบปกครองที่เป็นแบบเสรีประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงสังคม การแกว่งตัวของ Acg แรงกระทำกับแรงต้านในสังคม

บทความนี้อยู่ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/190479 ผมเขียนไม่จบครับ มีเรื่องอื่นๆแทรกเข้ามาเลยข้างเติ่งอยู่อย่างนั้นเองครับ ต้องหามุมสงบมาต่อเรื่องนี้

ผมอยากเชิญท่านอัยการและทุกท่านที่สนใจเข้าไปดูที่ G2K เพราะมีเฮียตึ๋งเสนอ “หลักการแกว่งของลูกตุ้ม” อาจารย์บัญชา, เม้ง รวมทั้งท่านอื่นๆเสนอความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยครับ

ทั้งหมดนี้อาจคิดว่าเป็นแนวตั้งต้นที่ให้เกิดการคิดต่อครับ



Main: 0.065635919570923 sec
Sidebar: 0.24896216392517 sec