ผมเสนอตัวต่อท่านครูบาฯ ที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง ความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ผมเลยรับปากท่านโดยจะลำดับมาเรื่อยๆครับ
เรื่องแรกนี้ผมจั่วหัวไว้ว่า conflict confrontation ครับ
ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว แต่คราวนี้จะลงรายละเอียดมากขึ้นครับ ดังนี้
สมัยที่ผมทำงานที่ท่าพระ เป็นโครงการแรกที่ผมก้าวจากเป็นนักพัฒนาองค์กรเอกชนสู่การเป็นที่ปรึกษา สังกัด กรมวิเทศสหการ (DTEC) คือเป็นลูกจ้างราชการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม เป็นครั้งแรกที่ก้าวออกจาก NGO มาสู่โครงการพิเศษ ขณะนั้นผมก็เป็นเด็กคนทำงานคนหนึ่งประสบการณ์การทำงานกับระบบราชการและโครงการใหญ่ที่มี USAID เป็นผู้สนับสนุนนั้นมันใหม่มากๆสำหรับผม และตื่นเต้นที่เข้ามาทำงานกับฝรั่งมังค่ามากมาย
บทบาทของผมนั้นรับผิดชอบในการจัดกระบวนการฝึกอบรมให้แก่พนักงานโครงการทั้งข้าราชการระดับอำเภอลงไปถึงหมู่บ้าน และจัดการประชุมประจำเดือน และจัดสัมมนาในวาระต่างๆมากมาย ทีมงานของสำนักงานเกษตรภาคอีสาน ล้วนแต่เป็นข้าราชการระดับ ดร.ทั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่ผมจะเข้ามาทำงานกับนักวิชาการมากมาย ผมจึงเป็นฝ่ายเรียนรู้เสียมากกว่าจะเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนในช่วงปีแรกๆ แต่ผมมีความตั้งใจสูงที่จะทำงาน จึงเร่งเรียนรู้ทุกอย่างที่เป็นบทบาทหน้าที่ และการสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับสนาม
พื้นที่ทำงานมีอยู่ 4 จังหวัดคือ สกลนคร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อันเป็นพื้นที่ตัวแทนของภาคอีสาน โครงการนี้มีท่านรองปลัดกระทรวงเป็นผู้อำนวยการโครงการและมีกรมกองต่างๆภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาร่วมงานมากมาย จึงเป็นโครงการที่ใหญ่มากๆ เป้าหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อาศัยน้ำฝน
รวบรัดเข้ามาถึงสาระของหัวเรื่องนี้คือ การทำงานของผมนั้นมีทั้งเข้าตาและไม่เข้าตาของผู้ใหญ่ของโครงการ โดยเฉพาะข้าราชการไทยระดับ ดร. ที่การทำงานของผมไป ขัดหูขัดตาท่านเสียจริงๆ จนถึงขั้นที่ท่านนั้นเสนอให้ปลดผมออกจากตำแหน่งไปเลย..??
หากเป็นท่าน จะรู้สึกอย่างไร ?? นี่คือข้อขัดแย้งในการทำงาน ซึ่งคิดว่าหลายท่านอาจจะเคยพบหรือรับรู้เรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง ทั้งในหน่วยงานท่านหรือหน่วยงานอื่นๆก็ตาม
ผมมานั่งทบทวนว่าผมทำผิดพลาดอะไรบ้าง แม้ว่าจะตั้งใจเต็มที่แล้วก็รูตัวดีว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่มากๆสำหรับผม ผมคิดหัวแทบแตกว่าจะทำอย่างไรดี ต่อปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับผมในช่วงนั้น
ผมคิดถึงการลาออกจากโครงการ เพราะผู้ใหญ่ตำหนิผมเช่นนั้น มันรุนแรงวมาก สำหรับผมที่เป็นเด็กใหม่สำหรับวงการในสมัยนั้น ผมมาทบทวนว่าหากลาออก เราก็ไปทำงานในวงการ NGO เหมือนเดิม ก็โอเค เพราะเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องก็อ้าแขนรับเราอยู่แล้ว แต่หากเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็เป็นแผลติดตัวเราไปตลอด ผมคิดว่าต้องจัดการต่อปัญหานี้ให้ถึงรากถึงเหง้าให้ได้ มิเช่นนั้น อนาคตของเราจะมีปัญหาแน่นอน
ในที่สุดผมเลือกการเดินเข้าหาท่าน ดร.ท่านนั้น เดินเข้าหาแบบเผชิญหน้า แต่ เราเข้าหาแบบผู้น้อยเข้าหาผู้ใหญ่ แล้วเปิดฉากเจรจาทันที ด้วยท่าทีของผู้น้อย โดยเรียนท่านว่า
“ผมเป็นเด็กที่ก้าวมาจากการทำงานกับชาวบ้าน ประสบการณ์ตรงก็คือการทำงานกับชาวบ้าน เมื่อก้าวมานั่งในตำแหน่งนี้ มันใหม่สำหรับผม จึงมีข้อบกพร่อง ผมขอยอมรับ และตั้งใจจะแก้ไข แต่ขอมารับข้อแนะนำของท่าน ดร. ขอความกรุณาจากท่าน……”
“ผมได้รับการตอบรับที่มีเกินคาด ท่าน ดร.ท่านนั้นให้ความเมตตา และกรุณามากมาย ท่านชี้จุดอ่อนของผม และแนะนำต่างๆมากมาย….”
ในที่สุดผมกลับมาทำแผนงานพัฒนาตัวเองอย่างเร่งด่วน และได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา จนได้รับคำชมจาก ผอ.สำนักงานฯ และผมยังได้รับการแนะนำให้เข้าทำงานกับโครงการต่างประเทศต่อมาอีกหลายโครงการ….
สรุป ความขัดแย้งในที่ทำงานนั้นมีอยู่เสมอ ครั้งนั้นผมใช้วิธีการแก้ปัญหาที่เขาเรียกว่า
- การเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมาอย่างมีเหตุผลที่เรียกว่า conflict confrontation
- ผมยอมรับในข้อบกพร่องที่ผู้ใหญ่วิจารณ์ แต่ขอคำอธิบายแบบนอบน้อม
- ผมใช้วิธีตามวัฒนธรรมไทย คือ ผู้น้อยต้องเคารพและน้อมรับฟังต่อข้อคิดของผู้ใหญ่
- ผมเผชิญหน้าต่อท่านผู้เป็นกรณีอย่างสม่ำเสมอเพื่อขอคำแนะนำปลีกย่อยต่างๆ
- และแน่นอน ผมต้องตั้งใจแก้ไขและปรับปรุงจุดอ่อนอย่างจริงจัง
แม้บัดนี้ผมโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารสำนักงานก็เห็นข้อบกพร่องของลูกน้องมากมาย เมื่อจะแก้ไขปัญหากับลูกน้องก็นึกถึงความหลังเรื่องนี้เสมอมาครับ
“ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวบุคคล”
“คนทุกคนสามารถพัฒนาได้ หากมีความตั้งใจจริง”