Project Impact Study

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 3, 2013 เวลา 12:06 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1390

เมื่อมีการปฏิบัติงานตามลักษณะของโครงการต่างๆนั้น โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่กู้มาจากต่างประเทศก็จะต้องมีระบบติดตามโครงการ (Project Monitoring) มีการประเมินผลครึ่งอายุโครงการ (Half Life Project Evaluation) และประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Final Evaluation) ในระหว่างปฏิบัติงานก็จะมีรายงานประจำเดือน (Monthly Report) รายงานประจำคาบ (Quarterly Report) ประจำปี (Yearly Report) รายงานสิ้นสุดโครงการ (Final Report) และทุกกิจกรรมที่ดำเนินการก็จะมีสรุปผลการปฏิบัติงาน (Activities Report) และ…..

กิจกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก่อนสิ้นสุดโครงการคือการถ่ายโอน หรือส่งต่อกิจกรรมที่สำคัญให้กับหน่วยงานท้องถิ่นนำเข้าบรรจุในระบบปกติ รวมถึง อปท.ด้วย

นี่เป็นระบบคร่าวๆที่ปฏิบัติกันมา เมื่อมีการประเมินผลสิ้นสุดโครงการไปแล้วระบบปกติก็รับมาดำเนินงานต่อตามเงื่อนไขที่เอื้อให้ เพราะระบบโครงการพิเศษกับระบบราชการตามปกตินั้น มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขึ้นกับผู้นำองค์กรนั้นๆจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
อย่างไร…

ในฐานะที่ผู้บันทึกผ่านการทำงานกับโครงการพิเศษมาหลายแห่ง หลายแหล่งเงินทุน พบว่าส่วนใหญ่ผู้สนับสนุนเงินทุนจะจบสิ้นภารกิจเมื่อโครงการสิ้นสุดแล้ว เมื่อมีการประเมินผลสิ้นสุดโครงการแล้ว ก็จบกัน แต่มีบางแหล่งเงินทุนจะมีการติดตามผลภายหลังสิ้นสุดโครงการไปแล้ว เช่น CUSO (Canadian University Service Overseas) และ JICA (Japan International Cooperation Agency) ซึ่งอาจจะเรียกว่า การมาติดตามดู Impact ของโครงการก็ได้ เพราะ การประเมินผลเมื่อโครงการสิ้นสุดนั้น ผลการประเมินจะเป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติงานของโครงการ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นการประเมิน Project Output

แต่เมื่อโครงการสิ้นสุดไปแล้ว ไม่มีอิทธิพลของพนักงานโครงการแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือ ความรู้ ความคิด สำนึก ที่ประชาชนได้รับมาจากโครงการ จะทำกิจกรรมใดๆต่อหรือไม่อย่างไรนั้น ไม่มีพนักงานโครงการมากระตุ้น เหลือแต่สำนึกแท้ของประชาชน นั่นคือ Impact ของโครงการ นี่แหละคือของแท้จริงว่า โครงการได้สร้างสำนึกและแบบอย่างกิจกรรมดีดีให้ประชาชนทำต่อหรือไม่อย่างไร

แน่นอน กิจกรรมต่างๆอาจถูดกดัดแปลงไปตามสภาพ และเงื่อนไขของประชาชน โดยประสบการณ์ผมนั้น ทราบว่า กรณี CUSO นั้นมาสนับสนุนโครงการพัฒนาชายแดนไทยที่จังหวัดสุรินทร์ หลังที่ปิดโครงการไปแล้วมากกว่า 6 ปี ก็กลับมาศึกษาผลกระทบ เช่นเดียวกัน กรณี JICA นั้นมาสนับสนุนโครงการภายใต้ ส.ป.ก. ผมทราบว่าปิดโครงการไปแล้วเกือบสิบปี ยังกลับมาศึกษาผลกระทบ…

บทบาทของผมต่อไปนี้จะทำคล้ายๆการศึกษา Impact ในกรณีโครงการห้วยขาแข้ง (โครงการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง) แต่กรณี คฟป. (โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน) นั้นเป็นการจัดระบบข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อสรุปช่วงขยายโครงการและเตรียมข้อมูลไว้ให้หน่วยงานมาศึกษา Impact ในอนาคต


นี่คือดำริของท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. คนปัจจุบัน ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์


ชาวนาและกรรมกร..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 23, 2013 เวลา 23:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1675

…”สหายทั้งหลาย พรรคของเราก่อเกิดขึ้นมาท่ามกลางความมืดมนอนธการของสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ที่ทุกหนแห่งมีแต่การกดขี่ขูดรีด ชาวนาถูกเอาเปรียบ ถูกเจ้าที่ดินอิงกับอำนาจรัฐปล้อนชิงที่นาเอาไปจนหมดสิ้น กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ต้องเช่านายทุนทำนาอยู่ในที่ดินที่เคยเป็นของตัวเองมาก่อน ที่เลวร้ายนั้นกลายเป็นชาวนารับจ้างมีชีวิตที่ยากจนข้นแค้น ร่อนเร่พเนจรไปตามยถากรรม กรรมกรในเมืองได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ชีวิตเลวร้ายตกต่ำไม่ต่างจากชาวนา เหล่านี้ล้วนเป็นสภาพที่พวกสหายได้พบได้เห็นและลึกซึ้งกับมันอย่างดี”…

เอามาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่อดีตสหายเขียนไว้ อ่านมาถึงส่วนนี้ผมอยากจะวิเคราะห์วิจารณ์สักหน่อย

ผมอ่านคำกล่าวข้างต้นมานั้นมันคุ้นหูคุ้นตามากๆ
ทั้งนี้เพราะผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะนี่คือสาระหลักของลัทธิมาร์ค เลนิน ที่วิเคราะห์สังคมในสภาพของชนชั้นที่มีความแตกต่างกัน และคนชั้นล่างมักถูกเอาเปรียบ ถูกใช้ ถูกกดขี่ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตราบใดที่สังคมเราไม่ใช่สังคมพระศรีอารย์ ผู้ที่ได้เปรียบในทุกๆด้านก็ย่อมหาทางเอาเปรียบทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ยิ่งสังคมในปัจจุบันที่ ความร่ำรวยคือเป้าหมายของชีวิต ระบบการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างคนไปในทางที่เคารพการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ให้แต่ความรู้ แต่คุณธรรมกำกับความรู้นั้นไม่มีประสิทธิภาพดีพอ

ยิ่งระบบธุรกิจมาใช้จิตวิทยามวลชนสร้างระบบการประชาสัมพันธ์ที่ไปกระตุ้นกิเลสเด็ก คนหนุ่มคนสาวที่สำนึกติดกับค่านิยมของยุคสมัยมากกว่าความพอดี ความเหมาะสม ก็ยิ่งไปสนองธุรกิจให้งอกงามเกินความเหมาะสม ระบบธุรกิจนั้นไม่เลวทรามไปทั้งหมด แต่หากชีวิตแยกแยะได้ จำแนกได้เลือกบริโภคได้เป็นสิ่งที่ดีตามความเหมาะสม ก็ไปด้วยกันได้

ทัศนะการร่ำรวยคือเป้าหมายนั้นมาคู่กับอำนาจ ต่างพึ่งพากัน อำนาจเป็นฐานของโอกาสในการแสวงหาความร่ำรวย การมีเงินทองมากก็เป็นฐานของการได้มาซึ่งอำนาจ และใช้อำนาจนั้นไปแสวงหาเงินทองให้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก

แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธพัฒนาการของสังคมแบบนี้ และไม่ใช่ไม่เห็นด้วยเฉยๆ เขาต่อต้านด้วย คนกลุ่มนี้รวมๆกันอยู่ในกลุ่มซ้ายในสมัย 14 ตุลา เชื่อมโยงไปถึงพรรคการเมืองใต้ดินคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภายใต้กลุ่มนี้ มีกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่อีกหลายกลุ่ม ซึ่งสามัคคีกันในระดับหนึ่งและแตกหักกันในท้ายที่สุดของหลักความเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง

สามัคคีกรรมกรและชาวนาเพื่อโค่นล้มทุนนิยมและศักดินา อำมาตย์ คือแนวคิดของกลุ่มซ้ายจัดและพคท.
เมื่อเกิดตุลาวิปโยค กลุ่มซ้ายก็หนีตายหนีการถูกจับเข้าป่า ไปร่วมกับ พคท. โดยมีสายของ พคท.ในเมืองจัดการเดินทางให้ กลุ่มที่เข้าป่ากลุ่มแรกๆคือกลุ่มซ้ายที่เป็นตัวเปิด หรือแดงเด่น พวกนี้เข้าป่าไปก่อนเพื่อน มีกลุ่มซ้ายที่ไม่แดงเด่น มีบุคลิก เงียบๆเฉยๆ พคท.ก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเข้าป่า ให้ทำงานในเมืองต่อไป

จนกระทั่ง นโยบาย 66/23 ออกมา ป่าก็แตก คนเข้าป่าทยอยออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นักศึกษาก็กลับมาเรียนต่อจนจบ แม้บางคนจะไม่เรียนต่อ

คนที่ออกจากป่าแล้วทิ้งอุดมการณ์ทั้งหมดหรือ…..????!!!! ไม่ใช่….แล้วทำไงต่อ…..แต่ละคนก็มีพัฒนาการไปกันตามเงื่อนไขและสำนึกภายใน เมื่อใดที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คนกลุ่มนี้มักมีส่วนร่วมทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ก้าวเข้าสู่การเมืองในรูปแบบพรรคการเมืองเปิด

ตัดต่อสั้นๆ..มาถึง เมื่อมาจับมือกับ “นายทุนนักการเมือง” มันจึงเกิดช่องทางใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อพรรคการเมืองของทุนใหญ่ก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วนโยบายของพรรคก็แสดงภาพที่ซ่อนประเด็นแห่งอุดมการณ์ออกมา ต้องเอามวลชนเป็นพลังสนับสนุนให้มากที่สุด โดยการจัดตั้งเครือข่ายโดยอิงอาศัยเครือข่ายเดิมที่ยังอยู่กับ พคท. ยกระดับชาวนาและกรรมกรที่เป็นฐานกำลังสำคัญของเขา หรือมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม…

นี่คือส่วนหนึ่งของที่มา การขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อกรรมกร

นี่คือส่วนหนึ่งของที่มา การจำนำข้าว 15,000 บาท เพื่อชาวนา

วันก่อนสมองของพรรคการเมืองทุนใหญ่ เปิดเผยว่า เราจำเป็นต้องทำนโยบายนี้ “หากส่งผลไม่ดี เราก็ยินดีทบทวน”

การมุ่งแก้ปัญหาชาวนาและกรรมการนั้นผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ผลที่ปรากฏออกมานั้นมีหลายเรื่องที่เป็นผลข้างเคียงของนโยบายนี้และส่งผลเสียหายมาก

ขอสะท้อนกลับไปยังสมองของพรรคการเมืองทุนใหญ่ครับว่า จงทบทวนรายละเอียดเรื่องนี้อย่างหนักเลยนะครับ


 


เถาวัลย์ในใจ..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2013 เวลา 14:23 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1888


 

ต้นไม้สองสามต้นนี้อยู่ที่หน้าที่พัก Green Lake Resort เชียงใหม่ เดินผ่านก็สะดุดตายิ่งนัก คนอย่างเราอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพและคิดไปต่างๆนาๆ เช่น

ก่อนจะเป็นภาพที่เราเห็นนี้ มันมีพัฒนาการมานานเท่าไหร่ไม่รู้ ต้นหลักคงจะเติบโตไปธรรมดา แต่เจ้าเถาวัลย์ต้นนั้นก็มาอิงอาศัย เลื้อยพันขึ้นไปทางยอด เดาได้เลยว่าเดิมๆคงเป็นสภาพป่า ที่ต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด เถาวัลย์ต้นนี้คงเติบโตเร็วกว่าต้นหลักที่เขายึดเกาะอยู่ ก็เลยไปเกี่ยวพันต้นอื่นต่อไปซึ่งสูงกว่าต้นหลักเดิมที่เห็น

อัตราการเจริญเติบโตของผู้มาอิงอาศัยอาจจะมีมากกว่าจึงใหญ่กว่าต้นหลักเดิม แถมขยายขนาดออกไปทุกฤดูกาล จนรัดแน่น หากเราเป็นต้นหลักเดิมคงอึดอัดตายไปนานแล้ว

เคยมองเห็นภาพทำนองนี้ของธรรมชาติมาหลายครั้งหลายคนหลายแห่ง เมื่อเราเข้าป่าก็จะเห็นลักษณะการอิงอาศัยแบบนี้ มันเป็นธรรมชาติ ในเชิงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติด้านพืช ผมไม่ทราบรายละเอียดที่เขาอิงอาศัยกันนี้ นอกจากการกอดรัดพันกันแล้วมีการแบ่ง หรือแชร์อะไรอย่างอื่นอีกหรือเปล่า

บางคนอธิบายภาพนี้โยงไปถึงระบบอุปถัมภ์ ที่นักวิชาการหลายท่านตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นรากเหง้าของสังคมไทยที่ไม่ดี เพราะภาพที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น นักการเมือง และนายทุนบางกลุ่มใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อประโยชน์ของเขา

ส่วนตัวเองคิดว่า ทุกอย่างมีสองด้าน เดิมแท้ระบบอุปถัมภ์นั้นเนื้อแท้คือการแสดงน้ำใจ การเอื้ออาทร การแบ่งปัน น้ำใจ คำเหล่านี้คือสาระของการ ช่วยเหลือกัน โดยไม่มีเงื่อนไข แต่มันไปผนวกกับค่านิยมสังคมที่กล่าวว่าบุญคุณต้องทดแทน… ดังนั้นเมื่อมีการมอบให้ ก็มีการตอบแทน แต่ดั้งเดิมนั้นตอบแทนด้วย “น้ำใจ” ที่แสดงออกต่อกันอย่างบริสุทธิ์ ไม่จำกัดขนาด ราคา ปริมาณ มูลค่า แต่แสดงออกถึงด้านลึกข้างในของจิตใจ ซึ่งเป็นแรงเกาะเกี่ยวของคนในแต่ละชุมชน คนสมัยก่อนวัดกันที่น้ำใจกัน ไม่เอามูลค่ามาเป็นตัววัด ชุมชนจึงแน่นแฟ้นมากๆ

ภาพเช่นนี้ไม่เห็นหรือเห็นได้น้อยในสังคมเมือง ยิ่งหากระบบครอบครัวไม่อบรมสั่งสอนลูกหลาน ก็ยิ่งห่างไกลคุณค่า มองเห็นแต่มูลค่าไปหมด สังคมเมืองนั้นลูกหลานใช้ชีวิตกับสังคมนอกมากกว่าครอบครัว การส่งต่อทางคุณค่าดั้งเดิมของสังคมเราจึงขาดสะบั้นไปหมดสิ้น ปล่อยให้ระบบทุน ระบบธุรกิจ เข้ามาหล่อหลอมจิตใจเด็กรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว

เขียนมาเพื่อกระตุกกันบ้างเท่านั้น..หุหุ..


นี่หรือ “ฮักถึงแก่น”

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 13, 2013 เวลา 21:15 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1170

วันพรุ่งนี้ที่ขอนแก่นจะจัดงาน “ฮักถึงแก่น”

เนื่องในวันวาเลนไทน์

ทำไมความรักจึงไม่มีกับคนข้างถนน เช่น คนนี้

เทศบาลนครขอนแก่น คุณมองไม่เห็นคนกลุ่มนี้หรือ..??


ประสบการณ์สหาย…

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 12, 2013 เวลา 10:02 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1418


หลายคนอาจคิดว่าผมเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.สมัยหลังตุลาวิปโยค ผมเข้าป่าเหมือนกัน แต่เข้าป่าสะเมิงไปทำงานพัฒนาชนบท ไม่ได้เข้าร่วมกับ พคท.เหมือนเพื่อนๆ น้องๆอีกนับร้อยคนจาก มช. ถามว่าเพราะอะไรก็ตอบว่า ต่อกันไม่ติดนั่นเอง เพราะผมคลุกคลีกับกิจกรรมทางการเมืองมาตลอดสมัยเป็นนักศึกษา จึงเป็นที่เพ่งเล็งของทางราชการ กอ.รมน. และในที่สุดก็มาเอาตัวผมไปนั่งนอนเล่นในศูนย์การุณยเทพฯร่วมกับนักเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา ชาวนา….

หากย้อนระลึกเรื่องราวสมัยนั้น ก็กล่าวได้ว่า เราต้องการความยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ อิทธิพล คอรัปชั่น และระบบธุรกิจที่เอาเปรียบสังคม นักปกครองที่กดขี่ ข่มเหงประชาชน …. จริงๆทัศนคติแบบนี้ก็มีกันทั่วไป เพียงแต่ว่า เมื่อมีแล้วกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วย ใครที่เดือดร้อนในเรื่องราวเหล่านั้นก็เข้าไปยืนเคียงข้างและเคลื่อนไหวเรียกร้องความเหมาะสม ถูกต้อง.. แต่แล้วคนกลุ่มนี้ก็ถูกผลักให้เข้าไปเป็นพวกลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่จำนวนมากไม่เข้าใจว่าลัทธินี้คืออะไร โดยเฉพาะชาวนา

แม้ว่านักศึกษากลุ่มนี้จะศึกษาเอกสารเกี่ยวกับลัทธินี้มามากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่เป็นเอกสารวางขายในท้องตลาดสมัยนั้นและเอกสารที่ต้องห้าม คือไม่มีวางขาย เอาเข้าจริงๆคนกลุ่มนี้ก็มีคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ และไม่รู้จะไปหาคำตอบที่ไหน ก็เป็นประเด็นค้างคาในใจ เป็นความเชื่อ ทัศนคติ แนวคิดในรายละเอียดที่แต่ละคนก็แตกต่างกันไป แต่รวมๆต้องการแก้ปัญหาสังคมที่เหลื่อมล้ำ เอารัดเอาเปรียบ เมื่อรายละเอียดแตกต่างกัน จึงเกิด “กลุ่มในกลุ่ม”

ปรากฏการณ์ “กลุ่มในกลุ่ม” นี้เองที่ พคท. ไปไม่รอด ก็เป็นเรื่องทั่วไปในสังคมไหนๆก็มี ในระบบครอบครัวทั่วไป สามี ภรรยาก็มีความแตกต่างในความคิดเห็น ปรากฏการณ์เหล่านี้ นี่เองจึงเกิดคำที่ว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อรวมกลุ่มกันเอาไว้ก่อนให้ “ผู้ทำหน้าที่ผู้นำรับผิดชอบความคิดเห็นเหล่านั้น” .. ช่างเหมือนหลักการ Law of Boss ในสังคมบริหารจัดการองค์กรที่ว่า “กฎข้อที่หนึ่ง เจ้านาย หรือผู้บริหารถูกต้องที่สุด กฎข้อที่สอง หากเจ้านายทำอะไรผิดพลาดให้ไปใช้กฎข้อที่หนึ่ง” ความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ผมจึงชอบศึกษาประสบการณ์ชีวิต แนวคิด หลักคิดของใครต่อใคร แล้วน้อมนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง ปรับตัวเอง แน่นอนบางเรื่องปรับได้ หลายเรื่องก็ปรับไม่ได้ หนังสืออีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจศึกษาคือ บันทึกของท่านสหายทั้งหลายที่เข้าป่า ออกมาใช้ชีวิตปกติ เขียนบันทึกไว้นั้น หลายเรื่องตอกย้ำบทสรุปชีวิตของเรา บางเรื่องเราเรียนรู้ใหม่ๆ

ท่านครับ แต่ละประโยคที่ท่านเหล่านั้นหยดน้ำหมึกลงมาเขียนนั้น คือชีวิตจริงของเขาน่ะซี…


กลยุทธ์สู่ชัยชนะ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 11, 2013 เวลา 21:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1338

 


คราวที่มูลนิธิปรีดีย์ พนมยงค์จัดงานอุทิศบุญ กุศลให้ท่านอาจารย์องุ่น มาลิก ผู้ล่วงลับไปแล้ว ในฐานะที่ดินที่ตั้งมูลนิธินั้นอาจารย์องุ่นท่านมอบให้ คราวนั้นศิษย์เก่าที่คลุกคลีกับอาจารย์องุ่นหลายคนมาร่วมงานด้วย ผมเองก็ไปเป็นครั้งแรกก็มีโอกาสพบน้องๆที่ไม่ได้พบกันมานับสามสิบปี และในงานนี้ผมทราบว่ามีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่สนิทกันขึ้นมาปักหลักชีวิตที่เชียงใหม่ และมีอาชีพเกี่ยวกับซื้อขายที่ดิน บ้าน

พอดีผมต้องการปรึกษาเขาในฐานะที่อยู่ในวงการนี้เพื่อทราบทัศนคติ และขอแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินของผมที่เชียงใหม่ ขึ้นไปเชียงใหม่คราวนี้จึงติดต่อน้องคนนี้เพื่อขอพบและพูดคุยกัน

น้องคนนี้เรียนแพทย์ศาสตร์ มช. แต่ไม่จบ เพราะเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.เสียก่อน เมื่อออกจากป่าก็ไม่ยอมกลับไปเรียนต่อ ตระเวนทำงานต่างๆจนมาจับธุรกิจที่ดินที่เชียงใหม่นี้ น้องคนนี้ ผมรู้จักพี่ชายของเขาด้วยและสนิทสนมกัน พี่ชายคนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ทางการเกษตรผมเคยทำงานกับท่าน รู้นิสัยใจคอกันดี ขอเรียกน้องคนนี้ว่า “เจ” ก็แล้วกัน

เจให้ผมไปพบที่บ้านที่เชียงใหม่ และมีน้องๆที่เคยทำงานกิจกรรมสมัยเรียนอยู่หลายคนมาทานอาหารด้วยกันที่บ้านเนื่องมาจากวันตรุษจีน ได้พบน้องๆที่จากกันมานานกว่าสามสิบปี กว่าจะทบทวนใบหน้าเก่าๆได้ก็นั่งมองหน้ากันพักใหญ่…

เจมานั่งคุยงานกับผม เขาฟังเรื่องราวที่ดินแล้วก็ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มากๆแก่ผม ทำให้ผมเข้าใจและมีทางปรับปรุงแก้ไข และรับปากว่ามีอะไรเกี่ยวกับที่ดินก็บอกเขาไปได้….

หลังจากนั้นวงคุยเป็นการรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆและแนวความเห็นเรื่องต่างๆที่จะเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้าน การเมืองและผลประโยชน์ของสังคม

อยู่ดีดี เจ ก็เดินไปในห้องหยิบเอาหนังสือมาให้ผมเล่มหนึ่ง ชื่อ “กลยุทธ์สู่ชัยชนะ” …..การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ผมแปลกใจเล็กน้อยว่าเขาเขียนเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร แทนที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวการเข้าร่วมกับ พคท.เหมือนหลายๆคน.. ผมขอบคุณ และเมื่อมีช่องว่างระหว่างการพูดคุยกันก็ลองเปิดหนังสือนั้นดู ผมยิ่งแปลกเพราะพบชื่อ นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลก ผู้เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้

ผมถาม เจ ทันทีว่าไปรู้จักได้อย่างไร… เจ ก็เล่าให้ฟังว่ารู้จักกันผ่านนักการเมืองระดับชาติคนสำคัญท่านหนึ่ง แล้วไปช่วยเรื่องการหาเสียงที่นั่น….ฯลฯ… ผมถามต่อว่า รู้จักคุณหมอสุธีไหม เจบอกว่ารู้จัก….

อ้าว..ว่าไงครับท่านจอมป่วน วนไปวนมากลายเป็นคนรู้จักกันไปซะแล้ว…

เจ เป็นคนที่มีพลังการทำงานมหาศาล หากตัดสินใจแล้ว ลุยเดินหน้าสุดๆ เฉียบขาด และมีความเป็นวิชาการ มีหลักการ กล้าได้กล้าเสีย จึงไม่แปลกเลยว่า หลังออกจากป่ามาแล้วมาทำอาชีพธุรกิจที่ดินได้และก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

ผมยังทึ่งตระกูลของเจที่ผมรู้จัก 5 คน แต่ละคนสุดๆทั้งนั้นเลย ยังนึกย้อนหลังไปสมัยเรียนหนังสือ เจ เรียนแพทย์รุ่นไล่ๆกับจาตุรนต์ ฉายแสงที่ผมรู้จักดีเพราะเคยทำงานมาด้วยกันสมัยเรียนหนังสือ เจ รับผิดชอบงานโครงการชาวนา..ที่เอาเวลาเรียนหนังสือออกชนบทเพื่อศึกษาปัญหาชาวนาและเคลื่อนไหวกับชาวนาจนถูกจับข้อหารุนแรง แต่การเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาทั่วประเทศร่วมคัดค้านการจับตัวเจ ทางราชการก็ปล่อยตัวออกมา แล้ว เจก็หันหน้าเข้าป่า…..

ไปเชียงใหม่คราวนี้ ผมได้กอดเจในฐานะที่ไม่ได้พบกันมานานมากกว่าสามสิบปี….


เมื่อราชการทำธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 11, 2013 เวลา 11:45 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1827

 


ที่พักเชียงใหม่มีมากมายหลายระดับตั้งแต่ง่ายๆราคาไม่แพงไปจนถึงระดับสูงส่ง คนแบบเราไม่มีสิทธิ อิอิ บ่อยครั้งเราไปพักที่ “บัวระวง” เพราะราคาถูก อยู่ใจกลางเมือง หากินง่าย..แต่ก็เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง คุณสินี เธอจัดการเลือกที่พักตามใจเธออยาก เธอชอบห่างเมือง เงียบๆ และ Private สักหน่อย

หางดง.. ดอยสะเก็ด…แม่ริม…ในที่สุดก็ตกลงที่ Green Lake Resort เป็นพื้นที่ทหาร มีบึงน้ำด้านหน้า ติดถนนริมคลองชลประทาน ใกล้สนามกีฬา 700 ปีเชียงใหม่ ราคาโอเค แม้เธอจะอ่านพบคำติชมแขกที่เคยมาพักว่าไม่สะอาดเท่าที่โรงแรมควรมีมาตรฐาน

เราขับรถผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง เห็นว่าสถานที่สวยมาก และเหมาะไม่ไกลจากเมือง แต่เงียบ มีความเป็นส่วนตัว มีบริเวณ ที่ดีเยี่ยมคือ มีบึงน้ำด้านหน้า และด้านหลังเป็นสนามกอล์ฟลานนา เธอยุให้ผมเอาถุงกอล์ฟไปด้วย ผมไม่เอาเพราะรู้ว่าไม่มีเวลามากพอจะไปเล่นกอล์ฟ เธอติดต่อที่พักผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ จ่ายเงินเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเดินทางไป เพราะเป็นช่วงตรุษจีนเกรงว่าที่พักจะเต็ม

เราพบว่าที่นี่ทหารมีวัตถุประสงค์เป็นที่พักของทหารมาพักฟื้นฯ.. ผมก็ว่าดีแล้วที่ทหารกล้าของเราจะมีที่พักผ่อนแบบนี้ ผมพบผู้สูงอายุชายหญิงญี่ปุ่นหลายคู่ ฝรั่งก็มีหลายคู่ คงมาพักกันแบบนานๆ ห้องพักกว้างขวาง สะอาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน

เนื่องจากลักษณะพื้นที่สวยงามมาก และเป็นกิจการของทหาร จึงมีการจัดงานมงคลทุกวันที่ผมไปพัก เช่นงานเลี้ยง แต่งงาน ทุกวัน บางวันมากกว่า 1 ราย หรือซ้อนกัน แขกที่มาพักอย่างเราไม่มีสิทธิมานั่งกินข้าวเย็น ต้องสั่งไปทานที่ห้อง และสั่งแบบจานเดียวเท่านั้น สั่งเป็นชุดไม่ได้..

เช้าเราลงมาทานมื้อเช้า มีหลายคนใช้เก้าอี้นอกอาคารริมบึงน้ำนั้น สวยมาก อากาศดี มองดอยสุเทพ เป็นบรรยากาศที่ที่อื่นไม่มี อาหารมากมายใครมีท้องใส่เท่าไหร่ก็เอาได้เอาเต็มที่ มีผลไม้ กินแล้วก็พกติดตัวเอาไปได้อีกแน่ะ…
รดชาดอาหารพอใช้ได้

แต่ที่ผมพบและต้องติกันตรงๆคือ การบริการแย่มาก ช้อน จาน มีด ไม่สะอาด พนักงานบริการมองหน้าแล้วน่าจะเป็นพม่า แบบเงอะงะ ไม่มีบุคลิกนักบริการ เราไปนั่งกินอาหารเช้าด้านนอกก็ต้องยกเครื่องเติมในกระจาดเล็กๆไปเอง ทั้งที่เขายืนอยู่ใกล้ๆตรงนั้น

ผมเดินไปเอากาแฟที่มีถ้วยกาแฟคว่ำอยู่กองบนโต๊ะ เป็นกาแฟที่ต้องชงเอง เป็น Instant Coffee มีเตาต้มน้ำมีกระดาษเขียนติดว่า “กาแฟ” ตรงเตา ที่กาที่ต้มนั้นเป็นชาลิปตั้น มีแขกคนไทยคนหนึ่งมาเอากาแฟ เห็นว่ากาแฟก็เทใส่ถ้วยทันที แต่ข้างในเป็นชา เขางง มาก มองหน้าผมแล้วพูดว่า ทำไมทำอย่างนี้ เขียนติดว่ากาแฟ แต่ข้างในเป็นชา….

ที่แย่ที่สุดและรับไม่ได้คือ ผมเอาถ้วยกาแฟมาสองใบ พอหงายออกมา คราบกาแฟยังติดขอบถ้วยเป็นวงเลย…..

งานนี้คงต้องวิจารณ์กันหนักๆเสียแล้ว….. สกปรกจริงๆเหมือนที่เขาวิจารณ์ไว้ก่อนแล้ว ต่ำกว่ามาตรฐานโรงแรมที่พึงมี

นึกเลยไปว่า..นี่คือราชการที่มาทำธุรกิจ ทำไมไม่จ้างมืออาชีพมาบริหาร


ระลึกถึง ครั้งหนึ่งที่เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 11, 2013 เวลา 10:32 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2398

 

ขึ้นเชียงใหม่คราวนี้ขับรถผ่านที่พักเก่าสมัยปี พ.ศ.2518-2522 เป็นห้องริมสุดของชุดที่พัก เจ้าของเป็นอดีตสถาปนิกจากจุฬา พักด้านในสุด ท่านเป็นผู้สูงอายุที่ใจดีมาก ห้องนี้ผมมาพักช่วงเสาร์ อาทิตย์ วันปกติก็เข้าพักในสะเมิงที่ทำงานพัฒนาชนบท

เพื่อนบ้านมีหลากหลาย ห้องติดกันเป็นหนุ่มสาวสถาปนิกบริษัทแห่งหนึ่ง ห้องตรงข้ามเป็นเพื่อนร่วมงานที่ประจำส่วนกลาง และอีกห้องเป็นสันติบาล ถัดไปอีกห้องเป็นฝรั่งนักเขียนอิสระที่มาพักเที่ยวไปทั่ว แล้วมาเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ

สมัยนั้นแถบนี้สงบมากคลองชลประทานหน้าที่พักยังเป็นดิน มีหญ้าขึ้นเต็ม มีชาวบ้านมาเกี่ยวหญ้าไปให้วัว ถนนคันคลองชลประทานฝั่งตรงข้ามมีแบบเดิมๆไปลัดดาแลนด์ และออกไปค่ายทหาร ไป อ.แม่ริม ที่ผมใช้เส้นทางนี้ประจำ คันคลองชลประทานที่ติดที่พักยังเป็นดิน เคยพบศพนิรนามที่ลวงมาฆ่ากันตายแถบนี้

ที่นี่แหละที่ผมเริ่มหัดถ่ายรูป สมัยนั้นไม่มีระบบดิจิตอล เป็นแบบล้างอัด เป็นฟิล์มโกดัก ฟูจิ และ.. หรือไม่ก็ถ่ายสไลด์เลย เงินเดือน 2,500 บาท หมดเกลี้ยงไปกับเรื่องนี้ อิอิ

สมัยนั้นที่เชียงใหม่มีชมรมคนถ่ายรูปมีศูนย์กลางที่ห้องแลบคณะแพทย์ศาสตร์ มช. เพราะห้องแลบมีหน้าที่ล้างฟิล์มมากมายจึงเป็นผู้เชี่ยวชายเรื่องนี้ ทางชมรมส่วนใหญ่เป็นนักข่าวและอาจารย์สถาบันการศึกษาที่สนใจการถ่ายรูป ส่วนมากจะถ่ายรูปต่างๆแล้วนัดเอามาอวดกัน แล้ววิจารณ์กันตามความเห็น ส่วนใหญ่ใช้สไลด์เพื่อฉายขึ้นจอ เพราะสไลด์สามารถนำไปล้างอัดเป็นภาพสีได้หากต้องการ และสะดวกในการดูเป็นกลุ่มหลายคน

ผมหัดล้าง-อัดภาพสีขาว-ดำที่ห้องนี้โดยใช้ห้องน้ำ เป็นห้องแลบ ขึงเชือกกลางห้องเอาภาพที่ล้างอัดแล้วมาหนีบแขวนปล่อยให้แห้ง เต็มห้องไปหมด เพลินเชียว ล้างอัดภาพกันตั้งแต่หัวค่ำยันสว่างเลย

ได้รับความกรุณาของเจ้าของที่พักที่เป็นสถาปนิกนั้นให้ขอยืมเครื่องมือล้างอัด ส่วนน้ำยานั้นไปซื้อมาจากร้านถ่ายรูป ในเมืองมาใช้

ผลงานเป็นไงบ้างหรือ…. ร้อยภาพมีที่ถูกใจไม่ถึงสิบภาพมั๊ง ยากมาก..ต้องใช้ทักษะสูงมาก เพราะเป็นระบบ Manual

ห้องพักหลังนี้ยังเดิมๆ เกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย..


น้ำตาแม่

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 11, 2013 เวลา 0:42 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1571

 

ผมแอบขึ้นเชียงใหม่แบบรีบไปรีบกลับ เพราะเรื่องที่ดิน ที่เราตั้งใจยกให้ลูกสาว และอยากให้เธอมีส่วนร่วมในการทำนิติกรรมต่างๆ การรับรู้รับทราบและดำเนินการจัดการต่างๆด้วยตัวเธอเอง แม่ของลูกสาวจึงลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินให้เธอ เราขับรถขึ้นไป แม่ของลูกหาที่พักเองทางอินเตอร์เนท ไปได้ที่ Green Lake Resort ติดสนามกอลฟ์ ติดอ่างเก็บน้ำ ติดถนนบนคลองชลประทาน ใกล้เมือง ทุกอย่างทำผ่านระบบออนไลน์หมด

ระหว่างทางเราแวะเที่ยวภูทับเบิก สถานที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐสมัย พคท. ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีต้นไม้เหลือแล้ว ซึ่งผิดหวังมาก มีแต่สถานที่กางเต้นท์ แม่ค้าท่านหนึ่งกล่าวว่า คนแห่กันมาแย่งกันกิน แย่งกันใช้ น้ำท่าข้าวปลาอาหารไม่พอกินไม่พอใช้ ทุกคนอยากสัมผัสความหนาวและบรรยากาศนั่งเหนือเมฆที่ปกคลุมหุบเขา ที่ระบบธุรกิจสร้างแรงดึงดูดใจคน ให้ขึ้นไปที่นั่น

เราแวะ หินร่องกล้า ดินแดนที่ญาติสนิทแม่ของลูกสาวผมเคยหนีตายมาอยู่กับ พคท.ที่นี่ ที่ร้านอาหารยังมีรูปเธออยู่เลย เราคุยกับเจ้าของร้านอาหารถึงเรื่องราวความหลังสมัยนั้น…เราได้หนังสือ 3 เล่ม ที่สหายเขียนบันทึกและพิมพ์ขาย เอารายได้ไปสร้างวัด…

เราถึงเชียงใหม่ เข้าที่พัก กินข้าวที่นั่นแล้วนอนเลย ตีห้าครึ่ง แม่ของลูกสาวตื่นขึ้นมาโทรไปหาลูกสาวเพื่อปลุกให้ลูกเพื่อเตรียมตัวไปขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ สายวันนั้นจะไปรับที่สนามบินเชียงใหม่ 8 โมงครึ่ง ผมเอารถไปเช็คที่ศูนย์เพื่อปรึกษาอาการผิดปกตินิดหน่อยของรถ เราได้รับคำแนะนำที่ดีมาก พนักงานเอาเครื่องมือมาตรวจสอบระบบทั้งหมด แล้ววิจารณ์ให้เราเข้าใจและให้คำแนะนำ โดยไม่คิดค่าบริการเลย วันนั้นเป็นวันเสาร์ ผมถามว่าปกติมีรถเข้ามาเช็คเท่าไหร่ เขาบอกว่าตั้งแต่ 80-150 คัน หากไม่โทรมาจองคิวจะไม่มีทางได้รับการตรวจเช็คเลยเพราะคิวยาวมาก ระหว่างที่ผมคุยกับพนักงานศูนย์รถ แม่ของลูกก็โทรหาลูกสาว แล้วบอกว่าไม่มีใครรับ… แต่ก็คิดว่า เธอคงยุ่ง..

แล้วเราก็ไปที่สนามบินเพื่อรอรับลูกสาวจอมยุ่ง เธอตรวจที่จอคอมพิวเตอร์ว่าเครื่องเข้าเวลาเท่าใด แล้วเราก็ไปนั่งคอยตรงประตูขาออกของผู้โดยสาร เสียงเจ้าหน้าที่ประกาศว่าเครื่องลงแล้ว พักหนึ่งก็มีผู้โดยสารเดินออกมา มีฝรั่ง คนไทย สาวๆนั่งเครื่องยังนุ่งขาสั้น โชว์ขาสวยๆและรองเท้าส้นสูง พักใหญ่ๆ เอ…ไม่มีลูกสาวออกมา…แม่มันชักทำหน้ายุ่งๆ เอ..เกิดอะไรขึ้น เธอตกเครื่องบินอีกแล้วหรือ (เธอเคยตกเครื่องมาแล้วครั้งหนึ่ง..)

แม่มันโทรศัพท์ทันที ไม่มีใครตอบรับ ผมโทรบ้าง โทรไม่ติด… ตาก็มองที่ประตูทางออก หมดผู้โดยสารแล้ว แต่ลูกสาวไม่มา แม่มันเดินไปเช็คที่เคาท์เตอร์สายการบินตรวจรายชื่อ ปรากฏว่าไม่มีชื่อลูกสาว เอาแล้วซิ…โทรศัพท์ก็ไม่รับ ไม่ติด ไม่มีชื่อลูกสาวเดินทาง เท่านั้นเองการคาดคิดไปในทางร้ายต่างๆนานาก็เกิดขึ้นสารพัด แม่มันหน้าตาตกใจสุดๆ

แม่มันโทรหาพี่ชายทันทีเล่าเรื่องราว แล้วพี่ชายและพี่สะใภ้รีบเดินทางจากบ้านไปดูหลายสาวทันทีทั้งชุดนอนและรองเท้าไม่ได้ใส่… ผมโทรหาการ์ดของหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รีบเดินทางไปที่บ้านลูกสาวเพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นด่วนที่สุด…. เราตัดสินใจรีบกลับโรงแรมเมื่อตัดสินใจบางอย่างทันที ระหว่างขับรถออกจากสนามบินเชียงใหม่ แม่มันร้องให้แล้วก็โทรศัพท์ถึงลูกตลอด ก็ไม่มีคนรับ

อีก 5 นาที เสียงโทรศัพท์กลับมา เสียงลูกสาวดังลั่น หนูตกเครื่องบิน….. หนูลืมเอาโทรศัพท์ไปด้วย…….

แม่มันร้องให้โฮ……สะอึกสะอื้นพักใหญ่……ต่อว่าลูกสาวว่าจะทำให้แม่ช๊อคตายแล้ว…..

ผมปลอบเธอว่า เอาเถอะ..ลูกสาวเรามีชีวิตอยู่ดีที่สุดแล้ว…….


ฮักถึงแก่น..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 3, 2013 เวลา 2:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1261

 

ผู้มีอำนาจประสานกับนักธุรกิจ หรือบางทีก็เป็นคนเดียวกันคิดอ่านสร้างความเคลื่อนไหวทางกิจกรรมสาธารณะเพื่อให้ธุรกิจเดินสะพัด เช่น งานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ งานสงกรานต์ปิดถนน งาน…..และงาน “ฮักถึงแก่น” ในวันที่ 14 ก.พ. ที่ขอนแก่นนี้

มองคนละมุม : นักบริหารบ้านเมือง และนักธุรกิจเขาคิดอ่านแต่เรื่องจะทำอย่างไรจึงเกิดการเดินสะพัดของการเงิน เพื่อให้ธุรกิจเฟื่องฟู หากมีงานเช่นดังกล่าว ที่พัก ร้านอาหาร โดยเฉพาะไนต์คลับในรูปแบบต่างๆ ที่มีเครื่องดื่ม ดนตรี ที่วัยรุ่นชอบ หากมีงานคนจะมาเที่ยวมากก็จะใช้บริการเหล่านี้มาก เงินก็สะพัด หากมองในมุมนี้ ก็ไม่เห็นความเสียหายอะไร

แต่อีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันมากเกินไป เพราะงานแบบนี้สิ่งที่มาพร้อมๆกับกิจกรรมสาธารณะเชิงสนุกสนานนั้นก็คือ การที่ใช้เงินเกินความจำเป็น เกิดปัญหาทางสังคม ยาเสพติดเดินสะพัด และไม่ได้สร้างสรรค์ให้สังคมมีความดีงามแต่อย่างใด ท่านอาจจะบอกว่า อ้าว งานสงกรานต์นั้นเป็นงานประเพณีมิใช่หรือ เขาส่งเสริมวัฒนธรรมไทยเรามิใช่หรือ

ชื่องานนั้นใช่ การอ้างอิงประเพณียิ่งใช่ใหญ่ แต่สาระ รายละเอียดกิจกรรมนั้น มันก็แค่วันเสรีแห่งการกระทำทางการบันเทิง พร้อมๆกับดึงเอาวัฒนธรรมเดิมๆมาขยี้ด้วยความสนุกสนานมากกว่าเพื่อคุณค่า ความหมายแท้จริง สิ่งที่ได้ก็คือธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทุกครั้งมีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และพัฒนาความทุเรศในเรื่องการสาดน้ำ เต้นรำ และฯลฯ มากขึ้นทุกปี ดังเห็นว่าเมื่อปีที่ผ่านมาถึงขั้นเปิดเผยหน้าอกสตรีกันแล้ว หากสังคมไม่วิภาคย์กันหนักๆ ปีต่อไปอาจจะเห็นการแก้ผ้ากลางถนนเล่นน้ำก็ได้

เมื่อย้อนไปสมัยเราหนุ่มแน่น เราก็สนุกไปตามยุคสมัย แต่ดูเหมือนยังไม่มีอะไรแผลงๆ แต่นั่นอาจจะเป็นเส้นทางเดินของพัฒนาการงานแบบนี้จากอดีตสู่ปัจจุบันก็ได้ เพราะแต่ละปีผู้จัดงานก็มักคิดที่จะทำอะไรที่ใหม่ๆ และแปลกๆ ซึ่งบรรยากาศงานก็สร้างพัฒนาการความต่ำทรามมากขึ้น

ไม่เคยมีนักวิชาการมาประเมินผลกิจกรรมทางสังคมแบบนี้

สังคมไม่เคยมีคณะกรรมการกลั่นกรองกิจกรรมสาธารณะเหล่านี้

สังคมไม่เคยมองมุมกลับย้อนไปหาคุณค่าที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นจากกิจกรรมสาธารณะแบบนี้

จริงๆผมไม่คัดค้านงานสาธารณะ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการมองมุมเดียวเฉพาะในเรื่องเชิงบวก แต่ไม่มีใครมองเชิงลบบ้าง

อาจจะเรียกว่า Impact ของงานมีอะไรบ้าง ศึกษา วิจัยกันออกมาซิ มีงานที่สร้างสรรค์สาธารณะอีกมากมายที่ทำได้ ทำไมนักบริหารและนักธุรกิจไม่คิดมองมุมนั้นบ้าง เอาแต่เรื่องสนุกสนาน และสาระก็เป็นวัฒนธรรมนำเข้ามาจากต่างประเทศ มิใช่การต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยเรา

สังคมเราถูกจูงไปด้วยระบบธุรกิจ และละทิ้งรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยของเรา นักบริหารบ้านเมืองก็ถูกบรรยากาศกระแสหลักพัดพาไปจนขาดสติในการไตร่ตรองให้มากๆว่าผลเสียมีอะไรบ้าง

แล้วแก่นแกนความเป็นไทยจะเหลืออะไรอีกเล่า…นอกจากอยู่ในตำราที่ท่องบ่นกันเพื่อเอาคะแนนกันเท่านั้น แต่ไม่เคยเข้าถึงคุณค่า ความหมายแท้จริงกัน…



Main: 0.095175981521606 sec
Sidebar: 0.090728998184204 sec