ตะเกียบ
การท่องไปในโลกกว้างทำให้อยู่ในเงื่อนไขที่เห็นอะไรต่อมิอะไรมากกว่าปกติ แต่มากกว่าร้อยละ 90 ผมว่าได้เห็น แต่ไม่รู้เรื่องรายละเอียด หรือเมื่อผ่านไปก็จบสิ้นความทรงจำนั้นๆไปแล้ว ภาพที่ท่านเห็นนี้ก็เช่นกัน ผมไปทำเรื่องอื่น บังเอิญตรงนั้น บริเวณนั้นเขาทำกิจกรรมเกี่ยวกับไม้นี้เข้า จึงได้แต่ถ่ายรูปมาไม่มีเวลาที่จะซักไซ้รายละเอียด ซึ่งสามารถทำเป็นกรณีศึกษา หรือทำเป็นงานวิจัยน้อยๆเลยก็ได้นะครับ
บางคนเดาไม่ออกว่ารูปนี้มันคืออะไร “ตะเกียบ” ครับ
บางช่วงคนที่บ้านเหนื่อยไม่อยากทำอาหารก็บอกว่าไปซื้อทานเอาบ้างก็ได้ ถือโอกาสพักผ่อนไปด้วย และไปกินอาหารที่แตกต่างไปจากปกติบ้างก็ดีเหมือนกัน ถามว่าไปกินอะไร ผมสารภาพว่าชอบสลัดผักที่ร้าน Green leaf และสลัดเต้าหู้ของร้านฟูจิ ผมว่าเขาทำน้ำสลัดถูกปากผม และใส่งา ใส่เห็ด ผัก กำลังพอดี สิ่งที่มาคู่กันกับสลัดที่ร้านฟูจิ คือ ตะเกียบที่ใส่ในซองกระดาษดูสะอาด ปลอดภัย หากจะใช้ก็เอามาฉีกแยกออกจากกัน และมันไม่มีรอยให้เห็นความไม่สวยงามเลย ผมนั่งชมนวัตกรรมการทำตะเกียบของญี่ปุ่นนี้ ออกแบบเก่ง ไม้ที่มาทำดี และทำได้อย่างไรขณะที่ยังเป็นคู่นั้นแต่ละข้างกลมเท่ากัน แสดงว่าเขามีเครื่องมือทำตะเกียบที่ดีมากๆ เราไม่มีคำถามใดๆเกี่ยวกับความสะอาด ปลอดภัย และความน่าใช้
หลายครั้งผมถามซ้ำๆพนักงานว่าตะเกียบที่ใช้แล้วนี่เอาไปไหนหมด เธอบอกว่าทิ้งหมด…? หนึ่งคนต่อหนึ่งคู่ หนึ่งวันมีการใช้กี่คู่ เฉพาะที่ร้านนี้ ทั่วประเทศไทยมีร้านฟูจิกี่ร้าน ทั่วโลกมีกี่ร้าน จำนวนตะเกียบที่ใช้แต่ละวันนั้นเท่าไหร่…? ที่ใช้แล้วทิ้งไปด้วย…???? จำนวนตะเกียบที่ใช้แล้วทิ้งนี้ 1 วันทำมาจากต้นไม้กี่ต้น เดือนละกี่ต้น ปีละกี่ต้น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ในกระบวนการผลิต จนพร้อมใช้ แค่มาเขี่ยอาหารเข้าปากแล้วก็ทิ้งไปนี่นะ มันเป็นการกระทำเพื่อสุขภาพที่มีต้นทุนมากมายหรือเปล่า มันเป็นค่านิยมระบบทุนที่แข่งขันกันทำสิ่งที่เหนือกว่า แต่…..
ผมนึกเล่นๆว่า เอ..หากเรามาขอตะเกียบใช้แล้ว ไปทำอะไรต่อดีไหม เช่น ล้างให้สะอาดแล้วให้เด็กต่อเป็นรูปต่างๆ สร้างบ้านเล็กๆ หรือ….. ดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์อะไรได้ไหม หรือ เอาไปทำฟืน ..เปล่าหรอก ก็แค่คิดเท่านั้นเมื่ออิ่มผมก็เดินออกไปกลับบ้าน มื้อต่อไปก็กินข้าวกับน้ำพริกเช่นเดิม….
แต่รูปข้างบนนั้นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหนึ่งที่ทำตะเกียบจากไม้ไผ่ กระบวนการทำก็ง่ายๆแบบบ้านเรา ไม่มี ISO ไม่มี อย. ไม่มีการประกันความสะอาดปลอดภัย เครื่องมือทำก็ง่ายๆ วางบนพื้นที่ฝุ่นเต็มไปหมด ไม่มีมาตรฐานความสะอาดใดๆเลย และตะเกียบที่ออกมาจากเครื่องก็กองลงกับพื้นที่มีถุงปุ๋ยกางรับอยู่ แม้ว่าจะรู้ว่าเขาไม่ได้เอาไปใช้ทันที น่าที่จะเอาไปต้ม ลวก ตากแดด หริอบให้แห้งกันเชื้อรา แล้วแพ๊คใส่ถุงพลาสติดส่งขาย แต่ที่บ้านนี้เป็นแหล่งผลิตขั้นต้น
ผมถามว่าไม้ไผ่เอามาจากไหน เขาตอบว่าเอามาจากหมู่บ้านแถวนี้ หรือป่าแถวนี้ หรือห่างออกไป แล้วมันไม่หมดป่าหรือ ผมถามต่อ เขาตอบว่า ต้นไผ่โตเร็ว ปีเดียวก็ขึ้นมาใหม่เต็มไปหมด ก็อาจจะจริง แต่ไม่มีการศึกษาปริมาณที่ตัดเอามาใช้กับอัตราการเกิดขึ้นนั้นพอดีกันไหม หรือเกิดมากกว่า หรือเกิดน้อยกว่า อันจะส่งผลขาดแคลนในอนาคต… ไม่มีการศึกษา
ผมไม่ได้ต่อต้านการทำตะเกียบของชาวบ้าน แต่น่าที่จะมีการพัฒนากระบวนการให้ดีกว่านี้ สะอาดและเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ และควรจะมีสถาบันการศึกษาท้องถิ่นลงมาเก็บข้อมูลศึกษาผลกระทบต่างๆด้วย หากทางวิชาการเข้ามาก็น่าที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ดีได้ ส่งเสริมการปลูกไผ่มากขึ้น ไผ่อะไรที่ทำตะเกียบดีที่สุด วิธีใช้แบบไหนที่ประหยัดไม้ไผ่ หากจะทิ้งตะเกียบ เอาไปทำต่ออะไรได้บ้าง…ฯลฯ
คนทำงานพัฒนาก็เพ้อฝันไปเรื่อยแหละครับ…
Next : กระต๊อบ.. » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตะเกียบ"