ทำไมชเวดากองไม่เป็นมรดกโลก..

โดย bangsai เมื่อ เมษายน 14, 2012 เวลา 21:47 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, อาเซี่ยน #
อ่าน: 3090

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียนมาร์นั้นมีชนเผ่ามอญครอบครองมาก่อนพุทธกาลถึง 2400 ปี เรียกอาณาจักรสุวรรณภูมิ นับถือศาสนาพุทธ เถรวาท 92.3% ระหว่างเดินทางนั่งในรถผ่านตัวเมืองย่างกุ้ง เราเห็นพระเณร ออกมาบิณฑบาต โจ รีบอธิบายว่า พระไทยฉันท์สองมื้อ บางสำนักหรือบางรูปฉันท์มื้อเดียว และบิณฑบาต ตอนเช้าเพียงครั้งเดียว แต่ที่เมียนมาร์พระฉันท์สองมื้อเหมือนกัน บางรูปบางองค์ ฉันท์มื้อเดียว แต่บิณฑบาตสองครั้งคือมื้อเช้าและมื้อก่อนเที่ยง อย่างที่เห็นพระเดินริมถนนนั้น คือออกมาบิณฑบาตมื้อก่อนเที่ยง

ผมคิดไปว่า หากผมเป็นนกบินผ่านกรุงเทพฯ นกตัวนี้ก็จะเห็นแต่ตึกรูปทรงแท่งมากมาย แล้วก็เห็นวัดบ้าง แต่หากนกตัวนี้บินไปที่ย่างกุ้ง สิ่งที่ดึงดูดตาให้มองเห็นเด่นชัดเจนคือมหาเจดีย์ชเวดากอง และเจดีย์อื่นๆ รวมทั้งวัด ตึกนั้นไม่เด่นที่จะมอง วัดและเจดีย์ เขาตกแต่งสวยงามอย่างกับพระราชวัง เจดีย์ที่ศักดิสิทธิ์บางแห่งมุมมองของผมนั้นแต่งสวยงามมากกว่าพระราชวังเสียอีกทุกกระเบียดนิ้วจะต้องมีศิลปะที่ทา หรือลงรัก ปิดทอง หรือหุ้มด้วยทองแท้


แสดงถึงความศรัทธาต่อศาสนาพุทธ ความยิ่งใหญ่ของผู้อุปถัมภ์ และการร่วมแรงร่วมใจของมหาประชาชนที่มีต่อศาสนสถานนั้นๆ ทุกคนจะไม่ใส่รองเท้าเข้าวัด หรือมหาเจดีย์ จะกองอยู่ที่ประตู หลายแห่งจะมีคนเฝ้าให้ หรือรับจ้างเฝ้า คณะทัวร์นั้น ไกด์บอกแล้วว่ามาเมียนมาร์ต้องเที่ยววัด และต้องใส่รองเท้าแตะ หรือประเภทที่ถอด ใส่ได้ง่าย ผมเองไม่ได้เตรียมรองเท้าแตะ ก็ต้องถอดถุงเท้ารองเท้าไว้ที่รถ แล้วเดินเท้าเปล่าไปชมวัด หรือเจดีย์ เป็นเช่นนี้ทุกแห่ง เจ้าของทัวร์เข้าใจคนไทยดีจึงจัดผ้าเช็ดหน้าเย็น แต่เอามาเช็ดเท้าทุกครั้งกลับขึ้นรถ

วัฒนธรรมไม่ใส่รองเท้าใดๆเข้าวัดนั้นมีมานานทั้งบ้านเราและแถบแหลมทองนี่ แต่ที่เมียนมาร์ดูจะเคร่งครัดมาก ผมสังเกตมีคนคอยยืนดูคณะทัวร์ทั้งหลายว่าปฏิบัติตามวัฒนธรรมนี้หรือไม่ โจกล่าวว่าเรื่องถอดรองเท้านี้ฝรั่งไม่เข้าใจและไม่ยอมปฏิบัติตาม สมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครองเมียนมาร์นั้น ไม่ปฏิบัติจึงมีพระเมียนมาร์รูปหนึ่งประท้วงอังกฤษโดยการอดอาหาร และประชาชนเกิดการสนับสนุนการกระทำของพระรูปนี้มากขึ้น จนในที่สุดฝรั่งอังกฤษจึงยอมทำตามคือถอดรองเท้าทุกครั้งที่เข้าวัดและเจดีย์


ต่อมาพระรูปนี้ได้ถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์และติดตั้งไว้ที่วงเวียนจราจรใกล้กับเจดีย์ ชเวดากอง

คณะของเราเข้าชมมหาเจดีย์นี้เราพบว่ามีทัวร์กลุ่มอื่นๆมากันหลายกลุ่ม มีทั้งฝรั่งที่มาแบบเที่ยวกันเอง แต่ที่มากที่สุดคือประชาชนเมียนมาร์เอง เขาเอาลูกหลานมาด้วย เขามากราบ ที่ผมเรียกว่ากราบแบบหมอบราบคาบแก้ว กราบด้วยความศรัทธาเป็นที่สุด ผมเห็นเช่นนั้น พวกเราเองต่างหากที่ยังเก้ๆกังๆ นัยกลัวเปื้อน ยังตะขิดตะขวนใจที่จะนั่งลงที่พื้นเจดีย์ แต่ประชาชนเมียนมาร์นั้น เขาจะนั่งลงกราบตรงไหนก็ได้ที่เขาตั้งใจจะกราบ


ผมชื่นชมพื้นเจดีย์ เขารักษาความสะอาดได้ดีมากๆ ผมเห็นประชาชนหลายท่านนั่งลงทำสมาธิตรงไหนๆก็ได้ เพียงคนเดียว สองคน หรือเป็นกลุ่มสี่ห้าคน ผมเห็นบางท่านนั่งลงแล้วกางหนังสือสวดมนต์ ท่องบ่นไปเพียงคนเดียว ที่เป็นกลุ่มก็มี แต่มักจะไปนั่งรวมกันตามศาลาที่มีรอบเจดีย์ที่จุคนได้สัก 10-20 คน เสียงสวดมนต์ดังลั่น ผมมองเข้าไปเห็นแต่คนหนุ่มคนสาว..? ผมเห็นพ่อแม่ลูกมานั่งลงล้อมวงกินข้าวกัน แปลกมากครับ แต่ดี

ไกด์ โจ ได้บรรยายไว้ก่อนแล้วว่า รอบเจดีย์นี้จะมีพระประจำวันเกิด แล้วอธิบายว่าคนเมียนมาร์นั้นชอบมาทำบุญกราบพระประจำวันเกิดแล้วทรงน้ำพระประจำวันเกิดนั้นเท่ากับอายุบวกหนึ่ง ทางคณธทัวร์เราฮือฮากันใหญ่เพราะ คุณลุงคุณป้าที่มาด้วยนั้นอายุท่าน 70 เศษเข้าไปแล้วจะทำอย่างไร มิต้องตักน้ำทรงพระนานเป็นชั่วโมงเลยหรือ โจ ก็บอกว่า ส่วนใหญ่จะใช้วิธีระลึกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ใช้เพียงสามขันน้อยๆก็ได้


บางพื้นที่มีลานกว้าง มีการฉายวีดีทัศน์ เท่าที่ยืนดูรูปในวีดีทัศน์นั้น เข้าใจว่าเป็นการเล่าถึงการขุดค้นพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การเล่าถึงประวัติศาสตร์ มีชาวเมียนมาร์มานั่งฟังกันมากขึ้น มากขึ้น ผมชอบวิธีการแบบนี้จัง ใช้สถานที่ศักดิ์สิทธินี้ส่งต่อความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับประชาชน

มีแต่ความอิ่มเอิบ ปลื้ม ที่ได้มากราบเจดีย์ชเวดากองศาสนสถานทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ความจริงผมว่าพระธาตุนครปฐมของเรานั้นใหญ่กว่า แต่ความอลังการ์นั้นอาจจะด้อยกว่า และกิจกรรมต่างๆนั้นอาจจะน้อยกว่า ผมไม่ได้ไปกราบพระธาตุนครปฐมมานานแล้วจึงไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นเช่นไรบ้าง

เมื่อเราเดินทางกลับ โจเล่าให้ฟังว่า มีคณะรัฐบาลทหารบางคนพยายามผลักดันให้เจดีย์ชเวดากองนี้ขึ้นเป็นมรดกโลก กับยูเนสโก แต่แล้วเกิดการวิภาควิจารย์กันมากมายโดยท่านที่ไม่เห็นด้วย ลามลงไปถึงประชาชน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น และในที่สุดรัฐบาลเมียนมาร์ต้องขอถอนชื่อออกจากการเสนอให้เป็นมรดกโลก


เหตุผลที่สำคัญคือ “คณะกรรมการมรดกโลกต้องเข้ามาดูแลเจดีย์สิ่งศักดิสิทธ์นี้ เป็นฝรั่งมังค่าที่ไม่ใช่ชาวพุทธ เขาไม่ได้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ เขาจะปฏิบัติก็ในนามที่เป็นวัตถุเท่านั้น แต่ปวงชนประเทศนี้ศรัทธาศาสนสถานนี้ด้วยใจ ด้วยหัวใจ ด้วยความรู้สึกภายในที่ฝรั่งไม่มี ด้วยความศรัทธาสูงสุด แล้วเช่นนี้จะยกให้เขามาดูแลสถานที่ศักดิ์สิทธินี้ได้อย่างไร เราชาวเมียนมาร์ดูแลเองได้ และดูแลได้ดีด้วย”

โฮ สุดยอดจริงๆ……..สุดยอดจริงๆ

« « Prev : Myanmar ที่ร่ำรวย

Next : จากย่างกุ้ง ไป เนปิดอ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ทำไมชเวดากองไม่เป็นมรดกโลก.."

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.18786692619324 sec
Sidebar: 0.076121091842651 sec