ธรรมชาติของอารมณ์
ในแต่ละวันสิ่งมีชีวิตจะมีอารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และแปรเปลี่ยนตามสิ่งเร้า (stimulus) และประสบการณ์ (experience) ที่มีอยู่ในตน
การเรียนรู้ที่มาจากการหลอมรวมปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับประสบการณ์ ทำให้อารมณ์มีอิทธิพลต่อผู้เป็นเจ้าของและเป็นที่มาของพฤติกรรม
สิ่งเร้าจึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมหนึ่งๆของสิ่งมีชีวิต
ถ้าเราซื่อตรงกับตัวเอง เราก็จะพบว่าภายใต้พฤติกรรมแต่ละครั้งของตัวเรานั้น มีอารมณ์แฝงตัวอยู่
การใช้ประโยชน์จากความรู้ข้างต้นก็อยู่ตรงที่ การมองความเป็นธรรมดาที่ภายใต้อารมณ์มีสิ่งเร้าแฝงตัวอยู่
ถ้าต้องการรู้จักสิ่งเร้า สิ่งที่พึงกระทำก็คือการตามติดอารมณ์ให้ทัน เมื่อตามอารมณ์ได้ทันก็จะสามารถจับต้องและค้นพบสิ่งเร้าได้ เมื่อไรที่พบสิ่งเร้า แรงจูงใจก็จะปรากฏกายขึ้นให้สัมผัสได้
เมื่อไรสัมผัสแรงจูงใจได้ สิ่งเร้าได้ ก็จะเกิดกระบวนการจัดการอารมณ์ขึ้น เหล่านี้คือความเป็นอัตโนมัติที่เกิดขึ้นอยู่ทุกๆวินาที
ความธรรมดาของสิ่งมีชีวิต คือ มีสัญชาตญาณเป็นสิ่งเร้าให้ลงมือกระทำหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำ เมื่อสัญชาตญาณหนึ่งๆได้รับการตอบสนอง สัญชาตญาณนั้นๆก็ยุติการเร้าไป
การใช้สัญชาตญาณส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของกาย สำหรับสิ่งมีชีวิตบางจำพวก พฤติกรรมกับสัญชาตญาณ หรือ อารมณ์กับสัญชาตญาณจึงดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน
แต่ความอยู่รอดของมนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น อารมณ์จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกับสัญชาตญาณเสมอไป มนุษย์ที่ฝึกตนแล้วและไม่ได้ฝึกตน จึงมีช่องว่างระหว่างอารมณ์และสัญชาตญาณที่ต่างกันอยู่มาก
เมื่อพบแรงจูงใจ ความเข้าใจอารมณ์จะเพิ่มมากขึ้น และจะพบว่า ที่จริงแล้วอารมณ์และแรงจูงใจ แรงจูงใจกับพฤติกรรม และอารมณ์กับพฤติกรรมเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด แล้วทั้งหมดก็เป็นอิสระซึ่งกันและกัน
และจะพบว่า อารมณ์เป็นความรู้สึกภายในที่เร้าให้ลงมือกระทำ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง
อารมณ์เป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปรที่เกิดได้ตลอดเวลา และความเป็นอิสระซึ่งกันและกันของสิ่งที่เกี่ยวข้อง น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญกับอารมณ์มากกว่าสัญชาตญาณ
ในยุคของสังคมปรนัยอย่างวันนี้ ผู้คนตกอยู่ในวังวนของ “ความเร็ว” “ความสบาย” และ “การคิด”
ความเร็ว ความสบาย การคิด จึงเป็นสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลให้อารมณ์เปลี่ยนแปร เมื่อทั้ง 3 ปัจจัยหลอมรวมกัน อิทธิพลต่ออารมณ์ยิ่งมากมาย
ถ้าสังเกตให้ลึกซึ้งมากขึ้น ทั้ง 3 ปัจจัยส่งเสริมให้ผลผลิตสัญชาตญาณนักล่า สัญชาตญาณปกป้อง สัญชาตญาณสัตว์สังคมที่สมดุลเป๋เพิ่มในตัวผู้คน ที่ทอนสัญชาตญาณนักต่อสู้ให้ต่ำลง
สังคมที่มีผู้คนใช้สัญชาตญาณสัตว์สังคมร่วมกับความเป็นนักล่า นักต่อสู้ นักเอาตัวรอดที่เป๋ๆ นี่เองที่ทำให้วันนี้ในทุกพื้นที่ แม้แต่ในครอบครัว มีเหตุการณ์ของความรุนแรงเกิดขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย
ในส่วนตัวมองเห็นความเป๋เหล่านี้ว่า เกิดจากความไวต่อการรับรู้อารมณ์ที่เปลี่ยนแปร ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยให้ผู้คน สามารถเริ่มต้นปรับดุลระหว่างสัญชาตญาณนักล่า นักต่อสู้ นักเอาตัวรอด และสัญชาตญาณสัตว์สังคม จนได้มาซึ่งดุลปกติของสัญชาตญาณทั้ง 4 ที่ทำให้สามารถรับความธรรมดาของทุกข์และสุขของตนได้ ไม่ถูกปลูกฝัง ไม่ได้รับความสนใจที่จะสร้างให้เกิดในตัวตน
ความเข้าใจต่ออารมณ์ตนจึงไม่เกิด เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่เห็นว่าอารมณ์ใกล้ชิดกับทุกข์ สุขอย่างไร
แต่ภายใต้ความเป็นอารมณ์ก็มิได้มีแต่พฤติกรรมเท่านั้น ยังมีสภาวะการรู้คิด และปฏิกิริยาทางสรีระ เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย
การทำความเข้าใจองค์ประกอบเหล่านี้ ก็จะช่วยให้สังเกตเห็นอารมณ์และความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นไวขึ้น
สภาวะการรู้คิดที่จับต้องได้จะปรากฏกายในรูป “ความรู้สึกของผู้ที่กระทำหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ของบุคคลที่เรียกกันว่า ความทรงจำ ความเชื่อ”
ปฏิกิริยาทางสรีระ และพฤติกรรม จะปรากฏในรูปของภาษากาย การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่วัดประเมินได้ รับรู้ได้ จับต้องได้ เห็นได้
เมื่อเห็นองค์ประกอบ 3 นี้แล้วก็เริ่มเห็นว่า ทุกผู้คนไวอยู่แล้วกับสภาวะการรู้คิด แต่ช้ากับการรับรู้ปฏิกิริยาทางสรีระและพฤติกรรมของตน
มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เข้าใจแล้วละว่าทำไมพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติบทเรียนอานาปาณสติไว้ในธรรม
« « Prev : จะเปลี่ยนไม่ให้เสีย”หมา” ได้ยังไง
Next : “ความรัก” คือ การเรียนรู้เพื่อเอาชนะความรุนแรงทางอารมณ์ » »
1 ความคิดเห็น
อารมณ์นี้พระท่านว่าคือเวทนา ในวงจรของปฏิจจสมุปปาท
พระอภิธรรมปิฏกแจงออกไปเป็น ๘๓ ดวงหรือไง่เนี่ย (ถ้าจำไม่ผิด)
เรื่องจิตวิทยานี้ฝรั่งไม่มีวันตามพุทธศาสน์ได้ทัน ผมว่า
การจัดการกับอารมณ์ก็ต้องตัดวงจรปฏิจจฯให้ขาด
ท่านพุทธทาสสอนว่า ให้ขลิบที่ เวทนานี่แหละ มันง่ายที่สุด
ผมเอามาอุปมาว่า ปฏิจจฯคือสร้อย๑๒ ข้อ ข้อที่อ่อนที่สุดคือ เวทนา (อารมณ์) นี่แหละ เราก็เลยต้องตัดมันที่ข้ออ่อนนี่แหละเพราะมันคือ the weakest link (ว่าเข้านั่น)