น้าำท่วม(๑๘)

อ่าน: 1448

มีใครไม่เคยเห็นทิวทัศน์ของหมู่เกาะอ่างทองบ้างมั๊ยค่ะ เมื่อตามรอยหินยุบไปถึงน้ำพุร้อนก็ได้เพิ่มมุมมองของธรรมชาติ ไม่เคยนึกมาก่อนว่า แอ่งน้ำสวยๆบริเวณของทะเลหมู่เกาะอ่างทองนั้นก็คือ อีกรูปหนึ่งของหินยุบ

กวาดตามองไปทั่วทะเลแถวบ้าน ตั้งแต่แหลมกา แหลมพรหมเทพ เกาะตะปู เขาพิงกัน ยันมาถึงเกาะต่างๆในทะเลกระบี่ สรีระที่เห็นเป็นเขาหินปูนทั้งนั้น

นึกถึงภาพตอนไปเที่ยวริมทะเล รู้สึกว่าเรื่องคลื่นลมมีอะไรน่าสนใจ  กลับมามองที่หาดอ่าวนางดูบ้าง อืม ที่นี่ยามหน้าฝนมีปัญหา ลมพัดแรงออกทะเลไม่ได้ หรือบางครั้งเช้าออกทะเลไปได้ แต่เย็นใจหายใจคว่ำเมื่อต้องโต้ลมแรงกลับเข้าฝั่ง

ที่จริงก็รู้ว่า น้ำเป็นของไหลเช่นเดียวกับอากาศ แต่ไม่แน่ใจว่าการไหลเวียนของกระแสน้ำ จะมีลักษณะคล้ายการไหลเวียนของกระแสลม ในบรรยากาศหรือเปล่า

เขาว่าการไหลเวียนของน้ำทะเล เกิดจากความหนาแน่นที่ต่างกัน น้ำทะเลที่มีความหนาแน่นสูงจะเคลื่อนไปแทนที่ น้ำทะเลที่มีความหนาแน่นต่ำ  การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร ที่ได้รับอิทธิพลจากความหนาแน่นของน้ำทะเลที่มีความเค็ม มีทั้งที่พื้นผิวและที่น้ำลึก

ความฝืดของอากาศกับผิวน้ำทำให้เกิดกระแสน้ำ โดยกระแสลมซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความแตกต่างของพลังงานจากดวงอาทิตย์ ที่สะสมไว้ ส่งต่อพลังงานลงสู่ผิวน้ำ จึงเห็นกระแสน้ำเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกัน กระแสลมที่ส่งผ่านพลังงานลงสู่น้ำนี้มีอิทธิพลลึกแค่ ๑ กิโลเมตรจากผิวน้ำ หรือ ๑๐% ของพื้นน้ำเท่านั้นเอง

ซ้าย-ถนนที่เห็นเพิ่งซ่อม น้ำคลองที่เห็นไหลแรงและเชี่ยว น้ำหมุนวน  ขวา-น้ำท้นเข้ามาในสวนริมคลอง เชี่ยวแรงจนสร้างคลองใหม่ขึ้นได้

ในมหาสมุทร กระแสน้ำผิวพื้นมีอิทธิพลเพียง ๑๐% อีก ๙๐% เป็นอิทธิพลจากกระแสน้ำลึก ซึ่งมีความร้อนและความหนาแน่นของน้ำมาเกี่ยวข้อง ไม่รู้ว่าหลักการไหลเวียนนี้ จะใช้กับน้ำในลำคลองที่เห็นไหลเชี่ยวได้มั๊ยนะ

ถ้าใช้หลักของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ตรงไหนน้ำอุ่น เหนือน้ำก็มีอากาศอุ่น ตรงไหนน้ำเย็น เหนือน้ำก็มีอากาศเย็น ลมจะพัดจากที่น้ำอุ่นมาหาที่น้ำเย็น เพราะความเปลี่ยนแปลงความชื้นในอากาศ ทำให้ตรงที่มีน้ำเย็น อากาศแห้งกว่าที่มีน้ำอุ่น ตรงไหนที่อุณหภูมิน้ำต่างกัน ตรงนั้นก็เกิดหมอก

ส่วนในน้ำ เมื่อน้ำเย็นเจอน้ำอุ่น น้ำเย็นจะจมอยู่ล่าง น้ำอุ่นจะบางลง ทำให้มีแรงดึงน้ำเบื้องล่างให้ขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ปรากฏการณ์นี้ทำให้สารอาหารต่างๆที่อยู่ใต้น้ำ และสิ่งมีชีวิตที่ติดผิวดินลอยขึ้นมาผิวน้ำ แล้วกลายเป็นอาหารของปลา

พอจะเข้าใจแล้วละ ว่าทำไมแรงน้ำที่เกิดขึ้นจึงมากจนทำให้ไม่สามารถทวนกระแสน้ำได้ ลงไปแล่นเรือก็จะมีอันตราย และทำไมเวลาหลังน้ำท่วม ปลาในคลองที่จับได้จึงตัวโตและอร่อย

เจ้าของบ้านกลางกองหิน ย้ายบ้านแล้ว กองไม้ใหญ่ที่ติดค้างหลังบ้านที่ไม่ย้ายออก กองโตและสูงอย่างในภาพขวาสุดเลยแหละ

เมื่อเข้าไปถึงพื้นที่ดินถล่ม แล้วลองเปรียบเทียบกับความรู้เรื่องหมู่เกาะอ่างทอง สัญญาณก่อนหินยุบ แล้วมาฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่า ก่อนจะมีน้ำบ่ามา เขาได้ยินเสียงดังเหมือนมีใครไประเบิดหิน ๒-๓ ครั้ง ซึ่งเขาใช้ภาษาของเขาเองว่า “เขาร้อง” ตรงนี้บอกว่า มีปรากฏการณ์หินยุบเกิดขึ้นก่อน จึงมีเหตุการณ์อื่นๆตามมานะ

อย่างนี้ ต้นเหตุของความเสียหาย และลำธารหินที่เห็น ก็เป็นเรื่องของดินสไลด์ที่เกิดขึ้นพร้อมหินยุบ  คลองสีเข้มบอกเหตุว่า ยังมีน้ำบนเขาที่ไหลลงมาเร็วเพราะความชันของเขา น้ำหมดสีก็จางลง ความแรงของน้ำในคลองเกิดจากปริมาณน้ำที่ไหลลงมาสะสมด้วย

นี่ถ้ารู้ว่ามุมไหนของเขาพนม มีหินปูนเยอะ ก็คงจะสามารถกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตรงขึ้น ไม่เดาสุ่ม การจะลองปลูกไม้โตเร็ว เพื่อทดลองฝีมือยึดเหนี่ยวดินและชะลอน้ำให้ไหลช้าลงของมัน เพื่อเรียนรู้ความสามารถของมันก็เป็นไปได้

ก็เหลือการเลือกว่าต้นไม้โตเร็วที่ว่าควรเป็นอะไร  ไผ่น่าจะเป็นต้นไม้ที่เหมาะชนิดหนึ่ง ส่วนไม้ต่างถิ่นนี่คงต้อง “ลองทำดู” เจ้าภูเขาหินปูนในทะเลที่คุ้นตาให้ความรู้ไว้แล้วว่า กว่าที่มันจะกร่อน มันยืนสู้แดด ลมมานาน อย่างนี้หินปูนที่หลุดไหลลงมาเป็นธารและค้างอยู่ กว่าจะกร่อนตัวลงก็อีกนาน แต่มันเป็นหินที่ผุง่าย การรับฝนอยู่เรื่อยๆ แล้วโดนแดด สลับกันไปอย่างนี้ทำให้มันเปราะขึ้นมั๊ยนะ มันแบกน้ำหนักไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ด้วยนะ

จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างละนี่ สำหรับบ้านที่อยู่ใต้กองไม้เหล่านี้  ด้วยในวันนี้พวกเขายืนยันว่า จะไม่ขอย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากที่นี่ เป็นเรือนตายของพ่อแม่ และเป็นบ้านเกิดที่พ่อแม่สร้างไว้ให้  แถวนี้ถ้าปลูกไผ่ขึ้นมาเป็นแนวกันชน จะช่วยยันไม้ใหญ่ที่เห็นไม่ให้ตกลงมาทำอันตรายคนหรือบ้านได้มั๊ยนะ

หิน ไม้จะใหญ่อย่างไรก็ไม่ทำให้ท้อที่จะอยู่ ไม่ได้ใจกล้าหรอกที่ไม่ยอมย้ายออกไปจากพื้นที่ แต่เพราะจนหนทางทำกินจึงขออยู่

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔

หมายเหตุ  ขอบคุณภาพจากบังวอญ่าค่ะ

« « Prev : พลาสติก (๑๕) : ตรวจสอบ

Next : น้ำำำท่วม(๑๙) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 เวลา 23:48

    เกาะอ่างทองนี้อยู่จังหวัดไหนครับ เพราะเกาะอ่างทองที่ผมรู้จักสมัยเป็นนักเรียนนายเรือ และนายทหารเรือหนุ่มที่ผมยังดก คือเกาะนอกฝั่งเกาะพงัน ที่ไม่มีคนอยู่ เพราะชายฝั่งแคบมาก มีแต่เขาสูง

    ของไหล ไม่ว่าอากาศหรือน้ำ ถ้าของร้อนมาชนกับของเย็น โดยหลักวิศวกรรมพื้นฐาน ของร้อนจะลอยขึ้น ส่วนของเย็นจะจมลงครับ (ตรงข้ามกับที่คุณหมอว่ามา)

    ว่าแต่ว่า เป็นหมอ แล้วมาสนใจเรื่องพวกนี้ นับว่าเพี้ยนเอาการ…สาธุ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 เวลา 0:23

    หมู่เกาะนี้อยู่ที่สุราษฎร์ธานีค่ะ ที่เดียวกับที่อาจารย์เคยไปมังค่ะ ครือว่าไม่เคยไปเกาะพงันค่ะ

    แก้ไขแล้วนะคะ น้ำเย็นจมลง

    ได้หลักคิดอะไรบางอย่างมาไว้มองสิ่งรอบตัวเพลินๆด้วย ก็เลยสนุกกับการเรียนรู้ค่ะอาจารย์ ได้อาศัยครูหลายคนบนบล็อกและในอินเตอร์เน็ตเติมความรู้ให้ ก็ได้คืนมาซึ่งมุมที่เห็นย้อนกลับไปถึงวิธีเรียนสมัยเด็กๆของตัวเองด้วยค่ะอาจารย์ เห็นตัวเองแล้วก็ได้ความรู้ใหม่ว่า ทำไมเด็กๆที่มีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติมาเต็มตัว อย่างเด็กลูกชาวบ้าน เมื่อเข้ามาสู่สังคมเมืองจึงเมินหน้าหนีบ้านเกิดด้วยค่ะ….ไปโน่นเลย….อิอิ

    ยิ่งเข้าใจธรรมชาติก็ยิ่งเข้าใจชาวบ้านค่ะอาจารย์ ภารกิจหนึ่งของคนเป็นหมอ คือ การฝึกตนให้เข้าใจความรู้สึกคน เพื่อดำรงตน ให้ยังมีหัวใจของความเป็นมนุษย์

    ไม่เพี้ยนหรอกค่ะอาจารย์ หมอถูกสอนมาว่า โรค ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดี่ยวๆคือตัวคน แต่เกิดจากความสัมพันธ์ของ ๓ ส่วน คน สิ่งแวดล้อมของคน และต้นเหตุ เช่น เชื้อโรค สารเคมี พฤติกรรมของบุคคล ถ้าเข้าใจความสัมพันธ์ของ ๓ ส่วนนี้ จะป้องกันโรคให้อยู่หมัดได้ ไม่เกิดรายต่อๆมาค่ะ

    หมอด้านอื่นเขาเรียนลึกไปเรื่องการรักษาคนที่ป่วยแล้ว ทหารรบกับคน แต่หมอป้องกันรบกับโรค โดยหมอป้องกันจะลงลึกไปที่ ค้นหาว่าอะไรที่จะจัดการได้ก่อนจะมีคนป่วย หรือไม่เกิดคนป่วยคนต่อไปค่ะ เครื่องมือที่ใช้ในการดูแลคนไข้ จึงไม่ใช่ยา แต่เป็น “ข้อมูลจริงที่เกิดจากการใช้ความรู้” ยิ่งทำความเข้าใจจากของจริงได้มากเท่าไร ก็ยิ่งกำไรในการแยกแยะ และจัดลำดับสิ่งที่ควรทำก่อนทำหลังให้เหมาะ เหมือนการวางแผนรบของทหารนั่นแหละค่ะ อาจารย์

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 เวลา 0:33

    สงสัยจะเป็นเกาะเดียวกันครับ เพราะเกาะพงัน ต่อจากสมุย ก็จ.สุราษฎ์ทั้งคู่แหละครับ ครูปูคงให้คำยืนยันได้ เท่าที่ผมไปล่องเรือมาหลายครั้ง สมัยยังหนุ่ม น้ำมันใสมากๆ มองเห็นปะการังใต้น้ำ

    แต่ที่หมอบอกว่าไม้มันถล่มมาทับบ้านคนนั้นผมนึกไม่ออก เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า ผมเห็นแต่ชายฝั่งที่แคบมากๆ ไม่น่ามีชาวบ้านไปอยู่ได้

    หรือว่า เป็นพวก หนีความเลวร้ายของประเทศไทยไปเสียให้ไกลๆ จะดีจะร้ายอย่างไรไม่ว่า ขอเพียงไม่ต้องเครียดกะปัญหาการเมืองไทย :-)

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 เวลา 7:19

    ตรงที่อาจารย์เห็นปะการังนั่นแหละค่ะ มีประวัติมาว่าเคยเกิดหินยุบมาก่อน ตรงใจกลางของหมู่เกาะอ่างทอง จึงมีภูมิประเทศอย่างที่เห็น เรื่องของมันเมื่อนำมาใช้ทำนายเขาพนมเบญจา หมอก็เห็นภาพว่า หากยังมีปรากฏการณ์เดิมวนเวียนอยู่ แถวนี้ต่อไปก็จะมีแอ่งน้ำใหญ่อยู่ในเขาให้คนรุ่นหลังได้ชม เขาพนมเบญจาในอนาคต ก็คงเหลือเป็นรูปร่างแบบภูเขาหินปูนอื่นๆที่มักพบในภาคใต้ตอนบน จะมีโพรงถ้ำ น้ำตกเกิดขึ้นด้วย อาจจะมีสภาพคล้ายๆที่กรุงชิง นครศรีธรรมราชก่อน แล้วเปลี่ยนผ่าน

    ไม้ที่ถล่มลงมาทับบ้านชาวบ้านที่คะนึงอยู่ เป็นเรื่องที่เขาพนมค่ะอาจารย์ ถ้าลองวาดสามเหลี่ยมมุมฉากสวมลงไปในพื้นที่ และสามเหลี่ยมนี้วางในมุมเงย ๔๕ องศากับพื้น โดยมีส่วนของกองไม้ในภาพที่มีคนยืนดูเป็นมุมขวาสุดและแตะพื้นทำมุม ๔๕ องศา มีส่วนของมุมฉากอยู่ทางซ้ายของมัน เส้นฐานของสามเหลี่ยมยาว ๕๐ เมตร ตรงมุมฉากก็จะเป็นบ้านชาวบ้านหลายหลังปลูกอยู่ และเมื่อเงยหน้าขึ้นไปตามเส้นตั้งฉากเพื่อหามุมอีกมุม ปลายมุมอีกมุมนั้นนั่นแหละที่เป็นกองไม้ใหญ่ที่จะหล่นลงมาได้อีก และทับบ้านชาวบ้านพอดี

    ภาพที่ยืนดูนั้นเหมือนอยู่บนพื้นราบ แต่ของจริงต้องปีนขึ้นไปสูงกว่าพื้นถนน ๑ เมตรค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.1132481098175 sec
Sidebar: 0.23969197273254 sec