พลาสติก (๑) : ความหนาแน่น

โดย สาวตา เมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ การจัดการ, จัดการสิ่งแวดล้อม, พลาสติก, เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 2233

ช่วงหนึ่งของการทำงานมีโจทย์ผ่านเข้ามาให้หาทางออกเรื่องขยะในระบบของรพ. เมื่อตามรอยเส้นทางขยะไปเรื่อยๆก็พบผลิตผลของขยะมีหลากหลาย ความคิดรีไซเคิลขยะจึงเริ่มขึ้น กระบวนการรีไซเคิลที่ดำเนินไปได้พักหนึ่งได้ชวนให้ผู้คนในรพ.หันมาให้ความสำคัญกับขยะขายได้

การจัดการกับขยะพลาสติกเริ่มต้นได้เฉพาะพลาสติกที่ทำขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำเกลือ นอกนั้นยังจัดการไม่ได้ แหล่งรับซื้อขยะอย่างเฟรนไชม์วงพาณิชย์ของที่นี่ไม่รับ ด้วยเหตุผลว่าพลาสติกเหล่านั้นเปราะแตกง่าย จึงต้องหาทางออกเรื่องของการจัดการอีกแบบ

ลองไปแยกประเภทพลาสติกดูอีกครั้งก็ยังกังขา เคยเห็นบู๊ทของวงศ์พาณิชย์ที่เมืองทองธานีว่า เมื่อแยกพลาสติกชนิดต่างๆออกจากกันแล้ว ยังสามารถนำไปจัดการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้พลาสติกจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน

ความแตกต่างของพลาสติกนั้นมีตั้งแต่จุดหลอมเหลว ความหนาแน่น ความแข็ง ความนิ่ม ความใส ที่เคยเห็นที่เมืองทองธานีไม่ได้บอกเรื่องเหล่านี้ไว้หรอก  จึงเป็นเรื่องของความรู้ที่จะต้องหาเติมเอาเอง

เคยเห็นว่าเมื่อพลาสติกแต่ละชนิดถูกแยกออกจากกัน เวลาจะส่งไปยังโรงงานจะถูกบีบให้แบนแล้วมัดรวมกันเป็นก้อน โรงงานที่ว่านี้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล

ไปถึงโรงงาน พลาสติกแต่ละชนิดจะถูกนำไปบดให้เป็นชิ้นเล็ก แล้วล้างทำความสะอาดในบ่อน้ำขนาดใหญ่ เพื่อกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกออกไป หลังจากนั้นก็ทำให้แห้งโดยการตากแดดหรือใช้อากาศร้อน และแยกป้ายกระดาษหรือฟิล์มที่ติดมากับชิ้นพลาสติกโดยเป่าแยกออกมา

ต่อด้วยการหลอมชิ้นพลาสติกผ่านเครื่องอัดรีด (extruder) ให้ออกมาเป็นเส้น แล้วจึงตัดเป็นเม็ดเล็กๆบรรจุลงกล่อง ส่งต่อไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่โรงงานขึ้นรูปพลาสติก

เขาว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะมีสมบัติทางกายภาพลดลง เพราะแรงในเครื่องบดพลาสติกให้มีขนาดเล็กลงนั้น ทำลายโซ่ของโพลิเมอร์แตก ทำให้สมบัติเชิงกลของพลาสติกลดลง จากความยาวของโมเลกุลและน้ำหนักโมเลกุลลดลง

ความบริสุทธิ์ของพลาสติกแต่ละชนิดที่จะเลือก นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆสำคัญ ถ้ากระบวนการแยกพลาสติกไม่ดีพอ คุณสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ลดลง  ในบางครั้งโรงงานจึงนำเม็ดพลาสติกใหม่มาผสม เพื่อให้คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ดีขึ้น

ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อดีกับขยะพลาสติกที่มีอยู่อีกหลายชนิด นอกจากสำรวจประเภทไปพลางๆ

เขาว่าพลาสติกรีไซเคิลจะมีตัวเลขเรียงระบุที่ใต้ขวดหรือภาชนะ

ลองสำรวจดูหน่อยเหอะ จะเห็นตัวเลขที่ว่าอยู่ภายในกรอบสามเหลี่ยม หรือไม่ก็เป็นตัวเลขเดี่ยวๆให้พอเห็น อย่างภาพข้างล่างนี้ และมีหรือไม่มีตัวอักษรควบ เจอได้หมด

ที่ไม่มีตัวเลขก็มีนะ จะรู้ว่าเป็นชนิดต่างก็ต้องใช้ค่าความหนาแน่นแยกออกมา  หาความหนาแน่นได้โดย นำไปลอยในของเหลวที่รู้ค่าความหนาแน่น เช่น

เอทานอล ( ความหนาแน่น 0.79 กรัม/ลูกบาศเซนติเมตร)

เอทานอลผสมน้ำ 10:8 (  ความหนาแน่น 0.91กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร)

เอทานอลผสมน้ำ  1:1 ( ความหนาแน่น 0.2 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร )

น้ำ ( ความหนาแน่น 1 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร)

น้ำเกลือแกง 10%  (ความหนาแน่น 1.06 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร)

น้ำเกลือแกงอิ่มตัว (ความหนาแน่น  1.18 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร)

ลอยที่ของเหลวไหน ความหนาแน่นก็จะอยู่ระหว่าง ค่าของของเหลวก่อนหน้าที่จมกับของเหลวที่ลอย

ตัวอย่าง ขวดนมเปรี้ยวเอาไปลอยในของเหลวข้างบนนี้ 5 รายการ

4 รายการแรก จมหมด แต่ลอยในน้ำเกลือแกง 10%  ความหนาแน่นจึงอยู่ระหว่าง 1- 1.06

เมื่อเทียบกลับไปที่กลุ่มตามตัวเลขก็จะตกในกลุ่มพลาสติกโพลีสไตรีน

ในบ้านเรามาตรฐานกำกับพลาสติกมีมั่งไม่มีมั่ง จะแยกได้ต้องเอาไปลอยของเหลวดูค่าความหนาแน่นเองมั๊ง โรงงานรับซื้อขยะที่นี่จึงจำกัดประเภทพลาสติกที่รับซื้อ

แหล่งข้อมูลที่ไปรวบรวมมา :

1. http://www.pantown.com/board.php?id=13179&area=1&name=board1&topic=680&action=view

2. http://www.promma.ac.th/main/chemistry/boonrawd_site/community_plastic.htm

« « Prev : มุมหนึ่งที่สะกิด

Next : พลาสติก (๒) : หมายเลข » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 เวลา 22:44

    ไม่มีความรู้ในการแยกพลาสติก ขอบคุณที่ให้ข้อมูลการหาความหนาแน่นของพลาสติก ส่วนใหญ่ จะนำขวดพลาสติกมาดัดแปลงใช้ปลูกต้นไม้ค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.53343200683594 sec
Sidebar: 1.3531839847565 sec