ทำอย่างนี้แหละจ๊า

อ่าน: 1375

มีเรื่องที่ทางฝ่ายกนอ.ได้เล่าให้ฟังอีก จึงขอนำมาบันทึกไว้ต่อว่าเขาเล่าอะไรให้ฟังบ้าง ผู้มาเล่าเรื่องราวให้ฟังมี ๓ ท่าน คือ ดร. วีระพงษ์ จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  คุณชายน้อย จากสภาอุตสาหกรรม และคุณสมชาย จาก SCG  ขออภัยที่จำนามสกุลของทั้ง ๓ ท่านไม่ได้

เรื่องที่ฟังมาเป็นเรื่องราวที่กนอ.ได้ลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ภายใต้บทบาทที่การนิคมฯเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการ และจัดระเบียบกลไกของประเทศมาเป็นเวลา ๒๘ ปีแล้ว ผู้เล่าบอกว่าปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาจากการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม (global effect)

ท่านเล่าว่า บริเวณมาบตาพุดมีผู้ประกอบการในกลุ่มนิคม ๑๔๗ ราย มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า ซึ่งทำให้ค่าไฟถูกลง ทีแรกการพัฒนาก็เป็นการใช้พื้นที่เชิงกว้าง แต่วันนี้ที่นี่มีท่าเรืออุตสาหกรรมใหญ่ที่สุด ทุกอย่างจึงปรับเป็นเชื่อมโยงด้วยระบบท่อ ให้อยู่ด้วยกันแบบ cluster ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

ท่านเล่าการแก้ปัญหาว่า ตั้งแต่ปี ๔๐ เป็นต้นมา ที่มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ มีการแก้ปัญหามาตลอด การแก้ปัญหาทำไปอย่างนี้ค่ะ

ปี ๔๐-๔๓ ซึ่งมีปัญหาเรื่อง “กลิ่น” เกิด ส่งผลกระทบต่อคนโดยรอบ เพราะท่อรั่วซึม บ่อน้ำเสียมีกลิ่น ก็แก้ไขปัญหาแบบไตรภาคี รัฐ ชุมชน ผู้ประกอบการจับมือกันแก้ไขปัญหา

ปี ๔๘ มีปัญหาเรื่อง “น้ำ ” ก็ลดกำลังผลิตและมีการติดตั้งเครื่องผลิตน้ำ

ปี ๔๙ ปัญหาเรื่องมลพิษ ท่านไม่ได้เล่าว่าทำอะไร เล่าแต่ว่า ปี ๕๐ ซึ่งยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ท่านให้ดำเนินการเหมือนประกาศโดยการดำเนินการลดและกำจัดมลพิษ ด้วยการตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ ด้านนอก มีการประสานกับผู้ประกอบการให้ลดมลพิษด้วยความสมัครใจ และติดตั้งระบบตรวจสอบทั้งอากาศ/น้ำ ระบบบัญชีการใช้สาร เน้นขายความเป็นคนระยอง และการดำเนินการตรวจสอบ

จนถึง ๑ พ.ค. ๕๒ มีการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ รัฐนำเสนอ ๗๐ โครงการ ๒ พันกว่าล้าน การนิคมก็ไปชวนผู้ประกอบการให้มาคิดเรื่องการทำแผนลดมลพิษ ตั้งงบไว้หมื่นกว่าล้าน มีการทำแผนชัดเจน ติดตาม รายงานต่างๆ

ท่านเล่าว่าเมื่อพื้นที่นี้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องศักยภาพการรองรับของพื้นที่และ Buffer Zone การนิคมฯก็พยายามจะดำเนินการตรวจวัดข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์  ในส่วนของการจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่รัฐบาลได้มีการกำหนดวิธีการเฝ้าระวังแล้ว การนิคมก็ใช้วิธีการขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจแบบอาสาสมัคร

นอกจากนั้นท่านบอกว่าอิงหลักธรรมาภิบาล เน้นเรื่องต่างๆ อาทิ ข้อมูลก็ให้โรงงานจัดให้มีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม  การเปิดเผยข้อมูลก็มีการจัดตั้งสถานีตรวจวัด ทำเป็นป้ายของการนิคม และป้ายระดับโรงงาน และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับชุมชน

ในประเด็นการพัฒนาหน่วยเฝ้าระวัง ท่านก็เอา technology know-how มาใช้ เพื่อให้ครอบคลุมด้านต่างๆเชิงการเฝ้าระวัง

ท่านว่าที่วันนี้ปัญหาเกิดก็เพราะอุตสาหากรรมขยายและชุมชนก็ขยาย ก็จำเป็นต้องมีการจัดพื้นที่กันชนและพื้นที่ป้องกัน (ใน-นอกรั้ว) เช่น ปลูกต้นไม้ ๕๐ เมตร ห้าชั้น ๓ ขั้นตอน(Step)

ท่านเล่าว่าเมื่อประกาศรธน.ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๕๐  ซึ่งมีมาตรา ๖๗ วรรค ๒ ย่างเข้าเดือนตุลาคม ชาวบ้านก็เริ่มร้องเรียนเรื่องปัญหา carrying capacity ของอุตสาหกรรม อดีตนายกฯ สุรยุทธ์ พยายามหาทางแก้ไข มีชุมชนเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน แล้วก็ได้แผนชุมชน ๕๐-๕๔

ที่ท่านได้รับคำถามว่า ทำไม ๗๖ โครงการที่อนุมัติ จึงไม่ดำเนินการตามมาตราดังกล่าว ท่านบอกว่า มาถึงวันนี้ใช้เวลาเกือบปีในการดำเนินการต่างๆ ให้ครบกระบวนการเนื่องจากไม่มีระเบียบปฏิบัติ/กฎหมายรองรับ

ท่านเล่าว่าผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายควบคู่ไปกับระเบียบปฏิบัติที่ผ่านมาเน้นการลด/กำจัดมลพิษ และเป็นแผนที่ดีที่สุดในโลก แล้วการศึกษา caring capacity แต่ก่อนก็พยายามหาทางที่จะทำให้มันลดลงมาให้ได้ ซึ่งนำไปสู่การออกแบบนโยบาย ๘๐: ๒๐ ซึ่งตอนนั้น กรมควบคุมมลพิษห่วงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox) กับไนโตรเจนออกไซด์(Nox) ก็เน้นว่าหากจะมีการขยายใหม่ หรือสร้างใหม่ ๒๐ หน่วย ก็จะต้องไปลดของเก่า ๘๐ หน่วย

ท่านกล่าวว่า ๗๖ โครงการที่มีคำถามนั้นอยู่ภายใต้กฎนี้ ซึ่งจะต้องมีการลดมลพิษเดิมโดยไม่มีผลตอบแทนการลงทุน รวมทั้งมีการตรวจเช็คกระบวนการรั่วไหลต่างๆ

ท่านให้เหตุผลว่า สมัยก่อนเรามีก๊าซธรรมชาติและเอามาขึ้นที่นี่ จึงจำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องเพื่อทดแทนการนำเข้ารวมทั้งทำมูลค่าส่งออกมากขึ้น แผนพัฒนาไม่ได้มองว่าพื้นที่นี้เต็มแล้วหรือยัง แต่มองว่าจะส่งออกได้แค่ไหน

ท่านยอมรับว่า ต่อไปจะต้องมีการประเมิน SEA ก่อนเพื่อให้เกิดการรองรับด้านวัตถุดิบ และแรงงาน รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ให้พร้อม ท่านว่าอนาคตจะเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศฯ eco industrial town และพูดว่า ภาคอุตสาหกรรมไม่เคยกลัวว่าสิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน ทำได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีผลตอบแทนก็ไม่ทำึ

ฟังมุมมองของหลายคนแล้ว ฉันรับรู้ว่าทุกคนเห็นพ้องกันหมดเรื่องการเกิดปัญหา แล้วทุกฝ่ายต่างบอกว่าลงมือแก้แล้วและแก้มาตั้งแต่ปี ๔๐ ก่อนผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้มาทำงานซะอีก แต่ทำไมเรื่องจึงยืดเยื้อมาจนประชาชนต้องขอใช้มาตรา ๖๗ วรรค ๒ บังคับ เห็นด้วยกับฉันไหมว่าข้อมูลยังไม่ชัดพอให้เข้าใจต้นเหตุ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๓

« « Prev : เป็นอย่างนี้…จะทำไงละ

Next : พบลูกประดู่ก่อนนอน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ทำอย่างนี้แหละจ๊า"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030269861221313 sec
Sidebar: 0.12634921073914 sec