ช่วยกันหาทางออกเหอะ

อ่าน: 1847

ออกจากสำนักงานกกต.อินเดียแล้ว พวกเราไปชมตลาดสิ่งทอของอินเดียกัน ส่วนใหญ่ไปตลาดจันปาท ส่วนน้อยไปตลาดอีกแห่งหนึ่งไม่รู้ว่าชื่ออะไร

ตัวตลาดคล้ายพาหุรัด สะพานหันบ้านเรา เสื้อผ้าที่วางขายอยู่ราคาย่อมเยาว์ยั่วหัวใจนักช๊อปไทย หลายคนมาแล้วอดใจไม่ไหวขนซื้อไปขายต่อก็มี

กูรูเศรษฐกิจเมืองไทยชวนให้เฝ้าดูตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่บ้านเรานำเข้าจากหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้าสูงกว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตเองในบ้านเรา ว่ามีการขยายตัวระหว่างปี ๒๕๔๐-๒๕๔๘ ปาเข้าไปถึงเกือบร้อยละ ๓๐ ต่อปีแล้วในขณะที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีในฐานะสมาชิกอาเซียนยังไม่เริ่มออกฤทธิ์

เขาเจอว่าในปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๘ เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำเข้าจากอินเดียขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕๕.๓ ต่อปี โดยเกิดขึ้นหลังจากอินเดียได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการเป็นประเทศสมาชิกในอาเซียน

๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การค้าเสรีสิ่งทอของประเทศที่เป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลกได้เริ่มขึ้น รายจ่ายค่าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของครัวเรือนไทยก็เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ ๓๑๑ บาทต่อเดือน( ปี ๒๕๔๗) เป็น ๓๖๖ บาทต่อเดือน (๒๕๔๙)

บรรยากาศในตลาดจันปาท กรุงเดลี บ่ายแก่ๆของวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ มีตลาดที่นี่แหละที่เห็นจำนวนแม่ค้าพอๆกับพ่อค้า

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้บอกฉันว่าตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในบ้านเราจะได้รับผลกระทบใหญ่หลวงจากตลาดที่มองเห็นตรงหน้า

ตลาดสิ่งทอมีเม็ดเงินกระจายไปสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องต่างๆเป็นมูลค่าสูง  ตั้งแต่การผลิต เส้นใย ปั่นด้าย ทอผ้าและถักผ้า ฟอก ย้อม พิมพ์ ตกแต่ง เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูปและแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอประมาณ ๑ ล้านคนจะได้รับผลกระทบถ้าคนบ้านเราทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ช่วยกันปรับตัวให้เหมาะควรในการผลิตและบริโภคทั้งตลาดระดับล่าง ระดับกลาง และระดับสูง

ช๊อปที่นี่ สามารถใช้เงินรูปี ดอลล่าร์ หรือ เงินบาทไทยก็ได้ พ่อค้าบางคนสามารถพูดภาษไทยได้ชัดเจน สินค้าราคาบอกผ่านราว ๓ เท่า

ไปเห็นผ้าของร้านที่กองอยู่แล้วนึกถึงเส้นทางผ้าไหมที่แม่ค้าในตลาดเชียงใหม่เคยเล่าว่าใช้เส้นด้ายจากอินเดียนำเข้ามาให้คนอีสานทอเป็นผ้าไหมชิ้น เอ๋! ทำไมไม่เห็นสินค้าเหล่านี้ที่ตลาดแห่งนี้ละ ไม่เหมือนสะพานหัน พาหุรัดบ้านเราเนอะ มีทุกอย่าง

ผ้าหลากสีสันสดใสอย่างนี้ แถมราคากินขาดเบียดตลาดผ้าไหมบ้านเรา อนาคตผ้าไหมของเราจะอยู่อย่างไรในประเทศ  มูลค่าเพิ่มที่ต่างควรเป็นอย่างไร คนไทยจึงจะหันมาใช้ผ้าไทยไม่ให้สูญพันธุ์ ผ้าไหมไทยจึงยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดโลก เหล่านี้คนบ้านเราน่าใคร่ครวญไตร่ตรอง

เดินชมสินค้าแล้วไม่รู้จะซื้ออะไร พอพบหนุ่มอินเดีย ๒ คนนี้ น้องยะก็ชวนร้องเพลง ก็เลยได้ที่นั่งรอเพื่อนๆสบายๆตรงมุมถนนนี่เอง

มาตกม้าตายตอนตกลงใจซื้อของจากเด็กแล้วแถมสตางค์นี่แหละ เลยโดนพ่อค้าหลายวัยเข้ามามะรุมมะตุ้มกันใหญ่จนต้องเอ็ดไล่

มีร้านค้าอีกประเภทหนึ่งของที่นี่ที่น่าสนใจ นั่นคือร้านหนังสือ มีหลายร้านให้ใช้เวลาชม

ร้านค้าที่ไม่เห็นเลยคือ ร้านขายสินค้ากลุ่มชุดชั้นในสตรีหรือว่าสินค้าประเภทนี้มีการผลิตเองน้อยในอินเดีย

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เยี่ยมกกต.อินเดีย

Next : เกี่ยวไปแล้วนะพี่ยา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ช่วยกันหาทางออกเหอะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.054627895355225 sec
Sidebar: 0.12998414039612 sec