เมื่อความบังเอิญเป็นเหตุ…ความต้องกันจะให้ผล

อ่าน: 1775

ความเป็นคานธีมีเรื่องเบื้องหลังให้เรียนรู้อยู่หลายมุม มาถึงที่แล้วก็เลยเก็บเกี่ยวมุมที่สนใจลองดู เรื่องหนึ่งที่สนใจคือเขาทำยังไงกับการพัฒนาสังคมเมื่อเขาเป็นผู้นำ  แล้วก็ได้พบว่าการมีนิสัยต้องกันและมนุษยสัมพันธ์นี่แหละที่ทำให้เขาได้มันมา

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่าเกิดจากคนสมถะ ๒ คนบังเอิญมาเจอกันแล้วความสัมพันธ์ที่สานต่อได้แปรเปลี่ยนส่งต่อสู่ความยิ่งใหญ่ที่ได้ช่วยคน

หุ่นขี้ผึ้งคานธีและภรรยาขนาดเท่าของจริงนี้จัดวางอยู่ในห้องหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำถึงคานธี

เรื่องนี้มีอยู่ว่า ในวันหนึ่งคานธีได้เจอหนุ่มคนหนึ่งและชอบใจรองเท้าของเขา  รองเท้าที่สนใจเป็นรองเท้าเก่าๆที่หนุ่มนั้นประดิษฐ์เองด้วย  ความต้องใจต่อความสมถะและสร้างสรรค์ในตัวชายหนุ่ม ทำให้คานธีสานสัมพันธ์และชักชวนให้ชายหนุ่มเห็นโอกาสของการได้ช่วยคนจน

การสนทนาด้วยกันระหว่างคน ๒ คนน่าจะมีคุณภาพ เพราะผลสุดท้ายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจลาออกจากงานมาทำงานช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนในอินเดีย วิชาที่ใช้ของชายหนุ่มคือการออกแบบบ้านให้กับคนทุกชั้นชน นับจากชาวประมงยากจนจนถึงผู้ว่าการรัฐ จากสถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อน โรงพยาบาลจิตเวช แฟลตการเคหะ โบสถ์ หน่วยงานราชการ ฯลฯ

ผลงานที่เป็นบ้านของหนุ่มคนนี้อยู่ที่เนื้อในของงานที่ปลูกสร้างกระแสและวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับวงการสถาปัตยกรรมของอินเดีย โดยงานชิ้นแรกเริ่มจากการสร้างสถานีอนามัยเล็กๆในถิ่นที่ไม่มีไฟฟ้า น้ำ และถนน ขึ้นเป็นที่ทำงานของภรรยาของตน แล้วต่อมายกระดับมันขึ้นเป็นโรงพยาบาลขนาดย่อม แล้วขยายต่อเป็นการสร้างโรงเรียน ห้องสมุด บ้านชาวบ้าน ฯลฯ ที่จำเป็นในหมู่บ้านใกล้เคียง

ภาพของเบเกอร์และภรรยา (ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์)

ชายหนุ่มทำงานทั้งในฐานะที่ปรึกษาและผู้ลงมือสร้างเอง จนเกิดวิธีคิดที่กลายมาเป็น “สถาปัตยกรรมสไตล์เบเกอร์”  ขึ้นในอินเดีย ซึ่งสอดแทรกแนวคิดเรื่องพลังงานทางเลือก และการออกแบบที่ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานซ่อนไว้

งานทุกชิ้นมีปรัชญาการออกแบบที่เชื่อมโยงกันอยู่ ๓ ประการ คือ มัธยัสถ์ ไม่สูญเปล่า และงามอย่างกลมกลืน  เป็นบ้านที่ออกแบบโครงสร้าง โดยพิจารณาจากวัสดุ ภูมิปัญญาของช่างพื้นบ้าน เทคนิควิธีของช่างพื้นบ้าน ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆเพื่อให้เป็นบ้านที่แต่ละหลังบ่งบอกถึงตัวตนของเจ้าของ  สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติรอบตัวและไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “มัธยัสถ์สถาปัตย์”

ชายหนุ่มคนนี้เป็นคนอังกฤษ  เขาได้เจอคานธีในช่วงที่เขากลับจากสนามรบในฐานะอาสาสมัครประจำหน่วยพยาบาลฉุกเฉินที่ประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วแวะพักที่อินเดีย ๓ เดือน เพื่อต่อเรือกลับอังกฤษ เมื่อเขาเจอคานธีและกลับอังกฤษไปแล้ว หนึ่งปีให้หลังเขาก็กลับมาอินเดียทำงานเป็นอาสาสมัครจนได้พบภรรยาชาวอินเดียและใช้ชีวิตอยู่ที่อินเดียตลอดมาจนสิ้นชีวิต

ชายหนุ่มคนนี้ชื่อ Laurie Baker จบปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมจาก Birminghamประเทศอังกฤษ ภรรยาของเขาเป็นแพทย์

ภาพที่เขาพูดไว้ว่า “การสร้างบ้านคนชั้นกลางขนาดย่อมที่ใช้อิฐเผา ๑ หลัง หมายถึงต้นไม้ใหญ่ถูกตัดมาทำฟืน ๓ ต้น”

และการมองการไกลของเขาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนกล่าวคำพูดว่า “หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญในช่วง ๕๐ ปีข้างหน้าคือปัญหาพลังงาน ขณะที่ภารกิจสำคัญของอินเดียคือการสร้างบ้านให้คนไร้บ้าน ๒๕ ล้านครัวเรือน ถ้าสร้างบ้านเหล่านี้ด้วยอิฐเผา คอนกรีต และเหล็กจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับตัวเอง แต่ถ้าหันมาใช้เทคนิคเก่าแก่อย่างบ้านดินและอิฐดิบ เราจะแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้โดยไม่ซ้ำเติมปัญหาด้านพลังงาน”

สถาปัตยกรรมสไตล์เบเกอร์ที่แฝงหลัก มัธยัสถ์ ไม่สูญเปล่าและงามอย่างกลมกลืนของจริงเป็นอย่างนี้ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์)

เหล่านี้เป็นอะไรที่สอนฉันว่า “ไม่ว่าอาชีพอะไรก็สามารถใช้ปัญญาของตนดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับผู้คนได้เสมอ ถ้าเขาเข้าใจคำว่า สาธารณสุข หรือ สุขของสาธารณะ”

ที่ชอบใจอีกอย่างก็คือพลังแห่งความคิดของเขาใช่แต่จะทำให้เกิดสุขแห่งสาธารณะเท่านั้น  สถาปนิกอินเดียหัวก้าวหน้าคนหนึ่งกล่าวถึงเบเกอร์ไว้ว่า “ในมหาวิทยาลัยเราเรียนสถาปัตยกรรมทุกสไตล์จากวิกตอเรียน เอ็ดเวอร์เดียน ไบเซนไทน์ แต่เราไม่เคยถูกสอนให้สร้างบ้านสำหรับครอบครัวสมาชิกห้าคนในงบ ๕๐,๐๐๐ รูปี ซึ่งนี่ต่างหากคือโลกแห่งความเป็นจริงในอินเดีย แต่โชคดีที่เราโตมากับสถาปัตยกรรมของเบเกอร์และผลงานของเขาเป็นเสมือนห้องเรียนของเรา” บอกถึงว่างานสถาปัตยกรรมของเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกอินเดียรุ่นใหม่จำนวนมากให้หันมาสนใจเรียนรู้จากของจริงเพื่อพิสูจน์ปัญญาแห่งตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทายาทผู้สร้างสุขแห่งสาธารณะเพิ่มขึ้นๆตามหลักของผีเสื้อกระพือปีกด้วย

ดูเหมือนว่าเรื่องของบ้านดิน เขาคนนี้จะเป็นคนเริ่มทดลองเทคนิคการสร้างขึ้นด้วยนะ มีหนังสือที่เขาเขียนทิ้งไว้ชื่อ Mud ของเบเกอร์ ที่ถือเป็นคู่มือชั้นเลิศในการสร้างบ้านดินที่หากใครสนใจก็ไปหามาอ่านได้นะเออ

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เอ๊ะ..ยังไง

Next : ฮีโร่ตัวจริง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เมื่อความบังเอิญเป็นเหตุ…ความต้องกันจะให้ผล"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.026729106903076 sec
Sidebar: 0.13458800315857 sec