รางวัลความกล้า

อ่าน: 1749

พวกเรารวมตัวไปเข้าแถวรอคิวขึ้นช้างด้วยกัน โชคดีที่มากันเช้าแถวจึงไม่ยาวนัก แต่กว่าจะได้ขึ้นหลังช้างกันครบคน แดดก็เริ่มจัดจ้านแล้ว ช้างที่จัดไว้เขาให้นั่ง ๑ ตัว ๒ คน ค่านั่งช้างเขาคิดตัวละราวๆ ๑๕๐ บาท

ที่นั่งบนหลังช้างของที่นี่ไม่้เหมือนบ้านเรา ขึ้นนั่งแล้วต้องห้อยขาไว้ข้างตัวช้าง มีราวเหล็กไว้ให้ยึดจับกันตกใกล้ๆจุดวางก้น

บรรยากาศยืนแถวเข้าคิวรออย่างนี้ไม่ใคร่เห็นในบ้านเราเท่าไร มีอะไรบ้างอยู่เบื้องหลัง…น่าสนใจเรียนรู้ความคิดต่างเหมือนกันนะ

คนนั่งบนหลังแล้ว ควาญก็ไสช้างเลาะเดินไปตามถนนซึ่งอยู่ระหว่างกำแพง ความกว้างของทางเดินก็แค่ช้าง ๒ ตัวเดินสวนกันได้แซงกันได้แค่นั้นเอง ทางเดินนี้วนพับไปพับมาจนถึงยอดเขา จุดที่ช้างพาคนไปส่งให้ลงจากหลังมันอยู่ที่ลานกว้างภายในวัง

เจ้าประคุณเอ๋ย คู่ฉันได้ช้างวัยรุ่นกำลังองอาจเชียว เมื่อควาญไสมันให้เดิน มันสปีดซะจนแซงคู่อื่นๆไปเรื่อยๆ

ทางเดินลาดชันแบบถนนบนเขา ลองนึกภาพดูเหอะ ช้างเดินเร็วๆขึ้นเขา คนนั่งคู่กันไป ๒ คนบนหลังช้างคึกจะเป็นอย่างไร แรงเหวี่ยงที่โยกคลอนเรามันแรงขนาดไหนลองนึกดู

ผู้อาวุโสที่นั่งคู่ฉันมาหน้าซีดเลยระหว่างนั่งไปด้วยกัน คำบอกว่า “ถ้ามีโอกาสนั่งช้างอีก ผมไม่นั่งอีกแล้ว” บอกความรู้สึกได้เลยว่าขนาดไหนเลยเชียว

ช้างและควาญพากันมาตั้งหลักรอคนนั่งบนหลังนานแค่ไหนไม่รู้ ภาพซ้ายสุดทำให้สงสัยว่าพวกเขาคงพำนักอาศัยตรงนี้กันอยู่แล้วหรือเปล่า

รอกันตรงที่่ร่มจนขึ้นมาครบคน จึงได้ชวนกันเดินชมสถานที่และเก็บภาพที่ระลึกไปด้วยกัน

ภายในที่เข้าไปเห็นมีวัฒนธรรมฮินดูผสมอิสลามปรากฏอยู่อย่างกลมกลืน ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดสี ปูนปั้นที่อยู่ตามส่วนต่างๆของผนังบ้าง เพดานวังบ้าง ขื่อคานของอาคารบ้าง

ที่นี่มีสถาปัตยกรรมหินอ่อนด้วย เป็นหินอ่อนที่นำมาจากบังคลาเทศ

บรรยากาศระหว่างนั่งช้างเลียบกำแพงขึ้นไปสู่ยอดเขาในกลุ่มพวกเรา..ลุ้นๆๆๆ..และสนุกสนานดี ไม่ได้สังเกตว่าพี่อวบนั่งขึ้นมากับใคร

ภาพรวมของสถาปัตยกรรมที่เห็น มีทั้งส่วนที่ทรุดโทรมลงและส่วนที่ยังครบถ้วนอยู่ ส่วนที่ทรุดโทรมนั้นเป็นจากการชะล้างของฝนบ้าง มีร่องรอยฝีมือมนุษย์ลอกออกบ้าง  คนเล่าว่าร่องรอยที่โดนลอกไปนั้นเป็นพวกอัญมณีบ้าง ทองบ้าง

เพิ่งรู้ว่าช้างอินเดีย ช้างไทยเป็นช้างเอเซียเหมือนกัน และที่ช้างต้องอยู่ใกล้น้ำเพราะมันกินน้ำจุถึงวันละ ๕ แกลลอน

ในประวัติศาสตร์ของอินเดีย ช้างเป็นสินค้านำเข้าที่สำคัญของอินเดียด้วยนะ

ไทยกับศรีลังกาเป็นคู่แข่งทางการค้ากันเรื่องส่งช้างมาขายอินเดียในยุคราชวงศ์โมกุล  ช้างอินเดียยุคนั้นขาดแคลนเพราะสงคราม

รูปเขียนบนกำแพงเล่าเรื่องการสงครามที่ใช้ม้าและช้างเป็นพาหนะเอาไว้ด้วย สีบนรูปเขียนเหล่านี้จางลงมากแล้ว

สมัยนั้นช้างไทยถูกส่งเข้ามาอินเดียทางมะริดและตะนาวศรีทางตะวันตก เข้ามาที่เบงกอลและชายฝั่งโคโรแมนเดลโดยเฉพาะเมืองมะสุลีปะตัมทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย

การค้าช้างไทยในยุคนั้นอยู่ในความควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของราชสำนัก ช้างไทยได้รับความนิยมนำเข้ามากกว่าช้างศรีลังกาเพราะตัวโตกว่า แข็งแรงสมบูรณ์ ฉลาด ฝึกฝนง่าย

พ่อค้าคนกลางที่เชื่อมการส่งออกช้างยุคนั้นเป็นมุสลิม  ผู้ควบคุมตลาดการค้าช้างในอินเดียส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิม

ข้อมูลนี้บอกว่าฉันว่าถ้าผู้มีอำนาจหรือผู้เป็นใหญ่นับถือศาสนาอะไร คนนับถือศาสนานั้นจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางการค้าในสังคมของอินเดีย ไม่รู้ว่า ณ เวลานี้ข้อสังเกตนี้ยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า

แล้วการค้าช้างหรือเปล่าที่ทำให้มุสลิมนิกายสุหนี่และชีอะห์ปรากฏกายขึ้นและเข้ามาอยู่ในบ้านเรา และน่าสนใจว่าการที่จังหวัดกระบี่มีประวัติศาสตร์ของตัวว่าเป็นถิ่นที่คนมาคล้องช้างนี่เกี่ยวหรือเปล่ากับการค้าช้างไทยกับอินเดียในยุคนั้น

หินอ่อนที่ถูกนำมาสลักจนละเอียดอย่างนี้ ไม่รู้ว่ามีผู้คนเจ็บป่วยเพราะมันมากน้อยแค่ไหน

ขั้นตอนการค้ากับบ้านเราง่ายกว่าศรีลังกา พ่อค้ามุสลิมจึงชอบทำการค้าด้วยบ้านเราทั้งๆที่ราคาช้างไทยสูงกว่าช้างศรีลังกา ตอนนั้นช้างศรีลังกาอยู่ภายใต้การดูแลของชาวฮอลันดาซึ่งเข้าไปปกครองศรีลังกา ตรงนี้ก็น่าสนใจวิธีคิดเรื่องการทำการค้าระหว่างประเทศของบ้านเราในยุคนั้น มีเทคนิคการตลาดอะไรนะที่คนไทยพุทธสามารถผูกใจพ่อค้ามุสลิมไว้ได้

วันนี้ประเทศทั้งสาม อินเดีย ไทย และศรีลังกามีปัญหาเรื่องประชากรช้างลดน้อยถอยลงจนน่าเป็นห่วงเรื่องจะสูญพันธุ์เหมือนกัน และช้างไม่ใชสินค้านำเข้าของอินเดีย ไม่ใช่สินค้าส่งออกของทั้งไทยและศรีลังกาแล้วด้วย

เขารู้ว่าช้างชอบสีแดงหรือเปล่าจึงปูหลังด้วยผ้าสีแดงให้ ภาพกลางคือที่นั่งบนหลังช้างมีเหล็กยึดเป็นกรอบไว้เป็นที่พึ่งคนนั่งเวลาช้างออกเดิน

อินเดียยังมีช้างป่าอยู่ในประเทศ  นักอนุรักษ์สำรวจไว้ว่าอยู่ที่ราวๆ ๒๕,๐๐๐-๒๖,๐๐๐ ตัว แสดงว่าบ้านเขามีการตีทะเบียนช้างหรือเปล่า ไม่รู้ว่าบ้านเรามีการสำรวจเหมือนเขาไว้บ้างมั๊ย

เมื่อคนเล่าว่าช้างอินเดียตายบ่อยจากรถไฟชน ฉันจึงรู้ว่าอินเดียกำหนดความเร็วของรถยนต์และรถไฟไว้เท่ากันที่ ๔๐ กม.ต่อชั่วโมง

รถไฟที่ชนช้างตายได้ต้องวิ่งเร็วกว่า ๔๐ กม.ต่อชั่วโมงแล้วละ สถิติที่รถไฟชนช้างตายพร้อมกันถึง ๗ เชือกก็มีละ ชนตายแล้ว ฝูงช้างที่เหลือไม่ยอมย้ายไปไหน ยืนอาลัยให้เพื่อนทำเอาคนเหงื่อตกกว่าจะจัดการย้ายฝูงช้างไปได้ เมืองไทยคงไม่มีโอกาสเกิดเรื่องราวเหล่านี้หรอกว่ามั๊ย

ที่จริงช้างเป็นตัวชูโรงในงานวันชาติอินเดีย โดนจับแต่งตัวเข้าขบวนพาเหรด และใช้เป็นรางวัลให้เด็กๆที่ได้รับรางวัลความกล้าหาญได้ขึ้นนั่งหลังมัน แต่เพราะกลัวช้างตกมันจะทำคนบาดเจ็บและไม่ต้องการฝืนใจช้าง  รัฐบาลอินเดียจึงยกเลิกการให้ช้างร่วมขบวนวันชาติตั้งแต่วันที่ ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๒ มาแล้ว

ที่เห็นเป็นของที่ระลึกที่มีคนนำมาขาย สีสันบอกถึงความสุขใจของคนที่ทำขึ้นเนอะ

เมื่อเช้าเจอพี่อวบก่อนขึ้นรถ ประเมินอาการแล้วโล่งใจที่มีอาการสบายขึ้น พอถึงจุดขึ้นนั่งหลังช้างก็ไม่เห็นว่าพี่เขาอยู่กับใคร ตรงไหนแล้ว

๙ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : เห็นแล้ว..ขอซูฮกให้

Next : ที่แท้ไม่ใช่เรื่องใหม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "รางวัลความกล้า"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.12765789031982 sec
Sidebar: 0.88628220558167 sec