มีอิทธิพลขนาดนี้เลยรึ
แม้แต่รัฐมนตรีคลังอินเดียยังพูดว่า “ลมมรสุมคือรัฐมนตรีคลังตัวจริงของอินเดีย” เรื่องลมฝนสำคัญกับอินเดียแค่ไหนคงยืนยันได้เนอะ
ไม่เชื่อก็ควรเชื่อได้แล้วว่าภาวะเศรษฐกิจอินเดียปีไหนจะดีหรือร้ายผูกพันและแขวนชะตาอยู่กับ “มรสุม” มาเห็นกับตาอย่างนี้ยิ่งเห็นภาพความลำบากของคนอินเดียเมื่อเกิดภัยธรรมชาติชัดเลยละ
ไม่รู้คนของเขาจัดการตัวเองอย่างไรจึงอยู่อย่างพอเพียงได้อย่างที่เห็น หรือว่าเพราะพบความลำบากซะจนชินก็เลยรับได้ว่าเป็นความธรรมดา ตรงนี้ก็น่าสนใจในแง่การปรับตัวของสังคมของเขา
เพิ่งรู้ว่า monsoon มีรากศัพท์จากคำโปรตุเกส monço ต้นกำเนิดน่าจะมาจากภาษาอารบิกว่า mawsim และคำนี้กลายเสียงมาเป็น mausam ในภาษาฮินดีและอูรดู รวมทั้งภาษาถิ่นของอินเดียตอนเหนืออีกหลายภาษา มีความหมายกว้างขึ้นว่า หมายถึงสภาพอากาศ หรือสภาพอากาศที่เกี่ยวเนื่องกับฤดูกาล
แนวเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นกันชนธรรมชาติให้กับพื้นที่อนุทวีปยามเกิดมรสุม ทอดตัวอยู่อย่างนี้ (ขอบคุณภาพจากเว็บไซด์)
พื้นที่ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับฝนของอินเดีย คือ เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้มาดากัสการ์ในมหาสมุทรอินเดียชื่อว่ามัสคารีน ลมที่พัดจากที่นี่สะสมความชื้นมาตลอดระยะทางกว่า ๓,๐๐๐ กิโลเมตร แล้วจึงมาตกเป็นฝน เทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดียคือกำแพงธรรมชาติที่คอยสกัดไม่ให้มรสุมเคลื่อนต่อสู่ภาคพื้นทวีปและอ่อนกำลังทำให้ได้ปรับฝนเต็มที่จากลมมรสุม เส้นทางลมมรสุมนี้เชื่อกันว่าเก่าแก่ราว ๑๕-๒๐ ล้านปีมาแล้ว
ความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้ในอินเดียช่วยทำให้ฉันเข้าใจภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ผูกโยงอยู่กับมรสุมฤดูฝนที่กลายเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ภาวะเงินเฟ้อ ปริมาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ปริมาณน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ในการผลิตมากขึ้น ขอบคุณมากเลย
ที่อินเดียเมื่อไรปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติจะส่งตรงต่อภาคเกษตรกรรมและราคาพืชผล จนทำให้ต้องจำกัดการส่งออกหรือเพิ่มปริมาณการนำเข้าที่อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิต มีผลต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำที่ขาดแคลนให้ยิ่งขาดแคลนหนักขึ้น มีผลต่อปริมาณน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่อาจทำให้ต้องลดกำลังการผลิตจนส่งผลโยงไปถึงสภาพการลงทุนและตลาดหุ้นด้วย
ฝนแล้งจึงกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียมากกว่าเศรษฐกิจโลกถดถอยซะอีก
นั่งประกอบอาชีพอย่างนี้ข้างถนนนี่แหละ หญ้าเลี้ยงม้านั้นเลี้ยงทั้งม้าและคน
ย้อนไปดูปี ๒๕๕๒ ปัญหาภัยแล้ง ประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบล้านขณะที่รายได้ต่อหัวของประชาชนขยายตัวด้วยภาวะอุปสงค์พุ่งสูงตามมา อินเดียต้องนำเข้าน้ำมันปาล์ม ๗ ล้านตันเพื่อใช้ในการประกอบอาหารและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป
เรื่องนี้่บอกว่าผลผลิตในตลาดพืชน้ำมันมีอิทธิพลต่ออินเดีย ถ้ามีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและถั่วเหลืองของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกแล้วทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันพืชในตลาดโลกหายไป แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็มีผลมาก
เห็นภาพเลยว่า มาเลเซียและอเมริกาใต้ ผู้ส่งออกน้ำมันพืชแหล่งสำคัญจึงเท่ากับมีอิทธิพลกลายๆกับภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ไม่สงสัยแล้วว่าทำไมบ้านเราต้องตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลเรื่องปาล์มน้ำมันต่างหาก
เสียงใสๆดังกึกก้องขึ้น ตัวน้อยที่ร้องหาแม่อยู่ตรงนี้ ไม่รู้หรอกว่าได้ช่วยผูกโยงให้ใจพวกเราเข้าใกล้ความอ่อนโยนภายในมากขึ้น
เห็นความเกี่ยวข้องของเส้นทางน้ำมันปาล์มแล้วมาได้ยินเรื่องการลดภาษีนำเข้าน้ำมันพืชของจีนและอินเดียแล้วขนลุกกับอิทธิพลของพืชนี้ต่อโลก แล้วก็หนาวกับภาพการบริหารพื้นที่เพาะปลูกอาหารในโลกอนาคตที่พอเห็นไปด้วย ถ้าทั้งโลกเฮโลกันไปปลูกปาล์มกันหมด อนาคตจะมีที่ดินที่ไหนปลูกพืชอาหาร ปลูกข้าวไว้กินกันนะนี่
บันทึกช่วยจำไว้เลยว่า “ผลของอัตราการเติบโตของประชากรที่สูงกว่าอัตราเพิ่มของผลผลิตภายในประเทศจะมีส่วนในการผลักดันให้เกิดกำลังการซื้อเพิ่มขึ้น และทำให้ตลาดเอเชียและตะวันออกกลางมีอัตราการเติบโตของการบริโภคและการนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น”
ระหว่างที่วัวอาบแดด คนก็นำข้าวโพดมาเลี้ยง แปลกที่โรยเม็ดให้กินอย่างในภาพ วัวมันกินเข้าไปได้ไงไม่เคยเห็น
ที่เห็นเป็นจุดดำๆบนตึกนั่นนะ สมุนพระรามทั้งนั้น ตึกนี้อยู่กลางตลาดที่มีคนจอแจไปหมด
ลานจอดรถอยู่ท่ามกลางอาคารหลายหลัง แรกเข้าไปก็เห็นสตรีอินเดียกับกองหญ้าและม้า เมื่อรถเข้าไปจอด ก็เห็นวัวเดินบ้าง นอนบ้าง ทีแรกเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านที่กำลังทำงานบ้านประจำวันของตน แต่ไม่ใช่หรอก เขาเลี้ยงมันไปด้วย หารายได้ไปด้วย สอนให้คนมีเมตตาต่อสัตว์ไปด้วยต่างหาก
ที่มุมหนึ่งของที่นี่ก็ได้เห็นความเป็นครอบครัวในอีกแบบ เห็นความต้องการอยู่รอดที่ทำให้คนยอมรับความช่วยเหลือ
เมื่อรับจนคุ้นชินแล้วมีอะไรในตัวตนของคนเปลี่ยนไปบ้าง ความเปลี่ยนไปเหล่านั้นลงตัวแบบ win-win ในภาพรวมอย่างไร ส่งผลกระทบอะไรให้สังคมบ้างน่าถอดบทเรียนและตามเรียน
เห็นปัญหาด้านสาธารณสุขตรงหน้านี้แล้วแปลกใจ และเอะใจ ความฉลาดทางปัญญาของคนอินเดียเกิดจากการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กอย่างนี้หรือไร
เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวพากันเดินเข้ามา ถ้ามีใครคนหนึ่งเริ่มแจกสิ่งของ คนอินเดียที่คอยเฝ้ามองก็จะกรูกันเข้าไปรุมเร้าอย่างที่เห็นในภาพ
รถพาเรามาที่นี่เพื่อเปลี่ยนรถขึ้นไปที่พระราชวังหลวง ชมวังหลวงแล้วก็กลับมาที่นี่กัน วันนี้มีเรื่องที่น้องนุชโดนลุงเอกเอ็ดกับการจัดรายการเกินโปรแกรมโดยไม่ปรึกษาลุงเอกก่อน ทำเอาจ๋อย น้ำตาร่วงไปเลย เพิ่งเห็นลุงเอกดุจริงๆคราวนี้แหละเป็นหนแรก คนอะไรดุก็ยังหน้ายิ้ม…อิอิ
ขาออกคนขาย คนซื้อกลับหมดแหล่ว ข้าวของเครื่องใช้พ่อค้าแม่ค้าทิ้งกันไว้อย่างนี้แหละไม่หาย ปลอดภัยขนาดไหนคิดดู
เห็นเมืองนี้อย่างนี้เหอะ ที่นี่มีประชากรถึง ๒ ล้านคนนะ เหตุร้ายมีบ้างเหมือนกัน เป็นเหตุระเบิด ๗ ลูกซ้อนตามตลาดต่างๆที่มีคนเยอะ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เพิ่งเกิดห่างจากกรุงนิวเดลีราว ๒๖๐ กิโลเมตร วันเดียวกับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ที่อินเดียจัดงานฉลองครบรอบ ๑๐ ปีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในรัฐราชสถาน
๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
2 ความคิดเห็น
มาเลเซียเป็นนกรู้ หนีไปปลูกปาล์มน้ำมัน
ที่อนาคตสำคัญกว่ายางพารามากนัก
ช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมสวนยางล่มทางภาคใต้
แทนที่จะคิดได้ >>เปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมันให้มากขึ้น
กลับบ้าไปปลูกยางพาราเหมือนเดิม
ประเทศจีนใช้น้ำมันปาล์มมาก แต่เขาปลูกไม่ได้
เขาจึงเปลี่ยนไปปลูกยางพารา
ไทยเราปลูกปาล์มได้ แต่นโยบายตาบอดสี มองไม่เห็น
คิดไม่ได้ ไม่ทัน มันจึงจ๋องยังไงละเจ๊จ๋า
(ถ้าทั้งโลกเฮโลกันไปปลูกปาล์มกันหมด อนาคตจะมีที่ดินที่ไหนปลูกพืชอาหาร ปลูกข้าวไว้กินกันนะนี่)
เจ๊จ๋า>> ปาล์มมีข้อจำกัด ไม่ใช่ที่ไหนๆก็ปลูกได้ ไม่งั้นจีนปลูกระเบิดไปแล้ว อิอิ