โยงดูก็เลยได้รู้

อ่าน: 1762

เรื่องเมืองฟาเตห์ปุระขาดแคลนน้ำจนขนาดต้องทิ้งเมือง ก็เป็นอะไรที่ทำให้เอะใจถึงระบบการจัดการน้ำของอินเดียอยู่เหมือนกัน ไกด์เล่าแค่ว่ารัฐบาลจัดการให้คนอินเดียมีน้ำใช้ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นรัฐบาลกลางหรือท้องถิ่น ตรงนี้น่าสนใจก็เลยถามจากผู้รู้แล้วก็ได้เรื่องมาเล่ากันต่อ

เวลานี้อินเดียรู้สึกตึงเครียดกับการดำเนินการของจีนในเรื่องการสร้างเขื่อน

การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการทรัพยากรน้ำของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงอาจเพิ่มความตึงครียดให้สูงขึ้นจนนำไปสู่การพิพาทเรื่องแหล่งน้ำ แล้วอาจบานปลายกลายเป็นข้อพิพาทในระดับภูมิภาคได้เป็นข้อกังวลใจร่วมที่ท้าทายจีน

จีนจัดการแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำโดยการสร้างโครงการขนาดใหญ่แต่ไม่ได้มีการจัดการบริหารน้ำภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพรองรับจนถูกหลายประเทศมองว่าเป็นการกอบโกยทรัพยากรน้ำ

ภาพทิวทัศน์รอบๆพระราชวัง ถ่ายจากที่สูงบนกำแพงพระราชวัง ก็พอเห็นต้นไม้ยืนต้นเขียวๆ

การหันกลับมาปรับปรุงการบริหารจัดการความต้องการน้ำให้ดีขึ้น (demand management) ที่ส่งผลในรัฐอุตตรประเทศของอินเดียเป็นตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรน้ำที่อินเดียทำให้จีนดู

การที่รัฐอุตตรประเทศของอินเดียสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยไม่ทำให้ต้องมีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและมลพิษทางน้ำต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญของอุตสาหกรรม การออกกฎหมายและบังคับใช้ในเรื่องการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรมอย่างจริงจังเข้มงวด เหล่านี้คือมาตรการที่มีการนำมาใช้เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกัน

มีการนำกลไกด้านราคาซึ่งเป็นทางเลือกของการควบคุมความต้องการในการใช้น้ำที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้น้ำที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในสิงคโปร์ การกำหนดอัตราภาษีในการใช้น้ำในอัตราที่สูงขึ้นกับการใช้น้ำที่เกินกว่า ๔๐ ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน การเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมกับอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำเกินกว่าที่กำหนดมาปรับใช้กับเขตเมืองที่มีอัตราในการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตทั้งในจีนและอินเดีย

ชอบใจกับโอกาสที่ทุกชีวิตในอินเดียได้รับและมีโอกาสเลือกโดยอิสระ หนุ่มฉกรรจ์ของประเทศนี้ถูกฝึกความอดทนมากมาย

มีการเริ่มต้นจัดการบริหารความต้องการน้ำผ่านการเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม โดยให้ทางเกษตรกรผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนตัดสินใจและสามารถดำเนินการได้เองในประชากรส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรมที่เป็นคนยากจนในรัฐอุตตรประเทศ ชะลอการนำกลไกราคาที่จะมาใช้ไปก่อน

เหล่านี้คือแนวทางที่อินเดียลองนำมาปรับใช้ในประเทศ

ปัญหาความขาดแคลนน้ำที่จีนและอินเดียทำร่วมกันอยู่นี้ สะท้อนให้เห็นภาพว่า หากจะบริหารความเสี่ยงต่อความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างประเทศในเชิงป้องกัน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนาคตจะต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศและระบบที่มีประสิทธิภาพในประเทศดำเนินคู่กันไป

ความขาดแคลนน้ำนี้จะเกิดขึ้นระหว่างประเทศต้นน้ำกับประเทศปลายน้ำ ชนบทที่ใช้น้ำเพื่อการกสิกรรมกับเขตเมืองที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค มาตรการกระจายน้ำให้เท่าเทียมกันอย่างยุติธรรมจึงเป็นอีกเรื่องที่สะท้อนออกมาชวนให้ฉันทำความความเข้าใจคำว่า “ยุติธรรมในสังคม”

ขอบคุณประวัติของเมืองฟาเตห์ปุระที่ช่วยสะท้อนบทเรียนเรื่องการขาดแคลนและการบริหารจัดการน้ำว่าเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคง และให้บทเรียนเป็นรูปธรรมปรากฎผ่านตาด้วยของจริงว่าความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำเป็นตัวแทนที่แสดงถึงความมั่นคงของอาหารในการเลี้ยงประชากรมีแง่มุมอะไรบ้าง

จุดนี้น่าจะเป็นวิธีบริหารน้ำในอดีตของที่วังนี้ และ ณ วันนี้กลายเป็นที่แสดงฝีมือกระโดดน้ำไว้หาเลี้ยงชีพไปแล้ว

เข้าใจแล้วว่าทำไมเรื่องแม่น้ำโขงจึงมีคนสนใจจะเข้ามาเกี่ยวด้วยมากมาย แค่มิติเดียวที่อินเดียสอนเรื่องการขาดแคลนน้ำจนต้องมีการทิ้งเมืองนี่ก็เห็นระบบสำคัญที่เกี่ยวข้องชัดขึ้นเกี่ยวกับวิชาภูมิรัฐศาสตร์ที่ลุงเอกชอบสอน

ไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมจึงมีการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region : GMS)  ทำไม ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จึงเข้ามาอุดหนุนช่วยเหลือทางการเงิน

โครงการ GMS นั้นมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบคมนาคม มีการสร้างถนนและการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อให้สามารถเดินเรือพาณิชย์ ฯลฯ ได้

นี่เป็นส่วนสำคัญที่ดึงให้มหาอำนาจ ๓ ประเทศ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาลุ่มน้ำใหญ่นี้ เพื่อสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจของตน และนี่ก็เป็นเหตุให้สหรัฐฯให้ความสนใจกับประเทศพม่าและประเทศในโลกมุสลิมเหมือนที่อินเดียให้ความสำคัญจนกระทั่งกำหนดนโยบาย look east

ที่จริงที่ประเทศมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลในการพัฒนาด้านต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเป็นประโยชน์ต่อประเทศลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ถ้าบ้านเรารู้จักใช้โอกาสจากการพัฒนาดังกล่าวก็จะเกิดประโยชน์มากที่สุด การเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงกับประเทศมหาอำนาจทั้งสามและการเป็นประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือทุกกรอบในอาเซียนและที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนคือจุดแข็งของบ้านเราที่มีอยู่แล้ว

วังที่สร้างแล้วมีอ่างขังน้ำอย่างนี้ ไม่เชื่อหรอกว่าเตรียมไว้ให้สาวๆอาบอย่างที่มีการเล่าต่อๆมา

การทำให้ความขัดแย้งอันเป็นปัญหาที่บ้านเรากำลังเผชิญ ทั้งปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจ หมดไปหรือลดความรุนแรงลง คือการคืนโอกาสให้บ้านเราสามารถแสวงประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวได้มาก

ไม่ได้ออกนอกเรื่องหรอกนะคะ ทั้งหมดที่เล่าข้างบน เป็นเรื่องราวต้นเหตุที่นำพาพวกเราให้มาดูงานที่อินเดียด้วยค่ะ

ในส่วนตัวของฉัน ฉันทึ่งกับการที่รัฐอุตตรประเทศของอินเดียให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินในเรื่องการบริหารจัดการน้ำรวมถึงการกำหนดประเภทของพืชที่จะทำการเพาะปลูกค่ะ

ดูเหมือนภาครัฐเขาหนุนด้วยการสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ที่ช่วยให้หมู่บ้านสามารถดำเนินการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การวัดปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำใต้ดิน เป็นต้น อันนี้ก็ได้เรียนวิธีทำงานอีกรูปแบบ

ได้เรียนรู้ไปกับเขาด้วยว่า การจัดการด้วยวิธีนี้ทำให้เขาไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับน้ำอย่างเช่นเขื่อนขนาดใหญ่ที่บ้านเราชอบทำ ทั้งๆที่การสร้างเขื่อนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากและประสบปัญหาอย่างมาก

เห็นผลของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะจะจากเรื่องนี้เลยค่ะ

วิธีที่เขาใช้ก็เป็นหลักที่ช่วยสอนงานให้ว่าถ้าหันมามีจุดเน้นอยู่ที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการน้ำที่ทำอยู่เดิมแล้วในประเทศจะให้ผลที่ดีกว่าการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่แต่เพียงอย่างเดียว  งบประมาณที่ใช้ก็สามารถจัดการให้เกิดแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบการจัดเก็บน้ำและน้ำฝนในระดับครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

โอ้โหไม่น่าเชื่อเนอะ จากภูมิศาสตร์ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ ณ จุดเดียวโดยแท้ จะมีจุดต่อเชื่อมถึงระบบเศรษฐกิจ ระบอบการเมืองและสังคมในโลกไปได้

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ใช้แล้วทิ้งซะทำไมละ

Next : คิดยังไง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "โยงดูก็เลยได้รู้"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.033369064331055 sec
Sidebar: 0.14052104949951 sec