ใช้แล้วทิ้งซะทำไมละ

อ่าน: 1638

ที่ซึ่งรถพาแวะระหว่างทางนี้ เป็นเมืองหลวงใหม่ที่เคยเล่าว่าพระเจ้าอักบาร์สร้างขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะในการรบ และฉลองที่พระองค์ได้รัชทายาทหลังจากสูญเสียพระโอรสไป ๓ องค์  รู้สึกดีที่จะได้ไปชมอีกเมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพราะความรัก ความต่างจากทัชมาฮาลอยู่ตรงที่เป็นความรักที่พ่อมีต่อลูก

ที่นี่ห่างจากอัคราราวๆ ๓๗ กิโลเมตร เขาว่าเป็นเมืองที่สร้างสมบูรณ์แบบที่สุดตามคติความเชื่อของอิสลาม สร้างโดยผสมผสานรูปแบบอิสลามและฮินดูเข้าด้วยกันนะ เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๑๒๑ (ค.ศ. ๑๕๗๘) ชื่อ ฟาเตห์ปุระ (Fatehpur)

ก่อนเข้าต้องซื้อตั๋วก่อน เข้าไปแล้วก็จะมีจารึกประวัติไว้ให้อ่าน แผนภูมิชี้จุดชมภายในอยู่ที่ด้านหน้าใกล้ประตูเข้า

ยุคราชวงศ์โมกุลนั้นเป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมอิสลามบนแผ่นดินอินเดีย  ความเห็นของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์พ้องกันว่ายุคทองนี้อยู่ใน ๓ สมัย สมัยพระเจ้าอักบาร์ มหาราช ๑ ใน ๒ ของอินเดีย (Akbar the Great ค.ศ.๑๕๔๒ -๑๖๐๕ ครองราชย์ ค.ศ. ๑๕๕๖ -๑๖๐๕) สมัยพระเจ้าจาฮันกีร์ (Nuruddin Salim Jahangir ค.ศ. ๑๕๖๙ -๑๖๒๗ ครองราชย์ ค.ศ. ๑๖๐๕ - ๑๖๒๗ ) และพระเจ้าชาห์จาฮาน (Shah Jahan ค.ศ. ๑๕๙๒ -๑๖๖๖ ครองราชย์ ค.ศ.๑๖๒๘ - ๑๖๕๘ )

บันทึกไว้หน่อยตรงนี้แหละ จาฮันกีร์เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ผู้พิชิตโลก ชักอยากรู้ว่าอักบาร์ ชาห์ จาฮาน แปลว่าอะไรแล้วซิ

มหาราชอีกพระองค์ คือ พระเจ้าอโศกมหาราช อย่างนี้คำว่า “มหาราช” ของเขามีความหมายต่างมุมกับบ้านเราในมุมไหนบ้าง น่าสนใจ

ราชวงศ์นี้ปกครองอินเดียตอนเหนืออยู่ตั้ง ๒๕๐ ปี  สถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่ที่อาคารของเมืองที่มีเพียงบางส่วนเหลืออยู่ ความมั่งคั่งของจักรวรรดิและความสงบ มั่นคงใน ๓ รัชสมัย (อักบาร์มหาราช, จาฮังกีร์, และชาห์จาฮาน) ความแข็งแกร่งของอาณาจักรและกำลังทหารในสมัยนั้นเห็นกันชัดเจนทีเดียว

เห็นความกว้างใหญ่ของสถานที่ขนาดนี้ ลองวาดภาพดูว่าสมัยโน้นมีผู้คนอยู่ที่นี่มากมายขนาดไหน แล้วอึ้ง

น่าทึ่งตรงที่โรงเรียนจิตรกรรมแห่งแรกของโลกมุสลิมเกิดขึ้นที่อินเดียนี่เอง ผู้ตั้งคือพระเจ้าอักบาร์ มีจิตรกรมุสลิมเกิดขึ้นในยุคของพระองค์มากมาย สไตล์ของจิตรกรรมในยุคนั้นเรียนรู้จากบรรพบุรุษชาวติมูร์และชาวเปอร์เซียทั้งโดยการเลียนแบบและออกแบบ การเรียนรู้ผ่านการจ้างสถาปนิกและศิลปินจากประเทศต้นแบบมาร่วมก่อสร้างอาคาร สถาปัตยกรรมและศิลปะในทั้ง ๓ รัชกาล

ฟาเตห์ปุระ สิกรี (Fatehpuh Sikri) ถูกใช้เป็นเมืองหลวงอยู่กว่า ๑๐ ปี แล้วก็ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างหลังใช้งาน ๑๕ ปี  ที่นี่เป็น ๑ ใน ๓ มรดกโลกที่อยู่ในอัครา เป็นงานชิ้นแรกของพระเจ้าอักบาร์ การออกแบบหลักๆคล้ายกับที่พบในเมืองอิสฟาฮาน (อิหร่าน) เป็นหลักฐานที่บอกถึงความใกล้ชิดระหว่างอิหร่านกับอินเดียว่ามีมานานแล้ว

อาคารสีแดงมากมายที่มีลักษณะเหมือนกันของเมืองนี้ สร้างจากหินทรายที่มีชื่อเสียงของอินเดีย สร้างเรียงรายภายในป้อมที่แข็งแกร่ง ในเมืองมีทั้งโบสถ์ที่มีสถาปัตยกรรมลักษณะพิเศษ มีมัสยิดจามา(Jama Masjid) สุเหร่าหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียอยู่ด้วย  ที่มีพื้นที่เหล่านี้ก็เพื่อแบ่งส่วนพื้นที่ใช้สอยไม่ให้ปะปนกันระหว่างส่วนศาสนสถานฟาเตปุระห์และพระราชวังที่ประทับ สิครี

เข้าไปเห็นของจริงแล้วลองนึกถึงการใช้สอยจริงดู  ทั้งมัสยิด เขตพระราชฐาน ฮาเร็ม ตำหนักใน สระน้ำ สวนขนาดใหญ่ที่มีเวทีแสดงดนตรีกลางสระน้ำ สุสานของชาย์ค ซาริม คสิติ (Shayk Salim Chishti) จินตนาการเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วสนุกดี

ความร้อนขนาดไหน กว้างขนาดไหน ลองเดาจากภาพดู เจ้าตัวน้อยในภาพถ้าเป็นบ้านเราไม่ได้สิทธิมาเจ๋ออยู่อย่างนี้หรอก

เขตพระราชฐานชั้นในของมเหสีแต่ละองค์มีแบ่งเขตกัน เขาเล่าว่าให้ดูจากลักษณะสถาปัตยกรรม องค์ที่เป็นฮินดู ตำหนักจะเป็นแบบฮินดู องค์ที่มาจากเปอร์เซียก็เป็นสถาปัตยกรรมเปอร์เซีย  ใครแยกได้ว่าฮินดู เปอร์เซียต่างกันตรงไหน ก็ลองนำไปใช้กันดูกับของจริงนะคะ

ในสายตาฉันที่ไม่มีฐานความรู้ด้านศิลปะ เห็นลวดลายบนผนังหรือแทรกอยู่ในจุดบางจุดว่าไม่ต่างจากที่เคยเห็นที่ทัชมาฮาล ที่นี่ต่างไปตรงที่ไม่เห็นลายเส้นแบบตัวอักษร และลายเส้นแบบเรขาคณิตชัดเจนเท่านั้นเองรูปแบบของลวดลายที่ปรากฏบอกฉันว่า กษัตริย์ผู้สร้าง ๒ พระองค์ มีพระนิสัยต่างกัน พระเจ้าอักบาร์อ่อนโยนกว่าหลานปู่ของพระองค์ คือ พระเจ้าชาห์ จาฮานมาก ทำให้อยากรู้ว่าเป็นเพราะทรงลงมือสร้างที่ช่วงวัยต่างกันหรือเพราะพระนิสัย ที่แตกต่างอยู่แล้วหรือทั้งสองอย่าง ขณะขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอักบาร์ ๑๓ ชันษา พระเจ้าจาฮันกีร์และพระเจ้าชาห์ จาฮัน ๓๖ ชันษา ความต่างนี้ไม่น่ามีผลต่อความมีพระนิสัยที่ต่างกันนะ

เมืองนี้ถูกใช้แล้วทิ้งร้างเพราะ “ขาดน้ำ” เรื่องนี้ทำให้แวบถึงคนอีสานทิ้งถิ่นเมื่อทุ่งกุลาแล้งน้ำขึ้นมาเลยเชียว นึกเลยไปถึงเรื่องคนอินเดียหัวไว เรียนรู้ได้ทุกเรื่อง รู้จักการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาได้เก่งที่ท่านทูตเคยเล่าไปโน่นเลย

ศิลปะที่เห็นบอกถึงความใกล้ชิดธรรมชาติของผู้สร้าง ฝีมือบอกภูมิปัญญาของคนยุคก่อน

ที่กษัตริย์ทรงตัดสินใจทิ้งเมืองแล้วชาวบ้านก็ทำตาม และกษัตริย์เป็นผู้เรียนรู้ ทำให้ฉุกคิดว่านี่เป็นเรื่องเชิงประจักษ์ของนิสัยที่ธรรมชาติเป็นครูสอนแบบไม่สอนให้หรือเปล่า

สถาปัตยกรรมที่นี่ อัครา และทัชมาฮาล ชี้ให้เห็นความจริงเรื่องคนอินเดียมีหัวในเรื่องตัวเลข คณิตศาสตร์ แถมให้ด้วยกลศาสตร์ด้วยเอ้า ก็ถ้าไม่เก่งจะสร้างสถาปัตยกรรมใหญ่ๆโดยไม่มีเครื่องมืออย่างที่เห็นนี้ได้หรือ

ตามภาพไม่รู้ว่าสัตว์อะไร ตัวจริงก็มาปรากฎให้รู้จัก ๔ ภาพขวาเป็นสภาพที่ยังหลงเหลือซึ่งพอบอกความเก่าและร่องรอยความมั่งคั่งในอดีตได้

ที่นี่เก็บค่าผ่านประตูด้วยแต่ไม่ต้องถอดรองเท้า แดดร้อนเปรี้ยงๆไม่ต่างกับทัชมาฮาล ไม่ใคร่มีลมพัดให้รู้สึกเย็นสบาย รู้สึกเหมือนพาตัวลงไปอยู่ในแอ่งภูเขา ความร้อนที่ถูกตัวทำให้เข้าใจปัญหาเรื่องน้ำและการอยู่ไม่ได้จากของจริง

๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

« « Prev : ใครเหมือนใครนะ

Next : โยงดูก็เลยได้รู้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ใช้แล้วทิ้งซะทำไมละ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.044131994247437 sec
Sidebar: 0.11279702186584 sec